บ้านแม่ลัว ต.ป่าแดง อ.เมือง จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร และอยู่ไม่ไกลจากพระธาตุช่อแฮ ปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดแพร่ หากมองจากพื้นที่ราบจะเห็นเทือกเขาทอดยาวอยู่ทางทิศตะวันออก มีรูปร่างคล้ายช้างนอนหมอบ ชาวบ้านเรียกว่า “ดอยช้างผาด่าน” ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านแม่ลัว
บริเวณดอยช้างผาด่านมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 840 เมตร ถือเป็นจุดที่สูงที่สุดของจังหวัด จึงเปรียบเสมือนเป็น “หลังคาเมืองแพร่” และเป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินลัดเลาะไต่ยอดเขาขึ้นไปสัมผัสกับทิวทัศน์ที่งดงามและอากาศที่บริสุทธ์เย็นสบายตลอดทั้งปี
ดอยช้างผาด่าน ‘หลังคาเมืองแพร่’ ที่ตั้งบ้านแม่ลัว
บ้านแม่ลัวเดิมเป็นถิ่นฐานของ ‘ชาวลัวะ’ กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในดินแดนล้านนามาแต่สมัยโบราณ แต่ภายหลังได้อพยพออกไปจากบ้านแม่ลัว ไม่มีหลักฐานว่าพวกเขาละทิ้งถิ่นฐานไปในช่วงไหนและด้วยสาเหตุใด (อาจมีสาเหตุมาจากโรคระบาด หรือขยับขยายหาที่ทำกินใหม่ที่ดีกว่าเดิม ? ) และอาจจะอพยพขึ้นไปทางเหนือตั้งถิ่นฐานบนที่ราบเชิงดอยต่างๆ ในจังหวัดน่านซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดแพร่และเป็นแหล่งอยู่อาศัยที่สำคัญของชาวลัวะในเมืองไทย
หลังจากนั้นประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ปี คนจากพื้นราบจึงย้ายถิ่นฐานขึ้นไปอยู่ที่บ้านแม่ลัวและยังเรียกชื่อหมู่บ้านตามชื่อเผ่าพันธุ์ของผู้ที่อยู่มาก่อน คือ “แม่ลัวะ” และเป็น “แม่ลัว” จนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันบ้านแม่ลัวมี 2 หมู่บ้าน (หมู่ 4 และหมู่ 6) รวมประมาณ 300 ครัวเรือน มีอาชีพทำการเกษตร เช่น ปลูกเมี่ยง-หมักเมี่ยง ปลูกกาแฟ หม่อน เจียวกู่หลาน (ไทยเรียก “ปัญจขันธ์” สมุนไพรชนิดหนึ่งนำมาชงเป็นชา มีสรรพคุณลดระดับน้ำตาลในเลือด ละลายไขมัน) ไม่มีพื้นที่ปลูกข้าว พืชหลักก็คือ ‘เมี่ยง’ (ชาวบ้านออกเสียงว่า “เมี้ยง”) และมีแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนหลายแห่ง ดังคำขวัญของหมู่บ้านว่า
“เที่ยวแม่ลัว ถิ่นลั๊วะแดนเมี้ยง แหล่งน้ำออกรู ดูถ้ำผาด่าน น้ำตกซาววา หลังคาเมืองแพร่”
‘เมี่ยง’ มรดกทางวัฒนธรรมของชาวล้านนา
‘เมี่ยง’ เป็นชาป่าหรือชาพื้นเมืองทางภาคเหนือ อยู่ในตระกูลชาอัสสัม (ชาวอังกฤษในสมัยล่าอาณานิคมพบชาชนิดนี้ในรัฐอัสสัม-อินเดีย แต่พบได้ทั่วไปในพม่า จีนตอนใต้ และภาคเหนือของไทย) เป็นพืชยืนต้นขนาดเล็ก เจริญเติบโตได้ดีบนพื้นที่สูงและมีอากาศเย็น เมื่อปลูกครั้งหนึ่งจะให้ผลผลิตยาวนานหลายสิบปี บางต้นมีอายุนับร้อยปี แต่ผู้ปลูกจะตัดแต่งกิ่ง เพื่อไม่ให้ต้นใหญ่และสูง เพราะจะทำให้เก็บใบเมี่ยงยาก
ก่อนที่น้ำชาและกาแฟจะเดินทางมาถึง ชาวล้านนาหรือคนภาคเหนือนิยมนำใบเมี่ยงมาหมักจนเกิดรสเปรี้ยว แล้วนำมาอม ทำให้ไม่ง่วงหรือเกิดความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า หูตาสว่าง เพราะในใบชามีสารคาเฟอีน ชาวล้านนาในอดีตจึงนิยมนำเมี่ยงมาใช้ต้อนรับแขกเหรื่อ ใช้อมหลังอาหาร อาจใส่เกลือเล็กน้อยเพื่อลดความเปรี้ยว หรืออมแล้วเคี้ยวระหว่างทำไร่ทำนาเพราะจะมีน้ำเมี่ยงออกมาทำให้ไม่หิวกระหายน้ำ รวมทั้งยังใช้เมี่ยงในพิธีมงคลมาแต่โบราณ
แม้ว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่จะไม่นิยมอมเมี่ยง แต่เมี่ยงก็ยังขายได้และยังไม่ตาย ยังมีขายทั่วไปตามร้านค้า ร้านชำในหมู่บ้านทางภาคเหนือทุกจังหวัด เพราะยังมีคนที่ยังอมเมี่ยง (อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป) คนทำไร่ ทำนา รวมทั้งยังทำเป็นเมี่ยงหวาน กินคู่กับถั่วลิสง-มะพร้าวคั่วเคี่ยวกับน้ำตาล และขิงดอง เคี้ยวกรุบกรอบ ครบรสทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เป็นของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดตาก
ผศ.ดร.ชาติชาย โขนงนุช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพหุวิทยาการเกี่ยวกับเมี่ยง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกถึงผลการศึกษาวิจัยสรรพคุณของเมี่ยงว่า เมื่อทำการหมักแบบโบราณ เชื้อรา จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ ที่มีประโยชน์ในธรรมชาติจะเกิดตามมา ทำหน้าที่เป็นโรงงานแปรรูป เปลี่ยนสารสำคัญในใบเมี่ยงให้กลายเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีทั้ง โพลีฟีนอล ฟลาโวนอยด์ คาเทชิน ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเกิดมะเร็ง และยังมีสารแทนนินต้านการอักเสบ นอกจากนี้ยังพบจุลินทรีย์โพรไบโอติกกลุ่มแล็กติกที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย และไม่พบจุลินทรีย์ก่อโรคที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
จังหวัดแพร่ ถือเป็นแหล่งปลูกเมี่ยงที่สำคัญของทางภาคเหนือ มีแหล่งปลูกอยู่ที่ตำบลช่อแฮ และตำบลป่าแดง อำเภอเมือง โดยเฉพาะที่บ้านแม่ลัว ตำบลป่าแดง มีชื่อเสียงเรื่องการปลูกเมี่ยงและหมักเมี่ยงมานานนับร้อยปี อาจเนื่องมาจากหมู่บ้านแม่ลัวตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตร และมีอากาศเย็นตลอดปี ซึ่งต้นเมี่ยงจะเจริญเติบโตได้เต็มที่และมีคุณภาพดี เมี่ยงจากที่นี่จึงส่งออกไปขายในหลายจังหวัดภาคเหนือ
สภาพพื้นที่บ้านแม่ลัวเป็นพื้นที่สูง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ก๋อน – ป่าแม่สาย มีจุดสูงสุดจากระดับน้ำทะเลประมาณ 840 เมตรที่บริเวณดอยช้างผาด่าน ดังนั้นการปลูกเมี่ยงที่บ้านแม่ลัวจึงปลูกตามไหล่เขาหรือที่ราบที่มีพื้นที่ไม่มากนัก ครอบครัวหนึ่งจะมีพื้นที่ปลูกเมี่ยงและพืชอื่นๆ ประมาณ 3-10 ไร่ (ไร่หนึ่งจะปลูกเมี่ยงได้ประมาณ 1,000 ต้น) ปีหนึ่งจะเก็บเมี่ยงได้ 4 ครั้ง เพื่อให้เมี่ยงได้แตกใบใหม่ แต่ละต้นจะเก็บใบเมี่ยงได้ประมาณ 2 เดือน หมุนเวียนสลับกันไปตลอดทั้งปี ถือเป็นอาชีพและรายได้หลักของชาวแม่ลัวกว่า 300 ครอบครัว
ส่วนวิธีการเก็บเมี่ยง ในแต่ละกิ่งจะเก็บจากยอดอ่อนเฉพาะใบที่ 3 ลงมา (แต่หากจะนำไปทำเป็นใบชาชงดื่ม จะเก็บยอดอ่อนเฉพาะยอดชาที่ตูมและเก็บใบที่ต่ำจากยอดตูมลงมา 2-3 ใบ) เมื่อเก็บได้ 1 กำมือ (ชาวบ้านเรียก “1 กำ” หรือ 1 มัด จะมีใบเมี่ยงประมาณ 30-40 ใบ) จะนำมามัดรวมกันด้วยตอกไม้ไผ่ ต้นใหญ่ต้นหนึ่งจะเก็บครั้งหนึ่งได้ประมาณ 10 กำ จากนั้นจะนำใบเมี่ยงมานึ่งแล้วหมักต่อไป
เมี่ยงที่เก็บมาแล้วจะนำมามัดเป็นกำก่อนนำไปนึ่ง
พืชเศรษฐกิจของบ้านแม่ลัว
‘แม่อุ้ยเนียม เตชา’ เล่าว่า แม่อุ้ย (หมายถึงย่าหรือยายใช้เรียกผู้หญิงสูงอายุ) เกิดที่บ้านแม่ลัว ปี 2564 นี้อายุเข้า 80 ปี มีอาชีพปลูกเมี่ยงและทำเมี่ยงมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ถ้านับถึงตอนนี้ก็คงจะไม่ต่ำกว่า 100 ปี ตัวแม่อุ้ยเองเริ่มช่วยพ่อแม่ทำเมี่ยงตั้งแต่อายุได้ประมาณ 10 ขวบ จากนั้นเมื่อโตเป็นสาวก็ยึดอาชีพปลูกเมี่ยงและหมักเมี่ยงมาตลอด แต่ตอนนี้ปล่อยให้ลูกหลานทำแทน เพราะอายุมากแล้ว แต่แม่อุ้ยก็ยังช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ
แม่อุ้ยเนียมกับไหนึ่งเมี่ยงที่สานด้วยไม้ไผ่ทำให้มีน้ำหนักเบา หากใช้ไม้เนื้อแข็งแม้จะทนทาน แต่จะหนักและยกลำบาก
แม่อุ้ยบอกว่า เมื่อเก็บเมี่ยงและมัดเป็นกำมาแล้ว จะเอาเมี่ยงมานึ่งในเตา โดยวางเมี่ยงเรียงในถังไม้ (หรือถังไม้ไผ่สาน ถังหนึ่งประมาณ 300 กำ) ใช้เวลานึ่งประมาณ 3 ชั่วโมงเพื่อให้ใบเมี่ยงนุ่ม ใบเมี่ยงจะเปลี่ยนจากสีเขียวเข้มเป็นสีน้ำตาล จากนั้นจะเอามาวางผึ่งในที่ร่มเพื่อให้คลายความร้อน จากนั้นเอาเมี่ยงมาหมักในถุงปุ๋ย มัดปากถุงให้แน่นเพื่อให้เกิดเชื้อรา ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 5-6 วัน แล้วจึงนำใบเมี่ยงมาหมักกับน้ำเกลือในโอ่งหรือถังไม้ไผ่สานขนาดใหญ่ (มีผ้ายางรองเพื่อไม่ให้น้ำไหลออกมา) ใช้หินทับด้านบนเพื่อไม่ให้เมี่ยงลอยขึ้นมา โอ่งหรือถังที่ใช้จะมีขนาดความจุตั้งแต่ 300 กำ จนถึง 4,000 กำ ส่วนเกลือที่ใช้เป็นเกลือสินเธาว์จากอำเภอบ่อเกลือ จ.น่าน ใช้ประมาณ 20-25 กิโลกรัมต่อเมี่ยง 3,000 กำ
“ต้องใช้เวลาหมักประมาณสองเดือน เมี่ยงจะเริ่มเปรี้ยว เอาไปขายหรือกินได้แล้ว ยิ่งหมักนานยิ่งเปรี้ยว แต่ส่วนใหญ่จะขายเมื่อหมักได้สองเดือน เพื่อเอาเงินมาใช้จ่าย จะขายให้พ่อค้าที่ขึ้นมารับซื้อกำละสามบาทห้าสิบ ( 3.50 บาท) พ่อค้าจะเอาไปขายต่อที่ร้านค้า ถ้าไปซื้อที่ร้านราคากำละห้าบาท” แม่อุ้ยเนียมบอก
เมี่ยงที่มัดเป็นกำก่อนนำลงนึ่งในไหไม้ไผ่ครั้งละ 300 มัดหรือตามขนาดของไห ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
สมัยที่ยังไม่มีรถยนต์และยังไม่มีการตัดถนนขึ้นสู่บ้านแม่ลัว ชาวบ้านจะใช้วัวต่างบรรทุกเมี่ยงลงไปขายที่หมู่บ้านข้างล่าง ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร วัวตัวหนึ่งจะบรรทุกเมี่ยงได้ประมาณ 1,000 กำ (ประมาณ 100 กิโลกรัม) โดยจะเอาเมี่ยงบรรจุลงในก๋วยหรือตะกร้าไม้ไผ่ แขวนไว้ข้างลำตัววัวข้างละ 500 กำ
เมื่อบรรทุกเมี่ยงใส่วัวต่างลงไปขาย ชาวบ้านจะลงไปพร้อมๆ กันเป็นขบวน ออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืด ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง เมื่อขายเมี่ยงได้แล้ว ชาวบ้านจะซื้อข้าว เกลือ และสิ่งของที่จำเป็นอื่นๆ กลับบ้าน และต้องใช้เวลานานกว่าขาลง เพราะต้องเดินขึ้นเขา กว่าจะถึงบ้านก็มืดค่ำพอดี
“เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเอาวัวต่างลงไปขายเมี่ยงแล้ว เพราะมีพ่อค้าเอารถยนต์ขึ้นมารับซื้อ ขายครั้งหนึ่งก็ประมาณสาม-สี่พันกำ (3,000-4,000 กำ) กำละสามบาทห้าสิบ ก็พอมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ที่บ้านแม่ลัวนี้ทำเมี่ยงกันเกือบทุกครอบครัว เพราะเป็นอาชีพเก่าแก่ ทำมาแต่ปู่ย่าตายาย” แม่อุ้ยเนียมบอกถึงอาชีพที่สืบทอดกันทั้งหมู่บ้าน
เฉพาะที่บ้านแม่อุ้ยเนียม มีถังหมักเมี่ยงขนาด 3,000-4,000 กำ จำนวน 4 ถัง และมีโอ่งหมักเมี่ยงขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง รวมๆ แล้วที่บ้านแม่อุ้ยเนียมจะหมักเมี่ยงได้ทั้งหมดประมาณ 15,000 กำ หรือประมาณ 1,500 กิโลกรัม (10 กำจะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม) เมื่อหมุนเวียนทั้งหมักทั้งขายตลอดปี ในแต่ละเดือนจะมีรายได้ประมาณเดือนละ 6,000 บาท แม้ว่าจะดูเป็นเงินที่ไม่มากนัก แต่ครอบครัวแม่อุ้ยเนียมก็ยังมีรายได้เสริมจากการปลูกกาแฟ เจียวกู่หลาน พริก และพืชอื่นๆ รวมทั้งพืชผักสวนครัวที่ปลูกเอาไว้นำมาทำเป็นอาหารโดยไม่ต้องสียเงินซื้อ
โอ่งขนาดเล็กใช้หมักเมี่ยงจุได้ประมาณ 300 กำหรือประมาณ 30 กฺิโลกรัม หากเป็นไม้ไผ่สานจะหมักได้ถึง 3,000-4,000 กำ
ส่วนครอบครัวอื่นๆ ก็จะมีรายได้ลดหลั่นกันไป จะมากน้อยก็ตามแต่ขนาดของเนื้อที่ในการปลูกเมี่ยง และปริมาณการหมักเมี่ยง ส่วนต้นทุนหลักๆ ก็จะเป็นค่าเกลือ (กิโลกรัมละ 10 บาท) ไม่นับต้นทุนแรงงานในครอบครัว และไม้ฟืนที่ใช้นึ่งเมี่ยงซึ่งส่วนใหญ่แต่ละครอบครัวจะเก็บหามาเอง เพราะหากใช้แก๊สหุงต้มจะทำให้ต้นทุนสูง และมีปัญหาเรื่องการขนส่งเพราะระยะทางไกล การเดินทางลำบาก
‘คน-เมี่ยง’ อยู่คู่ป่า
ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าชาวแม่ลัวรุ่นแรกๆ ย้ายถิ่นฐานขึ้นมาอยู่แทนชาวลัวะในปี พ.ศ.ใด แต่จากการสอบถามชาวแม่ลัวหลายคน ต่างบอกว่าพ่อแม่และปู่ย่าตายายของตนเกิดที่บ้านแม่ลัว หรือมีอายุสืบทอดกันมาได้ 2-3 ช่วงคน และมีอาชีพปลูกเมี่ยงและทำเมี่ยงมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ หากคะเนจากอายุของอุ้ยเนียมที่เกิดที่บ้านแม่ลัว ปัจจุบันมีอายุ 80 ปี เมื่อนับรวมไปถึงรุ่นพ่อแม่แล้ว ชาวแม่ลัวน่าจะย้ายถิ่นฐานขึ้นมาอยู่ที่นี่และมีอาชีพทำเมี่ยงต่อเนื่องกันมานานไม่ต่ำกว่า 100 ปี
เมี่ยงที่หมักได้ที่พร้อมกินหรือขาย จะมีรสชาติเปรี้ยวอมฝาด นิยมใส่เกลือเล็กน้อย ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วง และมีสรรพคุณหลายอย่าง
อย่างไรก็ตาม อาชีพการปลูกเมี่ยงและทำเมี่ยงในปัจจุบันที่บ้านแม่ลัวในอนาคตอาจจะสูญหายไป เพราะนอกจากคนรุ่นใหม่จะไม่นิยมอมหรือกินเมี่ยงแล้ว สภาพของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ก๋อน-แม่สาย ทำให้ชาวแม่ลัวทำมาหากินลำบากขึ้น เช่น การเก็บฟืนมานึ่งเมี่ยงอาจจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุม และปัญหาสำคัญคือมีความไม่มั่นคงในเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
พิสิษฐ์ ตาจา ที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชนตำบลป่าแดง อ.เมือง จ.แพร่ บอกว่า ชาวบ้านแม่ลัว (ตำบลป่าแดง) มีปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย เนื่องจากพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ก๋อน-แม่สาย แม้ว่าชาวบ้านจะอยู่อาศัยกันมานานนับร้อยปี และอยู่ก่อนการประกาศเขตป่าสงวนฯ แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่าเขา ชาวบ้านจึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน สภาองค์กรชุมชนตำบลป่าแดงจึงเป็นเวทีในการปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่บ้านแม่ลัว รวมทั้งปัญหาที่ดินแปลงอื่นๆ ในตำบลป่าแดง โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา
“ส่วนเรื่องการทำอาชีพเมี่ยงนั้น ผมมองว่าชาวแม่ลัวทำเมี่ยงมาเป็นเวลานับร้อยปี แต่ป่าก็ยังไม่หมดไป เพราะการปลูกเมี่ยงจะปลูกแบบธรรมชาติ คือจะปลูกเมี่ยงแทรกลงไประหว่างต้นไม้ใหญ่ และจะไม่ตัดไม้ใหญ่ในป่าเมี่ยง เพื่อให้มีร่มเงา เพราะเมี่ยงไม่ชอบแสงแดดตรงๆ และจะไม่ใช้สารเคมี เพราะชาวบ้านจะต้องใช้น้ำจากลำห้วยด้วย ส่วนเรื่องฟืนนึ่งเมี่ยงนั้น ชาวบ้านจะปลูกไม้ในไร่หมุนเวียนทดแทนเพื่อนำมาใช้ ทำให้มีฟืนใช้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องไปเก็บฟืนในเขตป่าสงวนฯ เพราะอาจจะถูกเจ้าหน้าที่จับ” พิสิษฐ์บอกเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
บ้านแม่ลัวมี 2 หมู่บ้าน ประมาณ 300 ครอบครัวเศษ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายอยู่ท่ามกลางป่าไม้และขุนเขา และอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนฯ
อย่างไรก็ตาม ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 มีการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ’ หรือ ‘คทช.’ ขึ้นมา มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรที่ยากจนและการรุกล้ำเขตป่าสงวนฯ ป่าต้นน้ำ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ และมี ‘คณะอนุกรรม การนโยบายที่ดินระดับจังหวัด’ (คทช.จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน) เป็นกลไกในพื้นที่ มีอํานาจหน้าที่สํารวจ ตรวจสอบ จัดทําข้อมูลที่ดิน และแผนที่ขอบเขตที่ดินที่จะจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ยากไร้
ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มแนวนโยบายดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน คทช.จัดที่ดินทำกินให้ประชาชนแล้วกว่า 800,000 ไร่ ประชาชนมีที่ดินทำกินแล้วกว่า 80,000 ราย ภายใต้แนวคิดส่งเสริมให้ชุมชนมีสิทธิทำกิน มีกติการ่วมกัน ไม่บุกรุกป่าเพิ่ม และเป็นแนวร่วมอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน
‘พัชรินทร์ เตชา‘ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านแม่ลัว บอกเล่าการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยว่า บ้านแม่ลัวเป็นพื้นที่หนึ่งในจังหวัดแพร่ที่กำลังมีการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในเขตป่าสงวนฯ ตามแนวทางของ คทช.ระดับชาติ และ คทช.จังหวัด โดยชาวบ้านเริ่มสำรวจข้อมูลเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการรังวัดพื้นที่ของแต่ละครอบครัว โดยใช้เครื่องมือจับพิกัด GPS การสำรวจข้อมูลครัวเรือน ฯลฯ เฉพาะหมู่ที่ 4 มีครัวเรือนทั้งหมด 108 หลังคาเรือน จะสำรวจให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้ หลังจากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอไปยัง คทช.จังหวัดเพื่อให้กันพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยออกจากเขตป่าสงวนฯ เพื่อให้ชาวแม่ลัวอยู่อาศัยและทำกินต่อไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน
“คนแม่ลัวอยู่ในพื้นที่นี้มานานนับร้อยปี ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย และมีอาชีพทำเมี่ยงเลี้ยงครอบครัวมาตลอด แม้ว่าเราจะใช้ฟืนเพื่อนึ่งเมี่ยง แต่เราก็ไม่ได้ทำลายป่า เพราะเราปลูกไม้เพื่อเอาไว้ทำฟืน และปลูกเมี่ยงร่วมกับต้นไม้อื่นๆ ช่วยรักษาหน้าดิน รักษาป่าต้นน้ำ แล้วที่ผ่านมาคนแม่ลัวก็ช่วยกันดูแลรักษาป่า ช่วยกันบวชต้นไม้ ทำแนวกันไฟป่า เพราะแม่ลัวคือบ้านของเรา เมี่ยงก็เป็นอาชีพของเรา พวกเราจึงต้องช่วยกันรักษาป่า และรักษาอาชีพนี้เอาไว้ตลอดไป” ผู้ใหญ่บ้านพัชรินทร์บอกทิ้งท้าย
ขณะนี้ชาวบ้านแม่ลัวกำลังจัดทำข้อมูล สำรวจพื้นที่ทำกินเพื่อเสนอ คทช.จังหวัดแพร่ เพื่อให้กันพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านออกจากเขตป่าสงวนฯ เพื่อให้คนอยู่คู่ป่าได้