กาญจนบุรี/27 พ.ย 63 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ หลายหน่วยงานภาคี ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มูลนิธิสัมมาชีพ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ลงพื้นที่เศรษฐกิจและทุนชุมชน ศึกษาดูงานวิสาหกิจชุมชนศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชนตำบลท่าเสา เพื่อนำไปเป็นต้นแบบและขยายผลในการดำเนินงานขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน ณ ศูนย์วิสาหกิจชุมชนศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชนตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
วิสาหกิจชุมชนศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชนตำบลท่าเสา มีแนวคิดริเริ่มสมาชิกของชุมชนได้ ดำเนินการวิเคราะห์ของชุมชนที่ได้จากการจัดเก็บจากครัวเรือน ทำให้ทราบถึงปัญหาหนี้สินของครัวเรือน เกิดจากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรสูงขึ้น เป็นหนี้นอกระบบ และได้แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยกำหนดเป็นแผนชุมชน จึงเกิดการรวมตัว จัดตั้งร้านค้าชุมชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกและคนในชุมชน โดยการจำหน่ายสินค้าราคาถูกที่ชุมชนต้องการและเป็นตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูปที่ชุมชนผลิตขึ้น แล้วนำมาจำหน่ายที่ร้านค้าชุมชนที่เกิดจากการลงทุนโดยการถือหุ้นตามกำลังทรัพย์ของสมาชิกและร้านค้าชุมชนยังทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินชุมชน สนับสนุนการออมและเป็นแหล่งทุนประกอบการของสมาชิก
นายพิพัฒน์ แก้วจิตคงทอง
นายพิพัฒน์ แก้วจิตคงทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชนตำบลท่าเสา กล่าวว่า ได้ดำเนินการระดมหุ้นสมาชิกมาลงทุนจัดหาสินค้ามาจำหน่ายในชุมชนในราคาถูกโดยการให้คณะกรรมการติดต่อซื้อสินค้าโดยตรงกับบริษัทหรือโรงงานผลิตสินค้า เพื่อให้ได้ราคาต่ำกว่าท้องตลาดและได้สินค้ามีคุณภาพพร้อมทั้งปันผลเฉลี่ยคืนให้สมาชิก ผู้ถือหุ้น ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมอาชีพ เกิดกองทุนร้านค้าชุมชนทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในชุมชนการบริหารจัดการร้านค้าชุมชนให้เป็นตลาดจำหน่ายสินค้าของชุมชน เพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกและลดรายจ่ายโดยการนำสินค้าที่มีคุณภาพจำหน่าย ให้สมาชิกในราคายุติธรรมและเป็นตลาดจำหน่ายสินค้าของสมาชิก ทำให้สมาชิกมีเงินนำไปฝากกับสถาบันการเงิน เป็นเงินทุนหมุนเวียนในชุมชน สร้างงานในชุมชนและมีความโดดเด่นในการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนกับภาครัฐในการอนุรักษ์ผืนป่า สร้างความหลากหลายทางชีวภาพเป็นศูนย์รวมกิจกรรมของชุมชนทำให้คนในชุมชนมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสร้างอาชีพ มีรายได้เพิ่ม ไม่เป็นหนี้นอกระบบและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและส่งผลต่อการรวมตัวรักษาผืนป่าและสิ่งแวดล้อม ทำให้สมาชิกอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล
ปัจจุบันมีหุ้นทั้งหมด 49,875 หุ้น รวมเป็นเงินกว่า 4 ล้านบาท มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 559 คน มีการพัฒนาระบบการระดมทุน เช่น การออม การถือหุ้น และมีการตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อดูแลและสนับสนุนการพัฒนาระบบทุนเพื่อเชื่อมโยงการผลิต การรวบรวมสินค้าและการจัดส่งอย่างครบวงจร ทุกสิ้นปีมีการจ่ายเงินคืนให้กับสมาชิกที่ซื้อสินค้าในร้านค้า ร้อยละ 1 บาท และปันผลคืนให้สมาชิก ร้อยละ 12-13 บาท ต่อ 1 หุ้น นายพิพัฒน์ กล่าวในตอนท้าย
หลังจากขับเคลื่อนงานมาไม่น้อยกว่า 10 ปี ความร่วมมือของคนในตำบลท่าเสา ความจริงใจต่อกันของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับคนในชุมชนได้แสดงผลออกมาเป็นที่ยอมรับของคนในประเทศ ศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชนตำบลท่าเสา ได้เป็นมากกว่าร้านค้าในชุมชนที่ค่อนข้างห่างไกลเมืองใหญ่ แต่ที่นี่ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้คนทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความสนใจเข้ามาเรียนรู้ทำความเข้าใจในสิ่งที่ชาวชุมชนได้ร่วมกันดำเนินการ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องในตำบลท่าเสาต่อไป