มหาสารคาม/ 12 พฤศจิกายน 2563 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดประชุมพิจารณาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลชุมชน ณ ห้องประชุมคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม โดยมีผู้แทนองค์กรชุมชนจาก 21 ตำบล ผู้แทนหน่วยงาน และนักวิชาการ เข้าร่วมการประชุม เพื่อให้ผู้แทนชุมชนนำเสนอประเด็นปัญหา และความต้องการในการยกระดับงานพัฒนา โดยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลชุมชน และให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคี ภาควิชาการ และองค์กรชุมชน ในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งต่อไป
ดร.อำพล อาภาธนากร ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรมฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเรียกย่อว่า NIA กล่าวว่า NIA เป็นองค์กรที่มีบทบาทในการส่งเสริม โดยสันบสนุนให้ทุนเพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางสังคม และนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ โดยขั้นตอนในการพัฒนาโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม จะเน้นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียน ลักษณะเป็นทุนให้เปล่า แต่ไม่ให้ 100 % แต่ให้ 75% และจะให้ชุมชนออกอีก 25 %
โดยช่องทางขอทุน 1) ผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคม SIV โดยขอผ่านมหาวิทยาลัย ทางโซนอีสานกลางและอีสานบนต่อผ่านมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พัฒนาโครงการทุนละไม่เกิน 300,000 บาท ต่อโครงการ อีกแห่งคือขอผ่านมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โซนอีสานใต้ 2) หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ทำเมื่อปี 62-63 เป็นโครงการที่ขอผ่านช่องทางส่วนกลางพื้นที่เป้าหมายปี 2564 3 จังหวัด แม่ฮ่องสอน บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ในปี 2565 เรากำลังพัฒนาโครงการร่วมกับทาง พอช. ที่จะพัฒนาร่วมกันกับองค์กรชุมชน ซึ่งชุมชนต้องเตรียมข้อมูลไว้ ซึ่งเปิดรับสมัครในช่วงเดือนธันวาคม 2563-มีนาคม 2564 และจะมีภาควิชาการเป็นพี่เลี้ยง และมีการจัดเวทีworkshop ให้ความรู้ต่างๆ
ทั้งนี้จะส่งข่าวสารข้อมูล ส่งผ่าน พอช.เพื่อกระจายไปสู่ชุมชน โดยใช้สภาพปัญหาของพื้นที่เป็นตัวตั้ง และจะเปิดให้หน่วยงาน และมหาวิทยาลัย พัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา หาเครื่องมือ สนับสนุน ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนต่อไป
นายประดิษฐ์ คงภูษา รักษาการผู้จัดการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สาขาภาคอีสานตอนล่าง กล่าวว่า DEPA เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการประยุกต์ใช้วัฒนธรรมดิจิทัลในการพัฒนา ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีในการเกษตร การทำระบบน้ำ เป็นต้น โดยเปิดให้ชุมชน และผู้ประกอบการ เสนอโครงการ ซึ่งจะมีกลไกการกลั่นกรองโดยมีผู้ว่าเป็นประธานฯ ในการพิจารณากลั่นกรอง ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และความพร้อมของแต่ละจังหวัด โดยภาคอีสานมีคณะการบัญชีฯ มมส.เป็นหน่วยในการประสานงาน เก็บข้อมูลส่งต่อผู้ประกอบการ ให้เสนอโครงการฯวงเงิน 200,000 บาท / ชุมชน/ จ.ละ 5 ชุมชน และจะมีเจ้าหน้าที่มาช่วยพัฒนาโครงการ และเสนอผ่านคณะพิจารณากลั่นกรองจังหวัด ที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนชุมชนได้นำเสนอปัญหา และความต้องการในการยกระดับงานพัฒนา โดยมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ความเห็นและ หารือกระบวนการในการส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรชุมชนต่อไป