ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษในการจัดงาน “ 20 ปี พอช. พลังองค์กรชุมชนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เรื่อง “เศรษฐกิจฐานราก คือ คานงัดความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและความมั่นคงของประเทศ” มีใจความว่า
ในวาระครบรอบ 20 ปี ขององค์กรแห่งนี้ สิ่งที่จะนำเรียน เป็นเรื่องที่สำคัญ โลกหลังโควิด-19 เป็นโลกที่ไม่ใช่ใบเดิมอีกต่อไป สิ่งต่าง ๆ อาจจะต้องถูก reset การขับเคลื่อนโลกในวันนี้ ณ วันนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไป ที่พวกเราเคยได้ยินได้ฟังเรื่องกระแสโลกาภิวัฒน์ พอเกิดโควิด-19 หลายอย่างเริ่มไม่ใช่อีกต่อไป ณ วันนี้โลกกำลังสวิงกลับมาจากโลกาภิวัฒน์จะกลับมาสู่เรื่องชุมชนภิวัฒน์ localization จากนี้จะไปวัดด้วยขีดความสามารถของเศรษฐกิจฐานราก จากนี้ไปทุกประเทศต้องกลับมาพึ่งพาตนเอง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการพึ่งพาตนเองนั้นมีพลังอย่างยิ่ง
การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องลงไปสู่ฐานชุมชน
“พวกเราชาว พอช. ต้องตอบโจทย์ในศตวรรษต่อไปคือ โลกกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่ยุค เดิมเราเรียกว่ายุคความทันสมัย แต่ความทันสมัยนำพาไปสู่ต้นทุนต่าง ๆ มากมาย ณ วันนี้โลกกำลังเปลี่ยนแปลง บทเรียนของโควิด-19 เราจำเป็นต้องเปลี่ยแนวคิด เปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากประเทศไปสู่ความทันสมัยเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน หรือที่เรียกว่า ‘SDGs’ การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องลงไปสู่ฐานชุมชน ความยั่งยืนจะตอบโจทย์ความยั่งยืนของประเทศ และตอบโจทย์ของโลก”
20 ปี เราทำความยั่งยืนโดยไม่รู้ตัว ขับเคลื่อนชุมชนของเราไปสู่ความยั่งยืน จะต้องมองแบบองค์รวม ทุกมิติ เรื่องทรัพยากรที่มีอยู่ ทุนสังคม ทุนการเงินที่มีอยู่ รวมถึงการจะผนึกกำลังกันเพื่อตอบโจทย์ วันนี้วิกฤตที่สำคัญโลกรู้ว่าประเทศไทยกำลังเจอกับวิกฤติเชิงซ้อน วันนี้เห็นลาง ๆ แล้ว คือวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจะแก้ไขได้ไม่ใช่เพียงมหาภาคอย่างเดียว ทำอย่างไรให้มหาภาคแข็งแรง จุดที่สำคัญคือ เรื่องเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐกิจฐานรากที่จะไปสู่การฟื้นตัวของประเทศ
สิ่งสำคัญคือ องค์รวมของพี่น้อง ผ่านมา 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย ณ วันนี้เราจะเอาเรื่องสำคัญ 2 ทุนสำคัญ คือ ทุนสังคม social capital คือ กองทุน ตามที่อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมเห็น สิ่งที่สำคัญต่อจากนี้คือ ทุนมนุษย์ คือการเปลี่ยน mindset การเปลี่ยนความคิด 20 ปีที่ผ่านมา ภาคีของพวกเราได้มี mindset เป็นกลุ่มและผนึกกำลังร่วมกันอย่างชัดเจนแล้ว สิ่งที่ผมชื่นชมที่จะตอบโจทย์เรื่องโควิด-19 ได้ดี คือ
1.การนำพาชุมชนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้กำลังใจ
2. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รู้จักพอประมาณ รู้จักความลงตัว ความสมดุล ผมเชื่อว่าทุกชุมชนมีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว เมื่อเราพอแล้วต้องรู้จักหยุด รู้จักปัน เชื่อว่าพวกเรามีสิ่งต่างๆ เหล่านี้สะสมมาเป็นเวลา 20 ปี จิ๊กซอว์ตัวสำคัญ คือ พวกเราจะนำชุมชนไปตอบโจทย์ความยั่งยืนได้อย่างไร ? เราต้องน้อมนำหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงและเกิดรูปธรรมไม่น้อยเลยทีเดียว
3. เรื่องของเศรษฐกิจฐานรากจะเกิดขึ้นจากอะไร ? หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยพยายามจะปรับตัว เราพูดเรื่องอุตสาหกรรมดาวเด่น ปรากฏว่ามีอุตสาหกรรมเรื่องหุ่นยนต์ นี่คือสิ่งที่เราคิดฝันในช่วงเวลาที่ผ่านมาก่อนโควิด-19 ผมคิดมาตลอดว่าอะไรที่ไม่ใช่ของเราก็ไม่ใช่ของเรา เป็นเศรษฐกิจที่ไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ เป็นเศรษฐกิจที่ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของเรา จะไปสู่นโยบาย Bio Economy เป็นเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ในอนาคตจะต้องยั่งยืน Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด อย่างมีประสิทธิภาพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 บอกว่า ทำอย่างไรให้มีปัจจัยนำเข้าน้อยที่สุด และทำอย่างไรให้เกิดปัจจัยนำออกให้มากที่สุด
เรื่อง Bio Economy เป็นเรื่องของพวกเรา คือ เศรษฐกิจฐานราก G Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว เรามีบทเรียนอยู่ไม่น้อย เพราะความไร้สมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ จึงเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการประท้วง เขาไม่เห็นโอกาสของเขา มีชุมชนไม่น้อยที่ไม่เห็นโอกาสของตัวเอง มีจำนวนกว่า 70,000 กว่าหมู่บ้าน สมดุลมนุษย์กับมนุษย์ และสมดุลมนุษย์กับธรรมชาติ เราบอกทุนนิยม บริโภคนิยม ทุนนิยมแทรกซึมไม่น้อย จึงเกิดปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ฝุ่นควัน PM 2.5 และการเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศโลก
“สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ เรายังขาดสมดุลระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี หากเราไม่ใช้เทคโนโลยี ในอนาคต ชุมชนใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด เช่น smart farmer หรือเทคโนโลยีเรื่องการท่องเที่ยว โจทย์ของการพัฒนาชุมชน เพื่อไปสู่ความยั่งยืนจากเศรษฐกิจฐานราก คนกับคน คนกับธรรมชาติ คนกับเทคโนโลยี ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคือเรื่องความสมดุลนั่นเอง”
จะนำพลังของชุมชนมาถักทอให้เกิดเป็นเครือข่ายอย่างแท้จริงได้อย่างไร ?
ณ วันนี้สิ่งที่ต้องเติมให้ชุมชน คือ ปัญญา เทคโนโลยี คือเครื่องมือที่ทำให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น OTOP การท่องเที่ยว ล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยี หลักคิดในเชิงปฏิบัติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
BCG Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว อาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เรามีทุนทางวัฒนธรรม เราจะนำความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายของชุมชน ทำให้เกิดคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างไร ?
เราต้องรู้รากเหง้าของตนเอง เสน่ห์ในอนาคต ใน BCG มี 4 กลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.เกษตรและอาหาร นอกจากอาหารกิน การแปรรูป 2.การแพทย์และสาธารณสุข การแพทย์แผนไทย สมุนไพร ในชุมชนต่าง ๆ ในอนาคต เรื่องการท่องเที่ยว การแพทย์สุขภาพ และสปา สปาจริงๆ เป็นของต่างประเทศ คนไทยเก่งมากทำให้สปาเด่นเป็นของตัวเอง
จากนี้เรื่องอาหารจะเป็น local food อาหารเชิงภูมิศาสตร์ หากเราต้องการทำเรื่องเศรษฐกิจฐานรากชุมชน อย่างแท้จริง ต้องมี story เรื่องเล่าอยู่กับชุมชน รากเหง้าเชิงวัฒนธรรม รากเหง้าเชิงพื้นที่
เรื่อง เกษตร อาหาร สุขภาพ พลังงานชุมชน พลังงานทางเลือก พลังงานธรรมชาติ ทำอย่างไรให้อยู่ในชุมชน หากเหลือนำไปจำหน่าย
เรื่องการท่องเที่ยว ณ วันนี้ประเทศไทยมีแต้มต่อ เพราะเราเป็นประเทศที่บริหารโควิด-19 ได้มากกว่าประเทศอื่น หลังโควิด-19 ในอนาคตการท่องเที่ยวไทยจะรองรับ การท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
สิ่งสำคัญ เรื่อง creative economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีสินค้าจำนวนมากที่เป็นสินค้า OTOP ระดับ 4-5 ดาว ประเทศไทยมีของดีอยู่ในชุมชน เห็นความหลากหลายชีวภาพ ความหลากหลายของวัฒนธรรม ทำให้เกิดเศรษฐกิจ ต่อยอดองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ทางเทคโนโลยี และการจัดการ
“พอช.จะต้องคิดต่อไป คือ การนำพลังของชุมชนมาถักทอให้เกิดเป็นเครือข่ายอย่างแท้จริงได้อย่างไร สามารถให้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน ไม่ต้องไปรอการจัดงาน OTOP”
20 ปีที่ผ่านมา และ 20 ปีจากนี้ไป…จะไปทางไหน ?
พลังของเยาวชนในพื้นที่ ผมคิดว่าเราแก่ไปแล้ว ม็อบต่างๆ ที่เกิดขึ้น สิ่งที่ดีกว่า คือคนที่จะไปตอบโจทย์ชุมชนไม่ใช่พวกเรา แต่เป็นเยาวชนในชุมชน พวกเราชอบเป็นคุณพ่อที่รู้ดี คิดเองทำเอง เราชอบคิดให้ผู้ใหญ่ทำหรือคิดแล้วให้เด็กทำ ต่อไปต้องให้เด็กคิดแล้วให้เด็กทำ หรือให้เด็กคิดแล้วให้ผู้ใหญ่ทำ เปรียบเหมือนกระทรวงคิดให้เราทำก็ไม่ตอบโจทย์ชุมชนเช่นกัน
“วันนี้ ผมคิดว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเราติดกระดุมเม็ดแรกถูกต้องแล้ว ใช้ชุมชนเป็นตัวตั้ง จากนี้ไปให้เยาวชนเป็นตัวตั้งด้วย ให้เขามาเป็นพลังเชิงบวก เราต้องทำให้เยาวชนในพื้นที่เป็นเสาหลักในการที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้ชุมชนมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านเรื่องเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง ใน 20 ปี ที่ผ่านมาสิ่งที่ พอช.พยายามทำขึ้นมา คือปรับเปลี่ยนจากชุมชนที่ยากลำบาก ไปสู่ชุมชนที่พออยู่รอดได้ และจากชุมชนที่อยู่รอดได้ไปอยู่ชุมชนที่พอเพียง 20 ปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นชุมชนที่พอเพียงไปสู่ชุมชนที่ยั่งยืน”
ณ วันนี้เรามีชุมชนที่ยั่งยืนอยู่ไม่น้อย เราจะทำให้ชุมชนที่พอเพียงเป็นชุมชนอยู่รอดได้ไปสู่ชุมชนที่พอเพียงมากน้อยแค่นี้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจ หลายสิ่งที่นำไปสู่ความยั่งยืน ไม่มีอะไรที่เป็นของฟรี เราต้องจ่ายก่อนเสมอ เราต้องทำงานหนักเสมอ รัฐบาลติดประชานิยมได้ง่าย แต่จะทำให้คนในประเทศนี้จนทั้งระบบ
ฉะนั้น เรามาถูกทาง สิ่งที่ พอช.ร่วมกับภาคีร่วมดำเนินกันมาตลอด ต้องอดทน อดกลั้น เราต้องรู้ว่าเราจะได้อะไร เราจะสร้างบทเรียนหน้าใหม่ 20 ปีแรกเราประสบความสำเร็จ 20 ปีต่อไปแนวคิด หรือสิ่งที่มีแนวร่วมเพียงพอแล้ว สิ่งที่ต้องต่อสู้ต่อไป ไม่ใช่การต่อสู้ทางความคิดอย่างเดียวแต่เป็นการต่อสู้ที่จะทำให้กลไกของภาครัฐไหลรื่น สิ่งที่ติดไม่ใช่ประชาชน จะทำอย่างไรที่จะทบทวนออกแบบกลไกการขับเคลื่อนใหม่ ในอดีต 3 ส่วน ภาครัฐ ประชาสังคม เอกชน มีการเพิ่มประชารัฐรักสามัคคีหรือไม่
ผมคิดว่าต้องเป็น Hybrid ภาครัฐกับประชาสังคม Third sector จะต้องเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ตอบโจทย์ร่วมกับเรื่อง Social Enterprise ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีมาก ณ ตอนนี้ยังไม่สำเร็จนัก หากมีโอกาสได้อ่านหนังสือ “โลกเปลี่ยน คนปรับ หลุดจากกับดัก ขยับสู่ความยั่งยืน”
ตัวร้ายที่นำโชคให้กับพวกเรา ดัดนิสัยพวกเรา ทำให้เรารักตัวเอง ต้องรักคนอื่น อีกส่วนหนึ่งคือทำให้เรากำลังเปลี่ยนสังคม คือ สังคมตัวกูของกู ไปสู่ we society พลังที่พวกเราควรจะเป็นอยู่แล้ว ผ่านสิ่งที่เป็น spirit สิ่งที่ พอช.ฝังรากของพวกเรา 20 ปี แต่โควิดจะเป็นตัวเร่ง ให้พวกเรามองเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ไปสู่สังคมของพวกเรา we society มากขึ้น
โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้อยู่ที่หน่วยที่เล็กที่สุด คือชุมชน เพราะฉะนั้นชุมชนจะอยู่ได้ด้วย social capital ทางสังคมอย่างเดียวไม่ใช่ เรามี financial capital ทำให้สิ่งต่างๆ ดี ๆ เกิดขึ้นได้ การเอาทุนทางธรรมชาติ ทุนวัฒนธรรม ทุนการเงิน สะสมผ่านการออมทรัพย์ ทุนทางสังคม 5 ทุนที่จะต้องบูรณาการให้ตอบโจทย์ความยั่งยืนของสังคมต่อไป
“สุดท้ายขอบคุณ พอช. ผมไม่ได้มีความรู้เรื่องชุมชน แต่เฝ้าดูตั้งแต่สมัยอาจารย์ไพบูลย์ เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โควิด-19 ขอให้พวกเราเข้าใจและกำลังจะไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอย่างแท้จริง อยู่ที่การตั้งโจทย์ของเรา อยู่ที่การเข้าใจ เข้าถึง นำไปสู่การพัฒนา”
โดยสมจิตร จันทร์เพ็ญ