กรุงเทพฯ / วันนี้ 14 กรกฎาคม 2563 พอช.จัดเวทีจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย 5 ปี (พ.ศ.2564 – 2568) ณ ห้องประชุม ศรีวรา โรงแรมทาวน์อินทาวน์ ถนน ศรีวรา เขตวังทองหลาง ฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสรุปบทเรียนการแก้ไขปัญหาท่อยู่อาศัยทั้งเมือง/ตำบลและการบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนในระดับจังหวัดเพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย 5 ปี ฟื้นฟูเครือข่าย จัดขบวนองค์กรชุมชน ทุกระดับโดยการตั้งเป้าหมาย วางทิศทาง ออกแบบวิธีการทำงานใหม่ และวางแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย และบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนให้บรรลุแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี
ในการจัดเวทีครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากผู้แทนจากชุมชนบ้านมั่นคงทั่วประเทศ กว่า 200 คน เพื่อเข้าร่วมสร้างกระบวนการพัฒนาของชาวบ้าน และทุกฝ่ายในเมือง สร้างกลไกเมืองใหม่ที่คนจนเป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหา ที่อยู่อาศัย ความยากจน และสร้างกลไกกระบวนการ และทำงานพัฒนาเมือง ร่วมกันแบบบูรณาการ โดยมีนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช. เป็นประธานในการเปิดเวที
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช กล่าวเปิดเวที เราเป็นทุกคนเป็นคนสร้างประวัติศาสตร์ สร้างพื้นที่ให้กับชาวชุมชน โดยการมีส่วนร่วมทั้งระดับหน่วยงาน และระดับพื้นที่ ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เราได้ทำความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่กับหน่วยงาน 16 หน่วยงาน ในพื้นที่ชุมชนสะแกกรัง จ.อุทัยธานี ที่เกิดจากความร่วมมือกันหลายหน่วยงาน ในอนาคตนโยบายการพัฒนาของภาครัฐจะเกิดขึ้นอีกหลายแห่งและอาจจะกระทบทั้งเชิงบวกและลบต่อชุมชน ซึ่งสิ่งสำคัญเราจะต้องรู้ว่าหากทราบข้อมูลแล้ว เราจะมีส่วนร่วมในการกำหนด วางแผน อย่างไร นายสมชาติ กล่าว
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา (ประธานอนุกรรมการบ้านมั่นคงฯ) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2546 ที่ทำโครงการบ้านมั่นคงมากกว่า 17 ปี เราจะพบว่าโครงการบ้านมั่นคงเกิดความรู้ที่หลากหลาย เพราะสนับสนุนให้ชุมชนเป็นผู้แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เป็นเจ้าของในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ตนเอง / ตามความต้องการ / ตามปัญหาของพื้นที่ การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยมีอยู่ 2 แบบ คือ การแก้ไขปัญหาโดยมีผู้อื่นมาแก้ไขและขายต่อให้เรา กับ การแก้ไขปัญหาด้วยตัวของชุมชนเอง ที่ผ่านมาโครงการบ้านมั่นคงทำให้เรา เปลี่ยนทั้งคน เปลี่ยนทั้งบ้าน ชุมชน และการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง พอช. พยายามหนุนเสริมให้ชุมชนมีการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองอย่างเข้มแข็งและมีหลักการ ตามให้เท่าทันปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่เรื่อย ๆ
ที่ผ่านมา เราพบว่าคนภายนอกมองไม่เห็นศักยภาพ ตีตราว่าจนและไม่มีความสามารถ ทำให้คนจนบางคนคิดว่าเราไม่มีความสามารถในแบบนั้นจริง ๆ แต่ในตัวอย่างของการลงไปเห็นคนในพื้นที่ภาคใต้ เราพบว่าคนที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงเปลี่ยนไป กล้าพูด กล้าแสดงออก และมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น กล้าที่จะไปเชื่อมโยงภายนอกเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา
เครือข่ายสลัมสี่ภาค เชื่อมโยงผู้เดือดร้อนในที่ริมทางรถไฟ (ยกตัวอย่างที่จังหวัดตรัง) ซึ่งโยงกลุ่มผู้ที่จะถูกไล่ที่ในเร็วๆนี้ได้ ร้อยละ 10 จากกลุ่มผู้เดือดร้อนทั้งหมด ซึ่งการรถไฟฯไม่ได้มีแผนที่จะไล่รื้อแค่จังหวัดตรัง มีนโยบายที่ขยายไปทั่วทั้งประเทศ จะมีผู้ถูกกระทำ ผู้ได้รับผลกระทบดำเนินคดีอีกเป็นจำนวนมาก / “เราไม่ได้คัดค้านการพัฒนา แต่ เราจะพัฒนาไปด้วยกันได้อย่างไร ให้คนที่เคยอยู่อย่างลำบาก ได้พัฒนาไปพร้อมกันด้วย”
ต่อจากนี้คือ การคิดค้น การทำให้มากขึ้น การทำให้ใหญ่ขึ้น ด้วยประสบการณ์ความรู้/ความสามารถที่เราได้ร่วมทำกันมา มีคน มีขบวนการพัฒนา มีเครือข่ายที่จะหนุนเสริมกันได้ วันนี้เราไม่ได้เดินเหมือน 20 ปีที่แล้ว แต่เดินด้วยการเติบโตมีความสามารถที่พร้อมจะทำและคิดเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการใหม่
นางสาวสมสุข กล่าวต่อ วาระใหม่แห่งการสร้างแผนและการทำงานจากชุมชนและท้องถิ่น “เปลี่ยนจากการทำโครงการโดยเจ้าหน้าที่หรือผู้นำ หน่วยงานภายนอก มีบาบาทกำหนด มาเป็นการทำงานโดยคน หรือเครือข่ายหน่วยงานในเมือง ในท้องถิ่นให้ร่วมกันให้มากขึ้น หรือมากที่สุด หน่วยงานภายนอกเป็นผู้ช่วย หรือที่ปรึกษา ช่วยเหลือ
เปลี่ยนจาก ไม่ทำร่วมกับใคร เป็นการสร้างความร่วมมือ ใช้โครงการเป็นการสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างกลไกร่วมมือช่วยเหลือพัฒนาร่วมกันในทุกโครงการ และกิจกรรมที่เกิดขึ้น ใช้โครงการบ้านมั่นคงเปลี่ยนความสัมพันธ์ของชุมชนในการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่น
เปลี่ยนจากการเป็นเครือข่ายจำกัดเฉพาะชุมชนบ้านมั่นคง ให้ขยายครอบคลุมชุมชน คนจนที่อยู่ในเมือง ปรับการทำงานของเครือข่าย ให้หลากหลาย มีส่วนร่วม ครอบคลุมทุกเรื่อง มีคนทำงานมาก และเป็นเจ้าภาพ กลไกกลางของชุมชนเป็นที่ยอมรับทั้งจากชุมชนและหน่วยงาน ที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพในแต่ละเมือง
เปลี่ยนคุณภาพองค์กรชุมชนที่บริหารโครงการให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วม ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมตัดสินใจจากสมาชิก มีกลุ่มย่อย มีคนร่วมทำงานมาก
เปลี่ยนจากการถูกออกแบบให้ กำหนดให้ เป็นการ ร่วมออกแบบ ออกแบบชุมชนใหม่อย่างมีส่วนร่วม
เปลี่ยนวิธีคิดจากแค่การทำงาน สร้างบ้าน จัดการเรื่องโครงการสร้างบ้าน มาเป็นสร้างบ้านที่มากกว่าบ้าน สร้างระบบชุมชนใหม่ที่มีการจัดและสร้างระบบการอยู่อาศัย สามารถร่วมกันจัดการพัฒนาชีวิต การทำมาหากิน ความเป็นอยู่เรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็น ร่วมกันได้อย่างเข้มแข็ง”
นางสาวสุดใจ มิ่งพฤกษ์ ผู้แทนเมืองสุรินทร์ กล่าวว่า ตนเข้าร่วมเป็นคณะทำงานในการแก้ไขปัญหาโครงการคนจนของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ร่วมเป็นคณะทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นคนเดียวที่มาจากภาคประชาชนและเป็นคนที่มีประสบการณ์การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จริง “คนจนต้องเกิดการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง” คนจนเป็นเหมือนคนที่ถูกสังกะสีกดทับ ไม่เคยได้รับโอกาสจากภายนอก ไม่เคยถูกเข้าถึงถ้าเข้าถึงก็ถูกแก้ไขไม่ถูกจุด / สุดท้ายคนจนมีความสามารถหากได้รับโอกาสในการแสดงออก ได้รับโอกาสในการพัฒนาและเรียนรู้ร่วม (คุณสุดใจ พบว่าเมื่อก่อนที่เคยน้อยใจ/อายในการเป็นคนที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดสลัม แต่เมื่อแก้ไขปัญหาและประสบความสำเร็จจากการทำบ้านมั่นคงได้ คุณสุดใจไม่เคยอายที่เคยเป็นคนจนมาก่อน และพร้อมที่จะลงไปแก้ไขช่วยเหลือคนอื่น คนอื่นที่ไม่ใช่คนจนอาจจะกลัวเมื่อเห็นปัญหาไม่กล้าเข้าใกล้ แต่เราที่เป็นคนจนมาก่อนไม่เคยกลัวที่เข้าหาปัญหา)
นายสมยศ เวลาดี เครือข่ายบ้านมั่นคงชุมชนชนบทเกาะสุกร จ.ตรัง กล่าวว่า จากคนเกาะที่ไม่มีสิทธิ ไม่มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ แต่ พอช. เข้าไปหนุนเสริมให้คิดแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง และโยงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาการทำมาหากิน/รายได้จากการค้าปลาประมงได้รับผลกระทบ ขาดความมั่นคงทางอาหาร เกิดการโยงเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ทำเรื่องการประมง มีการส่งต่อข้อมูลระหว่างกันโดยชุมชนเครือข่าย โดยไม่รอเจ้าหน้าที่รัฐหรือภาคเอกชนเข้ามาช่วย ในเรื่องของที่ดินป่า ป่าชายเลนที่จะต้องอาศัยข้อมูลในการไปต่อสู้สิทธิ ได้อาศัยความเป็นเครือข่ายของผู้ประสบปัญหาเดียวกันในการไปแก้ไขปัญหา ในเรื่องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ คนที่จะมีรับอุดมการณ์ คนที่จะขับเคลื่อนสืบสานแก้ไขปัญหาของชุมชนต่อไป
อย่างไรก็ดี การพัฒนาองค์กรชุมชนแต่ละชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง มีสมดุล ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของสมาชิก และกลุ่มต่าง ๆ มีแผน มีระบบ มีหลาย ๆ กิจกรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ ให้ความสำคัญกับการสร้างสมาขิกที่เข้มแข็ง การวางผัง วางแผนการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าอย่างมีส่วนร่วม มีความหลากหลายใหม่ ๆ ในรูปแบบโครงการที่อยู่อาศัย อาจต้องคิดใช้ประโยชน์พื้นที่มากกว่าเรื่องที่อยู่อาศัย มีการค้าขายผสมกลุ่มอื่น ๆ เรื่องอื่นด้วย สำหรับชนบทต้องพัฒนาแผนตำบล ที่มีเรื่องปฏิรูปที่ดิน ระบบน้ำระบบนิเวศน์รวม อาชีพที่ทำกิน การฟื้น สร้างกองทุนชุมชน กองทุนเมือง ให้เป็นสถาบันการเงินของชุมชนที่เข้มแข็ง กองทุนรักษาดินบ้าน กองทุนสวัสดิการ กองทุนพัฒนาอาชีพ การที่สมาชิกทุกคนต้องออมทรัพย์ ส่งเสริมผู้หญิงให้มีบทบาทการทำงาน การบริหารและจัดการชุมชน ส่งเสริมบทบาทเปิดพื้นที่ให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ รวมถึงสร้างพื้นที่ให้คนกลุ่มต่างๆ มีส่วนร่วม การพัฒนาเมืองท้องถิ่น ขบวนชุมชนจังหวัด สภาองค์กรชุมชน การมีแผน มีการพัฒนาอาชีพ รายได้ สร้างเศรษฐกิจของคนในชุมชนที่เข้มแข็ง สร้างชุมชนแห่งสวัสดิการและการอยู่ร่วมกัน