อุบลราชธานี/ เครือข่ายภัยพิบัติอุบลราชธานี ภาคีเครือข่ายและชาวชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี จัดงานรวมเรือเชิญแม่ย่านางลงแม่น้ำมูล จำนวน 26 ลำ พร้อมรับมือภัยพิบัติน้ำท่วม เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม เตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ พร้อมขนย้ายและอพยพชาวบ้านหากเกิดน้ำท่วมอีก
จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งวิกฤติหนักในรอบ 17 ปี ของปีที่ผ่านมา(2562) ทำให้บ้านเรือน สัตว์เลี้ยง สิ่งของต่างๆ รวมไปถึง ผลผลิตทางการเกษตร ของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริม 2 ฝั่งแม่น้ำมูลได้รับความเสียหาย สาเหตุเกิดจากเป็นพื้นที่รวมแม่น้ำสายหลักทั้งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ซึ่งรองรับน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ภาคอีสานตอนบนและภาคอีสานตอนล่าง ก่อนไหลลงลำน้ำโขง ถูกอิทธิพลจากพายุโพดุลและคาจิกิพัดถล่มทำให้เกิดฝนตกหนัก มวลน้ำจากหลายจังหวัดไหลลงสู่แม่น้ำมูล โดยมวลน้ำมาบรรจบกันที่เขื่อนปากมูลก่อนไหลออกสู่แม่น้ำโขง แต่เขื่อนไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ทำให้ให้เกิดน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะบริเวณชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูลที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองและวารินชำราบบางพื้นที่มีน้ำท่วมสูงกว่า 10 เมตร ปริมาณน้ำที่มีมากกว่าปกติ และไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่อย่ารวดเร็ว ชาวบ้านขนของขึ้นที่สูงหรือขนย้ายไปพื้นที่ปลอดภัยไม่ทัน เนื่องจากจำนวนเรือมีไม่เพียงพอต่อการช่วยชาวบ้านได้อย่างทันท่วงที จึงทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก
ล่าสุดวันนี้(13 มิถุนายน 2563) เครือข่ายภัยพิบัติอุบลราชธานี ร่วมกับพี่น้องชาวชุมชนที่อยู่อาศัยบริเวณริม 2 ฝั่งแม่น้ำมูล ได้จัดให้มีพิธีรวมเรือเชิญแม่ย่านางลงแม่น้ำมูล เรือ 26 ลำ แพ1 ลำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม แผนงาน และสร้างขวัญกำลังใจ ในการป้องกัน การแก้ไขปัญหา กับสถานการณ์น้ำท่วม จ.อุบลราชธานี ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน สิงหาคม-ตุลาคม ของทุกๆปี ในวันที่ 13 มิถุนายน 2563 ณ ท่าน้ำชุมชนหาดสวนยา เทศบาลเมืองวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 40 คน
นายจำนงค์ จิตนิรัตน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏรูปสังคมและการเมือง จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า น้ำท่วมปี 62 ทำให้พวกเราได้คิดอะไรหลายๆอย่าง ความจริงได้เคยคุยกันตั้งแต่ปี 54 แล้วซึ่งที่นี่มีเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซาก การป้องกันของชุมชนทำได้น้อยมาก ทิศทางน้ำในปัจจุบันได้เปลี่ยนกระแสซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนชุมชนก็ไม่สามารถที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่นได้เพราพวกเขาอยู่ที่มาเป็นร้อยปี ถ้าจะอยู่ก็ต้องอยู่กันอย่างปลอดภัย จึงเชิญชวนพี่น้องจากสาธารณะในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ เอกชน ให้มาช่วยกันสร้างเรือเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดจากน้ำท่วม ซึ่งก็ได้การตอบรับที่ดี พอช.ก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ มีข้อเสนอร่วมกันว่าให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการสร้างเรือขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันมีเรือ 26 ลำ แพ 1ลำ แบ่งการสร้างเรือไปตามชุมชนต่างๆ โดยใช้ภูมิปัญญาของคนในชุมชนมีการใส่ทุ่นหัว-ท้ายเรือ เพื่อป้องกันเรือจม อีกส่วนหนึ่งได้แบ่งให้พี่น้องทางภาคใต้ช่วยสร้างเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาชาวบ้านช่วยกันซ่อมบ้านที่ถูกน้ำท่วม
ส่วนเรือจำนวน 26 ลำ อยู่ในมีพื้นที่รับผิดชอบ ในเขตอำเภอเมือง วารินชำราบ สว่างวีรวงศ์ ดอนมดแดง กระจายเพื่อลดความสูญเสีย ขนาดของเรือจะไม่เท่ากัน บาวพื้นที่จะไปขยายเรือให้มีขนาดใหญ่เพื่อจะรองรับปริมาณของทรัพย์สินต่างๆได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นชุมชนใหญ่ จะขนของได้ครั้งละเยอะๆ เอาตู้เย็นลงได้ มอเตอร์ไซด์ลงได้ ส่วนเรือได้สร้างแล้ว 1 ลำ พร้อมใช้งาน ซึ่งทางเครือข่ายฯได้มีการซักซ้อมแผนงานพร้อมการอพยพไปแล้ว สามารถจะช่วยเหลือพี่น้องได้อย่างทันท่วงทีในกรณีเกิดน้ำท่วม
เรือทุกลำชุมชนเป็นคนสร้างตามภูมิปัญญาของท้องถิ่น เป็นเรือของชุมชนเอง เรือทุกลำมอบหมายให้ชุมชนดูแล แต่ทุกลำเป็นของส่วนรวม สามารถจะเคลื่อนที่ไปช่วยเหลือพื้นที่ต่างๆในอุบลฯหรือต่างจังหวัดได้ นอกจากนั้นยังได้จัดทำกองทุนเรือในแต่ละชุมชนเตรียมเป็นค่าน้ำมันค่าใช้จ่ายๆ จะมีอาสาสมัครประจำเรือ 5 คน ดูแลความพร้อมเรือให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา พร้อมมีการอบรมฝึกซ้อมการขับเรือ เพื่อให้เกิดความชำนาญ ซึ่งในอนาคตจะไปขอจัดทำใบขับขี่เรือให้กับทางชุมชนด้วย นายจำนงค์ กล่าวเพิ่มเติม
นางอัฐฌาวรรณ พันธุ์มี ตัวแทนเครือข่ายภัยพิบัติอุบลราชธานี เล่าให้ฟังว่า เมื่อเกิดน้ำท่วมจึงได้รับความเสียหายมาก มีปัญหาเรื่องการขนย้าย ได้บทเรียนว่าต้องมีการศึกษาข้อมูล ต้องทำข้อมูลเรื่องน้ำ และตอนที่ประสบภัยนั้นเรือก็ไม่มี มีแค่เพียงเรือทหาร กับของหน่วยงานไม่กี่ลำ แต่เราเป็นสมาชิกเครือข่ายฯ (คปสม.) จึงประสานการช่วยเหลือกัน พวกเราคิดว่าต้องเตรียมเรือของชุมชน มีอาสาสมัคร มีข้อมูล มีการสื่อสาร จะได้มีการเตรียมเรือช่วยเหลือกันเองได้ อยากให้หน่วยงานสนับสนุนให้พี่น้องมีเรือ ช่วยให้พี่น้องมีความเข้มแข็งสามารถอยู่กับน้ำ อยู่ในชุมชนได้
นายธนาคม กองเพียร นายอำเภอวารินชำราบ กล่าวว่า ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมของวารินฯมีทุกปี แต่ปีที่ผ่านมาเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เส้นทางน้ำมีการเปลี่ยนทิศทาง ชาวบ้านเตรียมตัวไม่ทันน้ำมาเร็วมาก ซึ่งเป็นบทเรียนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จะต้องมีความรวดเร็วมากขึ้น สิ่งสำคัญคือการดำรงตนของชุมชน ต้องมีการรวมตัวกัน หาที่พักที่ปลอดภัย ดูแลทรัพย์สินบ้านเรือน ชุมชนต้องมีแผนการรับมือในอนาคต ใช้โอกาสปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสที่จะสร้างทางเลือกใหม่ๆ เราต้องให้ชุมชนรับรู้ข้อมูล วางแผนระยะเผชิญเหตุ และส่วนราชการเข้ามาหนุนเสริมอย่างทันท่วงที
ส่วนเรื่องที่ชาวบ้านมีเรือเป็นชุมชนแล้ว แต่บางลำยังไม่มีเครื่องยนต์ หรือแม้แต่จำนวนเรือยังมีไม่เพียงพอ ให้ทางเครือข่ายจัดทำหนังสือขอรับการสนับสนุนจากนายอำเภอได้ รวมไปถึงเรื่องต่างๆที่เป็นความเดือดร้อนของชุมชน ก็ยินดีให้การช่วยเหลือเมื่อพี่น้องร้องขอมา นายธนาคมกล่าวในตอนท้าย