
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.
เฟซบุ๊กชื่อ “หยืด ฅนเพื่อชีวิต” (ชาญณรงค์ เหมือนปั้น) โพสต์ข้อมูลขอความช่วยเหลือชุมชนผู้พิการทางการพูดหรือการได้ยิน ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณใต้สะพานข้ามลอยข้ามคลองสามเสนใน ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. อยู่รวมกันประมาณ 130 คน สภาพของที่อยู่อาศัยไม่มีความมั่นคงปลอดภัย และไม่อยู่ในระบบชุมชนของ กทม. ในบริเวณดังกล่าวมีคนในชุมชนอาศัยอยู่ 59 หลังคาเรือน ประมาณ 180 คน มีเพียง 50 คนที่สามารถพูดได้ ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นผู้บกพร่องทางการได้ยินและการพูดใช้เพียงแค่ภาษามือเพื่อทำการสื่อสารกัน คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพขายเทียนหอมบรรจุในถ้วยแก้ว ขายตามร้านอาหาร เก็บขยะขาย และขายสลากกินแบ่งรัฐบาล พนักงานทั่วไป ย่านอาร์ซีเอช่วงเวลากลางคืน หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้สถานบริการต่างๆถูกปิดลง ทำให้คนในชุมชนดังกล่าวเกือบทั้งหมดขาดรายได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

หยืด ฅนเพื่อชีวิต
วันนี้ (9 พฤษภาคม 2563) นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจและช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการทางการพูดหรือการได้ยิน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมมอบถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภคและข้าวกล่อง ในเบื้องต้น และช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยให้เกิดความมั่นคง รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ณ ชุมชนผู้พิการทางการพูดหรือการได้ยิน บริเวณใต้สะพานข้ามลอยข้ามคลองสามเสนใน ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม.
นายจุติ ได้เสนอที่พักอาศัยของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ให้ทางชุมชน แบ่งเป็น 2 ทางเลือก ได้แก่ 1. ห้องเช่าเดือนละ 999 บาท 3 เดือนแรก ไม่คิดค่าเช่าและให้เช่าอยู่ระยะยาว และมีอาหารกินวันละ 3 มื้อ พร้อมหางานให้ทำตามความเหมาะสมของแต่ละคน 2. การพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยสร้างในที่ของรัฐบาล ตามโครงการบ้านมั่นคง ของ พอช. เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยขอให้ชุมชนร่วมกันตัดสินใจเพื่อย้ายไปยังที่พักใหม่ กระทรวง.พม จะดูแลเอง ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อยากให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ขจรจิตร สุขศรี เล่าให้ฟังผ่านน้องตุ๊กตาซึ่งช่วยเป็นล่ามแปลภาษาว่า เขาอยู่ที่นี่มา 10 กว่าปีแล้ว เดิมอยู่แถบมีนบุรี สาเหตุที่มาอยู่เนื่องจากอยู่ใกล้ที่ทำงาน และเป็นชุมชนที่มีผู้พิการทางการพูดหรือการได้ยินเหมือนกันอาศัยอยู่ก่อนหน้านี้ แล้วทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย เลยมาขออยู่ร่วมด้วย ปลูกห้องพักอยู่ใต้สะพานทำขึ้นกันอย่างง่าย ด้วยวัสดุที่พอจะหาได้ ไม่ว่าจะเป็นเศษไม้อัด หรือแผ่นพลาสติก ฯลฯ อยู่ที่นี่ไม่ได้เสียค่าเช่า ช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟตกประมาณ 400 เดือน มีอะไรคนในชุมชนก็ช่วยเหลือกัน
ส่วนความต้องการที่อยากได้มากที่สุดก็คือ “บ้าน” ที่อยู่อาศัยหลังเล็กๆ สักหลัง เป็นของตนเอง อยู่ไปจนตายโดยที่ไม่มีใครมาขับไล่ เรื่องนี่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในชีวิต ขจรจิตร บอกในตอนท้าย