“ทำงานให้เห็นว่า ทำจริงทำได้ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะเรามีทีมงานที่ดี และเข้ามาทำงานเพื่อชุมชนจริง เป็นความภาคภูมิใจ หาที่ไหนไม่ได้ ว่าประชาชนสามารถทำได้ ประชาชนมีสวัสดิการได้ถ้าเราตั้งใจ” ถ้อยคำของประธานกองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ นางพัชรี บุญมี ที่สะท้อนความภาคภูมิใจ ของคนเล็กคนน้อยที่ไม่ธรรมดา แต่สามารถนำพาชุมชนนำพาให้ชาวบ้านสามารถมีระบบสวัสดิการของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน จนผลงานเป็นที่ประจักษ์ และคว้ารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน : ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดของศาสตรจารย์ ดร.ป๋วย อึ๋งภากรณ์ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ประจำปี 2563 ด้านการบริหารจัดการกองทุนที่ดี และมีธรรมาภิบาล
“มีคุณธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน”
ที่กองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน
นางพัชรี บุญมี ประธานกองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก เล่าให้ฟังถึงที่มาของกองทุนฯ แห่งนี้ โดยระบุว่า เพราะอยากลดความเหลื่อมล้ำของคนในชุมชนเราให้มีความเสมอภาค เราเห็นแต่ข้าราชการมีสวัสดิการ ทำอย่างไรชาวบ้านถึงจะมีสวัสดิการ ด้วยความที่ตัวเองเป็น อสม. ลงพื้นที่เห็นความทุกข์ยากของพี่น้องมาโดยตลอด จึงฉุกคิดว่าทำอย่างไรเราถึงจะช่วยเขาได้ที่มากกว่าการเป็น อสม. อยากมีกองทุนที่คอยช่วยเหลือชาวบ้าน มากกว่ากองทุนออมทรัพย์ที่ทำอยู่แล้ว แต่มันไม่เต็มที่ไม่สามารถที่จะดูแลได้ทั่วถึง เราก็เลยมามองว่าทำไมเราไม่ทำให้ชาวบ้านมีสวัสดิการบ้าง และเป็นความโชคดีของเราที่มาเจอกองทุนนี้ จากการอบรมกับพัฒนาสังคม และ พอช. ทำให้เรามองเห็นช่องทาง นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ
ซึ่งกองทุนสวัสดิการจะดูแลได้ทั่วถึงครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ด้วยการเอื้ออาทรโดยมีงบมาสนับสนุน ด้วยการที่ว่า เราจะต้องออมส่วนหนึ่ง ภายใต้สโลแกนที่ถูกต้องที่สุดคือ ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี มันเป็นสิ่งที่เราต้องการที่สุด ในมุมมองสวัสดิการชุมชนคือการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยที่ไม่ได้รับฝ่ายเดียว ก็จะเป็นผู้ให้ด้วยเป็นผู้รับด้วย และก็จะดูแลซึ่งกันและกันดูแลกันไม่ทอดทิ้งกัน อันนี้เป็นสิ่งที่เข้ากับความต้องการของเรา จึงทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจ ไปประชุมมาวันเดียวคุยกันรู้เรื่องเลยว่าสิ่งนี้แหละที่เราจะต้องทำ ตั้งเป้าว่าจะทำจริง ตั้งเป้าตั้งแต่วันแรกว่า 10 ปี เราจะมีเงิน 10 ล้าน ให้ได้ ยังไงก็ไม่มีทางล้ม
จากสวัสดิการพื้นฐาน จนครอบคลุมสวัสดิการ 16 ประเภท
นางพัชรี เล่าต่อว่า สวัสดิการแรกที่เราจัดก็คือ “เกิด เจ็บ ตาย” เพิ่มขึ้นมาก็มีเรื่องของ การศึกษา เพิ่มขึ้นมาอีกก็มีเรื่องของ ภัยพิบัติ และก็ อนุรักษ์ควายไทย, ทหารเกณฑ์, ปลูกผัก 10 อย่าง, สุขภาพดี 7 ปีไม่เคยดื่ม, และก็งานศพปลอดเหล้า งานบวชปลอดเหล้า อนุรักษ์ควายไทยจะไม่เหมือนกับเมืองลีงเท่าไหร่ เพราะเกณฑ์การให้สวัสดิการก็คือมันเกิดจากตำบลของเราต้องการให้คนทำเกษตรอินทรีย์ และอยากเช็คสภาพว่าชุมชนเรามีควายอยู่กี่ตัว เพราะเวลาเราทำจะมีปัญหาเรื่องปุ๋ย เราก็ไม่สามารถเช็คได้ มีแต่ไปซื้อที่อื่นๆ ทำไมเราไม่เช็คของเราและมาสนับสนุนของเรา ก็เลยบอกว่าเราจะทำอนุรักษ์ควายไทยเพื่อให้พี่น้องเราเลี้ยงควายเพิ่มขึ้น ไม่ขายไม่ทิ้ง มีเกณฑ์การจ่ายภายใน 1 ปี 500 บ./1ตัว/1ครัวเรือน ภายใต้เงื่อนไข เป็นสมาชิกมาแล้ว 5 ปี
เป็นไปตามหลักด้านหนึ่งคือ การมีส่วนร่วมรับประโยชน์ ตั้งแต่ 1) เด็กแรกเกิด/คลอดบุตร 2) เจ็บป่วย/รักษาพยาบาล 3) ผู้สูงอายุ เจ็บป่วย/ติดเตียง 4) กรณีเสียชีวิต 5) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานศพ ปลอดเหล้า 6) ดูแลคนด้อยโอกาส/พิการ 7) ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ 8) เพื่อการศึกษา 9) ประเพณีวัฒนธรรม 10) ที่อยู่อาศัย (ซ่อม/สร้าง) 11) ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 12) อนุรักษ์ควายไทย 13) สุขภาพดีไม่มีเบิกเราก็ดูแล 14) บวชปลอดเหล้า 15) สวัสดิการคนทำงาน และ 16) สวัสดิการทหารเกณฑ์ เป็นสวัสดิการที่กองทุนแห่งนี้ดูแลให้กับสมาชิก
“เมื่อก่อนเคยทำมาหลายองค์กรและโดนดูถูกตลอดว่าประชาชนทำไม่ได้ ทำเดี๋ยวก็ล้ม อันนั้นก็ล้ม ช่วงที่ก่อตั้งกองทุนนี้ กองทุนหมู่บ้านก็กำลังเจ๊ง เขาว่าเงินแค่บาทเดียวจะรอดหรอ ขนาดเก็บปีละ 1,800 บาท ยังเจ๊งเลย พอทีนี้เราก็เลยมาคิดว่า ทำไมเราจะทำใม่ได้ ทำไมเราไม่ลองทำดู จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำให้เขาเห็นว่าเพื่อชุมชนทำไมเราจะทำไม่ได้”
จุดเริ่มต้นจากการวางระบบ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบลาส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองแก (รพสต.) เป็นพี่เลี้ยง มีปลัดเทศบาลเป็นคนหนุนเสริม เรื่องงบประมาณ เรื่องต่างๆ ทางเทศบาลจะเป็นฝ่ายงบ รพสต.จะเป็นฝ่านหนุนด้านวิชาการ ระบบอะไรต่างๆ จะช่วยกันออกแบบ โดยที่ไม่ได้มาบังคับ กองทุนจะเป็นคนเสนอไปที่นั่นเอง ว่าต้องการแบบนี้ช่วยออกแบบให้หน่อยเขาก็จะช่วยกองทุนฯ การได้ภาคีที่ดีคือจุดเด่นของกองทุนฯ พอวางระบบเสร็จ การทำงานของกองทุนฯ ก็จะเบ็ดเสร็จใน 1 วัน 1 เดือนเราทำงาน 1 ครั้ง ตามแนวคิดหลักความโปร่งใส One stop service One – day ที่เป็นขั้นตอนการการบริหารงบประมาณ สร้างความเชื่อมั่นด้วยการเชิญชวนผู้ที่สนใจที่อยากรู้อยากติดตามการทำงานของเราก็เชิญมาชมการทำงานทุกวันที่ 5 เพื่อให้เห็นเป็นประจักษ์
บริหารจัดการกองทุนดี มีธรรมาภิบาล
บริหารจัดการที่ดีมีธรรมาภิบาล ความซื่อสัตย์โปร่งใสต้องมาก่อน คณะกรรมการที่มา มาด้วยความสมัครใจ ไม่ได้บังคับ ไม่ได้ไปเชิญมา เมื่อเป็นสมาชิกแล้ว ก็สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกกรรมการได้ โดยผ่านความยินยอมของสมาชิกในหมู่บ้าน ผ่านมาตามลำดับ และคุณสมบัติที่สำคัญ ต้องมีใจรัก และต้องซื่อสัตย์ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง ใช้วิธีมาเรียนรู้เอาด้วยกัน ตั้งแต่ตั้งกองทุนฯ เมื่อ 5 พฤษภาคม 2550 ได้รับรองการเป็นองค์กรสวัสดิการชุมชน เมื่อ 26 กันยายน 2551 สมาชิกแรกเข้า 192 คน จาก 12 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 5,195 คน คิดเป็นร้อยละ 71.37 ของประชากรทั้งตำบล และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี นั่นก็มาจาก ได้รับความน่าเชื่อถือ ไว้วางใจจากสมาชิก ยังไม่มีใครลาออก มีแต่เพิ่มเข้ามา แต่ก็ยังคงมีการคัดเลือกกรรมการเหมือนเดิม 2 ปีต่อครั้ง แต่ส่วนใหญ่ก็จะได้คนเก่า เพราะทำงานรู้เรื่องและชุมชนยอมรับ
อีกเรื่องนึงคือ เรื่องของการจัดการระบบการบริหารจัดการ วางระบบจากการเก็บเงินในชุมชนโดยการแบ่งสัดส่วน ถ้าหมู่บ้านไหนมีสมาชิกตั้งแต่ 300 คนขึ้นไป ก็จะให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการกันเอง โดยมีคณะกรรมการ 3 ระดับ ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล และระดับบริหารสูงสุด และวางขั้นตอนการส่งเงินทำแบบเป็นขั้นตอน ซึ่งจะมีทะเบียนรับจากสมาชิกจากหมู่บ้าน มาส่งที่สำนักงานจะมีคนนั่งรับลงรายการ ทุกอย่างจะเชื่อมโยงกันเป็นขั้นตอน สามารถตรวจสอบได้ และสถานะรายการทำเป็นปัจจุบันทุกเดือน ทุกสิ้นปีจะมีการประชุมใหญ่เพื่อเป็นการรายงานผลการดำเนินงาน และปรับระเบียบขององค์กรเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมภายในองค์กร และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ก่อตั้งมา 13 ปี ปรับระเบียบไปแล้ว 5 ครั้ง รวมทั้งจะมีการสรรหาสมาชิกจากการประชุมเวทีสัญจร เป็นการที่เราจะไปเผยแพร่ถึงการมีอยู่ของกองทุนฯ ถือว่าเป็นการรายงานผลสถานะกองทุนและเป็นการหาสมาชิกเพิ่มไปในตัว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในองค์กร
เมื่อเกิดปัญหาภายในทุกเรื่อง การแก้ปัญหาภายในองค์กรจะไม่นิ่งนอนใจ จะจัดการหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาทันทีไม่ให้เกิดปัญหายืดเยื้อ ซึ่งแก้ปัญหาร่วมกับคณะผู้บริหารสูงสุดเพื่อให้ได้รับทราบทั่วกัน และการจัดสรรงานให้แก่กรรมการ จะแบ่งงานด้วยเกณฑ์ของความถนัด ใครถนัดอะไรชอบอะไรก็มอบหมายให้ทำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
ในส่วนของการเพิ่มสมาชิก โดยการเข้าถึงชาวบ้าน ผ่านการลงตรวจชุมชนของ อสม. เพราะ คณะกรรมการเกิน 80% มาจากคนที่เป็น อสม. ก็มีการสอบถามอฺธิบายและชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยจะเปิดรับสมาชิกปีละ 2 รอบ เดือนเมษายนและเดือนกันยายน หลังๆ มามีประบบโปรแกรมรองรับแล้วก็ไม่มีการกำหนดวันเปิดรับสมัคร ใครอยากสมัครก็มาสมัครได้ตลอดทั้งปีทันที และจะมีการจัดโปรโมชั่นในการสมัครเป็นสมาชิกเพื่อเป็นการชักชวนให้คนมาสมัคร เช่น การไม่เก็บค่าธรรมเนียมในการสมัครเป็นต้น
การจัดการเงิน เงินเข้า คณะกรรมการฝ่ายการเงินจะจัดการโดยกรรมการจะมีหนังสือทะเบียนเพื่อเซ็นรับการรับส่งเงินจากสมาชิก ส่วนสมาชิกจะมีสมุดพกในเดินบัญชีการฝากทุกอย่างจะเบ็ดเสร็จภายในวันเดียว ส่วนเงินออก ฝ่ายการเงินจะจัดสวัสดิการจะรับเอกสาร เกิด เจ็บ ตาย คลอดบุตรฯ ฯลฯ ก็จะจัดการจ่ายและสรุปงบรายจ่ายว่าจัดสวัสดิการอะไรไปบ้าง พอเสร็จแล้วฝ่ายการเงินก็จะสรุปและปิดงบในวันนั้นเลยทุกอย่างก็จะเบ็ดเสร็จภายใน 1 วันเช่นกัน
สำหรับการจัดการกับปัญหาเงินไหลออกมากกว่าเงินเข้า นางพัชรี อธิบายว่า เนื่องด้วยทางกองทุนพยายามจะแก้ไขปัญหานี้แต่ถ้าจะลดงบสวัสดิการลงก็กลัวทางสมาชิกน้อยใจและต่อต้าน ก็เลยใช้มาตรการในการแก้ปัญหาคือการแจ้งจุดประสงค์รายละเอียดให้สมาชิกทราบเพื่อสร้างความเข้าใจ และมีการปรับการจ่ายเงินยืดระยะเวลาในการจ่ายสวสดิการ พอปรับได้และผลลัพธ์ที่ได้คือเงินในคลังเหลือพอที่จะเป็นเงินเก็บของกองทุน ก็มีนโยบายในการที่จะให้หมู่บ้านไหนที่มีสมาชิกเกิน 70% สามารถยืมเงินของกองทุนเพื่อนำไปใช้หนี้กองทุนเงินล้านได้ แต่ต้องทำเป็นกลุ่ม ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อปี ทำได้สักพักพอ สตง. เข้ามาเราก็หยุดนโยบายนั้น เงินฝากในกองทุนก็มีการนำไปซื้อสลากออมสินเพื่อลุ้นรับรางวัล ดีกว่าเก็บไว้เฉยๆ และในส่วนการจัดสรรแบ่งส่วนการใช้เงิน จะแบ่งเป็นการจัดสวสดิการเป็น 50% ใช้จ่ายในการบริหารจัดการ 10% และการลงทุนที่ไม่เสี่ยงอีก 40%
“หลักๆของคำว่า ธรรมาภิบาล ของเราจริงๆคือการแก้ไขปัญหา คือการที่เราเร่งรีบในการแก้ไขปัญหา ทุกอย่างไม่เคยรีรอ ต้องหาทางออกให้ไว” ทุกคนก็ดีใจภูมิใจที่เราทำได้ เพราะทุกคนก็ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างดี ส่งผลให้เราได้รางวัล รู้สึกดีใจ ภูมิใจ ที่ทำให้เขาเห็นผลงานของเรา นางพัชรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่ากว่า 13 ปี ของกองทุนฯ แห่งนี้ มีเงินหมุนเวียนรวมกว่า 22 ล้านบาท จัดสวัสดิการให้กับสมาชิก 8.5 ล้านบาท ปัจจุบันมีเงินคงเหลือเกือบ 13 ล้านบาท มีสมาชิกครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ลดความเหลื่อมล้ำให้กับชาวบ้านผู้ที่ไม่มีสวัสดิการเมื่อ 13 ปีที่แล้ว มาเป็นชาวบ้านที่มีสวัสดิการดูแลชีวิตจากครรถ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน เพราะยึดหลัก ออมเพื่อให้ ที่มาจากความศรัทธาและความเชื่อมั่นของคนในชุมชน มีหลักปฏิบัติ มีคุณธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน สมกับรางวัล “การบริหารจัดการที่ดีมีธรรมาภิบาล”
#เรื่องดีดีที่ชุมชน #20ปีพอชพลังองค์กรชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน #สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน