พอช. / วันนี้ (7 ตุลาคม) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดเวทีเปิดโลกทัศน์ ครั้งที่ 1 เรื่อง “การสร้างความสุขและความสำเร็จตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีนายวัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์ ผู้บริหารบริษัทบาธรูมดีไซน์ไอ-สปา จำกัด เป็นวิทยากรบรรยาย มีเจ้าหน้าที่ พอช.และผู้บริหารฯ เข้าร่วมรับฟังประมาณ 90 คน
นายวัชรมงคล กล่าวว่า การทำงาน ทำความดี ให้เกิดความสุข โดยนำของวิเศษของพ่อมาใช้ในการทำงาน คือ การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการทำงาน และเรานำมาใช้ในการวางเป้าหมายที่สำเร็จ ความสุขของเราคือ ต้องได้มากที่สุด เร็วที่สุด ตามใจที่สุด แต่ไม่รู้จริงที่สุดหรือไม่ เพราะความสุขของคนเราไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเราเปรียบเทียบ หรือพอใจในสิ่งที่มี พอใจในสิ่งที่ได้ ความสุขอยู่ง่าย สุขแรก คือ พอใจ ยินดีในสิ่งที่ได้ พอใจในสิ่งที่มี และภูมิใจในสิ่งที่ทำ สุขที่สอง คือ สุขเย็น คือ สุขที่การให้ และการทำประโยชน์ และอยู่ที่เรารัก และยิ่งให้ยิ่งมีความสุข
“สุขที่ทำให้งานสำเร็จ คือ ความรัก ความรักมีสองแบบ คือ รักในสิ่งที่ทำ รักที่หนึ่ง คือ อิทธิบาทสี่ คือ ฉันทะ คือความพอใจในสิ่งที่ทำ วิริยะ คือสนุก ไม่เหนื่อย จิตตะ คือ สมาธิ ใจจดจ่อ วิมังสา คือ ต่อยอด รักที่สอง คือ รักและสนุกในงาน และรักคนอื่นดุจครอบครัว”
นอกจากนี้จะต้องมีความสมดุล ประกอบด้วย 4 สมดุล คือ งานต้องสมดุล (รู้เรา รู้เขา รู้โลก รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง) สมดุล ที่ 2 คือ คนสมดุล ประกอบด้วยคนดี และคนเก่ง
นายวัชรมงคล เล่าประสบการณ์ในการทำธุรกิจของตนเองว่า เริ่มต้นธุรกิจในปี 2538 โดยทำธุรกิจขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับห้องน้ำ เลือกผลิตภัณฑ์แรกคือตู้อาบน้ำที่แยกส่วนเปียก ส่วนแห้ง เป็นการผลิตตู้อาบน้ำตามสั่ง ทำตามขนาดของบ้านลูกค้า ซึ่งในช่วงนั้นขายดีมาก จึงมีการนำเข้าจากต่างประเทศ และต้องขายผ่านแบรนด์ต่างประเทศ โดยเฉพาะเยอรมันนี ไม่มีแบรนด์ของประเทศไทยไหนที่ทำเลย
“กระทั่งปี 2540 เกิดวิกฤตฟองสบู่ ค่าเงินบาทอ่อนลงมาก บริษัทของผมได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ คือ ไม่มีเงินจ่ายหนี้ เพราะค่าเงินบาทลอยตัว ขายสินค้าไม่ได้ และยังไม่มีเงินจ่ายพนักงาน กระทั่งวันที่ 4 ธันวาคมปีนั้น ผมนั่งเฝ้าหน้าจอทีวี รอฟังสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ท่านไม่ได้บอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ทำธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าไม่สามารถแข่งขันได้ และท่านได้เน้นย้ำถึงการวางฐานรากให้แข็งแรง ให้มองบางอย่างที่ไม่สามารถมองได้ด้วยตา แต่ใช้การประยุกต์เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การประยุกต์ด้านต่างๆ หลากหลายมิติ คือ ‘การพัฒนาอย่างสมดุล’ เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องอยู่ในจุดที่สมดุล จึงจะมั่นคง และยั่งยืน” ผู้บริหารบริษัทบาธรูมดีไซน์เล่าถึงการนำหลักปรัชญาฯ ของในหลวงมาปรับใช้
เขาบอกด้วยว่า คำว่า “สมดุล” คือคำสำคัญในการขับเคลื่อน 1.พึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด จะต้องมีการปรับตัว มีนวัตกรรม เป็นสิ่งใหม่ และสามารถตอบโจทย์และช่วยเหลือสังคม 2.ปรับตัวแข่งขัน จนทำให้เกิดแบรนด์ของคนไทยหรือของเราเอง 3.ต้องกลับไปเป็นที่พึ่งให้คนอื่น มองว่าพนักงานคือหุ้นส่วน คือคนในครอบครัว “ทุกคนมีความสุข” จากการให้ ซึ่งต้องสอน บ่มเพาะ พนักงานทุกคนต้องไปช่วยเหลือคน และนำมาเล่าให้กันฟังว่าไปช่วยเหลือผู้อื่นได้อะไร มีความสุขอย่างไร
“บริษัทบาธรูมฯ ได้น้อมนำปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงพระราชทานแนวคิดว่า ประเทศไทยเราอาจไม่เป็นประเทศที่รุ่งเรืองที่สุดในโลก หรือรวยที่สุดในโลก หรือฟู่ฟ่าที่สุดในโลก แต่ก็ขอให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มีความสงบได้ เพราะว่าโลกนี้หายากแล้ว เราทำเป็นประเทศที่สงบ ประเทศที่มีคนช่วยเหลือซึ่งกันและกันจริงๆ เราจะเป็นที่หนึ่งในโลกในข้อนี้ มาใช้ในการดำเนินงาน รวมถึงงานพัฒนาชุมชนเช่นกัน” ผู้บริหารบริษัทบาธรูมฯ กล่าวย้ำ
นอกจากนี้จะต้องมีธรรมะ 10 ข้อ คือ 1.ทาน ผู้ให้ (สังคหวัตถุ 4) 2. สีลํ สำรวมในศีล (กาย วาจา ใจ) 3. ปริจฺจาคํ เสียสละเพื่อส่วนรวม เป็นการเสียสละส่วนตัวเพื่อคนอื่น 4.อาชฺชวํ ความเป็นผู้ตรง ต่อตนเอง 5. มทฺทวํ ความเป็นผู้อ่อนโยน 6. ตปํ มีความเพียร 7.อกฺโกธํ ความไม่โกรธ 8.อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน 9. ขันติ ความอดทนต่อโลภะ โหสะ โมทะ และ 10. อวิโรธน์ วางตนเป็นหลักหนักแน่นในธรรม
เขาบอกว่า “ความสุข” คือ ความไม่สุดโต่ง มากไปไม่ดี น้อยไปไม่ดี ดีที่สุดคือ “พอดี” ที่เกิดจากความพอใจ เมื่อพอใจมา ความสุขก็จะมาชนเอง และความสุขจากการให้ และช่วยเหลือคนอื่น
สรุปหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทางสายกลาง “รู้เรา รู้เขา รู้โลก” มีการส่งเสริมความรู้ ทั้งในการสร้างคนเก่ง คือ ด้านรอบรู้ ระลึกรู้ รู้แจ้ง การสร้างคนดี ส่งเสริมให้คนมีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ จิตอาสา ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ความสมดุล ที่จะนำมาสู่ความมั่นคงและยั่งยืน
ผู้บริหารบริษัทบาธรูมฯ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทว่า เป็นผู้นำองค์กรนวัตกรรม ที่น้อมนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารองค์กร เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ลูกค้า พนักงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล และสมบูรณ์ ซึ่งจะต้องมีสินค้าที่มีนวัตกรรม และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อส่วนรวมยั่งยืน องค์กรก็จะยั่งยืนไปด้วย
เขายกตัวอย่างการบริหารองค์กรของบริษัทฯ โดยการขยายกิจการอย่าง “พอเพียง” บริหารหนี้สิน และทุนไม่เกิน 1:1 เป็นการบริหารเงินหมุนเวียนและสต็อกให้ดี โดยใช้หลัก 3 R คือ 1. Reduce 2.Reuse พลาสติกหรือวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิต บริจาคให้กับมูลนิธิต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 3. Recycle มีการคิดถึงสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“สิ่งที่สำคัญขององค์กร คือ การใส่ใจพนักงาน ต่อลูกค้า ต่อผู้บริโภค เช่น การให้ทุนการศึกษาลูกของพนักงาน จัดพื้นที่ให้มีการทำกิจกรรม โดยผู้บริหารให้ทุกคนได้เขียนสิ่งที่ตนเองชอบและจัดพื้นที่ให้ทำกิจกรรม เช่น ชมรมพระเครื่อง ชมรมเลิกเหล้า และสิ่งที่ได้คือ การส่งเสริมให้พนักมีเงินเหลือมากกว่าเงินได้ โดยการสำรวจค่าใช้จ่ายของพนักงาน และจัดให้มีโครงการอาหารกลางวัน และเตรียมอาหารให้พนักงานไปกินข้าวเวลาออกไปนอกสถานที่ และสิ่งที่บอกกับพนักงานทุกคนว่าเมื่อได้รับแล้วต้องให้ตอบแทน คือการปรับเปลี่ยนเวรกันทำอาหาร เตรียมของให้เพื่อน” ผู้บริหารบาธรูมฯ ยกตัวอย่างการดูแลพนักงาน
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับพนักงาน เช่น วันเกิดพนักงาน ถือให้เป็นวันหยุดพิเศษ ให้จับฉลากเป็นเงินรางวัล 1,000 – 1,500 บาท เป็นต้น มอบการ์ดวันเกิดให้พ่อแม่ของพนักงาน การทำบุญให้กับพ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้วของพนักงาน มอบการ์ดอวยพรและดอกกุหลาบให้พนักงานเพื่อมอบให้คู่ครองในวันครบรอบวันแต่งงาน กิจกรรมส่งเสริมความกตัญญู วันแม่ มอบดอกมะลิและการ์ดอวยพร ให้พนักงานประดิษฐ์และเขียนคำอวยพรจากใจถึงแม่ เช่นเดียวกับการพัฒนาชุมชน อยากให้ปลูกฝังเรื่องการระลึกบุญคุณก่อนแล้วเราจะได้คนทำงานที่เป็นคนดี
เขาได้พูดถึงการประยุกต์หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 กับการบริหารองค์กร โดยใช้หลัก Plan /ปริยัติ / เข้าใจ คือ 1.ต้องศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ 2.ระเบิดจากข้างใน 3.แก้ปัญหาที่จุดเล็ก 4.ทำตามลำดับขั้น 5.ศึกษาภูมิสังคม 6.เข้าใจองค์รวม 7.ไม่ยึดติดตำรา 8.ประหยัดเรียบง่าย 9.ได้ประโยชน์สูงสุด 10.ทำให้ง่าย (วางระบบง่าย ข้อมูลง่าย สื่อสารให้ง่าย) การมีส่วนร่วม
DO / ปฏิบัติ / เข้าถึง 11.ประโยน์ส่วนรวม 12.บริการรวมที่จุดเดียว 13.ทรงใช้ธรรมชาติ ช่วยธรรมชาติ (คนทำดีต้องได้ดี) 14.ใช้อธรรมปราบอธรรม 15.ปลูกป่าในใจคน 16. ขาดทุนคือกำไร (ประโยชน์ที่ พอช.ได้สร้างไว้เพื่อชุมชน เพื่อประเทศ เพื่อประชาชน) 17.การพึ่งพาตนเอง 18.พออยู่พอกิน 19.เศรษฐกิจพอเพียง 20.ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน
Check /ปฏิเวธ/พัฒนา 21. ทำงานอย่างมีความสุข 22. ความเพียร 23. รู้รัก สามัคคี
ผู้บริหารบริษัทบาธรูมฯ ยังยกตัวอย่างกิจกรรม CSR ของบริษัทฯ ว่า ดำเนินการใน 6 มิติ ได้แก่ ด้านชุมชน ด้านการศึกษา ด้านส่งเสริมอาชีพ ด้านศาสนา ด้านสาธารณสุข ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การทำกิจกรรมที่บ้านเด็กอ่อน บ้านคนชรา การให้ทุนการศึกษาเด็กด้อยโอกาส การทำผ้าป่าสร้างโรงเรียน การออกตรวจสุขภาพให้คนด้อยโอกาส ของสภากาชาดไทย ร่วมกิจกรรมมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยนำแพทย์เข้าไปตรวจร่างกาย ติดตั้งระบบสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่หน่วยประสานงานของมูลนิธสืบฯ กิจกรรมการบริจาคของในเขตพื้นที่กันดาร เช่น แม่สะเรียง อุ้งผาง ฯลฯ
และย้ำสรุปในตอนท้ายว่า จะต้องนำเงื่อนไขความรู้ ( การจัดการความรู้) คือ รอบรู้ /มีสติ / มีปัญญา เงื่อนไขคุณธรรม คือ ซื่อสัตย์/ รับผิดชอบ /จิตอาสา รวมทั้งปรัชญาของพ่อ คือ การพัฒนาอย่างสมดุล พึ่งพาตนเองได้ ประกอบด้วย 4 สมดุล คือ สมดุลที่ 1 งานต้องสมดุล (รู้เรา รู้เขา รู้โลก รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง) สมดุล ที่ 2 คือ คนสมดุล (คนดี และคนเก่ง) สมดุลที่ 3 เป้าหมายขององค์กร คือ ประโยชน์ความสำเร็จที่มาพร้อมกับความสุข และสมดุลที่ 4 คือ ผลสัมฤทธิ์ขององค์กร
โดยนำทั้งหมดมาใช้เป็นหลักในการทำงาน เพื่อนำไปสู่ “การสร้างความสุขและความสำเร็จตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”