ถามว่าวันนี้คุณรู้จักผักที่คุณกินหรือไม่ และมันมีกี่ชนิด คงได้รับคำตอบที่ไม่ต่างกันมากนัก ไล่เรียงกันไป ๆ มา ๆ คงได้ซักสิบชนิด คะน้า หอม ผักชี ถั่วงอก กวางตุ้ง กะหล่ำ ผักบุ้ง ถ้ามากกว่านี้ต้องนึกนานหน่อย และถ้าถามต่อไปว่ารู้จักผักพื้นบ้านบ้างหรือไม่ คงได้รับคำตอบที่คล้าย กันว่ารู้จักเมื่อสมัยเด็ก ๆ ซึ่งทุกวันนี้อาจจะมีให้เห็นบ้าง แต่กว่าเรียกชื่อก็ต้องนึกกันนาน เรื่องได้กินคงไม่ต้องพูดถึง สำหรับคนในเมืองที่มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบและต้องรับประทานอาหารถุง แม้แต่คนบ้านนอกอย่างผมเองก็เหมือนกัน ก็ไม่ต่างจากที่ว่ามานัก
นายชาติชาย เหลืองเจริญ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่ผมเป็นเด็ก ๆ อาหารหลักของผม คือผักพื้นบ้าน ผักขมผัดน้ำมัน ผักหวานต้มจิ้มน้ำพริก ผักบุ้งนา ตำลึง กะถิน กินกันดิบ ๆ ได้รสชาติดีนัก แกงส้มใบมะขาม ยังจำได้ว่าแม่ผมชอบกินผักเสี้ยนดอง ผักกุ่มจิ้มน้ำพริก ใบแต้ว ใบเสม็ดแดง ฯลฯ ใครจะนึกว่าผักพื้นบ้านปลอดสารเคมี ที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่นจะค่อย ๆ หมดคุณค่า ไปโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว เมื่อในสำรับกับข้าวของเราถูกแทนที่ด้วยผักในเมือง ผักจากต่างถิ่นที่บางครั้งเราเองไม่รู้จัก ไม่อยากโทษใครให้เจ็บกระดองใจ รู้แต่ว่าวันนี้ คนส่วนใหญ่แทบไม่รู้จักผักพื้นบ้านพื้นเมืองกันแล้ว หรือรู้จักก็แทบไม่ได้นำมากิน ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ นานา
บ้านจำรุง ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เมื่อประมาณปี 2543 เมื่อเราได้ช่วยมีการเก็บข้อมูลครัวเรือน แล้วพบว่าเราซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ 150 ครัวเรือน มีการใช้สารเคมีกันอย่างรุนแรง มีสารเคมีตกค้างในเลือดของพวกเรา โรคภัยไข้เจ็บเข้ามาหาเราโดยที่เราไม่สามารถดูแลตัวเองได้ โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เราได้ยินบ่อยขึ้น
เรานำเรื่องนี้มาหารือกัน แล้วพบว่าทั้งหลายทั้งปวงนั้นมาจากที่วิถีชีวิตเราเปลี่ยนไป วิถีการกินที่เป็นไปตามค่านิยมสมัยใหม่ เราละเลยอาหารในท้องถิ่นที่มีคุณค่า เมื่อพบต้นตอของปัญหา เราเริ่มจัดระบบการกิน วิถีชีวิตใหม่ร่วมกัน
โดยมีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรพื้นบ้าน นำผักพื้นบ้านมาฟื้นฟูร่วมกัน ใช้สมาชิกกลุ่มเกษตรพื้นบ้านเป็นหลักในการผลิต ผักพื้นบ้านปลอดสารเคมีสู่ชุมชน ผ่านพนักงานขายของกลุ่ม มีการรณรงค์สร้างค่านิยม ผ่านสื่อวิทยุชุมชนบ้านจำรุง ซึ่งเป็นสื่อของเราเอง เรามีร้านส้มตำจำรุง ที่รับผักพื้นบ้านของกลุ่มไปกินกับส้มตำ
ผู้คนที่มาร่วมเรียนรู้ในวิถีชุมชนบ้านจำรุง มาพักโฮมเสตย์ เราจัดอาหารพื้นบ้านรับรองเป็นอาหารหลัก ผู้คนในชุมชนหันมานิยมกินผักพื้นบ้านเพิ่มขึ้น
ซึ่งหลังจากที่เราช่วยกันทำแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2543 เริ่มส่งผลเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ ผู้ผลิตได้ผลิตผักพื้นบ้านปลอดสารเคมีอย่างมีความสุข เพราะไม่ต้องกังวลกับเรื่องราคาสารเคมีแพง สุขภาพดีขึ้นทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ ผู้บริโภคได้กินผักพื้นบ้านตามฤดูกาลส่งผลดีต่อสุขภาพ ภาวะอยู่เย็นเป็นสุขเริ่มเกิดขึ้น เรานำดอกอัญชันมาแปรรูปเป็นน้ำดอกอัญชันสีสวย ต้อนรับนักเดินทาง
ในปีนี้เราเตรียมพื้นที่ ที่เอื้อต่อการเกิดผักพื้นบ้านชายน้ำ ตลอดแนวลำรางสาธารณะ 1,200 เมตร เพื่อที่จะให้ชุมชนได้มีผักพื้นบ้านกินอย่างหลากหลายเพิ่มขึ้นและลดรายจ่ายของครอบครัว
1 ปีที่ผ่านมา นักเดินทางที่มาบ้านจำรุงได้กินผักพื้นบ้านปลอดสารเคมีและนำแนวคิดไปบอกต่อกันเองมากกว่า 1,000 คน ที่สำคัญชุมชนได้เห็นคุณค่าของผักพื้นบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ สำรับกับข้าวของเรามีผักเมืองน้อยลง สุขภาพชุมชนดีขึ้น อากาศบริสุทธิ์ขึ้นเพราะใช้สารเคมีน้อยลง
ผมเองรู้จักผักพื้นบ้านเพิ่มขึ้น รู้ว่าเมื่อนำผักหวานมายำ ให้รสชาติที่ไม่แพ้ยำถั่วพู รู้ว่าหมูต้มชะมวง เมื่อเรากลัวอ้วนกินแต่ใบชะมวงรสชาติแปลกไปอีกอย่าง ยังมีผักที่กินกับน้ำพริกที่กินสด ๆ นั้นให้ความรู้สึกของการเป็นไทย ๆ ได้ดีเหลือเกิน เช่นดอกอัญชัน ผักแว่น ยอดมันสัมปะหลัง หัวปลี ใบบัวบก ผักบุ้งนา หัวไพล ถั่วพู ตำลึง ชะอม ผักหวาน ผักขม หน่อข่า กระชาย ฯลฯ
อยากชวนทุกท่านหันมาดูแลรักษาผักพื้นบ้านรอบ ๆ ตัว รอบ ๆ บ้าน แล้วช่วยกันรดน้ำ ใส่ปุ๋ย (ปุ๋ยอินทรีย์นะครับ) ท่านจะมีความสุข เพลิดเพลินไปอีกแบบ
อยากชวนทุกท่านทำสวนครัวร่วมกัน เหมือนบทเพลงที่กลุ่มเกษตรพื้นบ้านนำไปร้องนำในรายการวิทยุบ้านจำรุง ซึ่งเมื่อฟังแล้วอยากทำสวนครัวขึ้นมาทันที มีเนื้อร้องดังนี้
พริก มะเขือ ขิง ข่า ตะไคร้ เราไม่ควรจะไปซื้อที่ตลาด
ปลูกให้งามยามเมื่อขาด วิ่งปราดไปในสวนครัว
เลือกเก็บเอาตามชอบใจจะกินเมื่อไร ก็ไม่ต้องกลัว
จะกินแกงเผ็ด ผัดเห็ดแกงคั่ว เรามีผักสวนครัวไม่ต้องกลัวอดกิน
เช้า เช้า ไปทำงานเย็นกลับมาบ้านพรวนดิน
ล้อมรั้วด้วยผักกะถิน ล้อมรั้วด้วยผักกะถิน
ถั่วพูน่ากินปลูกไว้ข้าง ๆ
ยกร่องหอมกระเทียม ไม่ต้องตระเตรียมให้หมดสตางค์
เหลือจากกินใช้ขายไปเสียบ้าง ยังได้สตางค์มาสร้างครอบครัว
ฟักแฟงแตงกวา โหระพา ราคานิดหน่อย
ซื้อกินบ่อย ๆ นิดนิด หน่อยหน่อยไม่คอยรู้ตัว
พอถึงหนึ่งปี คิดบัญชีเงินมันรั่ว
ถ้าทำสวนครัว ก็เหลือเงินเป็นร้อย ร้อย มันน้อยเมื่อไร มันน้อยเมื่อไร
วันนี้ เชิญชวนทุกท่านที่สนใจเรื่องราวของผักพื้นบ้าน แวะมาสนทนาวิสาสะ มากินผักพื้นบ้านตามฤดูกาลกันได้ ที่มหาวิทยาลัยบ้านนอก บ้านจำรุง ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง