บริบททั่วไปเขตภาษีเจริญ
บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งธนบุรี มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่การปกครองข้างเคียง เรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตตลิ่งชัน มีคลองบางเชือกหนังเป็นเส้นแบ่งเขต
ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตบางกอกใหญ่และเขตธนบุรี มีคลองบางกอกใหญ่และคลองด่านเป็นเส้นแบ่งเขต
ทิศใต้ ติดต่อกับเขตจอมทองและเขตบางบอน มีคลองวัดนางชี (คลองวัดเพลง) คลองตาม่วง คลองวัดโคนอน (คลองวัดอ่างแก้ว) คลองบางหว้า คลองสวนหลวงใต้ คลองรางบัว คลองตาฉ่ำ คลองบางประทุน ลำรางสาธารณะ คลองวัดสิงห์ และคลองบางโคลัดเป็นเส้นแบ่งเขต
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตบางแค มีคลองพระยาราชมนตรี คลองบางแวก คลองบางไผ่ และคลองลัดตากลั่นเป็นเส้นแบ่งเขต
การแบ่งเขตการปกครอง แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 7 แขวง คือ แขวางบางหว้า แขวงบางด้วน แขวงแขวงบางจาก แขวงบางแวก แขวงคลองขวาง แขวงปากคลองภาษีเจริญ และแขวงคูหาสวรรค์
กลไกการขับเคลื่อนงานขบวนองค์กรชุมชนเมืองภาษีเจริญ
ขบวนองค์กรชุมชนเมืองภาษีเจริญ ใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่กลางในการเชื่อมโยงประสานงานประเด็นงานต่างๆ ที่ขับเคลื่อนในตำบล ซึ่งประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการชุมชน เครือข่ายเฝ้าระวังและป้องกันภัย กลุ่มอาชีพ ขบวนที่อยู่อาศัย (โครงการบ้านมั่นคงราศีธรรม โครงการบ้านมั่นคงคลองลัดภาชี โครงการบ้านมั่นคงศิรินทร์และเพื่อน) กลุ่มผู้สูงอายุ เครือข่ายสุขภาพภาษีเจริญ และกลุ่มสิ่งแวดล้อม
ความสุขที่ยั่งยืน ชุมชนเข้มแข็ง เมืองภาษีเจริญ
จากการทำงานที่ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ขบวนองค์กรชุมชนเขตภาษีเจริญ ร่วมกับ สำนักงานภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดเวทีความสุขที่ยั่งยืน ชุมชนเข้มแข็ง เมืองภาษีเจริญ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรชุมชนนำตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของชุมน ตลอดจนเป็นเครื่องมือติดตามผลการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาในระดับพื้นที่ ซึ่งมี 4 มิติ คือ มิติที่ 1 คนมีแนวคิดและความสามารถเพิ่มขึ้น มิติที่ 2 คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น มิติที่ 3 องค์กรชุมชนเข้มแข็ง มีความสามารถในการบริหารจัดการ และมิติที่ 4 ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์โครงสร้างนโยบาย
โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน บอกเล่าเรื่องราวงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต การติดตามการเปลี่ยนแปลงชุมชนท้องถิ่น 4 มิติ การกำหนดภาพฝันในอนาคตของชุมชน ภายใต้แนวคิด “ความสุขที่ยั่งยืน ชุมชนเข้มแข็ง เมืองภาษีเจริญ” ซึ่งในขบวนองค์กรชุมชนได้สรุปบทเรียนการทำงานประเด็นงานขับเคลื่อนในพื้นที่ 8 ประเด็น คือ บ้านมั่นคง สภาองค์กรชุมชน กลุ่มสวัสดิการชุมชน กลุ่มพัฒนาอาชีพ กลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มสิ่งแวดล้อม กลุ่มสุขภาพชุมชน และกลุ่มเฝ้าระวังความปลอดภัย พร้อมสรุปสังเคราะห์ชุดประสบการณ์การทำงานขบวนองค์กรชุมชนระดับเมือง เพื่อจัดทำตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งของคนเมืองภาษีเจริญ และคัดเลือกประเด็นสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องหลักของคนภาษีเจริญที่มุ่งขับเคลื่อนแผนงานตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเติมเต็มจากภาคีพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยสยาม สำนักพัฒนาสังคม การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานเขตภาษีเจริญ เพื่อร่วมขับเคลื่อนหนุนเสริมความสุขที่ยั่งยืนต่อไป