ตำบลทุ่งทุ่งพระยา ตำบลทุ่งพระยา มีอาณาเขตโดยประมาณ 337 ตารางกิโลเมตร หรือจำนวน 210,925 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่ของตำบลจะเป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตร ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัล พืชสวนพืชไร่ ตามฤดูกาล ปลูกข้าว มันสำปะหลัง อ้อย พืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ เช่น โคกระบือหมู เป็ด ไก่ ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ตามแนวพระชาดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ 9 ส่วนแรงงานส่วนเกินจากภาคเกษตรกรรมบางราย มักจะอพยพออกไปขายแรงงานในเขตอุตสาหกรรมต่างๆ เขตการปกครอง ตำบลทุ่งพระยา มีเขตการปกครองจำนวน 19 หมู่บ้าน
ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลทุ่งพระยาปัจจุบันมีจำนวน 4,733 ครัวเรือน หรือ 16,244 คน
สภาพเศรษฐกิจ พบว่าประชากรมีรายได้เฉลี่ย 35,000 บาท/ปี/ครัวเรือน รายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม เช่น การทำนา ทำไร่ทำสวน และการเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้สำหรับการทำเกษตรกรรม ทำนาทำไร่ จำนวน 29,795 ไร่ และพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย จำนวน 18,553 ไร่ พื้นที่ที่เหลือเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ที่ยังไม่มีการออกกรรมสิทธิ์ถือครอง
สภาพปัญหาที่อยู่อาศัยของตำบล
การอยู่อาศัยในรูปแบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติฉันท์มิตรนั้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของคนในตำบลเป็นไปอย่างถ่อยทีถ่อยอาศัย ที่ผ่านมาคนในชุมชนต่างคนก็ต่างรู้กันอยู่แล้วว่าคนในชุมชนคนไหนบ้างที่อาศัยอยู่กันอย่างยากลำบาก แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลืออะไรกันได้มาก นอกจากแรงและกำลังใจที่จะมีให้กัน สำหรับเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นภาพสะท้อนของความยากจนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในชุมชนด้วยกันเอง หากแต่เป็นผู้ที่พบเห็นผ่านไปมาก็พอจะประเมินได้ว่าปัญหาที่อยู่อาศัยของตำบลทุ่งพระยามีอยู่มากมายจริงๆ และดูเหมือนว่ายิ่งสำรวจก็ยิ่งพบยิ่งเจอความยากลำบากของพี่น้องชาวบ้าน ชาวบ้านเองเบื้องต้นก็ทำได้เพียงการประสานกับหน่วยงานภาครัฐ ให้เข้ามาดูแล แต่ก็ติดขัดเรื่องของการทำเอกสารและการเข้าถึงสิทธิ์ อีกทั้งการดำเนินงานที่เป็นไปอย่างช้าๆ ก็แทบจะไม่คอยท่าสำหรับบ้านแต่ละหลังซะแล้ว
ปี 2557 เหล่าแกนนำของแต่ละหมู่บ้านต่างได้ทำการสำรวจผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยทั้งตำบลไว้ส่วนหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่สามารถหาวิธีการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนทั้งหมดได้ จนกระทั่งมีโครงการบ้านพอเพียงชนบทเข้ามา ปี 2561 เป็นการจุดประกายความหวังให้แก่ชาวบ้านที่เดือดร้อน โดยหลังจากตัวแทนที่ได้เข้ารับฟังข้อมูลโครงการบ้านพอเพียงชนบทกับทางเจ้าหน้าที่พอช. ก็ตัดสินใจเข้าร่วมในทันที่ และนำข้อมูลที่เคยสำรวจไว้มาเป็นฐานข้อมูลในเบื้องต้น รวมทั้งให้แกนนำแต่ละหมู่บ้านลงพื้นที่สำรวจ/ประชาสัมพันธ์หาผู้เดือดร้อนเพิ่มเติม ซึ่งพบผู้เดือดร้อนทั้งหมด 17 หมู่บ้าน จาก 19 หมู่บ้าน ซึ่ง อีก 2 หมู่ที่ไม่เข้าร่วม เพราะเขาไม่มีความเดือดร้อนที่จะเข้าร่วม
การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการบ้านพอเพียงชนบท การสำรวจเป็นภารกิจของคณะทำงานและแกนนำของแต่ละหมู่บ้านอีกครั้ง มีสภาพบ้านบางหลังมีปัญหาทรุดโทรมมาก จนคณะทำงานเห็นแล้วว่าต้องซ่อมเกินงบประมาณของโครงการมาก จึงต้องละเว้นไว้ โดยจะดำเนินประสานกับหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามาดูแลแทน
กลไกขบวนองค์กรชุมชนและโครงสร้างคณะทำงานโครงการบ้านพอเพียงชนบท
กลไกของขบวนองค์กรชุมชนตำบลทุ่งพระยายังไม่มีความหลากหลายของตัวหน่วยงานภาคีมากนัก แต่ก็มีความพยายามในการประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ณ ขณะนี้ที่จัดทำแผนฯเรื่องที่อยู่อาศัยเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่
คณะทำงานโครงการบ้านพอเพียงชนบทของตำบลทุ่งพระยาประกอบด้วย ตัวแทนสภาองค์กรชุมชน 3 คน ผู้แทนท้องถิ่น 6 คน ตัวแทนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล 3 คน ตัวแทนกองทุนสวัสดิการชุมชน 2 คน และตัวแทนผู้เดือดร้อน เป็นคณะทำงานอีก 4 คน สำหรับการประชุมที่เกี่ยวข้องกับโครงการบ้านพอเพียงชนบท ทางคณะทำงานได้ใช้เวทีการประชุมของสภาองค์กรชุมชน เป็นเวทีในการประชุมเรื่องโครงการบ้านพอเพียงชนบทร่วมด้วย
กิจกรรมหลักๆ ของตำบลทุ่งพระยา
- ประชุมสภาองค์กรชุมชน 2 เดือน/ครั้ง เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวางแนวทางการแก้ไขปัญหาในชุมชน
- พัฒนาศักยภาพคณะทำงาน/แกนนำหมู่บ้าน เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานให้มากขึ้นและมีคนทำงานเพิ่มขึ้น
- ประชุมกองทุนสวัสดิการชุมชน 1 เดือน/ครั้ง เพื่อให้สมาชิกได้รับความสะดวกในการบริการสวัสดิการตามระเบียบ
- จัดเก็บข้อมูลปัญหาหนี้สิน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบต่อไป
- ช่วยเหลือผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ เพื่อดูแลคนเหล่านี้ให้ได้รับโอกาสเหมือนประชาชนทั่วไป
- ต่อยอดกลุ่มอาชีพแม่บ้านสตรี เพื่อให้กลุ่มอาชีพต่างได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
- เกษตรปลอดสาร อาหารปลอดภัย เพื่อรวมกลุ่มผลิตอาหารปลอดภัย
- บ้านพอเพียงชนบท เพื่อแก้ไขและพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนในตำบล
แผนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตำบลทุ่งพระยา
การจัดทำแผนเรื่องที่อยู่อาศัยตำบลทุ่งพระยาอยู่ในช่วงของการยกร่างแผนงานฯ ซึ่งจะออกเป็นแผนเรื่องของการพัฒนา แก้ไขเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้เดือดร้อนโดยเฉพาะ เป็นระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2561 – 2564) ซึ่งการจัดทำแผนงานฯคณะทำงานมีความมุ่งมั่นว่าจะประสานหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อให้การแก้ไขสามารถสร้างบ้านที่มั่นคงให้แก่ผู้เดือดร้อนในครั้งเดียว
ก่อนกระบวนการซ่อมสร้าง การดำเนินในช่วงแรกได้ใช้เวทีการประชุมของสภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งพระยา เป็นเวทีในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการ ชี้แจ้งวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการเบื้องต้น ต่อมาจึงได้จัดตั้งคณะทำงานสำหรับดูแลรับผิดชอบโครงการบ้านพอเพียงชนบท ซึ่งมีแผนระยะยาวว่าจะให้คณะทำงานฯชุดนี้ดำเนินการพัฒนา แก้ไขเรื่องที่อยู่อาศัยแก้ผู้เดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง แม้จะจบโครงการฯไปแล้ว หลังจากได้คณะทำงานแล้วได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน จับพิกัดพื้นที่ และถ่ายรูปสภาพบ้าน จากนั้นนำข้อมูลมาประมวลและวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมสภาองค์กรชุมชน และเข้าเวทีรับรองครัวเรือนผู้เดือดร้อน ภายหลังได้นำเสนอต่อคณะทำงานเครือข่ายขบวนจังหวัด เพื่อขอรับการสนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (พอช.) โดยได้รับการสนับสนุนปีแรก 2561 จำนวน 56 หลังคาเรือน งบประมาณ (1,008,000 บาท)
ระหว่างกระบวนการซ่อมสร้าง การซ่อมสร้างแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตามงวดเงินการสนับสนุนงบประมาณ จึงได้เป็นระยะแรก 22 หลังคาเรือน ระยะที่สอง 17 หลังคาเรือน ระยะที่สาม 17 หลังคาเรือน แต่การดำเนินงานก็ไม่เป็นไปตามที่วางแผนระยะการทำงานไว้ เนื่องจากที่อยู่อาศัยมีความทรุดโทรมมากการทำงานจึงล่าช้า ขั้นตอนเริ่มแรกได้ให้ทีมช่างสำรวจลงพื้นที่สำรวจการซ่อมสร้างอีกครั้ง เพื่อป้องกันการผิดพลาด ดำเนินการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมสร้างตามบีโอคิวของแต่ละหลังคาเรือน ทีมช่างปฏิบัติดำเนินการซ่อมสร้างและให้คำแนะนำแก่ทีมช่างที่เจ้าของบ้านจ้างวานมาเอง .. “บ้าน”
หลังกระบวนการซ่อมสร้าง ทีมการเงินเตรียมเอกสารที่จำเป็น เช่น ใบสัญญากู้/ใบสำคัญรับเงิน/สมุดประจำตัวสมาชิก/บิลเงินสด อื่นๆ เพื่อทำการเซนสัญญาคืนเงินแก่กองทุนบ้านพอเพียงชนบท ขณะเดียวกันคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อย รวบรวมเอกสารงวดที่ 1,2 ส่งคณะทำงานเครือข่ายขบวนจังหวัด ถึง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (พอช.) รอรับการสนับสนุนงบประมาณงวดสุดท้าย
เกณฑ์การพิจารณาผู้เดือดร้อน
- ต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและอยู่อาศัยจริงในตำบลทุ่งพระยา อย่างน้อย 3 ปี
- ต้องใช้เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนในระดับครัวเรือนเท่านั้น ไม่ให้ใช้กู้ยืมเชิงพาณิชย์
- เกณฑ์การพิจารณาความช่วยเหลือ ให้คณะกรรมการพิจารณาความเร่งด่วนของความเดือดร้อนก่อนได้แก่ 1) ซ่อมแซมในโครงสร้างที่ส่งผลต่อการปลอดภัย 2) ต่อเติมเพื่อความปลอดภัยและถูกสุขอนามัย 3) การตกแต่งเพื่อความสวยงาม
- ผู้ยากไร้ ที่จะได้รับการสงเคราะห์ในการซ่อมแซม/สร้างใหม่ จะต้องผ่านประชาคมหมู่บ้านและคณะทำงานโครงการบ้านพอเพียงชนบทก่อน
- ผู้เดือดร้อน ต้องเป็นผู้ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและการพนัน
- กรณีผู้เดือดร้อนที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ คณะทำงานต้องหาแนวทางที่จะทำให้ผู้เดือดร้อนรายนั้นๆ เข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนฯให้ได้ เพื่อจะได้รับการแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆต่อไปด้วย
- สมาชิกโครงการบ้านพอเพียงต้องออมเงินเพื่อที่อยู่อาศัย เดือนละ 30 บาท แนวทางการบริหารจัดการกองทุนบ้านพอเพียงชนบท
การดำเนินงานของกองทุนบ้านพอเพียงชนบทตำบลทุ่งพระยา ในปีนี้หากเบิกจ่ายงบประมาณได้ทั้ง 3 งวด จะมีเงินสนับสนุนโครงการทั้งสิ้น 1,008,000 บาท (56 x 18,000 บาท) มีงบประมาณจากกองทุนสวัสดิการชุมชนที่สมทบให้กับบ้านที่ค่าใช้จ่ายวัสดุอุปกรณ์เกิน 18,000 บาท อีก 2,000 บาท/หลังคาเรือน รวมเป็นเงินตั้งไว้ที่หลังคาเรือนละ 20,000 บาท หากหลังใดค่าใช้จ่ายเกิน 20,000 บาท จะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ส่วนในเรื่องของการส่งคืนนั้นได้แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือกลุ่มส่งคืน 500 บาท และกลุ่มส่งคืน 300 บาท แต่ทั้งสองกลุ่มจะต้องจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยเดือนละ 20 บาท และเก็บออมเงิน 30 บาททุกเดือนเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งการเติบโตของกองทุนฯนี้จะเติบโตจากการเก็บดอกเบี้ย และนำเงินไปหมุนเวียนซ่อมสร้างบ้านให้แก่ผู้เดือดร้อนรายต่อไป
นายเลิศหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าลุงเลิศนั้น อาศัยอยู่เพียงลำพังภายในบ้านที่มีสภาพไม่ค่อยมั่นคง และเหมาะสมกับบุคคลที่เป็นผู้พิการอย่างลุงเลิศมากนัก ทางคณะทำงานจึงมีความเห็นว่า ควรให้ลุงเลิศได้เข้าร่วมโครงการบ้านพอเพียงชนบท และจัดอยู่ในประเภทผู้เดือดร้อนที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ เพราะลุงเลิศเองเป็นผู้พิการและผู้ที่ไม่สามารถหารายได้ในการเลี้ยงชีพได้
คณะทำงานดำเนินการรื้อและสร้างบ้านใหม่ให้แก่ลุงเลิศ โดยให้ความสำคัญในการยกพื้นสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมและทางเทลาดเพื่อให้สะดวกต่อการขึ้นลงบ้านแทนบันได ซึ่งหมดงบประมาณทั้ง 30,000 บาท ใช้ระยะเวลา 7 วันในการก่อสร้าง ซึ่งงบประมาณจากที่ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทุ่งพระยาสนับสนุนนั้นไม่เพียงพอต่อการก่อสร้าง พี่น้องชาวบ้านจึงร่วมกันแบ่งปันเงินส่วนตัวมาช่วยในการสร้างบ้าน
อาชีพเกษตรกรที่มีรายได้ไม่แน่นอน อิงโน้มไปตามระบบกลไกการตลาดนั้น ส่งผลให้บ้านของนางปริศนา ศรีเมือง ที่ปรับปรุงซ่อมแซมไว้ไม่สำเร็จลุล่วงได้สักที โดยภายหลังจากที่ได้รับฟังข้อมูลโครงการบ้านพอเพียงชนบทจากผู้นำหมู่บ้าน นางปริศนาก็ไม่รีรอที่จะเข้าร่วมโครงการในทันที เพื่อจะได้นำงบประมาณสนับสนุนดังกล่าวมาต่อเติมให้บ้านส่วนที่ยังไม่เสร็จสำเร็จสักที ซึ่งงบประมาณที่ใช้ไปเป็นจำนวน 20,000 บาท โดยนางปริศนาได้เลือกรูปแบบของการส่งคืนแบบเดือนละ 300 บาท/เดือน เนื่องจากประเมินศักยภาพดูแล้วว่าตนเองมีกำลังส่งเพียงเท่านั้น หากส่งเดือนละ 500 บาท/เดือน อาจจะส่งผลต่อการหมุนเวียนเงินเพื่อดำรงชีวิต
สภาพบ้านหลังเดิมของนายไพโรจน์ มะหานาม เดิมเป็นบ้านไม้ทั้งหลังส่งผลให้เมื่อฝนตกหรือเกิดการอับชื้น บ้านที่ทำจากไม้จึงมีปลวกมาสร้างความเดือดร้อนจนบ้านผุพัง นานวันเข้าสภาพก็กลายเป็นบ้านที่ไม่มั่นคง แข็งแรง โดยการดำเนินการสร้างบ้านใหม่ให้แก่นายไพโรจน์นั้น ทางคณะทำงานและทีมช่างสำรวจได้รื้อบ้านแล้วสร้างให้ใหม่ นำไม้ส่วนที่ยังพอจะใช้ได้ไปขาย ซึ่งได้เงินมา 20,000 บาท โดยนำมาถมดินให้สูงเพื่อป้องกันภัยน้ำท่วม และสนับสนุนงบประมาณตามแนวปฏิบัติของโครงการไป 20,000 บาท สร้างบ้านใหม่จนเสร็จ