ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ตั้งเป็นตำบลเมื่อ พ.ศ.2490 คำว่า “เกาะหวาย” มิได้หมายความว่า ตำบลนี้เป็นที่เกาะ แต่หมายถึงกลุ่มเกาะของหมู่บ้านที่อยู่รวมเป็นคุ้มเดียวกัน บริเวณนี้เดิมเป็นป่าดงดิบ มีสิงสาราสัตว์ดุร้ายนานาชนิด โดยเฉพาะเสือ และโขลงช้าง และมีต้นหวายขึ้นเป็นเครือหวายอยู่เต็ม พอสร้างบ้านเรือนลงจึงเอาชื่อนี้เป็นชื่อหมู่บ้าน และชื่อตำบล ปัจจุบันตำบลเกาะหวาย เป็นตำบลในเขตการปกครองของอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ซึ่งประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเกาะหวาย, บ้านคลองตะเคียน, บ้านท่าแดง, บ้านใหม่, บ้านดงแขวน, บ้านยอยใฮ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรจึงทำให้คนในพื้นที่มีฐานะยากจน
ในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเกาะหวาย และมีการดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนจาก องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหวาย และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในเรื่องการจัดสวัสดิการ คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน ได้จัดสวัสดิการให้กับสมาชิกอย่างครอบคลุม ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ เป็นสวัสดิการในด้านการเกิด เจ็บ ตาย ผู้พิการติดเตียง ด้านการศึกษา สาธารณะประโยชน์ ตลอดจนด้านประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งก่อให้เกิดการเอื้ออาทร ความรักใคร่สามัคคีของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี แต่ในด้านความกายภาพยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่น เรื่องบ้านทรุดโทรม ยังขาดงบประมารในการซ่อมแซมให้กับคนที่มีรายได้น้อยในชุมชน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2560 ได้มีโครงการบ้านพอเพียงชนบทเข้ามาในตำบลเกาะหวาย ซึ่งนับว่าเป็นแผนพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยให้กับคนในตำบล เป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องที่อยู่อาศัย บ้านที่ทรุดโทรม หลังคารั่ว ฝาบ้านพัง เสาบ้านไม่มั่นคง เพื่อทำให้คนในชุมชนดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยมั่นคงและมีความสุข โดยใช้กระบวนการ การสำรวจเก็บข้อมูลผู้เดือดร้อน ผู้ยากไร้ที่ต้องการซ่อมแซมบ้าน เมื่อได้ข้อมูลมาทางคณะทำงานได้มีการจัดประชุมทำความเข้าใจกับผู้นำแต่ละชุมชนเพื่อที่จะจัดลำดับผู้เดือดร้อน ตลอดจนการจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจถึงรายละเอียดข้อตกลงเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาในชุมชน
จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นระยะเวลา 3 ปี ตำบลเกาะหวายได้รับงบประมาณทั้งมด 25 หลังคาเรือน เป็นเงิน 450,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นการซ่อมแซมเปลี่ยนหลังคา พื้น และผนังบ้าน สร้างห้องน้ำ และรื้อสร้างใหม่ เพื่อทำให้เกิดรากฐานของความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัยของคนในชุมชน
เช่น นาง อำนวย พลเมือง อายุ 79 ปี เป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้าน เป็นบ้านอีกหนึ่งหลังที่ได้รับการซ่อมแซมบ้าน อาศัยอยู่กับสามีและหลาน 3 คน ตัวบ้านเดิมเป็นสังกะสีมาล้อมรอบแทนผนังบ้านครึ่งหนึ่ง และพื้นที่ยังเป็นดินในบางส่วนของบ้าน สภาพสังกะสีเก่าและชำรุด ในการซ่อมแซมเป็นแรงงานที่ช่วยกันในชุมชน และมีค่าแรงเป็นสินน้ำใจบ้างเล็กน้อย โดยการนำไม้ฝามาเป็นผนังแทนสังกะสีและพื้นบ้านก็ได้ต่อเติมเทปูนให้จนทั่วทั้งบ้าน “สภาพบ้านดีขึ้นจากแต่ก่อนเยอะเลย ไม่ร้อนมากเหมือนเมื่อก่อน รู้สึกดีใจและต้องขอบคุณที่มีโครงการดีๆให้กับคนชนบท” นี่คือคำบอกกล่าวของสามี นางอำนวย ผู้ที่ได้รับงบประมาณของโครงการบ้านพอเพียงชนบท ในครั้งนี้
นางสมิงศรี ร่วมทอง อายุ 83 ปี อีกหนึ่งผู้เดือดร้อน ที่อาศัยอยู่กับหลานสาว 2คน มีอาชีพเย็บผ้า ซึ่งรายได้ก็ไม่มากพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและบ้านที่อยู่ในปัจจุบันจะเป็นบ้านไม้ทั้งหลังมีสภาพทรุดโทรดและผุพังทั้งหลัง ไม่สามารถซ่อมแซมเพิ่มเติมได้ต้องรื้อหรือสร้างใหม่ ทำให้การขึ้นลงบ้านต้องระมัดระวังเพราะไม่มีความปลอดภัย แต่ด้วยงบประมาณจำนวน 18,000 บาทที่ได้มา ไม่เพียงพอที่จะสร้างบ้านได้ทั้งหลัง นางสมิงศรี จึงค่อยๆต่อเติมไปเรื่อยๆ เพราะไม่สามารถสร้างเสร็จภายในครั้งเดียว และที่ดินบ้านที่อยู่ในปัจจุบันไม่ใช่ที่ดินของตนเอง จึงย้ายไปสร้างบ้านใหม่อีกที่หนึ่งที่เป็นที่ดินของตนเอง ในระหว่างการสร้างบ้านใหม่ก็ต้องทนอยู่บ้านหลังเดิมไปก่อน นางสมิงศรีได้กล่าวว่า “ดีใจที่มีโครงการนี้เพื่อสร้างบ้านใหม่ให้กับคนจนอย่างฉัน” ความคาดหวังของผุ้เดือดร้อนคือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
แม้ที่ผ่านมาโครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลเกาะหวายจะประสบความสำเร็จมากพอสมควร แต่กระบวนการระหว่างทางก็มีข้อติดขัด มีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น ผู้ที่เดือดร้อนที่ขอรับงบประมาณไม่สามารถมีต้นทุนที่จะนำมาสร้างต่อจากแผนที่ได้วางไว้ ยังคงขาดเหลือเครื่องมือในการซ่อมแซม งบประมาณไม่เพียงพอ และยังไม่มีงบประมาณในส่วนของค่าแรงในการซ่อมสร้างบ้าน ทำให้เป็นภาระกับเจ้าของบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่เดือดร้อนจะเป็นผู้ด้อยโอกาสอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม โครงการบ้านพอเพียงชนบทนับว่าเป็นโครงการที่สามารถช่วยเหลือผู้เดือนร้อนในชุมชนได้อย่างมากและเห็นผลเป็นรูปธรรม ผู้เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือให้มีบ้านอยู่อย่างมั่นคงและแข็งแรง มีความปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพร้มทั้งยังส่งผลให้คนในตำบลมีความสามัคคีช่วยเหลือกันและกันอีกด้วย