ตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน หมายถึง 10 หมู่บ้านในเขตลุ่มน้ำปอนและลุ่มน้ำแม่ลาก๊ะบางส่วน ในพื้นที่สิบหมู่บ้านที่ได้กล่าวถึงได้แบ่งภูมิสังคมออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ภูมิสังคมแบบที่ราบเกษตรกรรมในหุบเขาซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่กลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไท-กะได ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวน ที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจากเขตอำเภอแม่แจ่มเมื่อราว พ.ศ.2485-2510 อันเนื่องมาจากภัยพิบัติความแห้งแล้งในที่ตั้งถิ่นฐาน นอกจากนี้ยังมีชาวปกาเกอญอ ที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายในเขตลุ่มน้ำสาละวินโดยสันนิฐานว่ากลุ่มชาวปาเกอญอเหล่านี้ได้อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่เริ่มตั้งแต่เมื่อตอนปลายศตวรรษที่ 18 ในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ
ตำบลเมือปอน ซึ่งประกอบด้วยหมู่บ้านทั้งสองลุ่มน้ำรวม10 หมู่บ้าน และ 1 หย่อมบ้าน จากคำบอกเล่าว่าหมู่บ้านเมืองปอนได้ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2258ราว 300 กว่าปีเศษ การตั้งถิ่นฐานเกิดจากการแผ่อิทธิพลของชาวไทใหญ่ (ไต) ที่กระจายตัวมาจากรัฐฉานในช่องทางการค้าขายระหว่างเมืองใหญ่ในอดีตโดยอาจเป็นจุดศูนย์กลางการค้าขายของ 2 เส้นทางหลัก ได้แก่ เส้นทาง “เมิงโยม”หรืออำเภอแม่สะเรียงในปัจจุบัน และเส้นทางขุนยวมแม่นาจร แม่วางเพื่อเข้าสู่เมืองล้านนานครพิงค์ หรือเชียงใหม่ในปัจจุบัน การมาตั้งถิ่นฐาน ณ เมืองปอนแห่งนี้เกิดมาจากขบวนคาราวานสินค้าจากรัฐฉานตอนใต้ ที่เต็มไปด้วยพระพุทธรูปศิลปะพม่า ผ้าซิ่นผาทอ เครื่องประดับจากหยก จากแสงหรือพลอยชนิดต่างๆ ขนสัตว์ หนังสัตว์ เขาสัตว์ เพื่อส่งต่อไปขายยังล้านนา ล้านนามีความต้องการสิ่งของเหล่านี้โดยเฉพาะในยุคที่ถูกปกครองโดยเจ้านครผู้มีเชื้อสายไทใหญ่ เส้นทางการค้าขายที่ต้องเดินทางไกล มีวัวต่าง ม้าต่าง คนตามขบวนเป็นจำนวนมาก ทำให้เชื่องช้า ใช้เวลาแรมเดือน บางครั้งแรมปี ด้วยเหตุนี้คณะวัวต่าง ม้าต่างจากรัฐฉานจึงใช้ทำเลที่ตั้งในทุ่งเมืองปอนเป็นที่พักใหญ่ระหว่างทาง เมื่อหลายๆ คณะพ่อค้ามาพักรวมกัน เริ่มที่จะก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรไว้พักระหว่างรอฤดูกาลที่ไม่สามารถเดินทางได้เช่น ฤดูฝนซึ่งมีน้ำหลากอยู่ตลอดเส้นทาง การพักพิงอยู่ของคณะพ่อค้าวัวต่างเริ่มถาวรขึ้นเป็นระดับ มีการขุดนา ทำฝายเพื่อเพาะปลูกข้าว มีการสร้างวัด มีกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรมที่ทำกันเองในหมู่พ่อค้าคาราวานวัวต่าง ม้าต่าง สินค้าบางส่วนที่นำกลับมาจากล้านนา โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผา จากเตาเผาเวียงกาหลง เตาวังเหนือ เครื่องปั้นดินเผาจากประเทศจีน อาหารการกินเครื่องประดับต่างๆ ทั้งที่นำมาจากรัฐฉานไปสู่ล้านนา และจากที่นำมาจากล้านนาไปสู่รัฐฉาน กลายเป็นที่หมายปองของกลุ่มผู้ร้ายที่มักปล้นสะดมคาราวานสินค้าว่ากันว่าบางครั้งมีการบุกเข้ามาปล้นสะดมถึงบริเวณที่พักในหมู่บ้านเมืองปอนเลยทีเดียวทำให้ต้องสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวบ่อยครั้งขึ้นจึงเกิดการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ที่ตั้งของชุมชนแล้วว่าไม่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นพื้นที่โล่ง โจรหรือศัตรูสามารถเข้ามาได้ทุกช่องทาง อีกทั้งคาราวานที่อยู่ในหมู่บ้านมีกำลังคนเพื่อปกป้องสินค้าน้อยกว่าโจรผู้ร้าย อีกทั้งมีเด็กและผู้หญิง จึงยากลำบากในการต่อสู้ จายน้อยสี ซึ่งเป็นก้าง หรือผู้นำ ในขณะนั้น จึงได้ปรึกษาหารือกับผู้นำท่านอื่นๆ ตัดสินใจย้ายชุมชน ที่ตั้งขึ้นไปยู่บนดอยเวียง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านเมืองปอนปัจจุบัน ครั้นย้ายขึ้นไปอยู่บนยอดดอยเวียงแล้วปรากฏได้ว่าเมื่อมีการปล้นสะดมจากโจรผู้ร้ายคณะ หรือชุมชน สามารถป้องกันตัวได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่เกิดการสูญเสีย ในขณะเดียวกันคาราวานวัวต่าง ม้าต่างคณะอื่นๆ ก็มีความมั่นใจในเส้นทาง เดินทางมาสมทบอาศัยเป็นจำนวนมากขึ้น มีกำลังคนในการปกป้องขบวนสินค้ามากขึ้น เหล่าโจรที่ปล้นสะดม จึงไม่กล้าที่จะเข้าทำการปล้นสะดมอีก เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ประชากรที่หนาแน่น และความแห้งแล้งลำบากในการบริโภค อุปโภค โดยเฉพาะน้ำดื่มน้ำใช้ยากลำบากในการใช้ชีวิต ผู้นำจึงได้ตัดสินใจนำพาชุมชนลงมาตั้งชุมชนอยู่ ณ จุดเดิม บริเวณแอ่งที่ราบที่ตั้งบ้านเมืองปอน ณ ปัจจุบัน
คำว่า “ปอน” มาจากคำว่า “พร”
ว่ากันว่าบ้านเมืองปอนแต่เดิมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกลำน้ำปอนตั้งอยู่เชิงดอยเวียงมีนายน้อยศรีเป็นผู้นำหมู่บ้านต่อมามีชาวพม่ากลุ่มหนึ่ง นำโดยนายธรรมะ และนายป๊ะ ได้ชักชวนให้นายน้อยศรีและชาวบ้านที่เป็นผู้ชายเข้าไปเป็นพรรคพวกของตนเพื่อไปโจมตีนครพิงค์(จังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบัน)แต่ต่อมานายน้อยศรีและพรรคพวกไม่ยอมร่วมมือด้วย ทำให้นายธรรมะและนายป๊ะโกรธมาก ถึงกับข่มขู่ว่าจะนำพรรคพวกมาโจมตีเมืองปอนให้ได้ นายน้อยสีเห็นว่า ถ้าตั้งรับอยู่ที่เดิมอาจะเสียทีพม่าได้โดยง่าย จึงได้ปรึกษาหารือกับพวกชาวบ้าน โดยมีนายติ๊บ นายน้อยสุข จองแมน จองริน จองมูหริ่ง จองสิริ จองแอ จองกี และน้อยเมืองขอนเป็นผู้ช่วย ได้ทำการตกลงว่าจะย้ายเมืองปอนขึ้นไปอยู่บนดอยเวียง เพราะลักษณะของดอยเวียงเป็นภูเขาสูง เหมาะแก่การตั้งรับข้าศึกหลังจากย้ายหมู่บ้านแล้วก็ได้วางแผนป้องกันหมู่บ้าน โดยการทำกับดักต่างๆ เช่นป้อมหนาม ป้อมหิน ป้อมทรายคั่ว ป้อมปืนต่างๆดังนั้นเมื่อพม่ายกทัพมา จึงไม่สามารถตีเมืองได้ต่อมาเจ้าผู้ครองนครพิงค์ ทราบข่าวที่ชาวเมืองปอนชนะพม่า จึงได้ส่งทูตมานำเอาผู้นำหมู่บ้านลงไปนครพิงค์ มีนายน้อยสี นายจองมอน นายจองหริ่ง และนายจองแอ เป็นนายร้อยรองจากพระยาไพศาล แล้วให้กลับมาครองเมืองปอนต่อไป ต่อมาหลังอีก 5 เดือนหลังฤดูเก็บเกี่ยวผ่านไป พระยาไพศาลได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านว่า ทำเลที่ตั้งของดอยเวียงเป็นดอยสูงทำให้ยากลำบากแก่การประกอบอาชีพ และขาดแคลนน้ำ และอีกประการหนึ่งไม่มีข้าศึกมารุกรานอีกจึงตกลงกันย้ายหมู่บ้านลงมาตั้งทางทิศตะวันตกของลำน้ำปอน คือ หมู่บ้านเมืองปอนในปัจจุบันนี้
ลักษณะทางภูมิประเทศ
ตำบลเมืองปอนมีพื้นที่การปกครองทั้งหมด 10หมู่บ้าน และ 1หย่อมบ้าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ตามแนวถนนสายแม่สะเรียง –ขุนยวม และมีพื้นที่บนภูเขาสูงทุรกันดาร ตำบลเมืองปอนมีระยะทางห่างจากอำเภอขุนยวม12 กิโลเมตร ห่างจาก อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 80 กิโลเมตร เดินทางตามถนนทางหลวงหมายเลข 108สายเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอนมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลต่างๆ 4ตำบลดังนี้ (1) ทิศเหนือติดต่อกับตำบลขุนยวม อำเภอขุนยวมจังหวัดแม่ฮ่องสอน (2) ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลแม่โถ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (3) ทิศตะวันออกติดต่อกับตำบลแม่ยวมน้อย อำเภอขุนยวม และตำบลแม่โถ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ (4) ทิศตะวันตกติดต่อกับตำบลแม่เงา และตำบลแม่กิ๊ อำเภอขุนยวมจังหวัดแม่ฮ่องสอน
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของตำบลเมืองปอน มีเนื้อที่ทั้งหมดโดยประมาณ 408ตารางกิโลเมตร หรือ 253,125ไร่ ประกอบด้วยหุบเขาที่มีภูเขาล้อมรอบทั้งสี่ด้าน สภาพอากาศมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและป่าไม้ โดยทั่วไปเป็นป่าเขาทุรกันดาร มีภูเขาสูงสลับซับซ้อนถึงร้อยละ 70และมีพื้นที่ราบบริเวณลุ่มแม่น้ำปอนและลุ่มน้ำแม่ลาก๊ะ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรและตั้งบ้านเรือนประมาณ 89.7ตารางกิโลเมตรหรือ 56,062.50ไร่ประชาชนเขตตำบลเมืองปอน (ณ เดือนเมษายน 2556)รวมทั้งสิ้น 4,314คน แยกเป็นชายร้อยละ 52.2 (2,252คน) หญิงร้อยละ 47.8 (2,062คน) ความหนาแน่นเฉลี่ย 10.57คน/ตารางกิโลเมตรจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 1,529 ครัวเรือน ประชากรของตำบลเมืองปอน ส่วนใหญ่จะเป็นคนเชื้อสายไทยใหญ่ (คนไต) และมีคนพื้นเมืองอาศัยอยู่ปะปนกัน ส่วนใหญ่จะอาศัยบนพื้นที่ราบและประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมา คือ รับจ้าง ค้าขาย และรับราชการจำนวน 5หมู่บ้าน อีกส่วนเป็นประชาชนเชื้อสายปกาเกอญอส่วนใหญ่จะอาศัยบนพื้นที่สูง และประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง มีจำนวน 5หมู่บ้าน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานในตำบลเมืองปอนมีศักยภาพที่ใช้ประโยชน์ในการจัดการตนเอง คือ มีไฟฟ้า และระบบประปาที่ให้บริการแก่ประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างทั่วถึง ยกเว้น 4หมู่บ้านเนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่สูงและกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าแรงต่ำและการสร้างระบบประปาภูเขา มีลำน้ำปอนและลำน้ำแม่ลาก๊ะไหลผ่าน มีอ่างเก็บน้ำห้วยปูหลวง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของตำบลเป็นที่เก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้ง และเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาน้ำจืด มีสระสำหรับกักเก็บน้ำ สำหรับการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ประชาชนในตำบลเมืองปอนส่วนใหญ่ นับถือศาสนา 2 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ มีศาสนสถานที่ใช้ในการปฎิบัติศาสนกิจ จำนวน 21 แห่ง แบ่งเป็น วัด 6 แห่ง สำนักสงฆ์ 5 แห่ง ศาลเจ้า 5 แห่งและโบสถ์ 6 แห่ง ที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งการดำเนินชีวิตของประชาชนยังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม ประเพณีและวัฒนธรรมของท้องถิ่นและยังคงสืบสานภูมิปัญญา
บ้านเมืองปอน ตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบลุ่มตอนกลางของลำน้ำปอน (อ่านสำเนียงออกว่า “ป๋อน”)ลักษณะทางกายภายภาพของตัวชุมชนเป็นกลุ่มก้อนเรียงรายติดกับเนินเขาซึ่งเป็นที่ดอนจากเหนือไปทางใต้พื้นที่แวดล้อมไปด้วยทุ่งนาและภูเขารอบด้านโดยมีลำน้ำปอนเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงผ่านกลางแอ่งทางด้านทิศตะวันออกของตัวชุมชนชุมชนนี้แม้จะมีหน่วยทางกายภาพเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันแต่เนื่องจากมีจำนวนครัวเรือนและประชากรมากจึงได้มีการแบ่งการปกครองย่อยออกเป็นสองชุมชนย่อย คือ หมู่ 1และหมู่ 2อาณาเขตการปกครองของชุมชนบ้านเมืองปอนด้านเหนือติดกับชุมชนป่าฝาง ด้านตะวันออกติดกับตำบลแม่ขอด้านใต้ติดกับชุมชนหางปอนและด้านตะวันตกติดกับตำบลแม่เงาจำนวนประชากรในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 2,000คน 1,000ครัวเรือนเป็นคนไทใหญ่ร้อยละ 80 ที่เหลือเป็นกลุ่มคนเมืองที่เข้ามาอาศัยอยู่ และทำงานผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เพาะปลูก ทำไร่ทำสวนปลูกพืชผักในที่นายามเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วเช่นกระเทียมถั่วเหลืองเป็นต้น
แนวคิดและกระบวนการทำงาน
พื้นที่ตำบลมีกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1) คนไทยวน 2) คนปกาเกอญอ ที่มีลักษณะความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่แน่นแฟ้น แม้ลูกหลานจะแต่งงานแล้วแยกบ้าน (ครอบครัวเดี่ยว) ดังนั้นลักษณะดังกล่าวทำให้การทำงานโครงการใดๆ ต้องตระหนักถึงความวิถีความเชื่อหรือวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มเป็นพิเศษ (กว่าชุมชนพื้นราบ)
หลักคิดสำคัญ คือการมองโครงการบ้านพอเพียงชนบทเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางสังคมในการเป็นทำงานด้านคุณภาพชีวิตของคนจนในชุมชน เป็นช่องทางหรือโอกาสที่จะได้ร่วมงานกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายนักในกรณีชุมชนชาติพันธุ์บนที่สูงเช่นตำบลเมืองปอน ดังนั้นการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยของผู้ด้อยโอกาสจึงเป็นเรื่องสำคัญและกลุ่มผู้นำต่างให้ความสำคัญ
ผู้นำของชุมชนตามวิถีตั้งแต่ในอดีตที่มีผู้นำตามความเชื่อหรือที่เรียกว่า “ฮี่เก่อจ่า” ซึ่งมีหน้าที่ในการตัดสินปัญหาต่างๆในชุมชนและเป็นผู้นำทางพิธีกรรมต่างๆ ฉะนั้น ในกระบวนการตัดสินใจใดๆ จะไม่สามารถใช้เพียงผู้นำทางการได้ทั้งหมด อย่างน้อยที่สุดก็ในขั้นการปรึกษาหรือการแจ้งให้ทราบ เช่น ในกรณีที่โครงการบ้านพอเพียงชนบทมีแผนในการปรับปรุงบ้านใหกับสมาชิกในชุมชนคนใดหรืออย่างไร
การสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มผู้นำในชุมชนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องใช้วิธีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันความสับสนและเข้าใจผิด เมื่อกลุ่มผู้นำมีความเข้าใจตรงกันจึงจะสามารถนำไปอธิบายให้กับสมาชิกชุมชนได้อย่างตรงตามวัตถุประสงค์
การได้มาซึ่งข้อมูลสภาพปัญหา ข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายและการเสนอโครงการ จะเป็นหน้าที่หลักของคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชน ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้านเป็นหนึ่งในกลไกดังกล่าวและเป็นผู้ที่รับรู้ถึงข้อมูลของกลุ่มผู้เดือดร้อนเป็นอย่างดี ก่อนที่จะมีการประชาคมเพื่อคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายตามโครงการนั้น ต้องมีกระบวนการในการอธิบายข้อมูลโครงการแก่สมาชิกชุมชนให้เข้าใจเป็นอย่างดีเสียก่อน เนื่องจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทมีความแตกต่างกับโครงการเชิงสงเคราะห์โดยทั่วไปและด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและสังคมวัฒนธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงที่มีลักษณะเฉพาะจึงทำให้ต้องอาศัยการพบปะพูดคุยที่มากกว่าการจัดประชุมชี้แจงโดยทั่วไป
ระบบเครือญาติและการผสานเครือข่าย
ในขั้นตอนการลงมือปรับปรุงบ้านกลุ่มเป้าหมายนั้น กลุ่มญาติของกลุ่มเป้าหมายเองจะมีบทบาทอย่างมาก เนื่องจากวิถีของชุมชนยังมีความเข้มแข็งในการยึดโยงความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ไม่ต่างจากการ “เอามื้อเอาแรง” หรือการลงแขกในภาคเกษตร ทั้งหญิงชายและเด็กต่างเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยในวันที่มีการปรับปรุงก่อสร้าง โดยมีช่างก่อสร้างหลัก (สล่าเก๊า) เป็นผู้รับผิดชอบในขั้นตอนกรก่อสร้าง โดยคิดค่าแรงเพียงครึ่งหนึ่งของราคาปกติ เนื่องจากเป็นช่างในชุมชนและการลดราคาค่าแรงเช่นนี้ถือเป็นการได้ร่วมช่วยชุมชนอีกทางหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ทางด้านผู้นำชุมชนจะคอยดูแลความเรียบร้อยในความภาพและคอยประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดอุปสรรคน้อยที่สุด
การประสานงานเพื่อระดมความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีอื่นๆ หรือการระดมทรัพยากรต่างๆ ในระดับตำบลยังไม่เกิดผลรูปธรรมมากนัก มีเพียงองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นหน่วยงานที่ช่วยด้านงานเอกสาร ธุรการใน ณ ขณะนี้
หลังจากที่ได้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านแต่ละหลังเสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการจะร่วมกันติดตามผล ตรวจสอบความเรียบร้อยของบ้านแต่ละหลังและพบปะพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายและครอบครัว ถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากนั้น เมื่อแน่ใจว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงจะได้ประสานงานให้มีการส่งมอบบ้านอย่างเป็นทางการต่อไป
ปัญหาและอุปสรรค
กลไกคณะกรรมการในบางช่วงต้องได้มีการปรับบทบาทหน้าที่ภายใน เช่น กรณีผู้ใหญ่บ้านบางหมู่บ้านมีการปรับเปลี่ยนหรืออาจหมดวาระ จะทำให้การประสานงานกับโครงการติดขัดหรือบางหมู่บ้านเมื่อรู้ว่าตัวเองใกล้หมดวาระก็ต้องเตรียมตัวกับงานการเมืองในช่วงต่อไป อาจไม่ได้ติดตามการดำเนินงานของโครงการอย่างใกล้ชิด จึงทำให้เกิดความล่าช้าหรือการประสานงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ลักษณะพื้นที่ชุมชนบนที่สูงส่งผลโดยตรงกับค่าขนส่งวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง แม้จะเป็นการขนส่งภายในอำเภอหรือในตำบลก็ตาม ต้นทุนเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติทั้งรถที่ใช้ในการขนส่ง
กลุ่มผู้นำและคณะกรรมการโครงการบ้านพอเพียงของตำบล เห็นว่าควรมีการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานหรือการบริหารจัดการโดยตรง นอกเหนือจากค่าวัสดุอุปกรณ์ในและควรมีขบวนการในการผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบรรจุงบประมาณการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย