ตำบลนาโบสถ์ เป็นตำบลหนึ่งใน 3 ตำบล ของอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก ที่แยกจากตำบลเชียงทอง เมื่อ ปี พ.ศ. 2533 ซึ่งเดิมเป็นเขตอำเภอเมืองตาก ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอวังเจ้าประมาณ 15 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดตากประมาณ 32 กิโลเมตร ราษฎรส่วนใหญ่อพยพมาจากถิ่นอื่น และเป็นกลุ่มชาวเขาเผ่าม้ง สำหรับที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบลนาโบสถ์ อยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอวังเจ้า ตั้งอยู่เลขที่ 123 หมู่ที่ 4 ตำบล นาโบสถ์ อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก มีพื้นที่รับผิดชอบ 9 หมู่บ้าน
อาณาเขต
– ทิศเหนือ ติดตำบลหนองบัวใต้ และตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก
– ทิศใต้ ติด ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก
– ทิศตะวันออก ติด ตำบลประดาง อำเภอวังเจ้าจังหวัดตาก
– ทิศตะวันตก ติดภูเขา ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นที่ เป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อยถึงเป็นเนินเขา ความลาดชัน 2-35% สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 127 – 1,027 เมตร โดยมีทิศทางลาดเทของพื้นที่จากด้านทิศตะวันตกซึ่งมีสภาพเป็นภูเขาสูงชันไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นที่ราบแม่น้ำปิงโดยมีลำน้ำที่สำคัญไหลผ่านพื้นที่รวมถึงพื้นที่กักเก็บน้ำ ได้แก่ คลองประดาง คลองทราย คลองบง และอ่างเก็บน้ำคลองทราย เป็นต้น ตำบลนาโบสถ์มีลำคลองสายหลัก
ประชากรในตำบลนาโบสถ์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมการเพาะปลูกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าว และยังมีทำสวนผลไม้ ได้แก่ ลำไย มะม่วง กล้วย มะนาว มะขามหวาน ส้ม และยังมีการปลูกพืชผักสวนครัวเป็นรายได้เสริมและกินเอง ประชากรบางส่วนก็จะไปรับจ้างตามพื้นที่เกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งก่อสร้างต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีอาชีพอื่น ๆ เช่น ค้าขาย และกลุ่มชาวเขาเผ่าม้งบางส่วนมีการทำเครื่องเงิน ปักผ้า เป็นต้น
หลักคิด/แนวคิดการดำเนินงานบ้านพอเพียงชนบท
โครงการบ้านพอเพียงชนบท เป็นหนึ่งในแผนงานยุทธศาสตร์ เรื่องที่อยู่อาศัยของตำบลนาโบสถ์ โดยไดมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นเมื่อปี 2551 หลังจากได้จัดตั้งสภาแล้วทางสภาองค์กรชุมชนตำบลได้เสนอใช้เวทีสภาองค์กรชุมเป็นกลไกกลางในการขับเคลื่อนงานในตำบล
เมื่อปี 2561 ได้เสนอของบประมาณจาก พอช. ในโครงการ “บ้านพอเพียงชนบท” ได้รับงบประมาณในการซ่อมแซมบ้านจากทาง พอช. จำนวน 10 หลัง จำนวน 180,000 บาท
มีเป้าหมายดำเนินการแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนในพื้นที่ตำบลนาโบสถ์ โดยมุ่งเน้นผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือในการซ่อมแซมบ้าน คือ
- เป็นผู้สูงอายุ
- เป็นผู้พิการ
- เป็นผู้ยากไร้
โดยเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย เช่น บ้านทรุดโทรม แออัด เป็นผู้ด้วยโอกาสในชุมชน
ในปี พ.ศ. 2562 ทางสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำหมัน ได้รับขอเสนอขอรับงบประมาณ ในการซ่อมแซมบ้านจากทาง พอช. ได้รับงบประมาณ 247,000 บาท ทำการซ่อมแซมบ้าน จำนวน 13 ครัวเรือน กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการซ่อมแซมบ้าน
ขั้นตอนการดำเนินงาน
1) การประสานงานและการสื่อสารเพื่อเตรียมความพร้อมในพื้นที่ มีการใช้กลไกสภาองค์กรชุมชน และขบวนจังหวัด ในการจัดประชุมทำความเข้าใจกับท้องที่ ท้องถิ่น และผู้เดือดร้อน เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการ แผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของสภาองค์กรชุมชน หลังจากนั้นคณะทำงานด้านสังคมลงพื้นที่สำรวจข้อมูล โดยใช้พื้นที่ตำบลของผู้นำในพื้นที่ และทำความเข้าใจในระดับพื้นที่โดย ตรวจสอบความพร้อมของคนในชุมชน
2) จัดตั้งคณะทำงานโครงการบ้านพอเพียงตำบล โดยมีความคาดหวังว่าจะเกิดคนเกิดทีมที่จะมาช่วยกันทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่าในหลายพื้นที่มีการแต่งตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการโดยสภาองค์กรชุมชน มีองค์ประกอบมาจากตัวแทนจากทุกหมู่บ้านและหน่วยงานภาคีในพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. สมาชิกเทศบาล อสม. สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน ซึ่งได้มีการจัดแบ่งบทบาทหน้าที่กันทำงาน เช่น ทีมสำรวจข้อมูล ทีมประเมินความต้องการในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านและการประมาณการวัสดุและจัดซื้อวัสดุ ทีมติดตามประเมินผล ทีมเอกสารและบริหารจัดการโครงการ เป็นต้น
3) กำหนดเกณฑ์ กติกาด้านต่างๆ ร่วมกัน เช่น การเลือกครัวเรือนเป้าหมาย การคืนทุน การบริหารวัสดุก่อสร้าง การส่งเสริมสวัสดิการชุมชน อาชีพ ค่าแรง การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เป็นต้น
4) การสำรวจข้อมูล ความคาดหวังจากการสำรวจข้อมูล คือ ได้เห็นสภาพและได้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนยากจนจริงๆ ซึ่งจะนามาสู่จัดลำดับในการช่วยเหลือและเกิดการยอมรับจากคนในชุมชน โดยคณะทำงาน (ควรมีคนในพื้นที่ร่วมอยู่ในทีมด้วย) ลงสำรวจครัวเรือนผู้เดือดร้อน ด้วยการทำแบบสอบถามและถ่ายรูปภาพบ้านและเจ้าของบ้าน จากนั้นให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต./สท. เซ็นต์รับรองว่าผ่านการสำรวจข้อมูลผู้เข้าร่วมโครงการก่อนเข้าเวทีประชาคมรับรองข้อมูลทั้งตำบล
5) จัดเวทีประชาคมระดับหมู่บ้านและตำบล เพื่อคัดกรองผู้เดือดร้อนที่จะได้รับการช่วยเหลือ โดยส่งรายชื่อพร้อมคัดเลือกผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุดและรองลงมาตามลำดับ เมื่อได้ผู้เข้าร่วมโครงการแล้วบางพื้นที่มีการประเมินจัดกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์อีกครั้ง
6) การประสานงาน/ความร่วมมือ เครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานทั้งภายในและภายนอกตำบล รวมทั้งภาคเอกชน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนหมู่บ้าน ประธานชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เทศบาล ทหาร นักธุรกิจ ร้านค้า ฯลฯ เพื่อสร้างความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานซ่อมแซมบ้าน
7) การบูรณาการทุนและความร่วมมือ เพื่อร่วมบูรณาการทุนในพื้นที่จากกลุ่มองค์กรในท้องถิ่น ผ่านการระดมทรัพยากรด้านต่างๆ เช่น ความรู้ ช่าง เงิน อาหาร แรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานและเป็นการต่อยอดขยายวงการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนให้มากขึ้น
8) ปฏิบัติการการซ่อม สร้าง ปรับปรุงบ้าน ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการในส่วนของห้องน้ำ ประตู หน้าต่าง หลังคาให้มีความมั่นคงแข็งแรง กันแดด กันฝน และเกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ผลและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
- ด้านคุณภาพชีวิต ผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นคนยากจน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส มีความสุข มีสุขภาพกาย – ใจที่ดีขึ้น จากการคลายความกังวล ลดความเครียด เนื่องจากมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย มีสุขภาวะในครัวเรือนที่ดี
- ความสัมพันธ์ภายในครัวเรือน คนในครอบครัวมีความภาคภูมิใจ ที่มีบ้านแข็งแรงขึ้น และเป็นจุดรวมของคนในครอบครัว
- ความสัมพันธ์ภายในชุมชน ดังจะเห็นได้จากมีคนออกมาทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน เกิดวัฒนธรรมเอื้ออาทร แบ่งปันกัน จากการรวมตัวกันช่วยเหลือลงแรงกันสร้างบ้าน
- ความสัมพันธ์กับท้องถิ่น หน่วยงาน และนโยบาย ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานในระดับจังหวัด ยอมรับและสนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงชนบท จนเกิดการบูรณาการและร่วมมือในการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยขององค์กรชุมชนและท้องถิ่น เกิดกลไกการทำงานร่วมระหว่างองค์กรชุมชนกับท้องถิ่น ท้องที่