ตำบลทับหมัน มีชื่อตามหมู่บ้านทับหมัน ซึ่งมีประวัติความเป็นมา คือ เป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนสมัยอยุธยา ปรากฏหลักฐานเป็นวัดร้าง แนวกำแพง สมบัติเก่า เครื่องทอง ตามประวัติเดิม สมัยพม่ายกกองทัพมาตีไทย กองทัพของไทยจึงเกณฑ์ไพร่พลมาตั้งรับที่ริมแม่น้ำน่าน แต่ยังไม่ทันได้รบกัน ศึกสงบก่อนพม่ายกทัพตีไทย ทั้งกองทัพไทยและกองทัพพม่าต่างพากันยกทัพกลับ แต่ก็มีทหารจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้กลับและได้พากันตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านทัพหมัน” และต่อมาจนถึงปัจจุบันเรียกว่า “บ้านทับหมัน” ตำบลทับหมันอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอตะพานหินทางทิศตะวันตก ประมาณ 14.30 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลวังสำโรง อำเภอตะพานหิน
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลวัดขวาง อำเภอโพทะเล
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลคลองคูณ อำเภอตะพานหิน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบางลาย กิ่ง.อำเภอบึงนาราง
มีเนื้อที่/พื้นที่ ทั้งหมดประมาณ 36.32 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 35,847 ไร่ แบ่งออกเป็น ดังนี้
- พื้นที่ทำการเกษตร 35,047 ไร่
- พื้นที่อยู่อาศัย ประมาณ 800 ไร่
พัฒนาการความเป็นมาขององค์ความรู้
จุดเริ่มต้นของศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนพัฒนาบ้านบึงประดู่ เริ่มในปี พ.ศ.2549 ทางศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกได้เข้ามาส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เรียนรู้วิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ได้คุณภาพ ต่อมาในปี 2550 กลุ่มเกษตรกรบ้านประดู่ได้มีจิตอาสาร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกในการบุกเบิกปรับพื้นที่นา และจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์หลักที่โครงการศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ได้เรียนรู้วิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและการตรวจตัดพันธุ์ปนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรเกิดทักษะในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้คุณภาพ สามารถนำความรู้มาปรับใช้แก้ปัญหาข้าววัชพืช ผลผลิต และราคาที่ตกต่ำจนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรในพื้นที่และต่างหมู่บ้านจึงมีความคิดที่จะขยายผลสู่ชุมชนอย่างจริงจัง จึงเกิดการรวมกลุ่มขึ้น เน้นกระบวนการเรียนรู้ตามหลัก “คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น” โดยมีศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก สำนักงานเกษตรอำเภอตะพานหิน และหน่วยงานราชการอีกหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนให้ความรู้และส่งเสริมกิจกรรมกลุ่ม
ปี 2552 มีการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวต้นแบบเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีอย่างยั่งยืนและเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ต่อมาในปี 2553 ได้จัดตั้งเป็นศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยอัดเม็ดชุมชนพัฒนาบ้านบึงประดู่ เป็นจุดขยายผลของศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธรด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นสถานที่ศึกษาดูงานของกลุ่มเกษตรกรจากหลายจังหวัดทั่วทุกภาค และเป็นแหล่งผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีของจังหวัดพิจิตร
ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 78 ราย แบ่งเป็นสมาชิกที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 44 ราย พื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ฤดูนาปีจำนวน 1,346 ไร่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ กข41 กข47 กข61 กข57 กข71 และพิษณุโลก2 ไว้ใช้เองและกระจายสู่พื้นที่ใกล้เคียง โดยใช้เครื่องหมายการค้าตรา “ประดู่คู่รวงทอง” และจดทะเบียนเป็นผู้รวบรวมและจำหน่ายมีพื้นที่ปลูก 387 ไร่ และยังผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่ายให้แก่บริษัทเอกชนสำหรับจำหน่ายในต่างพื้นที่หลายจังหวัด เช่น พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร เป็นต้น คิดเป็นพื้นที่ปลูก รวม 959 ไร่
การจัดการองค์ความรู้โดยชุมชน
ปัจจุบันนี้การแข่งขันตลาดข้าวสูงขึ้นชาวนาต้องมีการลงทุนเพื่อผลิตข้าวให้ได้ในปริมาณมากตามความต้องการของตลาด ในขณะเดียวกันก็แบกรับภาระปัจจัยต้นทุน เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย สารเคมี ค่าแรง และเครื่องจักรต่างๆ ซึ่งนับวันยิ่งมีราคาสูงขึ้นเป็นลำดับ การทํานา ถือว่าเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน แต่การผลิตข้าวกลับได้ผลผลิตต่ำและมีต้นทุนการผลิตที่ จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดคือ การใช้เมล็ดพันธุ์จากภายนอก จุดอ่อนต่อมาคือ เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวไม่มีคุณภาพ มีข้าวดีด ข้าวเด้ง ปะปนกับเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ทําให้มีผลผลิตต่อไร่ต่ำ และมีปัญหาสิ่งเจือปนสูง แถมพันธุ์ข้าวที่นำมาปลูกยังไม่ต้านทานต่อโรคและแมลง เพราะเกษตรกรจำนวนมากนิยมเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง หรือซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่มีคุณภาพมาปลูกชาวนาไม่มีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองจึงทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้นแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้นเพื่อ 1) ช่วยลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนการซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวของชาวนาในตำบล 2) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวนา เกษตรกรมีทักษะ องค์ความรู้ในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้เองในชุมชน ลดการพึ่งพิงเมล็ดพันธุ์ข้าวในตลาดที่ถูกผูกขาดโดยทุนเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการรักษาอธิปไตยทางอาหาร
กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน
- ศึกษาข้อมูล รวบรวมพันธุ์ข้าวท้องถิ่นทีมีอยู่เพื่อนำมาปรับใช้ในการเพาะปลูก
- แลกเปลี่ยนความรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์
- ทดลองปลูกข้าวในแปลงตัวอย่าง และคัดพันธุ์
- ขยายผลแบ่งปันความรู้ เมล็ดพันธุ์ข้าวไปยังครอบครัวชาวนาอื่นๆ ในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด
- จัดตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และขยายผลโดยตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนให้กับเกษตรกร หรือผู้ที่สนใจทั่วไปเข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปต่อยอด
เทคนิค/ทักษะ
- เทคนิคการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวควรใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์ มีความบริสุทธิ์ ตรงตามพันธุ์ไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวอื่นหรือเมล็ดวัชพืชเจือปน รวมถึงสิ่งเจือปนอื่นๆ เมล็ดมีความงอกดีซึ่งจะต้องมีความงอกไม่ต่ำกว่า 80%
- การคัดพันธุ์ข้าวนั้น เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ชาวนาเคยทำกันมาช้านาน โดยชาวนาจะทำการคัดเลือกข้าวจากแปลงนาที่ไม่มีข้าวสายพันธุ์อื่นปน ไม่มีโรคและแมลงรบกวน จากนั้นจึงคัดเอาเฉพาะรวงที่สมบูรณ์ไว้สำหรับทำพันธุ์ ซึ่งวิธีการดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพของเมล็ดข้าวได้ เช่น ปัญหาเมล็ดร้าว เมล็ดบิดเบี้ยว และข้าวปน เป็นต้น จึงมีการคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เทคนิคการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์บริสุทธิ์ เป็นเทคนิคใหม่ที่ทางกลุ่มฯได้คิดค้นขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพข้าวและวิธีการนี้ยังช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตสูงขึ้นอีกด้วย
กลไกการจัดการ(กลุ่ม/องค์กร/เครือข่าย/บทบาท)
- คณะกรรมการศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว
- สภาองค์กรชุมชนตำบลทับหมัน จัดทำทะเบียนการปลูก เชื่อมการทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต) เพื่อหาทางลดต้นทุนการผลิต การปลูกพืชทดแทน การพัฒนาที่ดิน ปุ๋ย
ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง
- เกิดกลุ่มอาชีพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน,เศรษฐกิจดี กินดีอยู่ดี สุขภาพดี ส่งผลทำให้สุขภาพจิตดี สร้างความเข้มแข็งสู่ชุมชนตำบลจัดการตนเอง
- องค์กรชุมชนเข้มแข็ง/มีความสามารถในการบริหารจัดการ
- เกิดการรวมกลุ่ม สร้างความรัก สามัคคี เกิดการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
- ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์โครงสร้าง/นโยบาย
- ท้องถิ่น-ท้องที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในตำบล ร่วมกันขับเคลื่อนสู่ตำบลจัดการตนเอง
ปัจจัยที่ส่งผลให้ประสบผลสำเร็จ
- มีการประชุมร่วมกันระหว่างท้องถิ่น-ท้องที่ ปรึกษาหารือร่วมแก้ไขปัญหา โดยผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น สภาองค์กรชุมชน
ปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินงาน
- ขาดความร่วมมือของผู้นำบางคนในชุมชน
แนวทาง/แผนที่จะทำต่อในระยะข้างหน้า
- ขยายผลไปสู่ชุมชน / ตำบลอื่นๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวนาให้มีทางเลือกในการลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ
- พัฒนาศักยภาพ เพิ่มทักษะการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ