ตำบลเตาปูน อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสอง ไปทางทิศใต้ ไปตามเส้นทาง หมายเลข 1154 เป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร พื้นที่ประมาณ 339.01 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 211,878.75 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ที่ราบสูงและภูเขาสูง สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าเสื่อมโทรมและที่ราบ ซึ่งกระจายกันอยู่ตามที่ตั้งของบ้านเรือนราษฎร มีแม่น้ำยมแม่น้ำสองไหลผ่านและมีอ่างเก็บน้ำห้วยรังและอ่างเก็บน้ำแม่สองเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในการเกษตร
ตำบลเตาปูนประกอบด้วยจำนวนหมู่บ้าน 12 หมู่ โดย 11 หมู่บ้าน เป็นคนไทยพื้นราบและ 1 หมู่บ้านเป็นคนไทยภูเขาเผ่าม้ง
ความเป็นอยู่ของประชาชน ในตำบลเตาปูน จะอาศัยอยู่รวมกันอย่างเรียบง่าย แบบสังคมชาวชนบท ประชาชนในตำบล มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพราะมีการศึกษาและ สาธารณสุขอย่างทั่วถึงประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพ เกษตรกรรม และชาวตำบลเตาปูน นับถือศาสนาพุทธ มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจทำให้ชาวตำบลอยู่กันอย่างสงบสุข
จำนวนประชากร ทั้งสิ้น จำนวน 8297 คน แยกเป็นชาย 4088 คน หญิง 4209 คน มีความหนาแน่นเฉลี่ย 251 คน ต่อตารางกิโลเมตร
อาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก และด้านอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรม ในครัวเรือนผลิตขายในท้องถิ่น และต่างพื้นที่ อาชีพเสริม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์งานปั้นจากขี้เลื่อย, ผลิตภัณฑ์ผ้าด้นมือ, การเย็บจักรอุตสาหกรรม
พัฒนาการความเป็นมาขององค์ความรู้
เมื่อปี พ.ศ. 2558 ประชาชนได้รับผลกระทบจากการตั้งฟาร์มเลี้ยงสุกรบ้านอัมพวัน หมู่ที่ 8 ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเนื่องจากกลิ่นเหม็นจากมูลสุกร มีแมลงวันรบกวน และมีการปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มลงสู่แหล่งน้ำในชุมชน
พ.ศ. 2559 – 2561 มีการจัดทำเวทีประชาคมร่วมกับ อบต.เตาปูน เพื่อเสนอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูขุนให้กับบริษัทซีพี จำนวน 4 ฟาร์ม ในพื้นที่บ้านอัมพวัน หมู่ 8 ตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เพื่อหาวิธีแก้ปัญหากลิ่นเหม็นของมูลสุกร ทาง อบต. รับทราบ และมีการรับเรื่องบรรจุเข้าในแผนพัฒนาตำบล มีการประสานงานกับพลังงานจังหวัดเพื่อเข้ามาวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเกษตรกรเจ้าของฟาร์มเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน และมีความคิดที่จะปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียจากการเลี้ยงหมูรวม 2,600 ตัวของพวกเขา ซึ่งก่อนหน้านี้มีโมเดลความสำเร็จที่เพื่อนเกษตรกรฟาร์มเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟ ที่อำเภอควนขนุน จ.พัทลุง ได้นำขี้หมูเข้าระบบไบโอแก๊สแบบ Plug Flow เกิดการหมักได้ก๊าซมีเทน นำเข้าเครื่องปันไฟแปลงก๊าซที่ได้เป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม อีกส่วนหนึ่งเข้าระบบท่อแก๊สกลายเป็นก๊าซหุงต้มลดค่าใช้จ่ายให้กับเพื่อนบ้าน จึงได้มีการประสานงานกับสำนักงานพลังงานจังหวัดแพร่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มต้นขอคำปรึกษาจากองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน ถึงเป้าหมาย จากนั้นจึงนำไปสู่การประสานงานกับสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน และสำนักงานพลังงานจังหวัดแพร่ โดยอบต.เตาปูนดำเนินการของบประมาณสนับสนุนไปที่กระทรวงพลังงานเพื่อสร้างระบบบำบัดของเสียด้วยไบโอแก๊ส บ่อหมักขนาด 200 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งกระทรวงพลังงานสนับสนุนงบฯก่อสร้าง 60 % อบต.เตาปูน 35% และเกษตรกร 15% โดยทางซีพีเอฟสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ ในรูปแบบผลตอบแทนการเลี้ยง จัดทำโครงการจัดระบบท่อส่งแก๊สขี้หมู แปรรูปเป็นพลังงานเชื้อเพลิงใช้ในครัวเรือน โดยใช้ของเหลือ และสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มเลี้ยงหมู คือน้ำล้างคอกและมูลสุกรมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพและสามารถนำไปเป็นก๊าซหุงต้มจากแรกเริ่มมีครัวเรือนนำร่องที่ใช้ประโยชน์จากก๊าซชีวภาพ 50 ครัวเรือน เมื่อระบบเดินเครื่องเต็มประสิทธิภาพ ก็สามารถขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น 48 ครัวเรือน เท่ากับก๊าซชีวภาพจากฟาร์มแห่งนี้สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนได้ถึง 99 ครัวเรือน และสามารถผลติกระแสไฟฟ้าโดยใช้ปั่นไฟฟ้าใช้ได้ในพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงหมูถึง 10 ไร่ เพื่อใช้พลังงานไฟฟ้าในการเปิดพัดลดระบายความร้อนของฟาร์มเลี้ยงสุกร ปั้มน้ำ และไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในฟาร์มอีกด้วย ทำให้ลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานไฟฟ้าลง นอกจากนั้น มูลสุกรที่ผ่านการหมักแล้วนั้นนำมาตากแห้งยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของฟาร์มได้อีกกระสอบละ 30 บาท ทำให้เจ้าของฟาร์มสามารถลดต้นทุนในการจ่ายค่าไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 50 จากปกติต้องแบกรับค่าใช้จ่ายค่าไฟเดือนละ 60,000 บาท และแจกจ่ายก๊าซภาพไปตามท่อให้กับชุมชนได้ถึง 99 ครัวเรือนได้อย่างเพียงพอและเหลือใช้
พ.ศ. 2562 มีการตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก๊สชีวภาพจากมูลสุกรบ้านอัมพวัน ม.8 ต.เตาปูนขึ้น โดยตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน ได้มีการจัดเก็บค่าบำรุงรักษาหลังคาละ 50 บาท โดยจะสร้างท่อส่งแก๊สต่อให้ถึงห้องครัวและจุดที่ประกอบาหาร โดยใช้ระบบส่งแก๊สทางท่อพลาสติก มีวาวปิดเปิด ทำให้ลดการตัดไม้ทำฟืนประกอบอาหาร ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากการทำระบบกำจัดมูลสุกร มาสร้างประโยชน์ให้ชุมชนใช้ทั้งปี แก้ไขปัญหาการส่งกลิ่นรบกวนของฟาร์มปศุสัตว์มีการพัฒนาอัดแก๊สขี้หมูลงถังจำหน่ายให้กับประชาชนที่สนใจ ช่วยลดค่าใช้จ่ายของแก๊สหุงต้มได้ และสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งโดยเฉลี่ยครัวเรือหนึ่งจะใช้ก๊าซหุงต้มเพียงวันละ 0.9 ลูกบาตเมตรต่อวัน
การจัดการองค์ความรู้โดยชุมชน
– เพื่อลดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นของมูลสุกร
– เพื่อส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
– เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในครัวเรือน ลดต้นทุนในการซื้อก๊าซหุงต้ม
กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน
- เสนอโครงการเพื่อขออนุมัติโครงการจากหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ
- ประชุมคณะกรรมการเพื่อดำเนินกิจกรรม
- ประชาสัมพันธ์ชี้แจงการจัดโครงการ
- ดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการ
- ประเมินผลการดำเนินงาน
- สรุปแผนและเผยแพร่ผลการดำเนินงาน
เทคนิค/ทักษะ
- มีการทำประชาคมในพื้นที่ ม. 1/7/8
- มีการอบรม
- มีการศึกษาดูงาน
- มีการประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพลังงานเข้ามาช่วยเหลือเรื่องงบประมาณ
- มีการวางแผนออกแบบโครงสร้างการวางท่อแก๊สสู่ครัวเรือน
กลไกการจัดการ(กลุ่ม/องค์กร/เครือข่าย/บทบาท)
- กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูขุน
- คณะทำงานโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสุกร มีนายณัฐพล ทองไหล นายกอบต.เตาปูน เป็นประธาน และมีนางวลัญช์ ตรีทิพยธนันท์ นักพัฒนาชุมชน เป็นผู้ประสานงาน
- สภาองค์กรชุมชนตำบลเตาปูน ประสานงานและร่วมดำเนินการด้านการจัดการแก้ไขปัญหา
ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง
- มีแนวคิดและทักษะเพิ่มมากขึ้น เช่น การอัดแก๊ส ซ่อม /ต่อท่อแก๊สจำนวน 10 คน
- มีทัศนคติและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่ต้องทนกับกลิ่นเหม็น จำนวน 500 ครัวเรือน
- มีกฎกติกาในการบริหารจัดการการปิด- เปิดแก๊สเป็นเวลา เช้า 05.00-08.00 น. บ่าย 16.00-20.00น.
- มีคณะกรรมการบริหารจัดการด้านการเงิน
- ประชาชนได้ใช้พลังงานทดแทนที่สะอาดและปลอดภัย
- ลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยจากปัญหามลพิษทางกลิ่น
- ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าของฟาร์มกับประชาชนในพื้นที่ลดลง สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
- ลดรายจ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้มในครัวเรือน
ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์โครงสร้าง/นโยบาย
- ลดปัญหาหารร้องเรียนปัญหากลิ่นเหม็นได้100 เปอร์เซน
- ระบบจัดทำแก๊สชีวภาพ ลดปัญหากลิ่นได้ร้อยละ99 จากการสอบถามจากประชาชนในพื้นที่
ปัจจัยที่ส่งผลให้ประสบผลสำเร็จ (เครื่องมือที่ 4 ปัจจัย/เงื่อนไขความสำเร็จและกำหนดอนาคต)
- คนในชุมชนให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการ
- ผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็งเป็นแกนนำหลักให้โครงการประสบความสำเร็จ
- มีการสนับสนุนงบประมาณต่างๆ เช่นหน่วยงานพลังงานจังหวัด
- ได้รับองค์ความรู้จากมหาลัยแม่โจ้
แนวทาง/แผนที่จะทำต่อในระยะข้างหน้า
- เผยแพร่ความรู้ ส่งเสริมการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงที่มีมูลค่าสูง
- ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีคิดสู่การพึ่งตัวเอง
- ส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านหรือตำบลต้นแบบ
- ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- ให้ประชามีทักษะหรือประสบการณ์การใช้พลังงานทดแทน