ตำบลแม่ถอด เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเถิน จ.ลำปาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีภูเขาล้อมรอบ พื้นที่ราบมีน้อย มีแม่น้ำวังไหลผ่าน อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำนาทำไร่ทำสวนและเลี้ยงสัตว์ มีสภาพทางสังคม อยู่กันอย่างเครือญาติส่วนมากจะเป็นคนในพื้นที่ที่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุคน ประชากรประมาณ 6,600 คน
ทรัพยากรธรรมชาติเป็นป่าไม้สักทองและไม้เบญจพรรณและมีหินอ่อนที่มีคุณภาพรวมทั้งเป็นแหล่งสวนส้มเกลี้ยงที่มีชื่อเสียงของอำเภอเถิน วัฒนธรรมคนในตำบลแม่ถอดทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ มีประเพณีเป็นของตนเองตามห้วงของเดือน และยังรักษาใว้อย่างเหนียวแน่นสืบไป
พัฒนาการความเป็นมาการดำเนินการจัดสวัสดิการชุมชน
ช่วงก่อนปี 2552 ก่อนที่จะมีการตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในตำบลแม่ถอดนั้น ในพื้นที่ตำบลแม่ถอดทุกหมู่บ้านมีสวัสดิการในรูปแบบการช่วยเหลือซึ่งกันและกันแบบเครือญาติ เมื่อมีการเกิดการตายเกิดขึ้นก็จะไปช่วยเหลือกันแบบตามกำลังทรัพย์แบบทดแทนกันไปมา ไม่มีหลักประกันว่าจะต้องช่วยกันเท่านั้นเท่านี้หรือมีก็จะจดบันทึกไว้ว่าเคยไปช่วยเขาเท่าไหร่ แล้วถึงเวลางานของตนเองเขาจะมาทดแทนเท่าไหร่ บางทีก็ไม่มีการทดแทนกันเลย ในระดับตำบลนั้นก็มีการจัดสงเคราะห์ตำบลเรียกว่า สมาชิกตำบล แต่ก็ทำในเรื่องการเสียชีวิตอย่างเดียว เมื่อมีสมาชิกเสียชีวิตลงก็จะต้องทำเรื่องขอเบิก กฎก็คลุมทั้งครัวเรือนคือ ใครจะเป็นสมาชิกนั้นต้องให้เจ้าบ้านสมัครคนเดียว และบางครัวเรือนก็มีสมาชิกคนเดียว บางครัวเรือนก็มีสมาชิกในครัวเรือนมาก เมื่อมีการเสียชีวิตขึ้น กองทุนสมาชิกตำบลก็ต้องจ่ายให้ทั้งหมด
ปี พ.ศ. 2552 ในขณะนั้น นายเกษม สิทธิพันธ์ ชึ่งเป็นกำนันตำบลแม่ถอดได้มีความคิด ทำอย่างไรที่จะจัดสวัสดิการให้กับคนในชุมชนตำบลแม่ถอดได้มีสวัสดิการที่ควบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย เพื่อให้คนในชุมชนได้มีสวัสดิการที่อบอุ่นใจเมื่อเกิดปัญหาขื้นในครอบครัว จะได้เข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานที่เป็นของคนในพื้นที่และที่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วยและนายเกษม สิทธิพันธ์ได้เห็นว่าได้มีชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านนาบ้านไร่ นำเงินไปฝากออมเป็นสมาชิกกองทุนออมบุญวันละหนึ่งบาทที่บ้านดอนไชย ตำบลล้อมแรดหลายคน และก็ได้รับสวัสดิการตามที่กองทุนล้อมแรดกำหนด จึงคิดว่าตำบลแม่ถอดก็น่าจะตั้งกองทุนขึ้นมาบ้างเพื่อแบ่งเบาภาระของเขาเหล่านั้นที่ต้องเดินทางนำเงินออกไปฝากที่บ้านดอนไชย จึงมีการชักชวนผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ตำบลแม่ถอดไปดูการทำงานของกองทุนบ้านดอนไชยปรึกษากับคุณยุพิน เถาเปี้ยปลูก ซึ่งเป็นประธานกองทุนบ้านดอนไชยอยู่ในขณะนั้น ให้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำ และมีการจัดตั้งกองทุนออมวันละบาทขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม 2552
หลักคิด/แนวคิด
เกิดจากความคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนมีหลักประกันสุขภาพที่สามารถเข้าถึงได้ โดยคนในชุมชนเป็นคนจัดการ เพื่อคนในชุมชนจะได้เกิดการเอื้ออาทรส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักออมเงิน เพื่อแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อจัดสวัสดิการครบวงจรชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย แก่สมาชิกตลอดชีวิต และส่งเสริมให้สมาชิกมีหลักประกันในการดำรงชีวิเพื่อให้เกิดคุณธรรม ความสามัคคี มีน้ำใจ ร่วมกันแก้ไขปัญหา สร้างสัมพันธภาพที่ดีแก่สมาชิกเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง มีองค์กรที่คอยช่วยเหลือเมื่อเกิดความเดือดร้อนหรือจำเป็น
กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน
- ประสานภาคี เครือข่าย ความร่วมมือและสนับสนุน ได้ประสานขอคำแนะนำแนวคิดขั้นตอนการจัดตั้งกองทุนจากคุณยุพิน เถาเปี้ยปลูก ประธานกองทุนบ้านดอนไชย และนำผู้ที่เป็นแกนนำไปดูงานศึกษาขั้นตอนการดำเนินงานที่ศูนย์บ้านดอนไชยต่างๆ
- รับสมัครสมาชิก เมื่อกลับมาแล้วจึงได้ทำการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายนำโบว์ชัวร์อ่านให้ผู้สนใจรับทราบ ร่วมประชุมประจำเดือนกับผู้ใหญ่บ้านทั้ง 13 หมู่บ้าน เริ่มมีผู้สนใจมาสมัครครั้งแรก 110 คน 16 มีนาคม 2552 มีการจัดประชุมผู้ที่มาสมัครทั้ง 110 คน เพื่อประกาศจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ถอด โดยขอให้สมาชิกทั้ง 110 คน เลือกคณะกรรมการขึ้นทำงาน ปัจจุบันจากสมาชิกที่สนใจเริ่มแรก 110 คน ปัจจุบันมีสมาชิกสมัครเข้ามาร่วม ทั้งสิ้นจำนวน 2,250 คน
- การตั้งคณะกรรมการ เมื่อมีผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกได้ 110 คน ในครั้งแรกจึงได้นัดสมาชิกทั้งหมดมาประชุมที่ วัดนาบ้านไร่ เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการ โดยให้ทุกคนในที่ประชุมเสนอ ผลจึงได้เกิดคณะกรรมการจำนวน 15 คน ดังนี้
- นายเกษม สิทธิพันธ์ ประธานกองทุนฯ
- นายนิคม มะโนปิง รองประธานฯ ผญบ.ม.10
- นายณัฐวุฒิ ศรีวิไล รองประธานฯ ผญบ.ม.8
- นางสุพิชชา นวลอ้าย เหรัญญิกกองทุนฯ อสม.ม.5
- นางพิจิตร ฮมภาราช ผู้ช่วยเหรัญญิกฯ อสม.ม.5
- นางกันทอง ชุมภูเทพา เลขานุการฯ ผชผญบ.ม.12
- นางอรทัย ขันคำ กรรมการ สอบต.ม.2
- นางทองคำ รู้มาก กรรมการ อสม.ม.3
- น.ส.สายชล ชัยลังกาตุ้ย กรรมการ อสม.ม.4
- นางรุจิรา คำนนท์ กรรมการ อสม.ม.6
- นางทองจันทร์ เรือนเครือ กรรมการ อสม.ม.7
- นางบัวลม ฝั้ยไชย กรรมการ อสม.ม.9
- นางเข็มจิรา มะโนปิง กรรมการ อสม.ม.11
- นายนภดล กุลนะ กรรมการ ผชผญบ.ม.1
- นางผกาวัลย์ ธรรมขันคำ กรรมการ อสม.ม.13
โดยกรรมการมีวาระ คราวละ 2 ปี เมื่อครบวาระต้องมีการทบทวนเพื่อแต่งตั้งใหม่
- การจัดทำระเบียบกองทุนฯเมื่อได้คณะกรรมการแล้วจึงได้จัดทำระเบียบกองทุนออมบุญวันละหนึ่งบาทเพื่อสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ถอด โดยในชั้นแรกนั้นได้ขออาศัยระเบียบต่างๆของกองทุนบ้านดอนไชยเป็นหลักและมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบต่างๆมาจนถึงปัจจุบันนี้
- การสร้างกระบวนการเรียนรู้ การติดตาม/สอบทาน และการรายงานกองทุนมีการพัฒนาศักยภาพผู้จัดทำข้อมูลต่างๆอย่างสม่ำเสมอ มีการทบทวนขั้นตอนการจัดการส่งรายงานการบริหารจัดการกองทุนนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกับสมาชิก กรรมการในพื้นที่และระดับจังหวัดระดับภาครวมถึงการนำข้อมูลของกองทุนขึ้นบนเว็บไชต์ด้วย เพื่อทุกคนสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา
ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
คนมีแนวคิดและความสามารถเพิ่มขึ้น ( ความรู้/ทัศนคติ/ทักษะ)
- คนในตำบลมีความเข้าใจ มีความศรัทธรา เชื่อมั่น โดยเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของสมาชิกจากปี2552 มีสมาชิก 110 คน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1,730 คน ขยายสมาชิกเต็ม 13 หมู่บ้าน
- คนในตำบลเห็นคุณค่าของเงิน 1 บาท เพราะเงิน 1 บาทช่วยเหลือคนในตำบลได้ทั้งตำบล จากที่ต้องรอคอยความหวังภาครัฐให้ความช่วยเหลือ เรามีเพียงแค่ 1 บาทเราก็ช่วยเหลือตนเองและเพื่อนบ้านได้แล้วตามอัตตภาพ
- ผู้นำเกิดการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิด จากที่ต้องทำเรื่องรายงานขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ไม่เห็นค่าของเงินเพียง 1 บาท เป็นมาสมัครเป็นสมาชิกและประชาสัมพันธ์ให้เห็นคุณค่าของเงินเพียง 1 บาท สามารถพลิกชีวิตของคนในตำบลได้
องค์กรชุมชนเข้มแข็ง/มีความสามารถในการบริหารจัดการ
- มีการออมและการระดมทุนที่เพิ่มมากขึ้น จาก ปี 2552 จำนวน 3,410 บาท ปัจจุบันมีเงินกองทุนเพิ่มเป็น 2,727,530 บาท
- มีการจัดการด้านระบบบัญชี การเงินที่โปร่งใส เปิดเผย
- มีสถานที่ทำการของกองทุนฯ
คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น
- คนในชุมชนมีเงินในการใช้จ่าย
- คนในชุมชนกลับมาอยู่บ้านมากขึ้น
- คนในชุมชน มีความอุ่นใจ ไม่โดดเดี่ยว มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น สมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมของหมู่บ้าน
- เงินกองทุนฯสามารถนำไปจัดสวัสดิการชุมชนได้มากกว่าเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย คนในชุมชนเข้าถึงสวัสดิการ เช่น ช่วยเหลือเรื่องการซ่อมแซมบ้านร่วมกับโครงการบ้านพอเพียงชนบท ช่วยเหลือด้านทุนการศึกษา สร้างฝายสาธารณะ ช่วยเหลือผู้สูงอายุ
- คนในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น มีความรักต่อชุมชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาตำบล
ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์โครงสร้าง/นโยบาย
- ท้องถิ่นมีการสนับสนุนและสมทบเงินกองทุนฯทุกปีโดยมีการตั้งระเบียบงบประมาณและมีแผนงานสนับสนุนที่ชัดเจน
- ภาคเอกชน ให้การสนับสนุน เช่น สมทบงบประมาณเข้ากองทุน
- มีการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น และมีการเข้าร่วมกับกลุ่มเครือข่ายอำเภอและจังหวัด
ปัจจัยที่ส่งผลให้ประสบผลสำเร็จ
- ปัจจัยภายใน มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบมีการตรวจสอบตลอดและรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยงข้องทราบทุกขั้นตอนการดำเนินงาน กรรมการทุกคนมีความเสียสละอดทนในการทำงาน ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็ช่วยกันแก้ไข สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้
- ปัจจัยภายนอก ได้รับเงินสมทบงบประมาณรัฐบาลผ่าน พอช.
แนวทาง/แผนที่จะทำต่อในระยะข้างหน้า
- สร้างบุคลากรรุ่นใหม่ เพื่อสานต่อการบริหารองค์กรให้เพียงพอและเพิ่มสมาชิกของกองทุนเพิ่มการจัดการด้านสวัสดิการ โดยคำนึงถึงสถานการณ์คลังขององค์กร
- ขยายกลุ่มอาชีพ เพื่อให้มีอาชีพหรือมีทุนการศึกษาให้แก่สมาชิก
- ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นสาธารณะ วงจรชีวิต
- หาแหล่งทุนสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น กองผ้าป่าออมบุญวันละบาท
- ขอให้ทาง ท้องที่สมทบงบประมาณทุกปี เพราะการบริการต่างๆที่กองทุนจัดสวัสดิการสามารถเข้าถึงมือของสมาชิกตามความเป็นจริง