ตำบลปงดอน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ห่างจากที่ว่าการอำเภอแจ้ห่มประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ห่างจากจังหวัดลำปางมาทางทิศเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร เนื้อที่ประมาณ 199.26 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 123,537 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลปงดอน ลักษณะภูมิประเทศของตำบลปงดอนเป็นพื้นที่ป่า และภูเขาล้อมรอบชุมชน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติ และอยู่ในพื้นที่ราบบางส่วนอยู่ตามแถบริมฝั่งแม่น้ำวัง มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ คือ แม่น้ำวัง ห้วยแม่แมะ ห้วยแม่หยวก หนองปู่สิงห์ ห้วยโป่ง น้ำแม่ตา น้ำแม่ปอบ เป็นต้น
พัฒนาการความเป็นมา
แต่เดิมประชาชนตำบลปงดอนทุกหมู่บ้านจะมีการจัดสวัสดิการช่วยเหลือกันเฉพาะเรื่องการเสียชีวิต เรียกว่า สมาคมตำบล โดยทุกคนในตำบลจะเป็นสมาชิก และเมื่อมีสมาชิกเสียชีวิต ก็จะเรียกเก็บรายหัวตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว และจ่ายตามอัตราที่ได้ตกลงกันไว้ในระดับตำบล แล้วให้แต่ละหมู่บ้านรวมรวมไปจ่ายให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิต ซึ่งทำรูปแบบนี้มาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ในแต่ละหมู่บ้านก็จะมีการจัดสวัสดิการอื่นๆ เช่น กลุ่มสงเคราะห์ กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนเงินล้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือกันในกรณีเสียชีวิต และการกู้ยืมเงินในหมู่บ้าน
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลปงดอน ได้จัดตั้งขึ้นครั้งแรกโดยการนำของ กำนันเฉลิม สิงห์แก้ว ซึ่งเป็นผู้ได้รับการประสานจากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง ที่มีนโยบายให้ทุกตำบลมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนออมวันละบาท จึงได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลปงดอนโดยการจัดประชุมชี้แจงผู้นำชุมชนในแต่ละภาคส่วน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. ผู้นำกลุ่มต่างๆ ในชุมชน ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อผลักดันให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งกองทุนสวัสดิการแก่สมาชิกกองทุนด้วยกันและ และนำกลุ่มผู้นำเหล่านี้ไปศึกษาดูงานกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่อำเภอแจ้ห่มที่ดำเนินการมาแล้ว คือกองทุนสวัสดิการตำบลทุ่งผึ้ง ศึกษารูปแบบการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรค และศึกษาจากระเบียบกองทุนตำบลอื่นๆ แล้วนำมาปรับเป็นระเบียบของกองทุนสวัสดิการชุมชนออมวันละบาทตำบลปงดอน ในปัจจุบันกองทุนสวัสดิการฯ มีสมาชิกครอบคลุมทั้ง 8 หมู่บ้าน โดยในการจัดตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 มีจำนวนสมาชิก 650 คน และดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในปี 2562 มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด ๑,361 คน
การจัดการความรู้โดยชุมชน
เกิดจากความคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนมีการดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างหลากหลายมากกว่าการการช่วยเหลือกันเมื่อเสียชีวิตเพียงอย่างเดียว และต้องการให้คนในชุมชนมีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตั้งแต่เกิดจนตาย ส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออมเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความสามัคคี ร่วมกันแก้ไขปัญหา สร้างสัมพันธภาพที่ดีแก่สมาชิกเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงาน องค์กรอื่น หรือภาครัฐมากนัก
กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน
๑) ประสานภาคี เครือข่ายความร่วมมือและสนับสนุน ได้ประสานขอคำแนะนำแนวคิดขั้นตอนการจัดตั้งกองทุนจากหลายหน่วยงาน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทุ่งผึ้ง ประธานกองทุนบ้านดอนไชย อำเภอเถิน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลปงดอน และกลุ่มผู้นำในพื้นที่ตำบลปงดอน รวมกันระดมความคิด หาแนวทางในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลปงดอน
๒) แต่งตั้งคณะทำงาน เนื่องจากกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลปงดอน เป็นกองทุนที่ตั้งต้นมาจากนโยบายของรัฐ ดังนั้นจึงได้แต่งตั้งผู้นำชุมชนทุกหมู่บ้านมาร่วมเป็นกรรมการ จำนวน 27 คน โดยมีกำนันตำบลปงดอน เป็นประธาน และมีองค์การบริหารส่วนตำบลปงดอนเป็นที่ปรึกษา และได้ร่วมกันจัดทำระเบียบของกองทุนขึ้นมาเพื่อเป็นกรอบในการบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพ
3) รับสมัครสมาชิก โดยการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย ประชาสัมพันธ์ผ่านแผนพับให้ผู้สนใจรับทราบ คณะกรรมการร่วมประชุมประจำเดือนกับผู้ใหญ่บ้านทั้ง 8 หมู่บ้าน เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจในหลักการดำเนินงานและสวัสดิการที่สมาชิกจะได้รับ เริ่มมีผู้สนใจมาสมัครครั้งแรก 650 คน 8 หมู่บ้าน และได้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนออมวันละบาทตำบลปงดอนขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 มีจำนวนสมาชิกแรกเริ่มจำนวน 650 คน
เทคนิค/ทักษะ
1) มีการนำข้อดี ข้อด้อย จากกองทุนสวัสดิการอื่นๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ฐานสมาชิกในตำบล และร่วมกันคาดการณ์ถึงแนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาจัดสวัสดิการให้เหมาะสมกับคนในตำบลปงดอน
2) คณะกรรมการบริหารกองทุนหมั่นประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั้งภายในตำบลและภายนอกตำบล พร้อมกับร่วมกันหาแนวทางแก้ไข ปรับปรุง หาแนวทางที่จะพัฒนาระเบียบให้มีการจัดสวัสดิการที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกด้าน สามารถให้คนในชุมชนดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนของตนได้อย่างมีคุณภาพ
กลไกการจัดการ(กลุ่ม/องค์กร/เครือข่าย/บทบาท)
1) มีการประสานงานกับเครือข่ายภายในตำบล ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลปงดอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ
๒) มีการประสานงานกับเครือข่ายระดับอำเภอ จังหวัด อย่างต่อเนื่อง ติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงของแนวทางปฏิบัติและนโยบายระดับต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
3) ได้รับการสนับสนุนบุคลากรและงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลปงดอน ในการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนออมวันละบาทตำบลปงดอน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง
- ผู้นำเกิดการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิด และเข้าในในระบบการจัดสวัสดิการชีวิตแบบครบวงจรมากขึ้น และสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คนในชุมชนให้หันมาสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- คนในตำบลมีความเข้าใจ มีความศรัทธรา เชื่อมั่น โดยเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของสมาชิกจากปี ๒๕56 มีสมาชิก 650 คน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น ๑,361 คนขยายสมาชิกเต็ม 8 หมู่บ้าน
- คนในตำบลเห็นคุณค่าของเงิน ๑ บาท เพราะเงิน ๑ บาทช่วยเหลือคนในตำบลได้ทั้งตำบล
- มีการออมและการระดมทุนที่เพิ่มมากขึ้น จาก ปี ๒๕๕6 จำนวน 39,650 บาท ปัจจุบันมีเงินกองทุนเพิ่มเป็น 2,271,134.32 บาท
- มีการจัดการด้านระบบการเงินบัญชี ที่โปร่งใส สามารถเปิดเผยได้ โดยสามารถเสนอข้อมูลการดำเนินงานผ่านเว็บไซด์ (aombun1bath.com) มีการระบบการบริหารกองทุนระดับจังหวัดมาใช้ในการบริหารงานด้านการเงินบัญชีของทุน ทำให้ข้อมูลมีความทันสมัยและเป็นปัจจุบัน
- เงินกองทุนฯสามารถนำไปจัดสวัสดิการชุมชนได้มากกว่าเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย คนในชุมชนเข้าถึงสวัสดิการ เช่น ช่วยเหลือด้านทุนการศึกษา การช่วยเหลือกิจกรรมสาธารณะ การสนับสนุนประเพณีท้องถิ่น
- คนในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น มีความรักต่อชุมชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาตำบล
- คนในชุมชน มีความอุ่นใจ ไม่โดดเดี่ยวมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น สมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมของหมู่บ้าน มากขึ้น
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการสนับสนุนและสมทบเงินกองทุนฯทุกปีโดยมีการตั้งระเบียบงบประมาณและมีแผนงานสนับสนุนที่ชัดเจน
- มีการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น และมีการเข้าร่วมกับกลุ่มเครือข่ายอำเภอและจังหวัด
5.ปัจจัยที่ส่งผลให้ประสบผลสำเร็จ
- มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบมีการตรวจสอบตลอดและรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยงข้องทราบทุกขั้นตอนการดำเนินงานกรรมการทุกคนมีความเสียสละอดทนในการทำงาน ไม่ว่าอะไรเกิดขื้นก็ช่วยกันแก้ไข สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้
- ได้รับเงินสมทบงบประมาณรัฐบาลผ่าน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
- ได้รับเงินสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แนวทาง/แผนที่จะทำต่อในระยะข้างหน้า
- ขยายสมาชิกให้เพิ่มขึ้นทุกหมู่บ้านให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย
- ขยายสวัสดิการหรือกิจกรรมกองกองทุนให้หลากหลาย เน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกให้มากขึ้น
- หาแหล่งทุนสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น กองผ้าป่าออมบุญวันละบาท ลงทุนจากการซื้อสลากของธนาคาร
- สร้างบุคคลากรรุ่นใหม่ เพื่อสานต่อการบริหารองค์กรให้เข้มแข็ง และยั่งยืน