อำเภอห้างฉัตร เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดลำปาง ทิศเหนือกับทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอ แม่ทา จังหวัดลำพูน ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ทิศใต้ติดต่อกับ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง โดยมีหลวงเจริญเขตเขลางค์นคร เป็นนายอำเภอคนแรก ปัจจุบันคือ นายวรวิทย์ ค่อมบุญ ดำรง ตำแหน่งอำเภอห้างฉัตรแบ่งการปกครองออกเป็น 73 หมู่บ้าน 7 ตำบล ได้แก่ ตำบลห้างฉัตร ตำบลปกยางคก ตำบลเวียงตาล ตำบลหนองหล่ม ตำบลวอแก้ว ตำบลแม่สัน ตำบลเมืองยาว มีประชากรชาย 25,535 คน ประชากรหญิง 26,438คน รวมทั้งสิ้น 51,973 คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรและรับจ้างทั่วไป สภาพภูมิประเทศ อำเภอห้างฉัตรอยู่บนพื้นที่ราบเขาขุนตาล มีลำน้ำแม่ตาลไหลผ่าน
ตำบลห้างฉัตร เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอห้างฉัตรแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 หมู่บ้าน ในปี พ.ศ.2542 กรมการปกครองได้แบ่งการปกครองออกเป็น 2 เทศบาล คือ เทศบาลตำบลห้างฉัตร ยกฐานะมาจากสุขาภิบาล ดูแลหมู่บ้านที่ 1 และหมู่บ้านหมู่ที่ 2 และ เทศบาลตำบลห้างฉัตรแม่ตาล ยกฐานะมาจาก สภาตำบล
ตำบลห้างฉัตรมีจำนวนหมู่บ้านในการดูแลทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ถึงหมู่ที่ 3 ถึงหมู่ที่ 9 ดังนี้ บ้าน แม่ฮาว หมู่ที่ 3 บ้านสถานี หมู่ที่ 4 บ้านแพะดอนสัก หมู่ที่ 5 บ้านขามแดง หมู่ที่ 6 บ้านปันง้าว หมู่ที่ 7 บ้านหัวหนองหมู่ที่ 8 และบ้านปางม่วง หมู่ที่ 9 มีประชากรชาย 5,207 คน ประชากรหญิง 5,210 คน แบ่งตามวัยแรกเกิด จนถึง วัย 25 ปี 1,575 คน วัย 26 ปีขึ้นไป 3,675 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 1,492 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน10,417 คน
พัฒนาการความเป็นมาขององค์ความรู้
เมื่อปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาการคมนาคมในตำบลห้างฉัตรยากลำบากมากสภาพถนนหนทางระหว่างหมู่บ้านตำบลและตัวอำเภอเป็นทางลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อมีเส้นทางหลักต่อกับตัวจังหวัดลำปาง โดยทางรถยนต์ 1 เส้นทาง และทางรถไฟ 1 เส้นทาง มีรถยนต์โดยสารติดต่อระหว่าง ตำบลกับตัวเมืองลำปาง วันละหนึ่งเที่ยว เพื่อประชาชนนำผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่ายในตัวเมือง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลักมีเพียง 10% ที่ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป สำหรับด้านการศึกษาของประชาชนที่มีฐานะดีก็จะส่งบุตรหลานเข้าไปเรียนในเมืองเนื่องจากในตัวอำเภอห้างฉัตรมีสถานศึกษาสูงสุดเพียงมัธยมศึกษาตอนต้นเท่านั้นประกอบกับผู้คนในตำบลห้างฉัตรสมัยนั้นไม่ค่อยนิยมให้บุตรหลานได้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนเท่าที่ควรจึงเป็นที่มาของคนในตำบลส่วนใหญ่ขาดโอกาสทางการศึกษาและเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุจึงต้องเป็นผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาบุตรหลานในแต่ละปีจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2540 การคมนาคมในตำบลห้างฉัตรสามารถสัญจรไปมาง่ายขึ้นการสาธารณสุขในตำบลพัฒนาขึ้นสามารถดูแลประชากรในพื้นที่ได้มากขึ้น นางพรทิพย์ ไชยวรรณ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบลห้างฉัตรในขณะนั้นได้มีโอกาสพบปะกับผู้สูงอายุและผู้เจ็บป่วยมากขึ้นได้รับทราบถึงความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องการดูแลจากเจ้าหน้าที่ในด้านสุขภาพทางกายและจิตใจจึงหาโอกาสให้ผู้สูงอายุมีโอกาสรวมตัวกันทำกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันสงกรานต์ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะในวันสงกรานต์ได้ส่งเสริมการทำพิธีรดน้ำดำหัวเพื่อขอพรจากผู้อาวุโสตามประเพณีพื้นบ้านที่เคยทำมาและทำกิจกรรมในวันสำคัญของชาติวันที่ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ และวันที่ 5 ธันวาคม วันพ่อแห่งชาติในขณะนั้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสพบปะได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันและดูแลสุขภาพให้กับผู้สูงอายุด้วย
ตำบลห้างฉัตรเป็นตำบลที่โชคดีมีโอกาสดีอีกตำบลหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2553 สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย นำโดยศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์พงษ์ศิริ ปรารถนาดี และคณะได้ทำโครงการการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวมาดำเนินการในตำบลห้างฉัตรทำให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลด้านสุขภาพอนามัยด้านความเป็นอยู่ อารมณ์ สังคมดีขึ้นโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานร่วมกับอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุจนกระทั่งปัจจุบันนี้
การจัดการองค์ความรู้โดยชุมชน
จากแนวคิดของชมรมผู้สูงอายุโดยมีสมาชิกชมรมสูงอายุและคณะกรรมการเห็นว่าชมรมผู้สูงอายุน่าจะมีสวัสดิการช่วยเหลือกันในชมรมผู้สูงอายุเมื่อเจ็บป่วยและเสียชีวิต คณะกรรมการจึงได้ไปศึกษาดูงานหาข้อมูลจากกองทุนสวัสดิการที่เข้มแข็งแล้วโดยศึกษา ข้อดี – ข้อเสียจึงได้ต้นแบบจากกองทุนสวัสดิการหลายกองทุนมาเป็นแนวทาง
กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน
คณะกรรมการผู้สูงอายุนำข้อมูลที่ได้มาประชุมเชิงปฏิบัติการ กับองค์การบริหารส่วนตำบลห้างฉัตรแม่ตาล ในขณะนั้นโดยมี นางอำไพ อวนศรี เป็นผู้บริหารงานองค์กรซึ่งเห็นด้วยจึงได้เชิญผู้นำท้องถิ่น ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานกลุ่มแม่บ้าน ประธาน อสม. เข้าร่วมประชุมรวม 7 หมู่บ้านและจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในเทศบาลตำบลห้างฉัตรแม่ตาล เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552 มีสมาชิกกองทุนเพียง 150 คนโดยมี นายสมศักดิ์ แสงบุญเรือง กำนันตำบลห้างฉัตรในขณะนั้นเป็นประธานกองทุนและต่อมาได้มีการประชุมสมาชิกสามัญประจำปีที่ประชุมมีมติแต่งตั้งให้ พันตรีสุริยัณห์ หนองปิงคำ เป็นประธานกองทุนมา จนถึง ปัจจุบัน
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลห้างฉัตรแม่ตาลเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกองทุนทั้ง 7 หมู่บ้าน มีสวัสดิการเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งและเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนในเขตเทศบาลตำบลห้างฉัตรแม่ตาล ได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น กรณีรักษาพยาบาล การรับขวัญบุตรแรกเกิด หรือการเสียชีวิต ตามเงื่อนไขตามระเบียบของกองทุนอีกทั้ง เทศบาลตำบลห้างฉัตรแม่ตาลรัฐบาลได้สนับสนุนสมทบงบประมาณให้กับกองทุนซึ่งเป็นหลักประกันได้ว่ากองทุนมีความเข้มแข็งและมีภาคีเครือข่ายที่พร้อมช่วยเหลือสมาชิกของกองทุนสวัสดิการ
ซึ่งกองทุนสวัสดิการชุมชนจัดตั้งและดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี 2 เดือนมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 1,779 คน และได้จดทะเบียนรับรองเป็นกองทุนสาธารณประโยชน์แล้ว ตามหนังสือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ 621/2553 ลงวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปัจจุบันกองทุนมีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกทั้ง 9 ด้าน คือ
– รับขวัญบุตรแรกเกิด – อุปสมบท
– แต่งงาน – ขึ้นบ้านใหม่
– ค่าเยี่ยมไข้ – พิการ
– สวัสดิการผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป – เสียชีวิต
– การศึกษาเมื่อจบการศึกษา ระดับ ป.6 , ม.3 , ม.6 , ปวช. , ปวส. และปริญญาตรี
กองทุนสวัสดิการชุมชนห้างฉัตรแม่ตาล เป็นส่วนหนึ่งของผู้สูงอายุตำบลห้างฉัตร ซึ่งมีสมาชิกสมทบอายุ 25 ปี ถึง 59 ปี และสมาชิกสามัญอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเน้นการช่วยเหลือสวัสดิการให้กับสมาชิก 4 มิติ ดังนี้
– ด้านสุขภาพ
– ด้านเศรษฐกิจสังคม
– ด้านศาสนาและวัฒนธรรม
– ด้านการศึกษา
โดยมีภาคีเครือข่ายให้การสนับสนุน ได้แก่ องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลประจำตำบล การศึกษานอกระบบ เกษตรอำเภอ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และบุคคลทั่วไป ให้การช่วยเหลือสนับสนุน
เทคนิค/ทักษะ
- ได้มีการประชาสัมพันธ์กองทุนให้ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกเห็นความสำคัญของกองทุนผ่านไปทางผู้นำท้องถิ่นมีการประชุมสัญจรและประชุมสามัญประจำปีให้สมาชิก
- มอบสวัสดิการทั้งเก้าด้านให้กับสมาชิก
- ประสานกับ กศน. ให้การศึกษาสำหรับสมาชิกที่มีความประสงค์จะศึกษาเพื่อเพิ่มคุณวุฒิให้กับตนเอง
- ขอความอนุเคราะห์ไปยังหน่วยงานเช่น รพ.สต ดูแลสุขภาพให้กับผู้สูงอายุและส่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
- ในปี 2562 กองทุนจะเพิ่มการจัดสวัสดิการให้สมาชิกที่ประสบภัยธรรมชาติ
- ในปี 2562 กองทุนเทศบาลตำบลห้างฉัตรแม่ตาลร่วมเป็นกองทุนภาคีเครือข่ายระดับจังหวัดแล้ว
ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง
- ในอดีตที่ผ่านมาชมรมผู้สูงอายุและกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลห้างฉัตรแม่ตาลยังไม่มีการจัดตั้งประชาชนต่างอยู่ต่างทำงานประชาชนทั้ง 7 หมู่บ้านนี้ไม่เคยช่วยเหลือกันระหว่างหมู่บ้านแต่มีการช่วยเหลือกันเฉพาะในหมู่บ้านเท่านั้นปัจจุบันการมีการจัดตั้งกองทุนด้วยเริ่มที่เงินเพียงบาทเดียวจนเกิดสวัสดิการสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ทั้ง 7 หมู่บ้านมีความรักความสามัคคีเห็นอกเห็นใจในการช่วยเหลือกันมีความรักความผูกพันที่ดีต่อกัน
- กองทุนสวัสดิการชุมชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาให้กับผู้สูงอายุนำโครงการฝึกวิชาชีพมาฝึกอบรมให้กับสมาชิกเพื่อให้สมาชิกมีงานทำมีรายได้เสริมช่วยครอบครัวและหาแหล่งทุนต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้กับสมาชิกกองทุนจัดหาตลาด เพื่อจำหน่ายผลผลิตของสมาชิกเพื่อให้องค์กรมีความเข้มแข็ง
- ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนห้างฉัตรแม่ตาลเป็นกองทุนต้นแบบของอำเภอห้างฉัตรให้การดูแลช่วยเหลือกองทุนอื่นๆในอำเภอห้างฉัตรเพื่อทำแบบอย่างไปจัดทำในกองทุนของตนเองได้ถูกต้องสมาชิกกองทุนในพื้นที่ได้รับสวัสดิการตามระเบียบของกองทุนเท่าเทียมกันทั้ง 9 ด้าน ในโอกาสต่อไปจะมีสวัสดิการระดับจังหวัดให้กับสมาชิกกองทุนให้ดียิ่งขึ้น
- ความสัมพันธ์ทางโครงสร้างของกองทุนสวัสดิการชุมชนกับผู้สูงอายุตำบลห้างฉัตรจากเดิมมีสมาชิก 150 คน ปัจจุบันมีสมาชิกถึง 1,779 คน แสดงให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่เห็นความสำคัญที่จะช่วยเหลือกันถึงแม้ว่าจะเป็นเงินเพียงบาทเดียวก็ตามจะเห็นได้ว่าจากการรวมตัวกันเป็นชมรมเป็นกลุ่มในพื้นที่ตามต่างก็ให้ความสำคัญได้เสนอโครงการให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวกับช่วยสนับสนุนด้านสวัสดิการชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป
กองทุนสวัสดิการชุมชนห้างฉัตรแม่ตาลเป็นกองทุนต้นแบบของอำเภอห้างฉัตรมีการประชุมเชิงปฏิบัติการการร่วมกับกองทุนเครือข่ายในตำบล 8 เครือข่าย ช่วยเหลือกองทุนเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่อำเภอเดียวกันที่มีปัญหาให้สามารถแก้ไขปัญหาและกองทุนเครือข่ายนั้นสามารถดำเนินงานต่อไปได้ด้วยความมั่นคงและเข้มแข็ง
ปัจจัยที่ส่งผลให้ประสบผลสำเร็จ (เครื่องมือที่ 4 ปัจจัย/เงื่อนไขความสำเร็จและกำหนดอนาคต)
- สมาชิกกองทุนทุกคนมีความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของกองทุนเพราะกองทุนมีคณะกรรมการบริหารที่มีจิตอาสาเสียสละ ซื่อสัตย์ สุจริต มีความเป็นผู้นำสามารถนำพาองค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งและมั่นคง
- ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเป็นเงินสมทบจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเงินสมทบจากเทศบาลตำบลห้างฉัตรแม่ตาลกำไรจากการลงทุนในสลากออมทรัพย์ ดอกเบี้ยธนาคารและจากเงินสมทบสวัสดิการของสมาชิก
- คณะกรรมการได้ฤมีการประชุมชี้แจงในการประชุมสามัญประจำปีการประชุมสัญจรให้กับสมาชิกถึงความเคลื่อนไหวของกองทุน
- มีการชี้แจงเรื่องราวต่างๆ ตลอดถึงสภาพปัญหาของกองทุนผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านให้สมาชิกทราบเป็นประจำทุกเดือน
แนวทาง/แผนที่จะทำต่อในระยะข้างหน้า
- ทำกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการสังคมอย่างยั่งยืนเป็นกลไกกลางของระบบสังคมของคนในพื้นที่เชื่อมโยงจากผู้สูงอายุถึงเด็กเล็ก
- ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ยังไม่เข้าเป็นสมาชิกได้เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้น
- จะเพิ่มสิทธิประโยชน์การช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ
- ทำสิทธิ์ที่ประโยชน์เพิ่มให้กับสมาชิกด้านฌาปนกิจศพระดับจังหวัด
ข้อเสนอแนะ
- การขอสบทบ – สมาชิกที่เพิ่ม 100 คน ควรได้รับการแก้ไข