ตำบลบ้านแปะ เดิมมีราษฎรอาศัยอยู่ติดกับลำห้วยและเชิงเขาใกล้กับถ้ำแห่งหนึ่ง คือลำห้วยแม่แปะ ชื่อลำห้วยตามภาษาถิ่นเหนือนั้นมีความหมายว่า “แป๊” หมายถึง “ชนะ” โดยมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าลำน้ำแห่งนี้มีอาถรรพ์ หากข้ามลำห้วยนี้แล้วไม่ว่าจะมีคาถาอาคมกล้าแกร่งมากแค่ไหน คาถาอาคม เหล่านั้นก็จะเสื่อมไป และมีน้ำไหลมาจากภูเขาที่ชื่อว่า “ดอยขุนแปะ” และถ้ำแห่งนี้เรียกว่า “ถ้ำตอง” โดยชาติพันธุ์ดั้งเดิมเป็นชนเผ่าลั๊วะ ราษฎรเลี้ยงชีพด้วยการทำกสิกรรมและหาของป่า ตามประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ พ.ศ.2110 พระนาง วิสุทธิเทวี ขัติยสตรีแห่งล้านนา ได้เสด็จมาทรงบูรณะวัดบ้านแปะ (ตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ/ราชวงค์พระร่วง/สมัยกรุงศรีอยุธยา) พระธาตุบ้านแปะและทรงประทับ ณ พลับพลาชั่วคราวก่อสร้างด้วยกำแพงหินล้อมรอบ ชาวบ้านจึงเรียกสถานที่นี้ว่า “เวียงหิน” พร้อมกัลปนาที่ดินและข้าวัดด้วยหลาบเงิน (จารึกที่เขียนลงบนแผ่นเงินหรือหิรัญบัตร) หมายถึงมอบถวายที่ดินและผู้คนไว้บำรุงรักษาของวัด บ้านแปะ ห้ามไม่ให้อพยพโยกย้ายโดยวิธีการใดๆ ก็ตาม ปรากฏเป็นหลักฐานสืบทอดมาถึงปัจจุบัน เมื่อประชากรเริ่มมีความหนาแน่นจึงขยายออกไปตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ที่แห่งใหม่โดยรอบวัดบ้านแปะเดิม ตามริมฝั่งแม่น้ำปิงและที่ราบระหว่างลำน้ำปิงและ ลำน้ำแจ่ม ซึ่งเหมาะสมยิ่งสำหรับการทำเกษตรกรรม ต่อมาได้ขยายชุมชนใหญ่ขึ้น ทางราชการได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านและตำบล โดยเรียกตามชื่อเดิมของหมู่บ้านว่า “ตำบลบ้านแปะ” มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ประวัติศาสตร์ วัดบ้านแปะ พระธาตุบ้านแปะ และที่ประทับเวียงหิน ณ หมู่ 4 บ้านแปะนั้น เทศบาลตำบลบ้านแปะจะได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าประวัติเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแสดงถึงภูมิหลังอันมีเกียรติของคนในตำบลบ้านแปะ และจะผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นข้อมูลให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
ตำบลบ้านแปะเป็นตำบลที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้สุดของอำเภอจอมทอง ตั้งอยู่เลขที่ 141 หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีระยะทางเฉลี่ยหางจากที่ว่าการอำเภอจอมทองประมาณ 30 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 86 กิโลเมตร เส้นทางคมนาคมสายหลักที่ใช้ในการติดต่อกับที่ว่าการอำเภอจอมทองและจังหวัดเชียงใหม่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (ถนนสายเชียงใหม่ – ฮอด)
ตำบลบ้านแปะมีเนื้อที่รวมประมาณ 210.80 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 69,250 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 10.20 ของเนื้อที่ทั้งอำเภอ (อำเภอจอมทองมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,055.22 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 678,138.75 ไร่) มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลดอยแก้ว ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันออก ติดต่อตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ทิศใต้ ติดตำบลบ้านตาล และตำบลหางดง อำเภอฮอด จังหวัดชียงใหม่
ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลหางดง อำเภอฮอด และตำบลท่าผา, ตำบลกองแขก อำเภอ แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงอยู่ทางทิศตะวันตกของตำบล โดยมีความลาดเอียงสู่ตอนกลางของพื้นที่ตำบลบริเวณที่ราบลุ่มลำน้ำปิง และลำน้ำแจ่ม สภาพพื้นที่ของตำบลบ้านแปะมีพื้นที่ทั้งหมด 69,250 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ราบ 36,727 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 53.03 ของพื้นที่ทั้งหมด และภูเขา 32,523 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 46.97 ของพื้นที่ทั้งหมด ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีจำนวน 4 หมู่บ้าน ที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่สูง คือหมู่ที่ 12 บ้านขุนแปะ, หมู่ที่ 14 บ้านบนนา, หมู่ที่ 17 บ้านต้นผึ้ง และหมู่ที่ 20 บ้านแม่จร มีภูเขาอยู่ทางทิศตะวันตกโดยมีพื้นที่ราบเชิงเขา และที่ราบริมลำน้ำปิงและลำน้ำแจ่ม ทิศตะวันตกซึ่งเป็นภูเขาสูงเป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอย อินทนนท์ และอุทยานแห่งชาติออบหลวง ในบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่โครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริฯ โดยมีลำน้ำปิงไหลผ่านตอนกลางค่อนไปทางทิศตะวันตกของตำบล มีทิศทางการไหลจากทิศเหนือของตำบลไปทางทิศใต้ และมีลำน้ำแจ่มไหลจากทางทิศตะวันตกลงสู่ลำน้ำปิงทางทิศตะวันออก ซึ่งลำน้ำแจ่มนี้เป็นแนวแบ่งเขตแดนระหว่างอำเภอจอมทองกับอำเภอฮอด
สภาพเศรษฐกิจ
อาชีพ ประชากรในตำบลบ้านแปะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมาณร้อยละ 85 โดยการปลูกพืช ได้แก่ ลำไย ข้าว หอมแดง กระเทียม ถั่วเหลือง พริก พืชผักต่างๆ ควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของตำบลบ้านแปะคือ ลำไย ที่สร้างรายได้อันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 65.12 ของรายได้รวมของครัวเรือนเกษตรกร ส่วนรายได้เสริมมีอยู่ประมาณ ร้อยละ 15 ได้แก่ การรับจ้าง และการค้าขาย
พัฒนาการตามความเป็นมาขององค์ความรู้
ปี 2559 กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านแปะ ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมการออม ในการพัฒนา ส่งเสริมการออมทรัพย์ ทุน สวัสดิการ สินเชื่อ และเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในการดำรงชีพ ประกอบกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต/ความมั่นคงของมนุษย์โดยมีสมาชิกแรกตั้ง จำนวน 122 คน
ปี 2560 ได้มีการขอสมทบงบประมาณจากท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นให้ความสำคัญและให้การสมทบงบประมาณกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านแปะ
ปี 2561-2562 มีการเชื่อมโยงกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล กับประเด็นงานพัฒนา ได้แก่ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,ด้านแผนชุมชน และด้านสภาองค์กรชุมชนมีการเชื่อมโยงกับภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่อง การสมทบงบประมาณ กองทุนสวัสดิการชุมชน , สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือการจัดกิจกรรมต่างๆ , ให้คำปรึกษา/ประสานงาน , ให้การสนับสนุนด้านบุคลากร, ให้การสนับสนุนสถานที่ดำเนินงาน 2) การสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
การจัดการความรู้โดยชุมชน
หลักคิด แนวคิด
– เพื่อให้สมาชิกสร้างวินัยในการออม
– เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดความรัก ความผูกพัน และเอื้ออาทร ซึ่งกันและกัน
– เพื่อสร้างสัจจะแก่ตนเอง และออมเงินเพื่อจัดสวัสดิการ ช่วยเหลือกันระดับตำบล
– เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน
- เกิดแนวคิดของผู้นำในการที่จะจัดตั้งกองทุนโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประชาชนได้รับสวัสดิการต่าง ๆ จากทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่หวังผลประโยชน์หรือกำไรจากกองทุนฯ
- มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้น
- มีการแต่งตั้งคณะทำงานกองทุนฯ
- มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือถึงแนวทางในการบริหารจัดการ และแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
- มีการกำหนดระเบียบของกองทุนไว้ชัดเจน
- มีการจดทะเบียนกองทุนฯ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
- มีการประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนได้ทราบถึงวัตถุประสงค์
- มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวน ให้ประชาชนเข้าสมัครเป็นสมาชิก
- มีการรับสมัครสมาชิกโดยกำหนดเลขทะเบียนสมาชิก
- มีการประชุมคณะทำงาน ทุก 3 เดือน เพื่อประชุมปรึกษาหารือในการบริหารจัดการ
- มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกองทุนฯ อื่น เพื่อนำมาปรับใช้กับกองทุนฯ
- มีการร่วมคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไขเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น
- มีการพัฒนาศักยภาพคณะทำงาน อย่างต่อเนื่อง
- มีการบริหารจัดการกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบและถูกต้อง
- มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ในช่วงของเดือนพฤษภาคม เป็นประจำทุกปี ๆ ละ 1 ครั้ง
- มีการรายงานผลการดำเนินงานให้คณะทำงานและสมาชิกได้รับทราบทุกครั้งที่มีการประชุม
เทคนิค/ทักษะ
ในการที่องค์กรจะอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน ก็อยู่ที่ผู้นำว่าเป็นอย่างไร ในเมื่อประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเหมืองง่า เป็นผู้นำของท้องถิ่น โดยเป็นนายกเทศมนตรีตำบลเหมืองง่า ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนตำบลบ้านแปะให้เข้ามาบริหารงาน และพัฒนาเทศบาลตำบลบ้านแปะ ให้ประชาชนในตำบลบ้านแปะทุกคน ได้รับสวัสดิการ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข จึงทำให้ประชาชนเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าผู้นำ ก็เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้ประชาชนมั่นใจ และยอมรับในการบริหารจัดการกองทุนฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะทำงานกองทุนฯ มีความพร้อมในการทำงาน และยินดีที่จะเข้ามาร่วมประชุม และร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
กลไกการจัดการ
- คณะกรรมการกองทุนฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 30 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกหมู่บ้านร่วมกันบริหารจัดการการดำเนินงานของกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคบกองทุน, ประสานงานร่วมกับท้องถิ่นเพื่อผลักดันให้แผนการจัดระบบสวัสดิการชุมชนเข้าไปบรรจุในแผนพัฒนาตำบล 5 ปี ของเทศบาลตำบลบ้านกลาง และผลักดันให้เทศบาลมีการอุดหนุนหรืองบประมาณ ,ประสานงานกับผู้นำในชุมชนทั้งตำบล ให้มีการสนับสนุนกิจกรรมของกองทุน, ประสานงานเครือข่ายกองทุนระดับอำเภอ จังหวัด ภาค ในการขับเคลื่อนขบวนสวัสดิการชุมชน
- เทศบาลบ้านแปะ สนับสนุนงบประมาณ สถานที่ และบุคคลากรในการทำงานขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชน
ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง
หลังจากที่จัดตั้งกองทุนมาแล้ว ประชาชนสนใจที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก และมีจิตสำนึกที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีการได้รับสวัสดิการตั้งแต่การเกิด เจ็บป่วย ไม่สบาย ก็ได้รับเงินสวัสดิการ และมีการไปเยี่ยมกัน ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น หากสมาชิกประสบภัยพิบัติ หรืออุบัติเหตุ ทางกองทุนก็ได้ช่วยเหลือสวัสดิการ เพื่อเป็นการเยียวยาจิตใจ สำหรับเด็กและเยาวชนก็มีการช่วยเหลือในเรื่องของทุนการศึกษา กรณีที่เด็กจบการศึกษา และกรณีที่สมาชิกเสียชีวิต ทางกองทุน ก็จะมอบเงินสวัสดิการให้กับญาติของผู้เสียชีวิตไว้จัดการศพตามประเพณี ซึ่งจากการดำเนินงานทำให้ประชาชนเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ประชาชนได้รับสวัสดิการมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ และมีความสุขมากขึ้น
องค์กรชุมชนเข้มแข็ง / มีความสามารถในการบริหารจัดการ
หลังจากที่คณะกรรมการได้มีความรู้ และได้รับการพัฒนาศักยภาพในการไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทางกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอื่นที่มีประสบการณ์ในการบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล ทางคณะกรรมการก็ได้นำสิ่งที่ดีมาปรับใช้ และพัฒนาปรับปรุงระบบการทำงานให้ดีขึ้น และเร็วขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ มีการปรับระบบโปรแกรมจากการทำด้วยมือ เปลี่ยนมาเป็นระบบคอมพิวเตอร์ สามารถตรวจสอบได้ดี และเป็นปัจจุบัน มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก
คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น
ตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านแปะ ซึ่งได้มีการเก็บเงินสมทบจากสมาชิก และได้รับเงินสมทบจากเทศบาลตำบลบ้านแปะ และจากสำนักงานพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช) เพื่อพัฒนาศักยภาพคณะทำงาน และเพื่อจ่ายเป็นเงินสวัสดิการให้กับสมาชิก ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเสียชีวิต นอกจากนั้นยังมีการบริหารจัดการ และจัดกิจกรรม ส่งเสริมงานประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ร่วมกิจกรรมในงานวันเด็กแห่งชาติ และกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเทศบาล ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ประชาชนได้รับสวัสดิการในหลาย ๆ ด้าน ส่งผลทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข
ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์โครงสร้าง/นโยบาย
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้เกิดรูปธรรม ประชาชนยอมรับ และมีประชาชนมาสมัครเป็นสมาชิกมากขึ้น ทำให้กองทุนเข้มแข็ง และดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะผู้บริหารของเทศบาลตำบลบ้านแปะ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดสวัสดิการ โดยได้สนับสนุน และผลักดันให้เป็นนโยบาย ซึ่งได้นำไปบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น ของเทศบาลตำบลเหมืองง่า และนำไปบรรจุไว้ในเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ของเทศบาลตำบลบ้านแปะ โดยได้สนับสนุนงบประมาณ ให้กองทุนฯ
แต่อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการกองทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้มีส่วนผลักดัน ให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นนโยบายของรัฐ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เล็งเห็นความสำคัญ ให้นำไปบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น และบรรจุไว้ในเทศบัญญัติ หรือข้อบัญญัติ เพื่อจะได้สนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนให้เข้มแข็ง ยั่งยืน ไม่ว่าใครก็ตามที่มาเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ก็จะต้องให้การสนับสนุน เพื่อให้กองทุนอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ และต่อเนื่องตลอดไป
ปัจจัยที่ส่งผลให้ประสบผลสำเร็จ
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านแปะ ได้มีการจัดตั้งกองทุน และแต่งตั้งคณะทำงานที่มีความรู้ความสามารถ เป็นจิตอาสา มีความรัก ความสามัคคี มีการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ของกองทุน มีการประชุมทุก 3 เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพคณะทำงานให้มีคุณภาพ และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสมาชิกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านแปะ ทางคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม ของทุกปี มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมความคิดเห็น มีการมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน มอบเงินสวัสดิการให้กับสมาชิกที่สร้างชื่อเสียงให้กับท้องถิ่นทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาคและระดับประเทศ มีการรายงานผลการดำเนินงานให้สมาชิกทราบ ในเรื่องของรายรับ – รายจ่าย จำนวนเงินคงเหลือและจำนวนสมาชิกให้เป็นปัจจุบัน
ซึ่งปัจจัยภายในทั้งคณะกรรมการกองทุน และสมาชิกกองทุน ทำให้กองทุนเกิดความเข้มแข็ง มีคุณภาพ
-รูปธรรมความสำเร็จงานด้านวิสาหกิจชุมชน โดยคณะกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกและคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการ
-รูปธรรมความสำเร็จงานด้านศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่น โดยดึงศูนย์เรียนรู้ชุมชนมาเป็นสมาชิกและกรรมการกองทุน
-รูปธรรมความสำเร็จงานด้านสภาองค์กรชุมชน โดยสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชน
-รูปธรรมความสำเร็จงานด้านสุขภาพ/สาธารณสุข โดยดึงกลุ่ม อสม.ทุกหมู่บ้านเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกและคณะกรรมการ
แนวทาง/แผนที่จะทำต่อในระยะข้างหน้า
- ขยายกิจกรรมให้หลากหลาย เพิ่มสถานที่ อุปกรณ์ในการจัดการบริหารองค์กรให้เพียงพอและเพิ่ม
สมาชิกของกองทุนเพิ่มการจัดการด้านสวัสดิการ โดยคำนึงถึงสถานการณ์คลังขององค์กร
- เพิ่มกลุ่มอาชีพ เพื่อให้มีอาชีพหรือมีทุนการศึกษาให้แก่สมาชิก
- ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นสาธารณะ วงจรชีวิต