ตำบลคลองขลุง ตั้งอยู่ในการปกครองของอำเภอคลองขลุง มีแม่น้ำปิงไหลผ่านจะเป็นคุ้งน้ำมีโขลงช้างป่าเป็นจำนวนมากมาเล่นน้ำ จึงเรียกว่าบ้านคลองช้างโคลง ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นบ้านคลองโขงและเป็นบ้านคลองขลุงจนตราบทุกวันนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประกอบด้วย 12 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านถนนงาม บ้านคลองขลุง บ้านท้องคุ้ง บ้านโค้งวิไล บ้านพิกุลทอง บ้านเกาะหมู บ้านคลอง น้ำเย็นเหนือ บ้านร้อยไร่ บ้านมาบคล้า บ้านเด่นสะเดา บ้านวังหิน และบ้านหนองเต่าทอง มีพื้นที่ทั้งหมด 73.38 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 45,302 ไร่ เนื่องจากพื้นที่บางส่วนของตำบลคลองขลุงอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลตำบลคลองขลุงด้วย มีทั้งหมด 13 หมู่บ้าน พื้นที่หมู่บ้านทั้งพื้นที่อยู่ในเขต อบต. (แบบเต็มพื้นที่) มีจำนวน 11 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน 4,551 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 11,118 คน แยกเป็นชาย 5,482 คน หญิง จำนวน 5,636 คน
กลุ่มทำปลาส้มไรก้างบ้านมาบคล้า
หมู่บ้านมาบคล้า หมู่ที่ 9 ตำบลคลองขลุง เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่คนในชุมชนได้มีการร่วมกลุ่มกัน และรื้อฟื้นองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการถนอมอาหารของชุมชนมาพัฒนาให้เป็นสินค้าของตำบล ได้แก่ กลุ่มปลาส้มไร้ก้างบ้านบ้านคล้า โดยในระยะเริ่มแรกได้ร่วมกันผลิตจำหน่ายในระดับหมู่บ้าน จนได้รับการยอมรับจากชาวบ้านในการซื้อเพื่อเป็นอาหารภายในครัวเรือน จนปัจจุบันได้ขยายตัวเป็นสินค้า OTOP ประจำตำบลคลองขลุง
ในอดีตหมู่บ้านมาบคล้ามีองค์ความรู้ในการทำปลาส้มคนเก่าคนแก่ในชุมชน ที่ใช้วิธีการถนอมอาหารให้อยู่ได้นาน เนื่องจากหมู่บ้านเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีปลาจำนวนมากในช่วงฤดูน้ำหลาก จึงได้มีการนำปลาจำพวกปลากระดี่ ปลาซิ่ว มาแปรรูปเป็นปลาส้ม เพื่อเก็บไว้กินได้นานๆ จนกลุ่มได้พัฒนารูปแบบการผลิตโดยใช้ปลาจีนที่เป็นวัตถุดิบที่สามารถหาซื้อได้ง่ายในท้องตลาดเป็นวัตถุดิบในการผลิตจนได้เป็นสินค้า OTOP ประจำตำบลคลองขลุง ที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค กลุ่มได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย ดังนี้
พ.ศ. 2558 พัฒนาชุมชนอำเภอคลองขลุง ได้อบรมให้ความรู้ ทักษะ เทคนิคการทำปลาส้มเพิ่มเติมให้แก่สมาชิก เพื่อให้กลุ่มสามารถนำปลาส้มเพื่อให้สามารถขยายการจำหน่ายในระดับตำบล
พ.ศ. 2559 มีการจัดตั้งกลุ่มทำปลาส้ม ปลาร้า โดยการระดมหุ้มจากสมาชิก โดยการแนะนำของพัฒนาชุมชนอำเภอคลองขลุง
พ.ศ. 2560 กลุ่มได้นำสินค้าปล้าส้มจำหน่ายในระดับอำเภอและจังหวัด และได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า OTOP ประจำตำบลคลองขลุง มีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีรายได้เพิ่มขึ้น
พ.ศ. 2562 มีเอกชนมารับซื้อสินค้าเพื่อไปจำหน่าย
การส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่ในชุมชน มาสืบสานต่อให้ลูกหลานได้รู้ถึงวิถีชีวิตดั่งเดิมของบรรพบุรุษโดยใช้วิธีการง่าย ๆ ในการถนอมอาหารเก็บไว้กินได้นาน ๆ โดยการส่งเสริมการรวมกลุ่มกันทำปลาส้มมาสร้างรายได้ในครัวเรือนในระยะเริ่มต้น จนได้รับการส่งเสริมยอมรับจากผู้บริโภคจนเป็นสินค้า OTOP ประจำตำบลคลองขลุง หลักคิดแนวคิดในการทำงาน
- การนำเอาองค์ความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดรายได้และพัฒนากลุ่มให้เป็นวิสาหกิจชุมชน
- เพื่อพัฒนาตลาดให้สามารถรองรับสินค้า
- เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อการยอมรับจากผู้บริโภค และการโฆษณาสินค้า
เทคนิคการทำให้ปลาไม่คาว ขั้นตอนการทำปลา เริ่มจากนำปลาไปล้างน้ำเปล่าสะอาดก่อน เพื่อล้างเมือกปลาออกก่อน จากนั้นก็นำปลามาขอดเกล็ดก่อน สำหรับปลาที่มีเกล็ด แล้วก็ทำการควักไส้ปลาออก และตอนที่ควักไส้ปลา อย่างเช่น พวกปลาดุก พวกปลาช่อน ก็ให้ใช้มีดปลายแหลม นำมากรีดบริเวณท้องปลา และต้องระวัง พยายามอย่าให้ดีแตก เพราะเนื่องจากว่าจะทำให้ เนื้อปลานั้นมีรสชาติที่ขมนั่นเอง ต่อจากก็ล้างทำความสะอาดปลาอีกรอบตอนที่ล้างตัวปลาให้ใช้น้ำส้มสายชู ในการล้างด้วย เพราะจะช่วยทำให้ปลานั้น มีรสชาติที่ดีขึ้น ถ้าปลา มีเมือก ให้ใช้เกลือป่น มาทาที่มือ และก็นำมาทาที่ตัวปลาด้วย สามารถช่วยทำให้ท่านสามารถจับได้ถนัดมือขึ้น ไม่ทำให้ปลาเลือนได้ดีอีกด้วย ขั้นตอนสุดท้าย ให้เรานำเอาแป้งมัน ประมาณ 1 ช้อนชา นำแป้งมันที่ได้ มาลูบไล้ให้ทั่วตัวปลาทั้งหมด ทิ้งเอาไว้ 1 นาที จากนั้นแล้ว ล้างออกด้วยน้ำสะอาด อีกครั้ง
ทักษะการทำให้ปลาแข็ง ใช้วิธีการคาวเหลือเพื่อให้เกลือเข้าเนื้อปลา
ทักษะการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ปลาส้มไร้ก้าง โดยนำก้างออกก่อนทำ และบรรจุภัณฑ์สุญญากาศเพื่อให้เก็บได้นาน
ทักษะการขยายตลาดรองรับสินค้าปลาส้มออกสู่ตลาดในระดับจังหวัด และจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผลิตสินค้า OTOP ปลาส้มไร้ก้างบ้านมาบคล้า
กลุ่มปลาส้มไร้ก้างบ้านมาบคล้า หมู่ที่ 9 ตำบลคลองขลุง ในระยะเริ่มต้นเป็นการรวมกลุ่มของกลุ่มแม่บ้านของหมู่บ้านมาบคล้า จำนวน 15 คน รวมกันทำปลาส้มขายกันในหมู่บ้าน ต่อมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการประชารัฐ กลุ่มจึงมีเงินทุนมากขึ้นจึงได้มีการรับสมาชิกเพิ่มในลักษณะของการลงหุ้นร่วมกันและมีกรรมการบริหารจัดการในการนำสินค้าปลาส้มออกจำหน่ายในระดับตำบล ซึ่งรูปแบบปล้าส้มได้พัฒนาเป็นปลาส้มไร้ก้าง ที่มีทั้งรูปแบบสำเร็จรูป และรูปแบบบรรจุภัณฑ์สุญญากาศเพื่อการเก็บรักษาไว้ได้นาน
การเปลี่ยนแปลง
- ชุมชนมีความเข้มแข็งมีทักษะบริหารจัดการกันเองในชุมชน สมาชิกมีความรู้และทักษะในการพัฒนาภูมิปัญญาชาวบ้านดั่งเดิมให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ภายในครัวเรือน รวมทั้งการนำภูมิปัญญาชาวบ้านที่สามารถสร้างความปลอดภัยจากสิ่งเจือปน
- ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการเพื่อจำหน่ายสินค้าสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าเป็นสินค้า OTOP ของตำบลคลองขลุง จำหน่ายสินค้าในระดับจังหวัด สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาชีพหลัก
- ชาวบ้านที่เข้าร่วมกลุ่มเป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลาส้มไร้ก้างบ้านมาบคล้า มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าปล้าส้มเสริมจากอาชีพหลัก
- จัดหาตลาดรองรับสินค้าเพื่อขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยจัดให้มีการจำหน่ายทั้งขายส่งและขายปลีก
ปัจจัยที่ส่งผลให้ประสบผลสำเร็จ (เครื่องมือที่ 4 ปัจจัย/เงื่อนไขความสำเร็จและกำหนดอนาคต)
- สมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น
- การทำงานของกลุ่มเป็นรูปแบบร่วมมือ ร่วมแรง และมีระบบของการปันผลจากผลกำไรในการจำหน่ายสินค้า
- คณะกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปล้าร้าไร้ก้างบ้านมาบคล้า สามารถจัดหาตลาดรองรับได้มากขึ้น ทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นของสมาชิกกลุ่ม
- ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐ
- ได้รับการส่งเสริมพัฒนาสินค้าและทักษะความรู้จากพัฒนาชุมชนอำเภอ
แนวทาง/แผนที่จะทำต่อในระยะข้างหน้า
- สามารถบริหารจัดการเพื่อจำหน่ายสินค้าสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และยกระดับ
- ผลิตภัณฑ์สินค้าเป็นสินค้า OTOP ของตำบลคลองขลุง จำหน่ายสินค้าในระดับจังหวัด และจัดหาตลาดรองรับสินค้าเพื่อขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยจัดให้มีการจำหน่ายทั้งขายส่งและขายปลีก