รู้จักตำบลนาป่า
ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ “นาป่า”เป็นชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเพชรบูรณ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปเพียง 15 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 137 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัย และพื้นที่ประกอบอาชีพ 56 ตารางกิโลเมตร และเป็นพื้นที่ป่าสาธารณะ 81 ตารางกิโลเมตร จัดตั้งเป็นตำบลเมื่อปี 2495 ปัจจุบันมีทั้งหมด 17 หมู่บ้าน แม้ว่าจะอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ไม่มาก แต่นาป่ากลับตั้งอยู่ในพื้นที่ชัยภูมิที่มีธรรมชาติสวยงาม ด้านทิศตะวันออกติดเทือกเขาสูงของเขตอุทยานแห่งชาติตาดหมอก ซึ่งเป็นต้นน้ำสำคัญของห้วยคลองบง ห้วยเฉลียงลับและลำห้วยสาขาอีกหลายสาย ไหลผ่านชุมชนจากด้านตะวันออกไปด้านตะวันตกก่อนไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักต่อไป เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการทำเกษตรอย่างมาก ดังนั้นผู้คนที่นี่จึงทำเกษตรกรรมเป็นหลักเกือบร้อยเปอเซ็นต์ พืชหลักที่สำคัญคือข้าว ข้าวโพด สวนผลไม้
เมื่อ “ข้าว”กลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักสร้างรายได้ให้ครัวเรือนและชุมชน นอกเหนือไปจากการมีไว้กินในครัวเรือนแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนเช่นอดีต การเปลี่ยนวิถีจากปลูกกินมาเป็นปลูกขาย กระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนก่อนการขายย่อมมีการลงทุนอย่างหนักทั้งสารเคมี ปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ ซึ่งต้องพึ่งพาจากคนอื่นทั้งนั้น รวมถึงการขายก็ต้องพึ่งพาคนอื่น ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถควบคุมได้เช่นกัน บางปีข้าวราคาดีเกษตรกรมีความสุข แต่ปีไหนที่ข้าวราคาตกต่ำความทุกข์ย่อมตกอยู่กับเกษตรกรแน่นอน เมื่อรายได้ที่เกิดไม่สมดุลกับรายจ่าย ทำให้ หนี้รายครัวเรือนในตำบลพุ่งสูงขึ้นทุกปี บางปีเจอปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งก็ยิ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจในครัวเรือนย่ำแย่ลงไปอีก แล้วทางออกของเกษตรกรนาป่าอยู่ที่ไหนกัน?
ก้าวย่างทางรอดของคนทำนา
หนี้สินเป็นปัญหาร่วมกันทั้งตำบล ผู้นำในตำบลเห็นว่า “เงิน”เป็นปัจจัยสำคัญต่อการลงทุน หากมีทุนภายในที่เป็นของชุมชนเองแล้ว คงช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินที่มีได้ มีหนี้ก็ควรจะมีเงินออมด้วยคนจึงจะมีหลักประกัน จึงรวบรวมกองทุนต่างๆ ที่มีในตำบลจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินในตำบลขึ้นในปี 2548 ดำเนินการฝาก ถอน และให้สมาชิกกู้ยืมไปลงทุน แต่ปัญหาหนี้สินยังคงมีอยู่เหมือนเดิม หลังจากนั้นในปี 2557-2558 สภาองค์กรชุมชนตำบลนาป่าได้รับงบประมาณสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในชุมชนซึ่งถือว่าเป็นฐานรากในการพัฒนาประเทศ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในชุมชน ถูกยกกลับมาคิดทบทวนกันใหม่ ในที่ประชุมสภาองค์กรชุมชน โดยเวทีใช้กระบวนการวิเคราะห์ถึงรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงทางออกที่ควรจะเป็น แล้วนำไปสู่การแก้ไขให้ตรงจุดปัญหาอย่างแท้จริงได้ กระบวนการวิเคราะห์ปัญหาในเวทีร่วมกันมีประเด็นพูดคุย
1).กระบวนการผลิตและการตลาด
2).การบริหารจัดการตั้งแต่ปลูกจนถึงตลาด
3).แนวทางการลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน
จากเวทีพบว่ากระบวนการปลูก การเก็บเกี่ยว การจัดเก็บ ล้วนแล้วแต่มีรายจ่ายแทบทุกขั้นตอน และมีรายจ่ายทุกวัน ในขณะที่การขายข้าวต้องรอเก็บเกี่ยว 3-4 เดือน บางปีอาจจะขายได้ราคาดี แต่บางปีอาจจะไม่โชคเหมือนปีก่อน ทำให้คนทำนาดิ้นไม่หลุดจากภาวะการเป็นหนี้ หากจะแก้ปัญหา ต้องจัดการให้การลงทุนน้อยกว่ารายรับที่จะได้เมื่อมาถึงขั้นตอนการขาย
ในเวทีมีแนวทางลดหนี้สินโดยมีแผนลดรายจ่ายเพื่อลงทุนในการทำนาและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าว กลุ่มทำนาข้าวปลอดภัยตำบลนาป่า มีสมาชิกจำนวน 34 คน ซึ่งมีลุงสวัสดิ์ ติดผาย เป็นผู้นำกลุ่ม นำแผนไปดำเนินการลดรายจ่ายในการทำข้าวปลอดภัย โดยลดการซื้อทั้งสารเคมีต่างๆและปัจจัยการผลิตอื่นในการปลูกข้าวลง โดยใช้ความรู้จากภูมิปัญญาและลงแรงทำด้วยตัวเองให้มากขึ้น ในเบื้องต้น เมล็ดพันธุ์ข้าวมีความสำคัญในกระบวนการทำนา การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์เองจะช่วยลดรายจ่ายของบุคคลและกลุ่มได้ ซึ่งลุงสวัสดิ์บอกว่า “…เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เราซื้อมาปลูกมีราคาแพง ไม่ปลอดภัยเพราะร้านค้าจะคลุกสารเคมีกันเชื้อราต่างๆก่อน ถ้าเราเอามาปลูกก็แสดงว่าไม่ปลอดภัยตั้งแต่เริ่มต้น และอีกอย่างเราสามารถคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวเองได้ ทำไมต้องไปซื้อให้เสียเงินอีก..” ทางกลุ่มจึงได้คัดเมล็ดพันธุ์ข้าวเจ้าหอมมะลิ 105 จัดจำหน่ายให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปในราคาถังละ 250 บาท การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกเองและจัดจำหน่ายมีทิศทางที่ดีขึ้น สามารถขายเมล็ดพันธุ์ได้หมดทุกปี แต่ปีนี้(2562) เมล็ดพันธุ์ข้าวไม่พอขาย “…..กลุ่มเราขายในราคาถูก เมล็ดพันธุ์ข้าวมีเปอร์เซ็นต์การงอกดี รู้จักที่มาของข้าวจึงเชื่อใจกันได้….” ลุงสวัสดิ์ ติดผาย กล่าว
อีกก้าวที่ขยับย่าง
การปรับตัวของชุมชนตำบลนาป่าที่ผ่านมาแม้จะดีขึ้นบ้าง มีช่องทางให้ชาวบ้านลดรายจ่ายตามแผนที่วางไว้ได้ แต่ก็ยังไม่ที่น่าพอใจของคนที่ทำนาเท่าใดนัก เพราะเห็นว่าการลดต้นทุนด้วยการคัดเมล็ดพันธุ์ใช้เอง ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงไปได้ หากยังมีวิธีการหรือรูปแบบการทำนาแบบเดิมอีก คงไม่พ้นวังวนของการจ่ายเพื่อลงทุนอีกแน่นอน “…ผมว่าที่เราทำมาก่อนหน้านี้มันก็ดีนะ แต่ยังไม่พอที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากภาวะหนี้สินได้ เราต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ ทำนาแบบเดิมที่ใช้พื้นที่มาก เราต้องลงทุนเรื่องค่าจ้างแรงงานอีก แรงงานเรามีน้อย แต่จะทำอย่างไรให้ทำน้อยแต่ได้มากทั้งผลผลิตและราคาที่ดีกว่านี้….” พี่จักสาน ณัฐศักดิ์ เถาว์แก้ว หนึ่งในกลุ่มคนที่ทำนาอินทรีย์ กล่าวถึงแนวคิดทำน้อยให้ได้มาก เพื่อการลดต้นทุนว่า หากจะลดค่าใช้จ่ายแล้วก็ควรปรับวิธีการทำนาใหม่ ให้สามารถลดได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่ลดพื้นที่ปลูก เพื่อให้การดูแลควบคุมวัชพืชสามารถทำได้ด้วยแรงงานในครัวเรือน ลดการใช้เมล็ดพันธุ์ในปริมาณที่มากที่ไม่ใช่เพียงการลดราคา ปรับปรุงดินโดยการใช้อินทรีย์วัตถุที่มีในท้องถิ่นด้วย ที่ผ่านมาตัวเองทดลองทำนาแบบใหม่ โดยใช้พื้นที่ 8 ไร่ มาปลูกข้าวอินทรีย์ ใช้ต้นกล้าในการปลูกเพียงต้นเดียวต่อหลุม การปลูกข้าวต้นเดียวอาจจะใช้วิธีการดำ การโยนหรือการปักลงในหลุม ข้าวสามารถแตกกอได้ดีกว่าการใช้ต้นกล้าหลายต้นในหลุมเดียวกัน การดูแลควบคุมหญ้าต้องทำอย่างสม่ำเสมอไม่เช่นนั้นหญ้าจะเติบโตแข่งกับต้นข้าว ผลผลิตจะได้ไม่เต็มที่
ผลผลิตที่ได้ต่อไร่ขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าวที่ปลูกข้าวเจ้าหอมมะลิ 105 ข้าวไรซ์เบอรี่ และข้าวสังข์หยดได้ผลผลิตเท่ากันคือ 400 กิโลกรัมต่อ1ไร่ ส่วนข้าวมันปูได้ผลผลิต 500 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งเจ้าตัวเพิ่มเติมอีกว่าหากเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินได้มากกว่านี้พร้อมทั้งมีน้ำในนาเพียงพอให้ต้นข้าวเจริญเติบโต คาดว่าผลผลิตจะได้ถึง 600 กิโลกรัมต่อไร่ ไม่แตกต่างจากการใช้สารเคมีมากนัก “..ถ้าเราจะนาอินทรีย์เพื่อลดรายจ่าย เราต้องอดทนมาก ใจต้องนิ่ง หนักแน่นมากพอ ไม่เช่นนั้นเราจะกลับไปสู่วิถีแบบเดิมๆอีก ต้องซื้อ ต้องจ้าง ต้องจ่าย สิ่งใดที่ไม่รู้ต้องหมั่นศึกษากับผู้รู้และทดลองทำได้สำเร็จเราก็มีความสุข แต่ถ้าไม่สำเร็จเราต้องลองทำซ้ำๆหลายครั้งจนให้มันรู้นั่นแหละ มันจะกลายเป็นความเคยชินไปเอง…”นายณัฐศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ความพยายามของกลุ่มผู้ทำนาปลอดภัยที่จะลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน นอกจากจะมีกิจกรรมการลดค่าใช้จ่ายแล้ว กลุ่มผู้ทำนาปลอดภัยยังสร้างรายได้เพิ่มให้กับตนเองจากการทำเกษตร โดยจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปรรูปขึ้นมาในปี2560 เพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น และจัดจำหน่าย เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้ครัวเรือนสินค้าที่แปรรูป ได้แก่
1.แปรรูปข้าว ครั้งแรก มีเพียงสีข้าวและบรรจุขายเฉพาะข้าวกล้องธรรมดา ขายในราคากิโลกรัมละ 60-80 บาท แต่ต่อมากลุ่มคิดต่อยอดจากข้าวกล้องธรรมดา เป็นการทำข้าวกล้องงอกและข้าวฮางงอกในชื่อแบรนด์ “อิ่มรักษ์”
ด้วยแนวคิด ทำข้าวให้แตกต่างจากที่อื่น ประการหนึ่ง ทำข้าวให้มีคุณภาพสูงขายในราคาที่เหมาะสมประการที่สองและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภค เพราะในข้าวกล้องงอกและข้าวฮางงอกมีคุณประโยชน์ทางด้านสารอาหารสูง โดยเฉพาะสารกาบา (GABA) ที่มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย บำรุงสมอง คลายความเครียด ป้องกันอัลไซเมอร์ ฯลฯ เหมาะสำหรับกลุ่มผู้รักษ์สุขภาพและกลุ่มผู้สูงอายุ ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่บังคับให้ข้าวเปลือกงอกก่อน เพีอกระตุ้นให้สารอาหารที่อยู่ในเปลือกข้าวซึมเข้าไปในเมล็ดข้าว นำไปนึ่งให้สุก แล้วตากผึ่งลมให้แห้ง ค่อยนำข้าวไปสีเป็นข้าวสารแล้วนำไปหุงให้สุกอีกครั้ง บรรจุถุงขายในราคา100-120 บาทต่อกิโลกรัม ในปีที่ผ่านมากลุ่มมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอกและข้าวฮางงอกเป็นเงิน 12,000บาท (100 กิโลกรัม)
2.แปรรูปพืชสมุนไพรเป็นชาชงดื่ม และน้ำผลไม้พร้อมดื่ม เนื่องจากเห็นว่ามีพืชสมุนไพร ผลไม้ในท้องถิ่นที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มได้ เช่นใบเตย อัญชัน ตะไคร้ หญ้าหวาน ฟักข้าว เสาวรส ฯลฯ มีมากมายจึงรวบรวมวัตถุดิบเหล่านี้มาแปรรูปสำหรับบริโภคในครัวเรือนและจัดจำหน่ายเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง
“….เรามีรายจ่ายทุกวัน ถ้ารอรายได้จากขายข้าวแต่ละครั้งมันนานไป กว่าจะได้มาเรามีรายจ่ายไปแล้ว แต่ไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้ขายเป็นเกวียนนะ ต้องมีการจัดการผลผลิตสร้างรายได้ให้เราตลอดปี สร้างรายได้รายวันเพื่อจัดสมดุลรายจ่ายกับรายได้ที่มีในแต่ละวัน จะช่วยลดภาระหนี้สินของครัวเรือนได้เยอะ…”นายจรุง เหล็กสีนาค ประธานกลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปรรูป กล่าวถึงการสร้างรายได้เพื่อลดหนี้สิน
ก้าวที่ติดขัดและต้องการพัฒนา
การขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจชุมชนในตำบลนาป่า เพื่อลดปัญหาหนี้สิน โดยมีข้าวเป็น “พระเอก” ยังมีปัญหาและข้อติดขัดมากมาย ทั้งการผลิต การแปรรูปและการตลาด เพื่อให้การดำเนินงานกิจกรรมของกลุ่มบรรลุสำเร็จได้ในอนาคต จึงใช้เครื่องมีห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) มาช่วยในกระบวนการวิเคราะห์กิจกรรมแต่ละขั้นตอน ดังนี้
1.การผลิต ประกอบด้วย
1.1.ปัจจัยการผลิต
-น้ำแหล่งน้ำที่สะอาด มีการจัดระบบชลประทานให้เข้าถึงทุกพื้นที่
-การเตรียมดิน ปรับปรุงดินให้สมบูรณ์
– มีเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ เต็มเมล็ด ต้นทุนต่ำ มีพันธุ์ข้าวเหมาะสมกับท้องถิ่น
-หนุนเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม เครื่องเป่าลมคัดแยกเมล็ดพันธุ์
1.2.สนับสนุนให้ลดต้นทุนในการผลิต ใช้ต้นทุนอื่นเข้ามาแทนในตัวเงิน
1.3.ความรู้ ทักษะผู้ผลิต
-พัฒนาทักษะ ความรู้ในการคัดเมล็ดพันธุ์ การทำนาอินทรีย์
-พัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มในการบริหารจัดการกลุ่ม
-พัฒนาต้นแบบเพื่อการเรียนรู้
จากการวิเคราะห์ในเวทีพบว่า การทำนาของตำบลนาป่าต้องอาศัยน้ำเช่นเดียวกันกับที่อื่น แม้ว่าตำบลมีพื้นที่อยู่ติดเขตอุทยานแห่งชาติตาดหมอกที่เป็นต้นน้ำหลายสายไหลผ่านเขตพื้นที่ตำบล แต่ในพื้นที่ที่กลุ่มทำนาอินทรีย์มีปัญหาการขาดแคลนน้ำทำนา อาศัยเพียงน้ำฝนอย่างเดียว ที่ผ่านมามีหน่วยงานมาขุดสระเพื่อเก็บน้ำทำในพื้นที่ป่าสาธารณะ 2 บ่อ แต่ด้วยการออกแบบไม่สอดคล้องกับพื้นที่จึงไม่มีน้ำกักเก็บในสระน้ำ เกษตรกรไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสระน้ำที่ขุดไว้ได้ และดินซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตอีกปัจจัยหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว เมื่อไม่มีน้ำ ดินจะแห้งแข็ง ข้าวเจริญเติบโตช้า จึงอยากมีความรู้เรื่องการปรับปรุงดินให้เป็นดินที่มีคุณภาพได้ ส่วนพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกไดดดีในพื้นที่ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวสังข์หยด ข้าวมันปูและข้าวไรซ์เบอร์
ปัญหาที่พบในเวทีนอกจากสมาชิกจะแก้ไขปัญหาด้วยตนเองแล้ว แต่ส่วนมีบางปัญหาที่ทางกลุ่มต้องการให้หน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ คือหน่วยงานท้องถิ่น (อบต./อบจ) มาปรับปรุงแก้ไขรูปแบบสระน้ำใหม่ สามารถกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรตามเจตนาเดิมได้ สำนักงานชลประทานที่10 พัฒนาระบบชลประทานให้มีน้ำทำการเกษตรอย่างทั่วถึง สถานีพัฒนาดินอำเภอเมือง ให้ความรู้เรื่องการปรับปรุงดินให้มีคุณภาพเหมาะแก่การทำเกษตร ศูนย์วิจัยข้าวให้ความรู้และข้อคิดเห็นการใช้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่รวมถึงการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวร่วมกับกลุ่มผู้ทำนา นอกจากนี้การคัดเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มยังใช้เครื่องมือแบบพื้นบ้าน ใช้มือหมุนและใช้พัดโบกลมคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าว ทำให้การคัดแยกเมล็ดพันธุ์ช้า ได้ปริมาณน้อยและใช้แรงงานมาก ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ เช่น
2.การแปรรูป ประกอบด้วย
1.เครื่องอบข้าวกล้องงอก/ข้าวฮางงอก/ชาชงเดื่ม
2.พัฒนาเครื่องบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน
3.สนับสนุนให้มีโรงเรือนที่ได้มาตรฐานสำหรับการแปรรูปผลผลิต
4.เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และสร้างความหลากหลายของสินค้า
การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มยังมีข้อติดขัดหลายด้านด้วยกัน เช่น ไม่มีโรงเรือนและเครื่องมือที่มีมาตรฐานและทันสมัย ยังใช้เครื่องมือแบบชุมชนประดิษฐ์ เช่นการทำข้าวฮางงอกและข้าวกล้องงอก มีกระบวนการและขั้นตอนที่ต้องควบคุมอุณหภูมิในการอบ การนึ่ง ถ้าทำไม่ถูกต้องข้าวจะเสีย หรือหุงแล้วไม่นุ่ม ไม่อร่อย การแปรรูปชาชงและน้ำผลไม้ก็เช่นกัน ต้องมีระบบการควบคุมความสะอาด ปลอดภัย มีบรรจุภัณฑ์ที่สะอาดและสวยงาม โดยกลุ่มเสนอให้มีโรงผลิต แปรรูปที่เป็นมาตรฐานกลางที่ใช้ร่วมกันอย่างน้อยอำเภอละ 1 โรง ดังนั้นสิ่งที่กลุ่มต้องการความช่วยเหลือจึงเป็นการสนับสนุนโรงเรือน เครื่องมือต่างๆที่เกี่ยวกับการแปรรูป การพัฒนาความรู้ขีดความสามารถเพื่อให้กลุ่มสามารถแปรรูปสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ จากหน่วยงานดังนี้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ สำนักงานพัฒนาชุมชน เป็นต้น
3.การตลาด ประกอบด้วย
1.สนับสนุนให้สินค้าได้รับมาตรฐาน อย.
2.สนับสนุนให้มีการประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง
3.การสร้างจุดขายที่โดเด่น สร้างแบรนด์ที่โดดเด่น
4.ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีช่องทางการขายที่หลากหลาย
5.เพิ่มกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย
การตลาดเป็นขั้นตอนที่ชุมชนขาดทักษะเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยการผลิตเท่านั้น และการตลาดมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน กลุ่มจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถให้มีความรู้ทักษะในการตลาด ในช่วงเดือนเมษายนและเดือนกรกฎาคม(2562) ที่ผ่านมาผู้นำได้เข้าอบรมการจัดทำแผนธุรกิจชุมชนคานงัดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (CBMC) ได้เห็นช่องทางการพัฒนาระบบการตลาดเพื่อระบายสินค้า จากการประเมิน ทบทวนและระดมความคิด ช่องทางการขายสินค้าของกลุ่มยังอยู่ในวงแคบ เช่น ภายในชุมชน งานออกร้านของหน่วยงานต่างๆ และช่องทางsocial media แต่จากการประเมินสินค้าของกลุ่มมีบางช่วงที่พอขายได้และบางช่วงที่สินค้ามีไม่พอต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มผู้รักษ์สุขภาพ นักท่องเที่ยว และร้านค้า อีกประการหนึ่งที่สินค้าของกลุ่มยังไม่สมารถนำออกไปขายในตลาดข้างนอกได้ เนื่องจากมีข้อติดขัดการรับรองมาตรฐาน อย.ซึ่งจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากหลายฝ่าย หากสามาถแก้ไขข้อติดขัดนี้ได้ กลุ่มจะมีช่องทางการขายได้มากขึ้น หน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือกลุ่มได้คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สถาบันการศึกษา กรีนมาร์เก็ตจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น
วางแผนก้าวต่อไป
จากปัญหาหนี้สินครัวเรือนซึ่งเป็นปัญหาร่วมของคนตำบลนาป่ามาสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาของกลุ่มผู้ทำนาปลอดภัยถึงกลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปรรูป หากนำไปเทียบกับคนทั้งหมดของตำบลนับว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก เศรษฐกิจระดับครัวเรือนและระดับชุมชนถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาและสร้างความเข้มของของประเทศเพราะ “..ระบบเศรษฐกิจฐานรากเป็นระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ที่สามารถพึ่งตนเองภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน เป็นระบบที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นในพื้นที่ ทั้งเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรมอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะความร่วมมือ เป็นหุ้นส่วนสร้างความสัมพันธ์ทั้งชุมชนในท้องถิ่น ดังนั้นเศรษฐกิจฐานรากจึงเปรียบเสมือน เสาเข็ม ของเศรษฐกิจทั้งระบบของประเทศ..” ลำพังการขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจชุมชนของ 2 กลุ่ม คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก ผู้นำทั้งสองกลุ่มจึงมีข้อเสนอให้พัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจชุมชนด้วย เรื่องราวของข้าวจะร้อยเรียงเรื่องราวของดีและผู้คนในตำบลนาป่ามาร่วมกันสร้างเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการท่องเที่ยวชุมชน
มองหาทุนที่ไม่ใช่เงินในตำบล
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของตำบลนาป่าเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาด้านทิศตะวันออกเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหมอก ซึ่งเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนมีผืนป่าที่สมบูรณ์ และยังเป็นป่ากันชนให้แก่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพรรณพืชภูเขียว ทำให้อุทยานแห่งชาติตาดหมอกมีอากาศเย็นสบายตลอดปี ด้านทิศตะวันตกเป็นแม่น้ำป่าสักและพื้นที่ตรงกลางเป็นที่ตั้งของชุมชนมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสำหรับตั้งบ้านเรือนและทำการเกษตรนาข้าวและไม้ผล ด้วยความพิเศษของลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ ทำให้ตำบลนาป่ามีต้นทุนทางธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ แม่น้ำและท้องทุ่ง และยังอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเพชรบูรณ์มากนัก นาป่าจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและขึ้นชื่อของอุทยานแห่งชาติตาดหมอกได้แก่ (1) น้ำตกตาดหมอกเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลตกจากหน้าผาสูงชั้นเดียวโดดๆ เมื่อสายน้ำหล่นลงมากระทบพื้นล่างจะเห็นเป็นละอองน้ำเล็กๆคล้ายกับสายหมอก จึงเป็นที่มาของชื่อน้ำตก ส่วนคำว่า“ตาด” มีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า “ หน้าผา ” นั่นเอง (2) น้ำตกสองนางเป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง อยู่ในเส้นทางเดียวกันกับน้ำตกตาดหมอก เป็นน้ำตกที่มีสายน้ำไหลผ่านโขดหินลดหลั่นกันลงมาทั้งหมด 12 ชั้น แต่ละชั้นสูงต่ำไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ชั้นที่สูงเพียง 5 เมตร และชั้นที่สูงถึง 100เมตร ไหลลงสู่คลองห้วยบง สู่เขื่อนบ้านเฉลียงลับ สิ้นสุดที่แม่น้ำป่าสัก และ (3) ในเขตอุทยานฯยังมี “ลานชมดาว”มีลักษณะเป็นลานโล่งเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ สำหรับกางเตนท์ชมวิวและชมดาวได้รอบทิศทางทั้งดาวบนดินซึ่งมาจากแสงไฟในตัวเมืองเพชรบูรณ์และดวงดาวบนท้องฟ้า มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติได้ตลอดทั้งปี
ในพื้นที่ราบที่ตั้งหมู่บ้านชุมชน มีวิถีการทำนา ทำสวน มีทั้งสวนผสมผสานและสวนผลไม้ ซึ่งที่นี่สามารถปลูกไม้ผลได้ทั้งเงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด ให้ผลผลิตดี มีรสชาติอร่อย ในปีที่ผ่านมาทุเรียนนาป่าถูกเผยแพร่ออกทางสื่อออนไลน์ต่างๆ จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป สำหรับปีนี้มีพ่อค้าแม่ค้ามาจองซื้อในสวนไว้ทุกต้น สร้างความคึกคักให้ชาวสวนเป็นอย่างมาก รวมถึงมะขามหวานพันธุ์พิเศษ “เพชรบัวทอง” ซึ่งเป็นมะขามหวานที่กลายพันธุ์มาจากพันธุ์ ประกายทอง ในศูนย์พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรของนายสวัสดิ์ คะเชนรัมย์ มีความพิเศษเนื้อหนา เมล็ดเล็กมีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเมื่อห่ามและหวานฉ่ำเมื่อสุกต็มที่แล้ว มีที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้แก่กลุ่มทอผ้ากี่กระตุกที่เป็นสินค้าโอทอปขึ้นชื่อ และไหว้พระวัดป่าสักเรไร ที่มีหลวงพ่อเพ็ง อิติภัทโท เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน
ด้วยศักยภาพที่มีในพื้นที่ผู้นำกลุ่มทำนาข้าวปลอดภัยและกลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปรรูปจึงชวนกันจับมือกับกลุ่มกลุ่มผู้สูงอายุที่ทำกิจกรรมปั่นจักรยานขึ้นอุทยานแห่งชาติตาดหมอกอยู่แล้ว มาจัดทริปท่องเที่ยวในชุมชนแบบครบวงจรเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการกระจายรายได้ในตำบล โดยวางแผนจัดการท่องเที่ยวชุมชน จากเดิมที่ปั่นจักรยานขึ้นไปชมน้ำตกตาดหมอ-สองนาง เพียง 2 ชั่วโมง จะปรับแผนการท่องเที่ยวเป็น ท่องเที่ยวชุมชนไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดป่าสักเรไร ชม-ซื้อของดีเด่นดังในหมู่บ้าน-กินอาหารสุขภาพ-ศึกษาธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติตาดหมอกและสวนผลไม้-พักกายใจกับโฮมสเตย์ ซึ่งแผนการจัดท่องเที่ยวชุมชนจะมีขึ้นปลายปี 2562 นี้