กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเหมืองง่า ตั้งอยู่ในสำนักงานเทศบาลตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งตำบลเหมืองง่ามีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่ทั้งหมดของตำบลเหมืองง่า จำนวน 2182 ตารางกิโลเมตร หรือจำนวน 13,636 ไร่
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเหมืองง่า ได้เริ่มดำเนินการก่อตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552 โดยมีนางเขมิสรา มโนวรรณา อาศัยอยู่บ้านหัวยาง หมู่ที่ 9 ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นประธานคณะกรรมการกองทุนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกได้รับสวัสดิการ กรณีเจ็บป่วย และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งส่วนใหญ่สมาชิกเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่บ้านหัวยาง หมู่ที่ 9 และหมู่บ้านใกล้เคียง มีจำนวนสมาชิก 208 คน และได้จดทะเบียนเป็นองค์กรสวัสดิการชุมชนเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2552 ต่อมานางเขมิสรา มะโนวรรณา เริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุ ทำให้การดำเนินงานของกองทุน เป็นไปด้วยความล่าช้า จึงได้ขอลาออกจากการเป็นประธานกองทุนฯ และทางคณะกรรมการได้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานคนใหม่ขึ้นมาแทน และมติในที่ประชุม เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2554 ได้มีมติให้นายนิพันธ์ ทองศิริ เป็นประธานคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนคนใหม่ อาศัยอยู่บ้านหัวยาง หมู่ที่ 9 เป็นคนวัยกลางคน มีจิตอาสา และได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุนฯ โดยได้เชิญประธานกองทุนหมู่บ้านทุกหมู่บ้านมาประชุมเพื่อปรึกษาหารือในการเพิ่มสมาชิก ซึ่งก็มีประชาชนสมัครเพิ่มเข้ามาเป็นสมาชิก ขณะนั้นมีสมาชิกเพิ่มขึ้น รวมเป็น 335 คน และพยายามที่จะเชิญชวนประชาชนมาสมัครเข้าเป็นสมาชิกให้มากขึ้น แต่เนื่องด้วยขณะนั้นมีโครงการออมวันละบาทของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน คือ นายดิเรก ก้อนกลีบ ได้มีนโยบายให้แต่ละหมู่บ้านออมวันละบาท เดือนละ 30 บาท ส่วนใหญ่ประชาชนก็จะได้เข้ากองทุนของผู้สูงอายุ เดือนละ 30 บาท และมีส่วนน้อยที่จะมาเข้ากองทุนสวัสดิการฯ ซึ่งกองทุนสวัสดิการเก็บเป็นเงินสมทบเดือนละ 10 บาท ถ้าลาออกก็ไม่ได้เงินคืน
ต่อมาในช่วงเดือนมีนาคม 2555 นายคนอง กัลละหะ ได้เข้ามารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลเหมืองง่าคนใหม่ และมีนโยบายที่จะจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางสังคม ร่วมถึงประชาชนในตำบลเหมืองง่าทุกคน ได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ได้รับสิทธิความคุ้มครอง และได้รับสวัสดิการจากทางภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับประชาชน และเพื่อเป็นการพัฒนาประชาชนให้เกิดความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของหมู่บ้าน ซึ่งนโยบายนี้ก็ตรงกับกองทุนเดิม ที่มีอยู่แล้ว ทางคณะกรรมการกองทุนฯ โดยนายนิพันธ์ ทองศิริ จึงได้เข้ามาพบท่านนายกเทศมนตรีตำบลเหมืองง่า และปรึกษาหารือ ถึงแนวทางในการดำเนินงานว่าจะทำอย่างไรให้กองทุนนี้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ทางคณะกรรมการกองทุนฯ จึงได้เชิญคณะผู้บริหารเทศบาลตำบลเหมืองง่า หัวหน้าส่วนราชการในตำบลเหมืองง่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน มาประชุมเพื่อปรึกษาหารือ และดำเนินการคัดเลือกประธานกองทุนฯ คนใหม่ ซึ่งในที่ประชุมมีมติให้ “นายคนอง กัลละหะ” เป็นประธานคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเหมืองง่าเมื่อเดือนตุลาคม 2555 เป็นต้นมา ซึ่งนายคนอง กัลละหะ ถือว่าเป็นผู้นำท้องถิ่นอยู่แล้ว ก็เลยทำให้ประชาชนไว้วางใจ และเชื่อมั่นว่ากองทุนจะอยู่รอดอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันทางท่านนายกคนอง กัลละหะ พร้อมคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งมีหลายภาคส่วนเข้ามาเป็นคณะกรรมการได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวน ให้ประชาชนเข้ามาร่วมสมัครเป็นสมาชิก โดยปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 4,364 คน มีเงินกองทุนคงเหลือ 866,57298 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2562)
นายคนอง กัลละหะ ประธานคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเหมืองง่า มีนโยบายและแนวคิดในการที่จะให้ประชาชนในตำบลเหมืองง่า ได้รับสวัสดิการจากทางภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ประชาชนมีความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็ง ประชาชนได้รับสวัสดิการและได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาล ที่มีการส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกท้องถิ่นมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลขึ้น และรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณ 1 ส่วน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 ส่วน และประชาชน 1 ส่วน จึงทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชน มีเงินบริหารจัดการกองทุน 1 : 1 : 1
การเริ่มต้นเกิดจากแนวคิดของผู้นำในการที่จะจัดตั้งกองทุนโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประชาชนได้รับสวัสดิการต่าง ๆ จากทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่หวังผลประโยชน์หรือกำไรจากกองทุนฯ มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้น มีการแต่งตั้งคณะทำงานกองทุนฯ มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือถึงแนวทางในการบริหารจัดการ และแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ มีการกำหนดระเบียบของกองทุนไว้ชัดเจน มีการจดทะเบียนกองทุนฯ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวน ให้ประชาชนเข้าสมัครเป็นสมาชิก มีการรับสมัครสมาชิกโดยกำหนดเลขทะเบียนสมาชิก มีการประชุมคณะทำงาน ทุก 3 เดือน เพื่อประชุมปรึกษาหารือในการบริหารจัดการ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกองทุนฯ อื่น เพื่อนำมาปรับใช้กับกองทุนฯ มีการร่วมคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไขเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น มีการพัฒนาศักยภาพคณะทำงาน อย่างต่อเนื่อง มีการบริหารจัดการกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบและถูกต้อง มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ในช่วงของเดือนพฤษภาคม เป็นประจำทุกปี ๆ ละ 1 ครั้ง และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะทำงานและสมาชิกได้รับทราบทุกครั้งที่มีการประชุม
ในการที่องค์กรจะอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน ก็อยู่ที่ผู้นำว่าเป็นอย่างไร ในเมื่อประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเหมืองง่า เป็นผู้นำของท้องถิ่น โดยเป็นนายกเทศมนตรีตำบลเหมืองง่า ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนตำบลเหมืองง่าให้เข้ามาบริหารงาน และพัฒนาเทศบาลตำบลเหมืองง่า ให้ประชาชนในตำบลเหมืองง่าทุกคน ได้รับสวัสดิการ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข จึงทำให้ประชาชนเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าผู้นำ ก็เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้ประชาชนมั่นใจ และยอมรับในการบริหารจัดการกองทุนฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะทำงานกองทุนฯ มีความพร้อมในการทำงาน และยินดีที่จะเข้ามาร่วมประชุม และร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเหมืองง่า ก็ได้ดำเนินงานมาอย่างล้มลุกคลุกคลาน คณะกรรมการก็ไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการกองทุน คณะทำงานจึงได้มีการประชุมและขอรับงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช) ในการที่จะนำเงินมาพัฒนาศักยภาพให้กับคณะกรรมการกองทุนฯ โดยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 ได้รับเงินอุดหนุนจากพอชจำนวนเงิน 64,200 บาท โดยได้นำมาอบรมให้ความรู้กับคณะทำงาน และนำคณะทำงานไปทัศนศึกษาดูงาน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอุโมงค์ ซึ่งอยู่ห่างจากกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเหมืองง่าประมาณ 3 กิโลเมตร ทางคณะกรรมการได้นำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับจากการอบรมในครั้งนี้ มาพัฒนาศักยภาพและบริหารจัดการกองทุนฯ ให้เป็นไปตามระเบียบ และถูกต้องมากที่สุด
หลังจากที่จัดตั้งกองทุนมาแล้ว ประชาชนสนใจที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก และมีจิตสำนึกที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีการได้รับสวัสดิการตั้งแต่การเกิด เจ็บป่วย ไม่สบาย ก็ได้รับเงินสวัสดิการ และมีการไปเยี่ยมกัน ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น หากสมาชิกประสบภัยพิบัติ หรืออุบัติเหตุ ทางกองทุนก็ได้ช่วยเหลือสวัสดิการ เพื่อเป็นการเยียวยาจิตใจ สำหรับเด็กและเยาวชนก็มีการช่วยเหลือในเรื่องของทุนการศึกษา กรณีที่เด็กจบการศึกษา และกรณีที่สมาชิกเสียชีวิต ทางกองทุน ก็จะมอบเงินสวัสดิการให้กับญาติของผู้เสียชีวิตไว้จัดการศพตามประเพณี ซึ่งจากการดำเนินงานทำให้ประชาชนเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ประชาชนได้รับสวัสดิการมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ และมีความสุขมากขึ้น
เมื่อคณะกรรมการได้มีความรู้ และได้รับการพัฒนาศักยภาพในการไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทางกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอุโมงค์ทางคณะกรรมการก็ได้นำสิ่งที่ดีมาปรับใช้ และพัฒนาปรับปรุงระบบการทำงานให้ดีขึ้น และเร็วขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ มีการปรับระบบโปรแกรมจากการทำด้วยมือ เปลี่ยนมาเป็นระบบคอมพิวเตอร์ สามารถตรวจสอบได้ดี และเป็นปัจจุบัน มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก ทั้งหมดจำนวน 12 ข้อ ดังนี้
(1)ด้านการรับขวัญเด็กแรกเกิด เมื่อสตรี ซึ่งเป็นสมาชิกคลอดบุตรจะได้รับเงินค่าทำขวัญบุตร รายละ 2,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง
(2) ด้านการเสียชีวิต ของสมาชิกกองทุนฯ รายละ 3,000 บาท
(3) ด้านการศึกษา มอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนที่มีความประพฤติดี เรียนดี รายละ 1,500 บาทต่อปี
(4) จบการศึกษา ประถมศึกษาปีที่ 6 (ป6) รับสวัสดิการ 600 บาท
(5) จบการศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น (ม3) รับสวัสดิการ 600 บาท
(6) จบการศึกษา มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม6) รับสวัสดิการ 600 บาท
(7) ด้านการสร้างชื่อเสียง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้สมาชิกผู้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านและตำบลเหมืองง่า ในระดับประเทศ รายละ 1,500 บาท ต่อปี
(8) ด้านการให้ความช่วยเหลือ หรือมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจแก่ผู้ด้อยโอกาส (โดยจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการกองทุน รายละ 1,000 บาท ต่อปี
(9) ด้านการนอนรักษาพยาบาล ได้รับสวัสดิการครั้งละ 400 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี รวม 1,200 บาท (โดยต้องเป็นสถานพยาบาลของรัฐ/เอกชน เท่านั้น)
(10) ด้านการประสบอุบัติเหตุร้ายแรงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทุพลภาพหรือพิการ ได้รับสวัสดิการ 1,000 บาท
(11) จบการศึกษาระดับชั้นอนุบาล 3 รับสวัสดิการ 300 บาท
(12) ด้านการเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม รับสวัสดิการ 1,000 บาท
คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น
ตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเหมืองง่า ซึ่งได้มีการเก็บเงินสมทบจากสมาชิก และได้รับเงินสมทบ จาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน จากเทศบาลตำบลเหมืองง่า และจากสำนักงานพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช) เพื่อพัฒนาศักยภาพคณะทำงาน และเพื่อจ่ายเป็นเงินสวัสดิการให้กับสมาชิก ทั้ง 12 ข้อ ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเสียชีวิต นอกจากนั้นยังมีการบริหารจัดการ และจัดกิจกรรม ย้อมผ้าทำความดี เพื่อพ่อและกิจกรรมส่งเสริมงานประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ร่วมกิจกรรมในงานวันเด็กแห่งชาติ และกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเทศบาล ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ประชาชนได้รับสวัสดิการในหลาย ๆ ด้าน ส่งผลทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้เกิดรูปธรรม ประชาชนยอมรับ และมีประชาชนมาสมัครเป็นสมาชิกมากขึ้น ทำให้กองทุนเข้มแข็ง และดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะผู้บริหารของเทศบาลตำบลเหมืองง่า ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดสวัสดิการ โดยได้สนับสนุน และผลักดันให้เป็นนโยบาย ซึ่งได้นำไปบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น ของเทศบาลตำบลเหมืองง่า และนำไปบรรจุไว้ในเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ของเทศบาลตำบลเหมืองง่า โดยได้สนับสนุนงบประมาณ ให้กองทุนฯ ดังนี้
1) ปี 2555 จำนวน 5,000 บาท
2) ปี 2556 จำนวน 50,000 บาท
3) ปี 2557 จำนวน 240,000 บาท
4) ปี 2558 จำนวน 300,000 บาท
5) ปี 2559 จำนวน 400,000 บาท
6) ปี 2560 จำนวน 400,000 บาท
7) ปี 2561 จำนวน 450,000 บาท
8) ปี 2562 จำนวน 480,000 บาท
แต่อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการกองทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้มีส่วนผลักดัน ให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นนโยบายของรัฐ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เล็งเห็นความสำคัญ ให้นำไปบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น และบรรจุไว้ในเทศบัญญัติ หรือข้อบัญญัติ เพื่อจะได้สนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนให้เข้มแข็ง ยั่งยืน ไม่ว่าใครก็ตามที่มาเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ก็จะต้องให้การสนับสนุน เพื่อให้กองทุนอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ และต่อเนื่องตลอดไป
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเหมืองง่า ได้มีการจัดตั้งกองทุน และแต่งตั้งคณะทำงานที่มีความรู้ความสามารถ เป็นจิตอาสา มีความรัก ความสามัคคี มีการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ของกองทุน มีการประชุมทุก 3 เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพคณะทำงานให้มีคุณภาพ และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสมาชิกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเหมืองง่า ทางคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม ของทุกปี มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมความคิดเห็น มีการมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน มอบเงินสวัสดิการให้กับสมาชิกที่สร้างชื่อเสียงให้กับท้องถิ่นทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาคและระดับประเทศ มีการรายงานผลการดำเนินงานให้สมาชิกทราบ ในเรื่องของรายรับ – รายจ่าย จำนวนเงินคงเหลือและจำนวนสมาชิกให้เป็นปัจจุบัน
ซึ่งปัจจัยภายในทั้งคณะกรรมการกองทุน และสมาชิกกองทุน ทำให้กองทุนเกิดความเข้มแข็ง มีคุณภาพ จนได้รับโล่รางวัลจากทางจังหวัดลำพูนในการประเมินการดำเนินงานอยู่ในระดับดี ตามโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนจังหวัดลำพูน ประจำปี 2556 และทางเทศบาลตำบลเหมืองง่า ก็ได้รับโล่รางวัลจากการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนอยู่ในระดับดีเช่นกัน ซึ่งโล่รางวัลที่กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเหมืองง่าได้รับมานั้น เป็นรางวัลที่คณะกรรมการกองทุนภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะรางวัลนี้ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ และเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ส่งผลให้กองทุนประสบผลสำเร็จ และเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการได้ทำงานต่ออย่างเข้มแข็ง
ประชาชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก บางคนก็เห็นด้วยกับกองทุนฯ แต่ก็ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกเนื่องจากเป็นข้าราชการ หรือข้าราชการบำนาญ หรือเป็นผู้ที่มีประกันสังคม และเป็นผู้ที่มีสวัสดิการจากภาครัฐ และหน่วยงานอื่น ๆ จึงมองว่าไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิก ประชาชนบางส่วนก็ยังมีความเห็นในเชิงลบ เกรงว่าถ้าเข้าสมัครเป็นสมาชิกแล้วกองทุนจะไม่ยั่งยืน และไม่สามารถอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง เหมือนกับกองทุนฯ อีกหลายกองทุน ที่มีความขัดแย้งกันเกิดขึ้น จึงทำให้ไม่กล้าที่จะสมัครเป็นสมาชิกกองทุน ประชาชนในตำบลเหมืองง่า ส่วนใหญ่มีประชากรแฝง เข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรม หรือเป็นคนสัญชาติอื่น และคนไร้สัญชาติเข้ามาเช่าที่พักอาศัยอยู่ตำบลเหมืองง่าเป็นจำนวนมาก ประชาชนเหล่านี้ ต้องการที่จะเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกของกองทุน แต่กองทุนไม่สามารถที่จะรับสมัครได้ เนื่องจากไม่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลเหมืองง่า ก็ทำให้ประชาชนเหล่านี้ ไม่ได้รับสวัสดิการ และไม่สามารถเป็นสมาชิกได้
อานาคตการวางแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนฯ พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวางแผน เพื่อให้มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ผลักดันส่งเสริมให้รัฐบาลสนับสนุน โดยการสมทบงบประมาณให้กับกองทุนทุกปี ต้องการที่จะให้กองทุนมีเงินสะสมให้มากขึ้น และสุดท้ายอยากเห็นกองทุนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง ถ้าหากวันใดวันหนึ่ง ทางรัฐบาลหรือทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่น ไม่เข้ามาสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเหมืองง่า ก็สามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนตลอดไป โดยไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด