ตำบลหนองพยอม ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งแยกตัวมาจากตำบลวังหลุม ชื่อ “หนองพยอม” ซึ่งเป็นชื่อตำบลนั้น เดิมที่ในเขตตำบลนี้ กลุ่มบ้านแรกที่อพยพเข้ามาอยู่นั้นตั้งอยู่ที่หนองน้ำ ซึ่งมีต้นพยอมขึ้นอยู่ (อยู่ในเขตหมู่ที่ 3 ปัจจุบัน) เดิมแยกตัวออกมาตั้งตำบลใหม่นั้น มี 5 หมู่บ้าน ปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป็น 11 หมู่บ้าน สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ฤดูน้ำมีน้ำท่วมขัง ฤดูแล้งแห้งแล้งมาก น้ำไม่เพียงพอในการทำการเกษตร
โดยมีอาณาเขตของพื้นที่ทางทิศเหนือ ติดกับ ต.หนองปล้อง อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร ทิศใต้ ติดกับ ต.ดงตะขบ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ทิศตะวันออก ติดกับ ต.วังหลุม อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร และทิศตะวันตก ติดกับ ต.งิ้วราย อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ซึ่งคนในตำบลหนองพยอมมีอาชีพหลัก คือ การทำทำนาปลูกข้าวขาย (ประมาณ 80 %) รองลงมา คือ ทำสวนผลไม้ เช่น มะม่วง มะนาว มะพร้าว มะยมชิด
พัฒนาการองค์ความรู้เรื่องข้าว
ปี 2546-2547
พี่สินชัย ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองพะยอมเล้าให้ฟังว่า ได้มีโอกาสได้ไปที่จังหวัดสุพรรณบุรี “มูลนิธิข้าวขวัญ” (อาจารย์เดชา) ตอนนั้นมีความคิดว่า “หากเราชอบกินข้าวแบบไหน ก็ปลูกพันธุ์นั้น” ตัวอย่างพันธุ์ที่ชอบ คือ “พันธุ์ขาวกาด” ซึ่งเป็นพันธุ์ท้องถิ่น แต่ที่คนไม่ค่อยนิยมปลูกกันแล้ว เนื่องจากได้ผลผลิตน้อย ประมาณ 40-50 ถังต่อไร่ หลังจากที่ทดลองทำมาระยะหนึ่ง ตอนนี้มีความคิดว่าอยากจะทำพันธุ์ขาวกาดให้ได้ปริมาณมากกว่านี้ ช่วงที่ผ่านมาพยายามหาทางไปหาความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อมาพัฒนาพันธุ์ข้าวของตัวเอง อีกด้านหนึ่งคือพยายามเรียนรู้เรื่องพันธุ์ข้าวจากกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ให้พวกเขาช่วยสอน เพราะคนเฒ่าคนแก่มีประสบการณ์มายาวนาน ให้เขาสอนเรื่องการคัดต้นข้าว การคัดเลือกรวงข้าว การดูเมล็ดข้าว
พ.ศ.2548
เกิดวิกฤติปัญหาเพลี้ยกระโดดในนาข้าวจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
พ.ศ. 2549
มีกองทุน SIF เข้ามาส่งเสริมเรื่องการรวมกลุ่มก็ได้มีการส่งตัวแทน 4 คน ออกไปศึกษาหาความรู้ ฝึกอบรมโดยมีเป้าหมายคือหาพันธุ์ข้าวท้องถิ่น เช่น ข้าวขาว ข้าวกลาง และเป็นพันธุ์ที่ตนเองชอบกิน
พ.ศ.2550-51
มีการค้นหาพันธุ์ข้าวเพื่อทำการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ โดยคัดเอาเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ตามคำแนะนำของ อ.เดชา สิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญที่แนะนำให้ทดลองเพาะพันธุ์ข้าว
พ.ศ. 2552
ได้นำเมล็ดพันธุ์ที่ทดลองมาเพาะในแปลง คนละ 1 กระป๋องนม เมื่อได้ต้นกล้าก็นำมาดำในนาประมาณ 1 งาน เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวปรากฏว่าได้ผลผลิตถึง 30 ถัง จึงนำเมล็ดพันธุที่ได้มาแจกจ่ายให้กับเพื่อนชาวนาคนอื่นๆ
พ.ศ.2552 – 2553
ชาวนาเริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์ทุกชนิดที่ตนเองคาดว่าจะปลูกซึ่งแต่เดิมเก็บเฉพาะพันธุ์ที่ตนเองชอบ และเริ่มมีการพูดคุยกันถึงการเก็บข้าวไว้สำหรับริโภคในครัวเรือน เพราะที่ผ่านมาชาวนาจะขายข้าวในนาหมด และซื้อข้าวสารจากตลาดมาบริโภค ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนโดยชาวนาได้กันพื้นที่สำหรับปลูกข้าวไว้บริโภคภายในครัวเรือนของตนเองครอบครัวละ 1 ไร่ และพื้นที่ที่เหลือก็จะปลูกข้าวไว้สำหรับขาย และมีการขยายแนวคิดนี้จากในครัวเรือนคณะกรรมการไปยังญาติพี่น้องเพื่อนบ้าน
พ.ศ.2554 – 2555
ในปี 2554 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของขบวนเครือข่ายข้าว เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่นาของจังหวัดพิจิตร (เช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัด) พันธุ์ข้าวที่ได้พยายามรวบรวมเก็บไว้เสียหายเกือบทั้งหมด ในตำบลหนองพยอม มี 6-7 หมู่บ้านหนัก (จากทั้งหมด 11 หมู่บ้าน) สถานการณ์ตอนนั้นทำให้เครือข่ายชาวนาในพื้นที่ต้องหาทางช่วยเหลือกันเรื่องพันธุ์ข้าว คนที่พอมีพันธุ์ข้าวเหลือก็พยายามแบ่งปันกัน จึงทำให้แนวคิดเรื่องการเก็บสต๊อกพันธุ์ข้าวเริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันหากเกิดกรณีภัยน้ำท่วมหรือแม้แต่การเตรียมพร้อมสำหรับภัยแล้ง กล่าวได้ว่าเริ่มคิดถึงการพัฒนากระบวนการกลุ่ม เครือข่ายให้เข้มแข็งมากขึ้น เริ่มมีกรขยับขยายเชื่อมเครือข่ายออกไปสู่ระดับอำเภอ ต่างอำเภอมากขึ้น เกิดการหาเพื่อน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยเฉพาะเรื่องพันธุ์ข้าวกับคนต่างพื้นที่มากขึ้น
เริ่มมีครัวเรือนปลูกข้าวไว้กินในครอบครัว ประมาณ 30-40 ครัวเรือน การปลูกข้าวไว้กินเอง ยังทำให้แต่ละครัวเรือนได้ลดรายจ่ายบางส่วน คือ ไม่ต้องเสียเงินซื้อข้าวกิน เพื่อนชาวนารายอื่นๆ เริ่มเก็บข้าวไว้สำหรับบริโภคภายในครัวเรือนของตนเอง มีการนำความรู้ประสบการณ์ไปแลกเปลี่ยนกับชาวนาต่างอำเภอ เช่น อำเภอวังทรายพูน มีการแลกเปลี่ยนเม็ดพันธุ์ข้าวข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด เกิดเครือข่ายชาวนาระดับจังหวัด มีเวทีแลกเปลี่ยนต่อกันอย่างต่อเนื่อง
มีการขยายผลจากการเก็บข้าวเปลือกไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือนก็มีการเก็บเม็ดพันธุ์ข้าวสำหรับเพาะปลูกและได้ขยายสมาชิกจาก 50 ครอบครัวมาเป็น 400 ครอบครัว มีการเชิญผู้รู้ ผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำนามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเทคนิคการปลูกข้าวแต่ละชนิด และได้ประยุกต์เอาความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการปลูกข้าวมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิตลง
พ.ศ.2556 – 2557
ราคาข้าวในระบบตลาดสูง เนื่องจากในขณะนั้นรัฐบาลมีนโยบายการรับจำนำข้าว จึงทำให้ชาวนาส่วนใหญ่หันไปปลูกข้าวนาปรังกันมากขึ้น แต่ก็ไม่ใครละทิ้งเจตนารมณ์เดิมคือชาวนาทุกครอบครัวต้องมีแปลงที่ดินสำหรับปลูกข้าวไว้บริโภคในครัวเรือนกินเองอย่างน้อยครอบครัวละ 10% และในช่วงเวลานี้เองเครือข่ายชาวนาก็มีการขยายการแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช พันธุ์ข้าวกับชาวนาต่างอำเภอ จังหวัด ตำบล เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เช่น มีการเพาะชำข่า ตะไคร้ พืชผักสวนครัวต่างๆ ไว้ในช่วงฤดูน้ำหลาก เมื่อเกิดน้ำท่วมนาข้าวได้รับความเสียหายชาวนาไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และพอถึงช่วงที่นำลดก็นำพันธุ์พืชที่เพาะไว้แจกจ่ายกันไปปลูก
พ.ศ. 2558 -2559
มีการจัดตั้งโรงสีชุมชน และได้รับการสนับสนุนลานตากข้าวจากรัฐบาล มีการคัดพันธุ์ข้าวที่จะปลูก
พ.ศ. 2559
เครือข่ายได้มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่า ชาวนาหนึ่งครอบครัวต้องเก็บข้าวเปลือกไว้อย่างน้อยครอบครัวละ 3 ตัน ซึ่งรวมถึงข้าวสำหรับบริโภคในครัวเรือน และข้าสำหรับใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูกในปีถัดไป ข้าวที่เป็นที่นิยมปลูกในพื้นที่ปัจจุบันมีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์พิษณุโลก 80 (เป็นข้าวนาปี) และพันธุ์พิษณุโลก 2 (ข้าวนาปรัง) ซึ่งเป็นข้าวที่เน้นขายในตลาดหลัก ความจริงเป็นข้าวที่ไม่อร่อย มีลักษณะแข็ง ส่วนใหญ้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร นำไปทำแป้ง นำไปเป็นส่วนประกอบของสี นำไปเป็นส่วนผสมของยาเม็ด ฯลฯ แต่หากเป็นพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกกินในครัวเรือน เช่น พันธุ์หอมมะลิ ก็จะเหมาะกับการกินแบบใช้ช้อนส้อมทั่วไป ส่วนพันธุ์ขาวกาด จะเหมาะกับการกินแบบคลุกน้ำพริก เหมาะกับการกินแบบใช้มือคลุกน้ำพริกเหมือนสมัยโบราณ เนื่องจากข้าวมีความเหนียวหนืด ปั้นได้ง่าย
โรงสีข้าวชุมชน จะได้รำข้าวและปลายข้าวของเหล่าสมาชิกที่นำมาสีเพื่อนำไปขายต่อ นำมาเป็นค่าบำรุงโรงสี ส่วนแกลบ จะเน้นแจกฟรีให้กับผู้ที่สนใจ บางครั้งคนที่มาขอแกลบเป็นประจำ ก็จะช่วยจ่ายค่าบำรุงให้บ้าง ที่จ่ายค่าบำรุงให้บ้าง เนื่องจากต้นทุนวัสดุอุปกรณ์เครื่องสีข้าวมีราคาสูงและจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่อย่างต่อเนื่อง (ตามอายุการใช้งาน) เช่น ลูกยาง ก็ต้องเปลี่ยนเป็นประจำ ประมาณ 1-2 เดือนครั้ง ค่าไฟแต่ละเดือนของโรงสีประมาณ 3,000 บาท
เทคนิค ความรู้เกี่ยวกับการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว ในการคัดเลือกพันธุ์ข้าว ต้องแกะดูเมล็ดข้างในอย่างละเอียด เบื้องต้นต้องไม่มีลักษณะเหมือน “ท้องปลาซิว” เมล็ดต้องไม่หัก เมล็ดต้องใส เนื่องจากจะมีความแข็งแรงกว่าเมล็ดขุ่น หากนำไปสีจะไม่หักง่าย ส่วนในการเก็บเมล็ดพันธุ์จะใช้ถุงซิปและเก็บแช่ไว้ในตู้เย็น ซึ่งสามารถเก็บได้ไว้นานเป็นปี รวงข้าวที่เรียกว่า “รวงแม่” จะแก่ก่อนรวงอื่นๆ และจะตัดนำมาเก็บไว้ก่อน ส่วนใหญ่เมล็ดข้าวที่เล็กและใสจะมีความหอมกว่า โดยสามารถทดสอบได้เบื้องต้น คือ การกัดชิมส่วนท้ายเมล็ดและจะเก็บส่วน “จมูกข้าว” ไว้เพาะต่อไป
อีกปัจจัยสำคัญ คือ การเลือกพื้นที่ให้เหมาะสมกับเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิด ทักษะ ความรู้เรื่องภูมิประเทศและระดับน้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำจะเริ่มทำนาก่อน ส่วนพื้นที่สูงกว่าจะทำทีหลัง เพราะต้องคาดการณ์เรื่องระดับน้ำที่จะท่วมแต่ละพื้นที่ด้วย
เทคนิคการตั้งเครื่องสีข้าว จากการที่ได้ไปดูงานที่อื่น พบว่าหากเครื่องสีข้าวยิ่งสั่นจะยิ่งทำให้เครื่องชำรุดหรือเสียเร็วกว่าปกติ หรือถ้าเครื่องสั่นจนเกินไปจะไม่สามารถสีข้าวบางชนิดได้ โรงสีรับข้าวได้ประมาณ 3 ตันต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกประจำ
เครือข่ายชาวนาตำบลหนองพะยอม แต่ละหมู่บ้านมีการคัดเลือกสมาชิกประมาณ 5 คน ต่อหมู่บ้าน ประมาณ 55 คนของทั้งตำบล ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มหลักในการทำงาน และในปีถัดไปจะเพิ่มอีกประมาณหนึ่งเท่า โดยจะมีการพบปะพูดคุยหรือการประชุมประมาณ 3 เดือนครั้ง ในการพูดคุยแต่ละครั้งจะมีการเชิญบุคคลหรือตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ จากภายนอกชุมชนมาเข้าร่วมเป็นวิทยากรที่มาให้ความรู้ มาแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ของกลุ่ม
- กลุ่มโรงสี เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มชาวนา ผู้ดูแลโรงสี พ่อค้า เป็นต้น โรงสีข้าวเป็นพื้นที่กระจายข้อมูล ส่งต่อข้อมูลไปยังเหล่าสมาชิก โรงสีชุมชนหนองพยอมดำเนินการมาระยะหนึ่ง ก็เริ่มกลายเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ จึงเกิดการขยายแนวคิดและมีการก่อตั้งโรงสีชุมชมเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่งในตำบล
- กลุ่มเกษตรกร/ชาวนาอื่นๆ ในตำบลที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มด้านสุขภาพ กลุ่มกองทุนสวัสดิการที่เน้นเรื่องการดูแลการรักษาพยาบาลองสมาชิก กลุ่มเกษตรอินทรีย์ ที่มีการทำงานเรื่องการพัฒนาตลาด การลดการใช้สารเคมี ตัวอย่างนาที่ปลูกพันธุ์ข้าวท้องถิ่นไว้กินเองส่วนใหญ่จะไม่นิยมใช้สารเคมี (เพราะกินเอง) ภาพรวมขณะนี้มีสัดส่วนประมาณ 50 : 50 ที่เป็นลักษณะนาอินทรีย์
- สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองพยอม จัดทำทะเบียนการปลูก เชื่อมการทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต) เพื่อหาทางลดต้นทุนการผลิต การปลูกพืชทดแทน การพัฒนาที่ดิน ปุ๋ย
- สำนักงานพัฒนาชุมชน ช่วยสนับสนุนด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น package และด้านการตลาด
- สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนพื้นที่การพบปะพูดคุย เกิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกลุ่ม เครือข่าย ทำให้ได้เรียนรู้ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาองเครือข่ายชาวนาในแต่ละพื้นที่
ความเปลี่ยนแปลงที่พบคือทุกครอบครัว ร้อยละ 100 มีแปลงข้าวไว้สำหรับปลูกข้าวไว้กินเองในครัวเรือน มีการเลือกใช้พื้นที่ที่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าวแต่ละชนิด เช่น ที่ดอน ที่ลุ่มต่ำ มีการปลูกข้าวที่หลากหลายในแปลงเดียวกันไม่ปลูกเชิงเดี่ยว มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติหรือโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต มีการปรับเอาความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้
ในขณะที่ทางด้านสังคมเกิดการแลกเปลี่ยน พูดคุยระหว่างชาวนารุ่นเก่ากับชาวนารุ่นใหม่ ระหว่างชาวนาต่างอำเภอต่างจังหวัดถึงความรู้ เทคนิคการทำนา การเก็บรักษาพันธุ์ข้าว การคัดเลือกพันธุ์ เกิดเครือข่ายข้าวระดับตำบล / อำเภอและรวมตัวเป็นเครือข่ายระดับจังหวัด มีความมั่นคงทางด้านอาหาร มีทุนในการเพาะปลูก
จากการพัฒนาดังกล่าวทำให้อำเภอได้สนับสนุนจากงบเศรษฐกิจชุมชนในการจัดตั้งโรงสีข้าวชุมชน จำนวน 4 โรง ในตำบล ได้แก่ บ้านหนองพยอม บ้านหนองสโน บ้านไพเกาะ บ้านหนองนกยาง และสำนักงานพัฒนาชุมชน ช่วยสนับสนุนด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น package และด้านการตลาด
ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงการผลิตที่นำไปสู่การพึ่งตนเองของชาวนากลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายและพัฒนาเรื่องข้าว โดยในอนาคตข้างหน้าได้มีแผนที่จะดำเนินการทดลองลดพื้นที่ปลูกข้าว แต่จะพยายามให้ได้ผลผลิตเท่าเดิม เพื่อเป็นการลดต้นทุนและการเตรียมตัว ปรับตัวของแต่ละครอบครัวในการแบ่งพื้นที่นาให้กับลูกหลานรุ่นต่อไป ซึ่งต้องมีการเก็บสต๊อกข้าวไว้เป็นส่วนๆ และควรที่จะมีการเก็บไว้เพี่อขายให้กับคนในท้องถิ่น และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเครือข่าย รวมถึงฟื้นฟูพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวซึ่งในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไป บางพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้าวและการทำนาหายไป ซึ่งในกลุ่มคนเฒ่า คนแก่ จะยังนิยมทำขวัญข้าวอยู่ พิธีหลักที่คนส่วนใหญ่ยังทำอยู่ คือ พิธีรับท้องข้าว