บริบทของตำบลแม่ฟ้าหลวง ตำบลแม่ฟ้าหลวง พื้นที่ทั่วไปเป็นภูเขาสูง ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา ประกอบด้วย เผ่าอาข่า (อีก้อ), มูเซอ, เย้า, ลัวะ, ลื้อ และชนกลุ่มน้อยสัญชาติไทยใหญ่, จีนฮ่อ มีเขตพื้นที่ทางทิศเหนือติดกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และประเมียนมาร์ ทางทิศใต้ติดกับตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง และตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ทิศตะวันออกติดกับตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย และตำบลแม่ไร่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ทิศตะวันตกติดกับตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และ ตำบลเทอดไทย และประเทศเมียนมาร์ อาชีพหลัก ของคนในตำบลแม่ฟ้าหลวง ส่วนใหญ่ทำสวน ทำไร่และรับจ้าง ซึ่งมีอาชีพเสริมค้าขาย หัตถกรรมและทอผ้าชาวเขา
เส้นเวลา (พัฒนาการความเป็นมาขององค์ความรู้) “จากแดนฝิ่น สู่ถิ่น ชา กาแฟ”
ในอดีตพื้นที่ตำบลแม่ฟ้าหลวง ซึ่งประกอบไปด้วยหมู่บ้านจำนวน 19 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงและมีชาติพันธุ์ต่าง ๆ อยู่เต็มพื้นที่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการทำไร่เลื่อนลอย สภาพป่าเป็นพื้นที่ป่าหัวโล้น ข้าว ข้าวโพด มีการปลูกฝิ่น โดยมีการย้ายพื้นที่ใหม่ 1-2 ปีก็มีการเปลี่ยนพื้นที่เพราะดินเสื่อมสภาพ และเวียนมาทำในพื้นที่เดิมหากเว้นระยะไปแล้ว มีการปักแนวเขตของตนเองโดยใช้เครื่องหมายของตนเอง
เมื่อปี 2530 มีโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย เข้ามาในพื้นที่ตำบล โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 11,000 คนจาก 6 ชนเผ่า ท่ามกลางความแห้งแล้งและความเป็นอยู่แร้นแค้นที่ชาวบ้านที่ดอยตุงต้องหาทางรอดด้วยการประกอบอาชีพผิดกฎหมาย เช่น การทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่นและค้าประเวณี
เมื่อครั้งนั้นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ทรงเล็งเห็นถึงต้นเหตุของปัญหาดังกล่าวว่าเกิดจากความยากจน และการขาดโอกาสในชีวิต ทรงมีพระวิสัยทัศน์ให้คนดอยตุงสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างพึ่งพาอาศัย การดำเนินโครงการจึงเป็นไปในรูปแบบ “ปลูกป่า ปลูกคน” หรือการแก้ปัญหาความยากจนที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง และยึดหลักความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่สมดุลกับความมั่นคงทางสังคมและความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ
การปลูกป่าที่ดอยตุง คือ จุดเริ่มต้นแห่งการคืนความสมบูรณ์จากสภาพป่าเขาที่เสื่อมโทรม พื้นดินที่หมดสภาพ ลำธารที่แห้งเหือด ให้กลายเป็นป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ป่าเศรษฐกิจและป่าใช้สอยในสัดส่วนที่พอเหมาะเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนบนดอยตุงในปัจจุบัน
สิ่งที่ควบคู่กับการปลูกป่า คือ การปลูกคนให้พึ่งพาตนเองได้และพัฒนาชุมชนต่อไป โดยมีการสร้างงานและอาชีพหลากหลายสำหรับคนที่มีความถนัดต่างกัน เช่น การปลูก การแปรรูปกาแฟและแมคคาเดเมีย การผลิตงานหัตถกรรม งานบริการ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และเกษตรภูมิทัศน์ เป็นต้น สำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้นำในอนาคตนั้น ได้มีโครงการพัฒนาดอยตุงฯ พัฒนาการศึกษาในโรงเรียนรวม 8 แห่งเพื่อสร้างพลเมืองที่ดี ให้มีภูมิคุ้มกันพัฒนาตนเองและสังคมได้อย่างต่อเนื่อง
เมื่อปี 2532 โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย เข้ามาส่งเสริมการปลูกกาแฟโดยใช้แนวคิด “คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคน” ได้นำเอากาแฟต้นแรกเข้ามาวิจัยและร่วมกับชุมชนเพื่อการปลูกในพื้นที่โครงการโดยมีแบรนด์ของตนเองว่า “กาแฟดอยตุง” ซึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ของกาแฟจะเป็นผลผลิตที่มาจากพื้นที่บ้านป่ากล้วย ตำบลแม่ฟ้าหลวง
เมื่อปี 2537 มีการขยายพื้นที่ในการปลูกกาแฟให้มากขึ้น โดยโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ได้จัดสรรพื้นที่ให้กับชาวบ้านในการดูแล ส่วนทางโครงการเป็นผู้รับซื้อผลิตเมล็ดสดจากชาวบ้านตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อปี 2546 สำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ยกย่องหลักการพัฒนาของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการลดปริมาณการปลูกพืชเสพติดและแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน
ปี 2560 เมื่อชาวบ้านหรือชุมชนสามารถผลิตกาแฟได้ด้วยตนเอง และขยายพื้นที่การปลูกโดยใช้หลัก “คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคน” และให้ความรู้ชาวบ้านในการแปรรูปกาแฟได้ด้วยตนเอง ชาวบ้านจึงมีการรวมกลุ่มกันเพื่อแปรรูปกาแฟ เพื่อยกระดับสินค้าและสร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งของชุมชน ในพื้นที่ 2 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านป่ากล้วย บ้านริเช ซึ่งจากเดิมชาวบ้านจะขายผลสดให้ทางโครงการเพียงอย่างเดียว โดยปัจจุบันทางโครงการฯ ก็ให้โอกาสชุมชนในการพัฒนาตนเองด้วยหลักการ “เราช่วยเขา เพื่อให้เขาอยู่ด้วยตัวเองให้ได้” และมีการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรจากกาแฟ ก็มาส่งเสริมการปลูกชาอินทรีย์และการแปรรูปในพื้นที่ตำบล
มุมมององค์ความรู้ 4 มิติ
1) หลักคิด/แนวคิด
1. การสร้างรายได้ให้คนในชุมชน
2. การแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า
3. การแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่น
4. การให้ชาวบ้านมีความรู้ก่อน สร้างเครือข่าย แบ่งแปลงในการดูแล
5. การรวมกลุ่มเพื่อการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า การขายเมล็ดสดไม่มีความแน่นอนต้องการให้ชุมชนเก็บรักษาและสร้างทางเลือกให้ชุมชน
2) กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน
1. สมเด็จย่ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการปลูกป่า (สร้างรายได้จากการปลูกป่า/รายวันโดยกรมป่าไม้ วันละ 30-40 บาท)
2. นำผู้ติดยาเสพติดไปบำบัด (ไม่เอาความผิดใด ๆ) เมื่อคุณภาพดีขึ้นชาวบ้านก็ไม่ยุ่งกับยาเสพติด
3. ปราบปรามการปลูกฝิ่นและการตัดไม้ (โดยใช้หลักของการตักเดือนและแก้ไขปัญหาร่วม)
4. ฝึกอาชีพให้กับผู้ติดยาเสพติด
5. การให้ความรู้กับชุมชน ในการจัดการ พัฒนา ส่งเสริม และเปิดโอกาสในการพัฒนา (แปรรูป/เปิดร้านกาแฟของตนเอง)
3) เทคนิค/ทักษะ
1. การใช้การแก้ปัญหาทางสังคม นำการแก้ปัญหาโดยกฎหมาย
2. ศักยภาพของผู้นำ และวิสัยทัศน์ (สนใจ เข้าใจ ใส่ใจ)
3. ความพร้อมของชุมชน การเสียสละในการทำงาน
4. สภาพสังคม เศรษฐกิจที่บีบบังคับให้ต้องทำและต้องพัฒนา
5. โอกาสเรื่องเงินในการลงทุนเพื่อการพัฒนา (ใช้โครงการประชารัฐ 500,000 บาท) ในการแปรรูป เครื่องสีเชอรี่ 3 ครั้ง สีสาน 1 เครื่อง เครื่องคั่ว 1 เครื่อง เครื่องซีน 1 เครื่อง อาคาร 1 หลัง
6. การปรับโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแปรรูป
4) กลไกการจัดการ(กลุ่ม/องค์กร/เครือข่าย/บทบาท)
คณะกรรมการหมู่บ้านป่ากล้วย มีสมาชิก 95 หลังคาเรือน และคณะกรรมการกลุ่ม 7 คน โดยมีบทบาทผลิต/แปรรูป/จำหน่าย
ผลการเปลี่ยนแปลง
จากการดำเนินการดังกล่าวสามารถทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม ด้วยการสร้างทางเลือกในการจำหน่ายกาแฟ และได้มีสินค้าในชุมชนซึ่งสามารถพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐมากขึ้น ส่งผลให้บ้านป่ากล้วยมีผลผลิตส่งให้โครงการฯ กว่า 500,000 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งกาแฟที่ใหญ่ที่สุด รวมความสามารถในการพัฒนาช่องทางในการจำหน่ายที่มากขึ้นทั้งการจำหน่ายตรงให้กับลูกค้า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่และช่องทางออนไลน์
ภาพความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากความพร้อมของผู้นำชาวบ้าน และความร่วมมือของคนในชุมชนที่เห็นความสำคัญรวมถึงภาคีเครือข่ายภาครัฐที่ได้เข้ามาร่วมสนับสนุน โดยในอนาคตได้มีการวางแผนร่วมกันในการพัฒนาเรื่องการตลาด การสืบหาความรู้เรื่องการคั่วเมล็ดที่ได้มาตรฐาน การเชื่อมโยงหน่วยงานและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และการยกระดับให้เป็นวิสาหกิจชุมชน