กลุ่มชุมชนบ้านหนองหว้า ตำบลบ้านซ่อง ตั้งขึ้นจากจุดแข็งและทุนชุมชน ที่ทุกคนมองเห็นร่วมกัน ตำบลบ้านซ่องตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่ของตำบลโดยประมาณแล้วอยู่ที่ 43,052 ไร่ แบ่งเป็นหมู่บ้านทั้งหมด 13 หมู่บ้าน มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ประมาณ 10,080 คน หรือประมาณ 2,179 หลังคาเรือน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก อาชีพส่วนใหญ่ของประชากรในพื้นที่ คือ อาชีพเกษตร ทำสวน ทำไร่ทำนา และประชากรบางส่วนประกอบอาชีพเสริมคือ การค้าขาย
“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดและผักปลอดสารพิษ” เริ่มต้นจากการรวมตัวกันของสมาชิก 12 ราย ในปี พ.ศ.2548 เป็น “กลุ่มผู้ปลูกผักบ้านหนองหว้า” ได้รับกาสนับสนุนงบประมาณจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จำนวน 50,000 บาท และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านซ่องอีก 50,000 บาท เป็นทุนดำเนินการโดยใช้ที่ดินของธนาคารออมสิน กว่า 20 ไร่ ให้กลุ่มเช่าในราคาถูก เพื่อใช้เพาะปลูกผัก จนกระทั่งผลผลิตผักของกลุ่มได้รับใบรับรองมาตรฐาน GAP ด้านพืช
ต่อมาในปี พ.ศ.2549 ที่ดินที่ธนาคารออมสินให้เช่านั้น ธนาคารได้บอกขายไป ทำให้สมาชิกเกิดปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน สมาชิกจึงรวมตัวกัน เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ได้รับคำตอบที่ว่า “ใช้พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดแต่ได้ผลตอบแทนสูง” คือ ใช้ประโยชน์จากเล้าหมูที่เลิกกิจการไปแล้ว อีกทั้งมีการมอบหมายให้สมาชิกบางส่วนของกลุ่มศึกษาเรื่อง ‘เห็ดฟางโรงเรือน’ และมีการออกไปทัศนะศึกษาดูงาน ค้นคว้าข้อมูล เกี่ยวกับการเพาะเห็ด ในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการเพาะเห็ดเป็นอาชีพ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนากลุ่ม
ต่อมาปี พ.ศ.2550 สมาชิกกลุ่มได้เริ่มทดลองเพาะเห็ด แบบลองผิดลองถูกมาหลายต่อหลายครั้ง เริ่มต้นใช้ทะลายปาล์มเป็นวัตถุดิบหลัก และใช้หม้อนึ่งลูกทุ่งชนิดถัง 200 ลิตรเป็นถังอบไอน้ำ เมื่อการผลิตเห็ดฟางได้ผลดี สมาชิกของกลุ่มเพิ่มขึ้นเป็น 30 ราย 40 โรงเรือน ต่อมาปี พ.ศ.2551 ได้ริเริ่มคิดค้นทดลองใช้ถังอบไอน้ำประสิทธิภาพสูง ชนิดเหล็กแผ่นน้ำวนมาใช้แทนหม้อนึ่งลูกทุ่งชนิดถัง 200 ลิตรที่มีอยู่ ทดลองใช้กากของมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลัก แทนที่ทะลายปาล์ม ซึ่งได้รับความผลสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ คือ ลดระยะเวลาในการผลิตลง ผลผลิตก็ยังมีคุณภาพที่ดีขึ้น ต่อมาได้มีการกำหนดแปลนมาตรฐานของโรงเรือนเพาะเห็ดให้เหมาะแก่การผลิต และได้รับงบประมาณจากโครงการ ‘อยู่ดีมีสุข’ เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท มาสมทบต่อเนื่อง
พ.ศ. 2552 ทางกลุ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ได้รับองค์ความรู้ต่างๆ มากมาย จนเป็นที่มาให้เกิดการจดทะเบียนเป็น “กลุ่มวิสาหกิจเห็ดและผักปลอดสารพิษบ้านหนองหว้า” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยมีการรวบรวมเห็ดและผักปลอดสารพิษที่กลุ่ม และเป็นตัวแทนจำหน่ายให้แก่สมาชิกกลุ่ม ซึ่งการทำงานทั้งหมดนี้ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ร่วมกันผลิต ร่วมกันขาย”
เป้าหมายสำคัญ
เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน ตำบลบ้านซ่อง คือ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกและชุมชน ให้กินดีอยู่ดี และยกระดับฐานะทางการเงินของคนในชุมชนให้ดีขึ้น
จากคำขวัญของการรวมกลุ่มที่ว่า ‘ติดอาวุธทางปัญญา’ ได้แสดงถึงเจตนารมณ์ ที่สมาชิกกลุ่มทุกคนได้กำหนดจุดมุ่งหมายของตนเองไว้อย่างมั่นคง แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความรู้ และสติปัญญาให้แก่สมาชิกและทุกคนในชุมชน ซึ่งผลผลิตที่เกิดขึ้นภายใต้การผลิตของสมาชิกเครือข่ายนั้น ยังคงสร้างจุดยืน และความเป็นเอกลักษณ์ของผลิตผลที่เกิดขึ้นที่ว่า “ดอกใหญ่ เนื้อแน่น น้ำหนักดี สีได้” อีกทั้งกลุ่มมี “โรงงานคัดแยกผลิตภัณฑ์” และ “โรงงานบรรจุภัณฑ์” จะเป็นผลให้กลุ่มพัฒนาผลผลิตของชุมชนจาก “กลุ่มวิสาหกิจ” ไปสู่ “ธุรกิจ SME” เพื่อให้การตลาดของกลุ่มมีศักยภาพในการผลิตมากขึ้น และสามารถเป็นสินค้าส่งออกสู่ต่างประเทศได้ โดยผลผลิตที่ไปสู่ตลาดสากลได้นั้น ต้องมีคุณภาพมาตรฐาน สะอาด และปลอดภัย ก่อนถึงมือผู้บริโภค
นอกจากนั้น กลยุทธ์ทางการตลาด ยังเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่ม คือ รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ดี มีรูปลักษณ์โดดเด่น และเป็นที่จดจำของผู้บริโภค การแปรรูปผลิตผลให้เก็บถนอมที่ยาวนานขึ้น และมีมูลค่าที่มากขึ้นไปด้วยเช่นกัน มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อการจำหน่ายสู่ท้องตลาด และดีต่อชื่อเสียงของชุมชนที่ต้องมาพร้อมกับคุณภาพ และความปลอดภัยที่ดี
กลยุทธ์และวิธีการทำงานกลุ่ม
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดและผักปลอดสารพิษ ใช้ยุทธศาสตร์การสร้างคุณภาพของสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่า และคุณค่าของสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ โดยกลยุทธ์และวิธีของการทำงาน คือ ใช้ระบบกลุ่มในการบริหารจัดการ มีการกำหนดเกณฑ์การบริหารจัดการ คือ
- นำระบบของธนาคารของตนเองมาใช้ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ตามประสาชาวบ้านว่า “การบริหารเงินด้วยตนเอง” คือ เก็บเอง จ่ายเอง ออมเอง ซึ่งทางกลุ่มจะเป็นศูนย์กลางให้ข้อมูลความรู้ แนวทางการผลิต และการทำบัญชีรายได้ของแต่ละเครือข่าย เมื่อเกษตรกรสามารถขายผลผลิตของตนเองได้แล้ว จะต้องแบ่งเป็นเงินออมส่วนตัว เพื่อการลงทุนเพื่อการผลิตครั้งต่อไป โดยเก็บเงินออมจากรายได้เห็ด กิโลกรัมละ 3 บาท และต้องช่วยสมทบทุนให้แก่กลุ่มของตนจากการขายผลผลิต ร้อยละ 1 บาทของรายได้ทั้งหมดที่สามารถขายได้ เพื่อกลุ่มเองจะได้มีเงินทุน ที่สามารถต่อยอดโครงการ และต่อยอดการผลิตของตนได้ต่อไป โดยไม่ขัดสนในการลงทุน
- วิจัย และศึกษาค้นคว้าสร้างมาตรฐาน เมล็ดพันธุ์ให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อผลผลิตจะได้มีมาตรฐานเท่าเทียมกันทุกๆ หมู่บ้าน และทุกๆ เครือข่ายที่เข้าร่วมกลุ่ม
ปัจจัยความสำเร็จและการเปลี่ยนแปลงในชุมชน
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดและผักปลอดสารพิษ ได้มีการพัฒนา และเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้รับความร่วมมือ และความช่วยเหลือจากหลายกลุ่ม หลายองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนโดยแต่ละภาคส่วนนั้น ล้วนมีบทบาทที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้
1.แกนนำ หรือคณะกรรมการ ผู้อาสารับหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของกลุ่ม ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบ และพิจารณาถึงความเหมาะสมในทุกๆ ด้าน รวมถึงต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายเกี่ยวกับการเงิน มีความซื่อสัตย์ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น และคนหมู่มากได้
2.ชุมชน เนื่องจากกลุ่มมีแกนนำที่เข็มแข็ง ทำงานอย่างเสียสละ จึงทำให้กลุ่มมีผลงาน และเกิดผลลัพธ์ที่ดี เป็นผลให้คนในชุมชนเกิดความไว้วางใจ น่าเชื่อถือในรากฐานของกลุ่ม จึงมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นตัวอย่างจากสมาชิกเก่าที่มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจริง ฐานะทางการเงินมั่นคงขึ้น อีกทั้งยังมีเงินออมของครอบครัวอีกด้วย “การบอกปากต่อปาก” ทำให้คนในชุมชนเข้ามาเป็นสมาชิก และเข้าร่วมลงทุน โดยนำเอาผลผลิตทั้งเห็ด และพืชผักปลอดสารพิษของตนมาร่วมกับเครือข่าย ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการขายเห็ดและผักปลอดสารพิษ ปีหนึ่งๆ มากกว่า 15 ล้านบาท จากสมาชิก 255 ราย 655 โรงเรือน
3.การประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการกลุ่ม ได้นำความสำเร็จ และความรู้เชิงวิชาการมาถ่ายทอดแก่ผู้สนใจงานด้านเกษตรกรรม รวมถึงการอธิบายถึงบทบาทของกลุ่มที่มีผลต่อฐานะหน้าที่ทางการงาน การเงิน และความเป็นอยู่ต่อคนในชุมชน ทำให้ปัจจุบันกลุ่มสามารถขยายเครือข่ายไปสู่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ 14 พื้นที่
4.หน่วยงานต่างๆ มีบทบาทสำคัญ ที่เป็นปัจจัยให้กลุ่มมีการเดินหน้าสู้เป้าหมายสูงสุดได้ ซึ่งต้องถือว่าได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการสนับสนุนงบประมาณ คำปรึกษา สถานที่ อุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์ใช้สอยในด้านต่างๆ รวมไปถึงสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งแต่ละหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนในด้านต่างๆ ดังนี้
– สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ให้ความช่วยเหลือในด้านงบประมาณสนับสนุนโครงการ พัฒนาต่อยอดเครือข่าย และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเตรียมการด้านเอกสารที่จะขยายเครือข่ายจากวิสาหกิจไปสู่ ธุรกิจ SME
– เทศบาลตำบลบ้านซ่อง ให้ความช่วยเหลืออุปกรณ์ในด้านการประชาสัมพันธ์ รวบไปถึงงบประมาณสนับสนุนการจัดการประชุม สถานที่จัดการประชุมสมาชิกเครือข่าย
– การเกษตรอำเภอ และจังหวัด ให้ความช่วยเหลือในด้านของคำปรึกษาในการผลิตวัตถุดิบหลักเพื่อการเพาะเห็ด และเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวต่างๆ ให้แก่กลุ่มนำไปกระจายสู่สมาชิกเครือข่าย
– กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความช่วยเหลือในด้านของงบประมาณสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการเกษตร และการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการเกษตร
– องค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณสนับสนุนการขยายเครือข่าย รวมไปถึงสถานที่ในการจัดกิจกรรมเพื่อประโยชน์แก่คนในชุมชน
จากการทำงานที่ผ่านมา กลุ่มต้องการยกระดับพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่รวบรวมเอาสาระความรู้ระหว่างการปฏิบัติงานของกลุ่ม รวมถึงข้อปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมเป็นรูปเล่ม เพื่อสะดวกแก่การค้นคว้า ศึกษาเรียนรู้ข้อมูลของต่างเครือข่ายที่ต้องการผลิตเห็ดและผักปลอดสารพิษที่ดีในแนวเดียวกันกับ กลุ่มวิสาหกิจเห็ดและผักปลอดสารพิษบ้านหนองหว้า และต้องการให้ชุมชนยกระดับจากพื้นที่เกษตรกรรม เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ชุมชน ตำบลบ้านซ่อง หากนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวจะได้ซื้อผลิตผลของกลุ่มที่สด และมีคุณภาพที่ดีอีกด้วย