ตำบลวังดาล อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี มี 16 หมู่บ้าน มีครัวเรือนทั้งหมด 2,235 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 7,400 คน มีพื้นที่ประมาณ 24,009 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวนผัก ผลไม้ตามฤดูกาล ประมงน้ำจืด รองลงมาคือรับจ้างทั่วไป และเป็นพนักงานบริษัท ประชากรส่วนหนึ่งมีฐานะยากจน มีปัญหาความไม่มั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน
ในปี 2551 แกนนำในตำบลได้ร่วมกันได้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลวังดาลขึ้นมา และได้ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถชุมชน ด้านเศรษฐกิจและทุน รวมทั้งโครงการบ้านมั่นคงชนบทและโครงการที่ดินชนบท เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน
ส่วน ‘โครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลวังดาล’ เริ่มดำเนินการในปี 2561 เนื่องจากตำบลวังตาลเคยได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการที่ดินชนบทและโครงการบ้านมั่นคงชนบทจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ทำให้คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนฯ มีข้อมูล เห็นสภาพปัญหา ความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของคนในตำบล เมื่อ พอช. มีโครงการบ้านพอเพียงชนบท เพื่อสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนครอบครัวที่มีสภาพทรุดโทรมและฐานะยากจน งบประมาณไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนฯ จึงได้ประชุมร่วมกัน หลังจากนั้นจึงลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนในตำบล
นายสวัสดิ์ พรมมี รองประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลวังตาล เล่าถึงกระบวนการดำเนินโครงการว่า จากการสำรวจข้อมูลของคณะทำงานสภาฯ พบว่า มีผู้เดือดร้อนที่ต้องการจะซ่อมแซมบ้าน จำนวน 118 หลัง ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ เช่น บ้านหลังคารั่ว ห้องน้ำไม่มี สร้างเพิ่มจากเดิมที่มีแต่เสากับโครงหลังคา ต่อเติมบ้านเนื่องจากหน้าบ้านฝนสาด ปลวกกินคานและเสาบ้าน
“เมื่อได้สภาพปัญหาและรายชื่อของผู้ที่เดือดร้อนแล้ว คณะทำงานสภาฯ จึงลงพื้นที่รายหมู่บ้านเพื่อทำความเข้าใจในการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบท และให้แต่ละหมู่บ้านจัดลำดับผู้ที่เดือดร้อน และจัดประชุมเพื่อรับรองสิทธิ์ครัวเรือนที่สมควรจะได้รับความช่วยเหลือ พอมาถึงระดับตำบล คณะทำงานสภาฯ ได้เปิดเวทีประชุมร่วม เพื่อรับรองผู้เดือดร้อน และจัดลำดับความเดือดร้อนอีกครั้ง เพื่อให้ได้ครอบครัวที่จะได้รับการซ่อมแซมบ้านก่อน โดยในปี 2561 สภาองค์กรชุมชนตำบลวังดาลได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช. จำนวน 50 หลัง” ประธานสภาเล่าถึงกระบวนการและขั้นตอนการทำงาน
ส่วนเรื่องระบบการบริหารจัดการ คณะทำงานได้ตกลงร่วมกันว่า จะบริหารโครงการบ้านพอเพียงชนบทแบบกองทุนหมุนเวียน เพื่อต่อยอดจากโครงการที่ดินชนบทเดิมที่สมาชิกบางส่วนได้ออมเงินเพื่อจัดตั้งกองทุนไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว และยังทำให้ตำบลมีกองทุนที่จะนำไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนรายอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้เดือดร้อนที่ได้รับการสนับสนุนตามโครงการบ้านพอเพียงฯ ต้องสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการช่วยเหลือกันและขยายสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนเพิ่มขึ้น
ส่วนการซ่อมสร้างบ้าน สมาชิกจะไม่ได้รับงบสนับสนุนเป็นเงินสด แต่จะได้รับวัสดุและอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านตามที่คณะทำงานฯ สำรวจมา ไม่เกินหลังละ 18,000 บาท (ไม่รวมค่าแรงในการซ่อมสร้าง) และจะต้องคืนเงินให้กับกองทุนตามงบประมาณที่ใช้จริง เดือนละ 500 บาท ระยะเวลาใช้คืนภายใน 3 ปี นอกจากนี้จะต้องออมเงินเดือนละ 50 บาท และค่าบริหารจัดการ 50 บาทเข้ากองทุน (รวม 600 บาทต่อเดือน) ส่วนเงินออมสมาชิกนั้น เพื่อประกันความเสี่ยง กรณีสมาชิกไม่สามารถชำระคืนได้ และสมาชิกสามารถถอนเงินออมคืนได้หลังจากที่ชำระเงินคืนกองทุนหมดแล้ว
รองประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลวังดาล เล่าต่อไปว่า การดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบทในช่วงเริ่มแรกนั้น สมาชิกและคณะกรรมการบางส่วนยังไม่เข้าใจโครงการทั้งหมด จึงเกิดปัญหาการสั่งวัสดุผิดจากที่ต้องใช้จริง บางหลังสั่งวัสดุมาแล้วไม่พอใจ เพราะคุณภาพไม่ได้ตามที่ต้องการ คณะกรรมการจึงได้ประชุมเพื่อหาวิธีแก้ไข โดยให้เจ้าของบ้านมีส่วนร่วมในการถอดแบบรายการวัสดุที่ต้องใช้ และสั่งของโดยตรงกับร้านค้า หากจะเปลี่ยนวัสดุต้องแจ้งคณะกรรมการให้ทราบก่อนที่จะดำเนินการเปลี่ยนกับทางร้าน ทำให้ลดปัญหาลงได้
“ส่วนเรื่องวัสดุหากซื้อเกินจากงบประมาณที่ได้รับ เจ้าของบ้านจะต้องจ่ายเพิ่มเองตามวัสดุที่ซื้อไป รวมทั้งเรื่องค่าแรงในการซ่อมแซม เจ้าของบ้านจะต้องออกเอง บางหลังเป็นช่างอยู่แล้วก็จะทำเอง บางหลังก็จ้างแรงงานในชุมชน และบางหลังก็ซ่อมแซมโดยใช้การร่วมด้วยช่วยกันของคณะกรรมการและ เมื่อเริ่มซ่อมแซม
คณะกรรมการแต่ละหมู่จะลงตรวจสอบเป็นระยะ เริ่มจากขั้นตอนการสั่งซื้อและส่งวัสดุ ระหว่างการก่อสร้าง และลงตรวจรับโครงการหลังการซ่อมแซมบ้านเสร็จ” นายสวัสดิ์ พรมมี กล่าว
นางสาวบังอร พิมพ์อรัญ ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านในปี 2562 บ้านเลขที่ 78 หมู่ที่ 1 เล่าว่า ตนเองมีอาชีพทำแหนมปลาส้ม และเป็นสมาชิกเกษตรอินทรีย์ตำบลวังดาล มีรายได้น้อย สภาพบ้านไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะคานบ้านทำจากไม้ยูคาฯ หลังคามุงด้วยสังกะสี สร้างมานานหลายปีจนหลังคารั่วและผุพัง เวลาฝนตกต้องหากะละมังมารองเพื่อไม่ให้พื้นเปียก เมื่อได้รับงบประมาณมาซ่อมแซมก็ทำให้บ้านดีขึ้น เวลาฝนตกหลังคาไม่รั่วแล้ว รู้สึกดี ปลอดภัย
“ส่วนเรื่องงบประมาณที่ได้รับ แม้จะเป็นเงินไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้เยอะ คนที่มีรายได้น้อยก็สามารถส่งเงินคืนเข้ากองทุนได้ และการช่วยเหลือแบบนี้เป็นการช่วยที่ถึงมือคนที่เดือดร้อนจริงๆ จึงอยากให้มีโครงการแบบนี้อีก” นางสาวบังอรกล่าวทิ้งท้าย
การดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลวังดาล โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลวังดาลบริหารงานแบบกองทุนหมุนเวียนเพื่อคืนงบประมาณกลับมาที่กองทุน จึงทำให้มีงบประมาณหมุนเวียนไปช่วยผู้เดือดร้อนรายอื่นได้อีก 7 หลัง รวมมีการซ่อมแซมบ้านในปี 2561 รวม 57 หลัง (พอช.สนับสนุน 50 หลัง) ส่วนในปี 2562 สภาองค์กรชุมชนตำบลวังดาลได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 15 หลัง และหากมีเงินหมุนเวียนจากสมาชิกที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้วกลับคืนเข้ากองทุน (ทุกเดือน) เพิ่มขึ้นอีก ก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในตำบลได้อย่างทั่วถึง..!!