ตำบลวังดาล อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลวังดาล บอกว่า เดิมมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านไร่เมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจึงแตกขยายออกเป็นหลายหมู่บ้าน ปัจจุบันตำบลวังดาลมี 16 หมู่บ้าน มีครัวเรือนทั้งหมด 2,235 ครัวเรือน มีพื้นที่ประมาณ 24,009 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวนผัก ผลไม้ตามฤดูกาล ประมงน้ำจืด รองลงมาคือรับจ้างทั่วไป และเป็นพนักงานบริษัท นอกจากนี้ในตำบลยังมีการรวมกลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่ กลุ่มปลูกพลู กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มปลูกผักสวนครัว เป็นต้น
ส่วน ‘กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลวังตาล’ ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 ได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรชุมชนตำบลวังดาล (สภาฯ จัดตั้งเมื่อ 5 สิงหาคม 2551) โดยคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลวังตาลได้ไปเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์จากพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบกับในปี 2559 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถชุมชน ด้านเศรษฐกิจและทุนชุมชน คณะทำงานสภาฯ จึงเสนอแผนการรวมกลุ่มกันทำเกษตรอินทรีย์ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้ว
นายสวัสดิ์ พรมมี คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลวังดาล ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลวังดาล เล่าว่า เนื่องจากในตำบลวังดาลมีชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์อยู่บ้างแล้ว จึงอยากสนับสนุนให้ชาวบ้านคนอื่นๆ ได้มารวมกลุ่มกันทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และทำการเกษตรอย่างปลอดภัย โดยเริ่มจากการสำรวจข้อมูลเรื่องเกษตรทั้งตำบล และเชิญชวนให้ชาวบ้านสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เริ่มแรกมีสมาชิก 12 คน จากนั้นจึงจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เกษตรอินทรีย์ขึ้นมา ให้สมาชิกถือหุ้นๆ ละ 20 บาท คนหนึ่งไม่เกิน 100หุ้น สมาชิกสามารถกู้ยืมเงินจากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อนำไปทำการเกษตรได้ และจะมีการประชุมกลุ่มทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน เพื่อติดตามและแจ้งข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรอินทรีย์ในตำบลจำนวน 64 ราย มาจาก 12 หมู่บ้าน มีเงินออมทรัพย์รวมกันประมาณ 52,000 บาท
“ตอนที่เริ่มทำเกษตรอินทรีย์ มีสมาชิก 12 คน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อถือว่าจะสามารถทำเกษตรแบบปลอดสารคมีได้จริง และยังติดการใช้สารเคมี เพราะมีศัตรูพืชเยอะและโรคเชื้อรา จึงคิดว่าถ้าไม่ใช้สารเคมีไม่น่าเอาอยู่ แต่เมื่อมีหน่วยงานเข้ามาส่งเสริมให้ความรู้ และกลับไปลองทำก็พบว่าเมื่อใช้สารอินทรีย์แล้ว แมลงไม่ค่อยมี แต่ถ้ามีเราจะใช้วิธีป้องกันโดยการใช้สูตรสมุนไพรในการดูแล กำจัดแมลง เช่น ใช้ใบชะมัด มาขยี้ใส่น้ำ ผสมน้ำฉีด แมลงเต่าทองก็จะหนี ผักที่ปลูกในแปลงรสชาติจะดีกว่า อร่อยกว่าการใช้สารเคมี และยังทำให้สุขภาพดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น น้ำดี ดินดี จึงอยากเชิญชวนให้คนอื่นหันมาทำเกษตรอินทรีย์และบริโภคผักอินทรีย์มากขึ้น” ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์บอก
ส่วนการฝึกอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกนั้น มีกิจกรรมต่างๆ เช่น อบรมเรื่องการฟื้นฟูสภาพดิน การทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ ปุ๋ยคอกจากขี้ไก่ ขี้วัว ปุ๋ยชีวภาพน้ำหมัก ปลา ซากสัตว์ ฯลฯ ทำเพื่อใช้กันในครัวเรือนและจำหน่าย เช่น ปุ๋ยหมักอินทรีย์ จำหน่ายกระสอบละ 40 บาท นำเงินที่ขายได้มาเข้ากลุ่มเพื่อปันผลให้สมาชิกในปลายปี
ส่วนปุ๋ยที่เป็นน้ำหมักชีวภาพ ทางกลุ่มจะนำไปจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ พร้อมกับผักอินทรีย์ เช่น โรงพยาบาลกบินทร์บุรี ตลาดเขียวร่วมกับโรงเรียนหนองศรีวิชัยเดือนละ 1 ครั้ง รพ.สต.วังดาล ตามวันประชุม
ของ อสม. เป็นต้น ซึ่งการทำปุ๋ยหมักนี้ได้รับการสนับสนุนจาก กศน.ตำบลวังดาลที่สนับสนุนงบประมาณและช่วยสอนวิธีการทำปุ๋ย
การปลูกพืชผักอินทรีย์และการจำหน่าย นอกจากสมาชิกกลุ่มจะปลูกผักในพื้นที่ของตนเองแล้ว ยังมีแปลงปลูกผักรวมของกลุ่มอีก 2 แปลง เนื้อที่รวม 20 ไร่ โดยมีการบริหารจัดการร่วมกัน คือ รายได้จากการขายผักแปลงรวมจะเข้าหักเข้ากลุ่ม 15 % เพื่อใช้ในการลงทุน และเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า
ส่วนผักที่สมาชิกปลูกและจำหน่าย เช่น ผักบุ้ง ถั่วพลู ผักปัง ฟักทอง มันเทศ ผลไม้ เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ มะม่วง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสินค้าแปรรูปที่สมาชิกนำไปจำหน่ายเพิ่มเติม เช่น ทอดมันหัวปลี น้ำลูกหม่อน แหนมปลาส้ม แหนมหมูส้ม น้ำพริก ฯลฯ ทำให้สมาชิกมีรายได้จากการขายผักและสินค้าต่างๆ ประมาณรายละ 5,000 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลวังดาลยังเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อื่น เช่น ถือหุ้นร่วมกับเครือข่ายสหกรณ์เกษตรอินทรีย์จังหวัดปราจีนบุรี จำกัด ทำให้มีแหล่งจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่แน่นอน โดยเฉพาะ Lemon Farm สาขาสนามชัย ซึ่งจะมารับสินค้าสัปดาห์ละ 4 วัน คือ อาทิตย์ อังคาร พุธ และศุกร์
ตลาดผักอินทรีย์ โรงเรียนบ้านหนองศรีวิชัย
นายธวัชชัย คล้ามฤทธิ์ หมอดินประจำตำบลวังดาล สมาชิกเกษตรอินทรีย์ตำบลวังดาล เล่าว่า ตนทำเกษตรมานาน แต่มาเริ่มทำแบบอินทรีย์ทั้งหมดในปี 2545 เนื้อที่ 30 ไร่เศษ ปลูกพืชหลายชนิดรวมกัน ทั้งในน้ำและบนบก เช่น ทำนาผักบุ้งไทย น้ำเต้า ฟัก มะเขือยาว พริก ทำสวนมะนาว กล้วยน้ำว้า ส้มโอ ฯลฯ โดยใช้วิธีปลูกพืชแต่ละชนิดแซมกัน ทำให้มีรายได้อย่างน้อยเดือนละ 8,000 บาท
“ใช้พื้นที่ทุกตารางเมตรให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ส่วนผลผลิตมีให้เก็บขายทุกวัน หมุนเวียนสลับกันไป บางครั้งก็ทำส่งไม่ทัน ผมรู้สึกว่าพอหันมาทำเกษตรอินทรีย์แล้ว ทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้น ได้บริโภคผักที่ปลูกเอง รู้สึกปลอดภัย สุขภาพคนในครอบครัวก็ดีขึ้น และยังเป็นผู้ผลิตและส่งต่อสินค้าที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภคอีกด้วย” เกษตรกรรายนี้กล่าวด้วยความภูมิใจ
การดำเนินของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลวังดาล เป็นตัวอย่างของการรวมกลุ่มเพื่อนำไปสู่การพัฒนา จากเดิมที่ชาวบ้านเคยใช้สารเคมีในไร่นาที่มีอันตรายต่อผู้กินและผู้ใช้ เปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์ที่มีความปลอดภัยและยังเชื่อมโยงการทำงานกับเครือข่ายระดับตำบล/จังหวัด ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีช่องทางการตลาดใหม่ๆ
นอกจากนี้สภาองค์กรชุมชนตำบลวังตาลยังเปิดศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำเกษตรปลอดภัย และมีเป้าหมายที่จะขยายฐานสมาชิกให้ครอบคลุมทั้งตำบล เพื่อสร้างความปลอดภัย และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนได้