พื้นที่ตำบลทุ่งหลวง แต่เดิมผู้คนเรียกว่า “ทุ่งหลง” เพราะในอดีตจะเป็นเมืองลับแลที่เมื่อมีคนเดินทางผ่านมาที่ทุ่งแห่งนี้ส่วนมากจะหลงทางกัน ต่อมาชื่อที่เรียกก็มีการใช้ภาษาให้เป็นสิริมงคลกับพื้นที่และดีต่อประชาชน จึงใช้ชื่อ “ทุ่งหลวง” เป็นที่เรียกกัน จากลักษณะพื้นที่เป็นที่ลุ่มสลับกับภูเขา พื้นที่บางส่วนเป็นเขตของป่าสงวนพุยาง มีป่าไม้เบญจพรรณในพื้นที่ มีเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดเล็ก 1 แห่ง คือ เขื่อนพุยาง มีลำห้วยแห้งและลำห้วยทับใต้เป็นแห่งน้ำธรรมชาติให้เกษตรกรใช้ทำการเกษตร ตำบลทุ่งหลวงมีพื้นที่จำนวนทั้งหมด 67,663 ไร่
ปี 2552 แบ่งเป็นเขตการปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 2 เขต มีสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 12 คน คณะบริหารมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีชุมชนจำนวน 16 หมู่บ้าน มีครัวเรือน 3,835 ครัวเรือน มีประชากร 13,315 คน แบ่งเป็นชาย 6,608 คน หญิง 6,707 คน ประชาชนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา ทำไร่ ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ นอกนั้นแบ่งเป็น รองลงมารับจ้าง และค้าขาย
จากการวิเคราะห์ศักยภาพตำบลของสภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งหลวง ได้เห็นปัญหาภาพรวมและสาเหตุ มาจากเรื่องที่ทำกินที่มีไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาในการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิต การมีครอบครัวขยาย หรือครอบครัวใหญ่ ทำให้เกิดการขาดแคลนเงินทุนในการซ่อมสร้างบ้าน-ที่อยู่อาศัย ทุนประกอบอาชีพ จากเดิมที่เคยมีที่อยู่-ที่ทำกิน ชาวบ้านได้ขายให้กับนายทุน ให้กับเจ้าของฟาร์มไก่ ฟาร์มหมูในพื้นที่ เมื่อไม่มีรายได้ ขาดแคลนเงินทองมาใช้จ่าย จึงขายที่ดินและเงินที่ได้มาก็ไม่พอเลี้ยงชีพ ชาวบ้านบางรายยังพอมีที่ดินเหลืออยู่บ้างก็ประสบปัญหาทำกิน เพาะปลูกไม่ได้ เนื่องจากน้ำในฟาร์มหมูไหลลงมาท่วมพื้นที่ สร้างความเสียหายซ้ำอีก นอกจากนี้ยังไม่มีทางเข้า-ออก เพราะนายทุนซื้อที่ดินข้างเคียงไว้หมดแล้ว
สภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งหลวงจึงร่วมกับภาคี เครือข่าย อาทิ ผู้นำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณะสุข สตรีอาสา ปรึกษา พูดคุย การแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยจัดตั้งคณะทำงาน จัดทำผแผนการทำงานลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลผู้เดือดร้อน (หรือกลุ่มเป้าหมาย) โดยนัดผู้เดือดร้อนมาร่วมประชุม ซึ่งมีชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน ผู้ที่มีที่อยู่อาศัยทรุดโทรม คับแคบ (ครอบครัวที่มีสมาชิกมาก) จนกระทั่งเกิดการรวมกลุ่มร่วมกันแก้ไขปัญหา มีการวิเคราะห์ปัญหาในภาพรวม พบข้อมูลคือ ปัญหาการว่างงาน ไม่มีทุนประกอบอาชีพ ปัญหาหนี้สิน ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ที่ดินทับซ้อนและที่ดินที่กำลังหลุดจำนอง จึงนำมาสู่การหาแนวทางการแก้ไขในเวลาต่อมา
พบว่าประชาชนในตำบลทุ่งหลวงมีสภาพปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย และปัญหาด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มีพื้นที่ทับซ้อน 86 ครอบครัว บุกรุกพื้นที่รัฐ 43 ครอบครัว ตกสำรวจจากการออกเอกสารสิทธิ์ 98 ครอบครัว มีหนี้สินที่ดินทำกินกำลังหลุดมือ 567 ครอบครัว ไม่มีที่ดินทำกิน 176 ครอบครัว ถูกไล่ออกจากที่ดิน 3 ครอบครัว สภาพบ้านทรุดโทรม 150 ครอบครัว อาศัยญาติไม่มีบ้านของตนเอง 348 ครอบครัว มีบ้านอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 43 ครอบครัว มีหนี้สิ้น 1,278 ครอบครัว ไม่มีทุนประกอบอาชีพ 86 ครอบครัว
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ปัญหาที่ประชากรเกือบทุกคนประสบ คือ การเป็นหนี้สิน ทั้งในและนอกระบบ ซึ่งมีจำนวนถึง 1,278 ครัวเรือน ปัญหานี้ถือเป็นต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ เรื่องหนี้สินเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตทางการเกษตรมีต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อยู่ในภาวะขาดทุนต่อเนื่อง การมีภาวะค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาสุขภาพของคนในครัวเรือน เมื่อมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้เกษตรกรและประชากรในชั้นแรงงานส่วนใหญ่มีปัญหาหนี้สินจากการกู้ยืมทั้งในระบบและนอกระบบ นำไปสู่ปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การบุกรุกพื้นที่ของรัฐ ที่ดินหลุดมือ การถูกไล่ออกจากที่ดิน การอาศัยอยู่กับญาติ/ไม่มีบ้าน การอยู่อาศัยในบ้านที่ไม่มีความมั่นคง เช่น การเช่าหรือการอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ หรือการอยู่บ้านที่ไม่แข็งแรงและไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น กระต๊อบ การอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เป็นต้น
แม้จะมีกระบวนการแก้ไขปัญหามาแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายปัญหาได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้ว แต่ปัญหาทั้งหมดยังคงวนเวียนอยู่ในชุมชน อย่างไรก็ตาม หลังจากได้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อให้ทราบและเข้าใจถึงปัญหาและความเชื่อมโยงของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ ได้นำไปสู่การปรึกษาหารือร่วมกันของคนในตำบลโดยใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่กลางในการร่วมกันเพื่อค้นหาแนวทางวิธีการในการจัดการกับปัญหาต่อไป
สภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งหลวงเน้นในเรื่อง การบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวตำบลทุ่งหลวงสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืนโดยมีการจัดตั้ง “กองทุนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยตำบลทุ่งหลวง” ซึ่งมีเงินทุนการบริหารจัดการจากกองบุญวันละบาท และจากการสนับสนุนของ พอช. โดยกองทุนฯ จะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนงาน ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการที่กลุ่มได้ร่วมกันกำหนดขึ้นมา การจัดตั้งกองทุนที่ดินและที่อยู่อาศัยตำบลทุ่งหลวง เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ ในรูปแบบของการรวมกลุ่มกันพึ่งพาตนเอง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านฐานะและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน สร้างวิถีชีวิตแบบพอเพียง สร้างคุณค่าบนผืนดินที่ได้มา ตลอดจนสร้างปัจจัยส่งเสริมให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่ในสังคมด้วยความมั่นคงและยั่งยืน ตามแผนงานโครงการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยตำบลทุ่งหลวง
ปัจจุบัน กองทุนมีสมาชิก 224 ราย มีเงินทุนจำนวน 1,700,000 บาท สมาชิกได้รับการช่วยเหลือในการซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยและส่งเสริมอาชีพไปแล้วจำนวน 194 ราย ยังคงมีสมาชิกที่รอรับการช่วยเหลืออีกจำนวน 730 ราย ทั้งนี้ กองทุนฯ ได้มีการบริหารงานและดำเนินงาน ผ่านโครงสร้างและกลไกต่าง ๆ
การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาการขออนุมัติเงินการส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิกกองทุน ไปแล้วจำนวน 62 ราย ได้แก่ อาชีพเลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงไก่ ปลูกหน่อไม้ ปลูกผักสวนครัว หลังจากนั้นได้มีการลงพื้นที่ ติดตามเสริมหนุนกลุ่มอาชีพภายในตำบล พร้อมรับฟังปัญหาของการดำเนินโครงการ
สนับสนุน การซ่อมแซม/สร้างที่อยู่อาศัยของผู้เดือดร้อนทั้งการให้เปล่า ให้ยืมตามระเบียบของกองทุนเพื่อนำไปซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ทั้งสิ้นจำนวน 194 ครอบครัว เป็นเงินทั้งสิ้น 4,886,540 บาท เป็นแบบเงินทุนหมุนเวียนไม่มีดอกเบี้ย และเป็นการพัฒนาที่ดินในการสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้เดือดร้อนถูกไล่ที่ มีจำนวน 1 แปลง ไถ่ถอนโฉนดที่ดินให้สมาชิกที่จะถูกยึดจากนายทุนจำนวน 2 แปลง
สภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งหลวงโดยคณะกรรมการกองทุนยังได้มีการผลักดันแนวนโยบายการใช้ที่ดินของป่าสงวนแห่งชาติพุยาง โดยสภาเทศบาลมีมติเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ของป่าเสื่อมโทรม จำนวน 4,332 ไร่ เพื่อดำเนินงานตามโครงการพัฒนาเป็นที่ดินทำกินให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่มีที่ทำกิน ตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี โดยมีการกำหนดพื้นที่ครอบคลุม 2 ตำบล คือ ต.ยางหัก ต.ทุ่งหลวง
ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนผู้ครอบครองที่ดินจำนวน 86 แปลง เพื่อขอสิทธิ์ในการทำกินและเอกสารสิทธิ์ สภาเทศบาลตำบลทุ่งหลวงลงมติเห็นชอบให้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติพุยาง จำนวน 4,332 ไร่เป็นเข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยตามหนังสือของผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เมื่อ 27 เมษายน 2559 มีคณะทำงานพัฒนาพื้นที่สาธารณะเหมืองเขาพระเอก มีสำรวจพื้นที่แนวเขตประสานแนวทางการพัฒนาร่วมกับ ตำบลดอนแร่ ตำบลห้วยไผ่ ในการบริหารจัดการน้ำและปรับปรุงเป็นศูนย์การเรียนรู้ มีการจัดทำแผนที่ภาษี และสร้างความเข้าใจแบบของผังเมืองร่วมกับ มหาวิทยาลัยรามคำแหงและสำนักโยธาและผังเมืองในขอบเขตตำบล
ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และทำความเข้าใจปัญหาภายใต้กระบวนการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดการคิดหาทางออกอย่างเป็นลำดับขั้น การตระหนักและเห็นความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เกิดแนวทางดำเนินการแก้ไขและพัฒนามีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ การร่วมมือกันขับเคลื่อนการพัฒนาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองของกลุ่ม ชุมชน หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการพัฒนาการทำงานเชิงบูรณาการ ที่จะส่งผลให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ การมีทุนหรืองบประมาณสำหรับการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกระบวนการขับเคลื่อนอาศัยระยะเวลาในการดำเนินงานแต่ละขั้น กับคนหลายคน หลายกลุ่ม หลายฝ่าย ในหลายๆ เงื่อนไขและสถานการณ์ อาจยาวนานนับช่วงอายุของคนๆหนึ่งหรือมากกว่านั้นก็เป็นได้
ข้อมูลโดย สภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งหลวง จ.ราชบุรี
จัดทำและเรียบเรียงโดย นายวันชัย เหี้ยมหาญ / นายสุรินทร์ ตำหนิงาม