ตำบลธรรมเสนมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบและที่ราบเชิงเขา ทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มมีแหล่งน้ำธรรมชาติ คลองบางสองร้อย และคลองส่งน้ำชลประทานไหลผ่าน ทิศตะวันตกเป็นที่ราบสูงเชิงเขา ไม่มีระบบชลประทาน เขตการปกครองแบ่งออกเป็น 11 หมู่บ้าน มีประชากร 6,255 คน 1,773 ครัวเรือน
มี ถ้ำสาริกา ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 บริเวณถ้ำมีโบราณสถานที่สำคัญและมีพระบรมปรมาภิไธย ย่อ จปร. ภายในถ้ำเป็นหินงอกหินย้อย และมีถ้ำเรียกว่า “ถ้ำเย็น” โดยทางวัดได้จัดทำสวนสาธารณะที่สวยงามร่มรื่นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน ป่าชุมชนเขาปากกว้าง ตั้งอยู่ระหว่างหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 10 บริเวณป่าเป็นป่าเบ็ญจพรรณ บริเวณเขาปากกว้างยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมีการสร้างสถานที่พักผ่อนมีศาลากลางน้ำและพืชสมุนไพรนานาชนิด และคลองบางสองร้อยที่เปรียบเสมือนคลังอาหารและเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงคนธรรมเสน
เมื่อปี 2553 ตำบลธรรมเสนได้มีกลุ่มองค์กรของภาคประชาชนที่จะทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาตำบล จากการชักชวนของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัดราชบุรี และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. เข้ามาชี้แจงและสร้างความเข้าใจถึงบทบาทภารกิจของสภาองค์กรชุมชน และได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2554 ปัจจุบันมีนายฉลิม นุชพันธ์ เป็นประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลธรรมเสน มีสมาชิก 44 คน มาจากกลุ่มองค์กรครอบคลุมทั้ง 11 หมู่บ้าน
โดยมีการพัฒนาศักยภาพแกนนำสภาองค์กรชุมชนร่วมกันในระดับจังหวัด ชี้ให้เห็นถึงวิธีการแนวทางการจัดการตนเองอย่างยั่งยืน ทำให้ตำบลเห็นความสำคัญของแผนพัฒนาที่มาจากภาคประชาชน และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยที่ผ่านมาพื้นที่ของตำบลธรรมเสนประสบปัญหาในด้านต่างๆ เช่น ปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ หนี้สินครัวเรือน ยาเสพติด น้ำท่วม ระบบชลประทาน ฯลฯ
ในปี 2562 ได้มีการบูรณาการงานในพื้นที่และเป็นที่มาของการร่วมกันกำหนด เป้าหมาย ของการพัฒนาตำบลร่วมกัน มีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาตำบลคือ “ตำบลธรรมเสนปลอดหนี้ มีสุขภาพดี มีรายได้มากกว่ารายจ่าย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและอนุรักษ์” และได้กำหนด ยุทธศาสตร์ ภาคชุมชนไว้ดังนี้ 1) การพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามวิถีชีวิตของชุมชน 2) การพัฒนาด้านสังคมสู่ความสุขอย่างยั่งยืน 3) การฟื้นฟูและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม 4) การพัฒนาด้านชลประทาน
ตำบลธรรมเสนมีรูปธรรมการทำงานโดยใช้สภาองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยปรับปรุงคลองที่รกร้าง โดยการขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขินให้สามารถกักเก็บน้ำให้กับเกษตรกร โดยมีความยาวประมาณ 27 กิโลเมตร ซึ่งพาดผ่าน 10 ตำบล รวมทั้งตำบลธรรมเสนด้วย หลังจากมีการช่วยฟื้นฟูลำคลองแล้ว และคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนได้มีการวิเคราะห์และเห็นต้นทุนของตำบลมีภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหาร เก็บไว้รับประทาน เช่น การทำปลาแดดเดียว ปลาส้ม ประกอบกับตำบลมีต้นทุนธรรมชาติที่คลองบางสองร้อยพาดผ่าน ทำให้สามารถเป็นแหล่งปลาทางธรรมชาติให้กับคนในตำบล
จึงเป็นที่มาของการใช้ต้นทุนทั้งสองด้านในการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน จุดเริ่มจากนางบัวพันธ์ แก้วจินดา ปราช์ญชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ในการแปรรูปปลา ทำปลาแดดเดียวที่มีรสชาติอร่อย ขณะเดียวกันได้มีการหนุนเสริมจากโครงการเสริมสร้างรายได้จากสำนักงานเกษตรอำเภอโพธาราม มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในตำบล จึงเกิดการร่วมกลุ่มเพื่อเสริมสร้างรายได้ของกลุ่ม ชื่อกลุ่มผลิตภัณฑ์ ปลาแปรรูปคลองบางสองร้อย เริ่มต้นมีสมาชิก 10 คน มีนายนายเฉลิม นุชพันธ์ เป็นประธาน ต่อมามีการขับเคลื่อนงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันสมาชิก 44 คน ซึ่งมารวมตัวกัน ได้รับการพัฒนาความรู้เพิ่มเติมจาก กศน. ต.ธรรมเสน เรื่องการแปรรูปอาหาร เพิ่มเติมเรื่องการทำปลาส้ม ระยะแรกทดลองทำไว้รับประทานเองในกลุ่มสมาชิก และเริ่มเป็นที่รู้จักของคนในกลุ่มบ้าน จากนั้นขยายเพิ่มวงกว้างไปเรื่อยๆ เป็นที่รู้จักของคนในตำบล และเริ่มนำออกจำหน่าย
โดยกลุ่มจะจัดหาวัตถุดิบจากในหมู่บ้านและตำบล เช่น บางครั้งซื้อจากชาวบ้านที่หาปลาได้จากคลองบางสองร้อย หรือหากเป็นช่วงฤดูปลาวางไข่มีกติกาห้ามจับปลาก็จะหาซื้อวัสดุจากชาวบ้านที่เลี้ยงบ่อปลาในพื้นที่ ในการแปรรูปปลาแดดเดียวมีการจัดทำอาทิตย์ละ 1 ครั้งๆ ละประมาณ 60 กิโลกรัม โดยสมาชิกมาช่วยกันทำ ตั้งแต่ขั้นตอนการทำปลา หมักเกลือ และนำปลาตากแดด
ผู้ใหญ่เยาว์ หรือ พี่เฉลิม นุชพันธ์ เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการดำเนินการของกลุ่มว่า “การแปรรูปลา เราใช้ปลาหลายชนิด เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสวาย หรือปลาอื่นๆ แล้วแต่วัตถุดิบที่เราหาได้ในพื้นที่ เทคนิคสำคัญของการทำขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการหมัก ปลาแต่ละชนิดใช้เวลาไม่เท่ากันเพื่อให้ได้รสชาติที่พอดีเหมาะสม อร่อย เช่น ปลานิลใช้เวลาที่เหมาะสม คือ 35 นาที ถ้ามากกว่านี้จะเค็มเกินไป หลังจากตากแดดแล้วนำบรรจุใส่ถุงพาสติกกันน้ำ แช่น้ำแข็ง เพื่อรอการจำหน่าย ซึ่งกลุ่มจะนำไปจำน่ายทุกวันที่ตลาดเกษตรกร เช่น หน้าอำเภอโพธาราม ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรจังหวัดราชบุรี โรงพยาบาลดำเนินสะดวก โรงพยาบาลยุพราชจอมบึง หมุนเวียนไป 5 วัน ยกเว้นเสาร์อาทิตย์ จะมีสมาชิกผลัดกันไปขาย แต่ละอาทิตย์จะได้กำไรหักทุนประมาณ 5,000 บาทต่อครั้ง สมาชิกจะมีรายได้จากค่าแรงที่มาร่วมจัดทำหรือไปขายของ วันละ 300 – 500 แล้วแต่งานมากน้อย เดือนหนึ่งๆ สมาชิกจะมีรายได้ประมาณ 1,500 บาท เป็นขั้นต่ำนอกจากการมีรายได้สมาชิกยังนำความรู้ที่ได้รับการอบรม นำกลับไปทำรับประทานเองที่บ้านทำให้ไม่ต้องไปซื้อหา ให้เสียเงินเสียทอง เป็นการประหยัดรายจ่ายได้ทางหนึ่ง”
ภาพ การแปรรูปปลานิลแดดเดียว ปลาย่างรมควัน
ต่อมาเมื่อมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป รวมถึงตำบลใกล้เคียง จึงได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนภายใต้ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนแปรรูปคลองบางสองร้อย” มีการเพิ่มรูปแบบการแปรรูปเพิ่ม เช่น การทำห่อหมก การทำปลาทอดมัน และมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ ในตำบล เช่น กลุ่มผัก เนื่องจากการแปรรูปต้องใช้วัตถุดิบเพิ่มเช่น ใบยอ ถั่วฝักยาว ข้าวโพด ดอกอัญชัญ ดอกแค มะเขือเปาะ ฯลฯ กลุ่มก็จะจัดซื้อพืชผักจากในตำบล ทำให้เกิดการเกื้อกูลกันระหว่างกลุ่มหนุนเสริมซึ่งกันและกัน
นี่คือรูปธรรมของการขับเคลื่อนงานกลุ่ม ซึ่งการขับเคลื่อนงานนอกจากจะพึ่งตนเองเป็นหลัก ยังมีการเชื่อมโยงกันเองระหว่างกลุ่ม เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคี เช่น อบต. ที่หนุนเสริมการประกอบอาชีพเสริม เกษตรตำบล/อำเภอ/กศน. ให้ความรู้เป็นวิทยากรด้านการแปรรูป พอช. สนับสนุนงบประมาณ 30,000 บาท และอบรมการจัดทำแผนธุรกิจชุมชน (Community-Business Modle Canvas) เป็นต้น การขับเคลื่อนงานดังกล่าวสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนหลายด้าน ดังนี้
1) สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เฉลี่ยครัวเรือนละไม่น้อยกว่า 6,000 /เดือน
2) หนุนเสริมเกื้อกูลกันระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับกลุ่มแปรรูป
3) เกิดการบริหารจัดการกลุ่มองค์กรโดยชุมชนและนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในตำบล
4) เกิดการเชื่อมโยงการทำงานกับ กลุ่มองค์กร ภาคีภาครัฐ ไม่น้อยกว่า 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย อบต. เกษตรตำบล/อำเภอ กศน. เป็นต้น
5) เกิดความภาคภูมิใจรูปธรรมการเคลื่อนงานโดยภาคชุมชน สร้างความเชื่อมั่น และเป็นบทเรียนการทำงานของชุมชน
นี่คือส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจของคนบางสองร้อย ตำบลธรรมเสน และตำบลยังคงมีสิ่งดีที่ต้องการพัฒนาต่อยอดโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวชุมชน ที่มีต้นทุนลำคลองบางสองร้อย ถ้ำสาลิกา ป่าชุมชนเขาปากกว้าง วัดเกาะตาพุด วัดธรรมเสน วัดถ้ำสาลิกา จึงมีแผนที่จะพัฒนาตำบลและทีมงานให้ก้าวหน้าขึ้นไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน คือ 1) พัฒนาคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทำงานและมีองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวชุมชน 2) พัฒนาสถานที่และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในตำบล 3) พัฒนาและต่อยอดเศรษฐกิจชุมชน สู่การท่องเที่ยวตามวิถีชุมชน
เรียบเรียงโดย นายเฉลิม นุชพันธ์
ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลธรรเสน โทร 089-8267838