พอช./ สัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ‘ตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง’ นำร่อง 5 ตำบล 5 ภาค เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ มีตัวชี้วัด 4 กรอบ 51 ประเด็น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายชุมชนเข้มแข็ง ด้านนักวิชาการเสนอความเห็นว่าการขับเคลื่อนเรื่องตัวชี้วัดจะต้องทำให้ “สั้น ง่าย กระชับ” สอดคล้องกับผู้นำชุมชนที่เสนอว่าตัวชี้วัดฯ ไม่ควรจะมีมาก เพราะจะทำให้ไกลเป้าหมาย ส่วนปีหน้า พอช.จะขับเคลื่อนจังหวัดละ 1 ตำบลทั่วประเทศ กทม.และปริมณฑล 3-5 เขต/ตำบล
วันนี้ (26 สิงหาคม) ระหว่างเวลา 9.00-15.00 น. มีการจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ‘ตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค ที่ปรึกษาคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมสัมมนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประมาณ 120 คน
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวถึงความสำคัญและความเป็นมาของการขับเคลื่อนตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งว่า จะทำอย่างไรให้เรื่องตัวชี้วัดกลายเป็นเครื่องมือหรือกระบวนการวิเคราะห์การทำงานของชุมชน เพื่อชุมชนโดยชุมชน และอยากเห็นพี่น้องชุมชนใช้ตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งเป็นเครื่องมือในการพัฒนา โดยที่ผ่านมา พอช. เปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาที่สำคัญมาก คือ เดิมมีการคิดงานพัฒนาจากบนลงล่าง พอหมดโครงการก็หมดไป ปัญหาจึงเกิดขึ้น คือชุมชนก็จะอ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะถูกคนอื่นจัดการ สิ่งที่สำคัญคือ การเปลี่ยนงานพัฒนาจากล่างขึ้นบน เป็นกระบวนการคิดแบบใหม่ที่สำคัญ เพราะให้พี่น้องชุมชนวิเคราะห์ปัญหาและต้นทุนของตนเอง วางแผนและเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาของตนเอง ร่วมกันวิเคราะห์และดูผลการทำงานของตนเอง เป็นการพัฒนาที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก
“ตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง เป็นการนำเครื่องมือมาวิเคราะห์ตัวเองว่าบรรลุเป้าหมายหรือยัง หรือผิดทิศทางแล้วต้องเลิกทำ หรือเร่งทำเพื่อให้บรรลุผล แต่หากเราไม่รู้ว่าเราจะทำอะไร จะทำอย่างไร จะทำไปถึงไหน พอทำไปก็จะเบลอ หรือทำไปเรื่อยๆ ทำตามคนอื่น แต่หากเราสามารถมองเห็นตัวเอง และงานตัวเองได้ชัดเจน การทำงานนี้ก็จะสนุก และมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนมากขึ้น” นายชัชวาลย์กล่าว
นางสาวจันทนา เบญจทรัพย์ คณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า ตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งมี 4 กรอบ คือ 1.คนมีแนวคิดและความสามารถเพิ่มขึ้น 2.องค์กรชุมชนเข้มแข็ง มีความสามารถในการบริหารจัดการ 3.คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น และ 4.เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงความสัมพันธ์ โครงสร้าง และนโยบาย โดยมีรายละเอียดตัวชี้วัดทั้งหมดจำนวน 51 ตัวชี้วัด โดยในเดือนเมษายน 2562 ได้เริ่มจัดเวทีชี้แจงสร้างความเข้าใจเพื่อขับเคลื่อนเรื่องตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งในตำบลนำร่อง 5 ภาค คือ ภาคเหนือ ตำบลลำประดา จังหวัดพิจิตร ภาคอีสาน ตำบลกุดหว้า จังหวัดกาฬสินธุ์ ภาคกลางและตะวันตก ตำบลหนองโรง จังหวัดกาญจนบุรี ภาครุงเทพฯ ปริมณฑล และตะวันออก เมืองภาษีเจริญ กรุงเทพฯ และ ตำบลท่าทราย จังหวัดนครนายก และภาคใต้ ตำบลเขาแก้ว จังหวัดนครศรีธรรมราช
“เป้าหมายของการขับเคลื่อนตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง คือ ระดับชุมชน ชุมชนสามารถเลือกใช้ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาในพื้นที่ และจะใช้ตัวชี้วัดกี่ตัว หรือตัวไหนก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องทำทั้ง 4 กรอบ หรือ 51 ตัวชี้วัด ซึ่งในส่วนของ พอช. เป็นการนำไปสู่การปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดจากปริมาณไปสู่คุณภาพมากขึ้น ส่วนระดับนโยบายจะมีการเชื่อมโยงตัวชี้วัดกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนงานงบประมาณต่อไป” นางสาวจันทนากล่าวถึงเป้าหมายการขับเคลื่อน
นางสาวจันทนากล่าวด้วยว่า จากการจัดเวทีทั้ง 5 ภาค มีข้อสรุปคือ ส่วนแรก จากการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับกระบวนการจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดของ พอช.ในช่วงที่ผ่านมา มีความเห็นว่า การขับเคลื่อนเรื่องตัวชี้วัดเป็นเรื่องที่หนัก ต้องมีการจัดทำรายละเอียดมาก ส่งผลทำให้การทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์มีความสำคัญลดน้อยลง รวมถึงขาดการวิเคราะห์อย่างชัดเจนว่าการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงหรือบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่ อย่างไร ดังนั้นจึงควรมีการแปลงเรื่องตัวชี้วัดให้เป็นเครื่องมือในการทำงานที่สนุก สะดวก ง่าย และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง
ส่วนที่สอง สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องตัวชี้วัด คือ คนทำงาน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องต้องมีความเข้าใจว่าจะทำเรื่องนี้ไปทำไม ทำเพื่ออะไร ต้องการเห็นผลอะไรจากสิ่งที่จะทำ เป็นการตกผลึก/พัฒนาวิธีคิดให้ชัด ก่อนที่จะกำหนดวิธีการ โดยมีตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือในการช่วย กำกับทิศทางการทำงาน
ส่วนที่สาม หลักเกณฑ์สำคัญในการกำหนดตัวชี้วัด ประกอบด้วย 1. ตัวชี้วัดดังกล่าวต้องมีความเป็นตัวแทน (Representative) ของตัวชี้วัด โดยอาจต้องหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวชี้วัดต่างๆ 2. สามารถวัดได้/จับต้องได้/นับเป็นตัวเลขได้ (Objective/Quantifiable) 3. สามารถชี้ทิศทางสำคัญได้ (Leading Direction) ซึ่งวิธีการหาตัวชี้วัดที่จะชี้ทิศทางได้ อาจใช้กระบวนการให้น้ำหนัก (Weight) จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ส่วนที่สี่ เงื่อนไขในการกำหนดตัวชี้วัด 1.ควรมีจำนวนน้อยที่สุด (Minimum) แต่ต้องเป็นตัวชี้วัดที่มีความหมาย (Meaning) มากที่สุด 2.ต้องมีการออกแบบระบบการจัดเก็บข้อมูลตามตัวชี้วัด (System of Data Collection) เชื่อมโยงระบบต่างๆ มีการวิเคราะห์เครื่องมือการทำงานของเจ้าหน้าที่ หาช่องว่าง และพัฒนาเครื่องมือใหม่
ส่วนที่ห้า ควรมีการจำแนกระดับของการวัด ซึ่งที่ประชุมมีข้อเสนอว่าอาจจำแนกเป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับการสื่อสารภายนอก/การติดตาม (Monitor) ระดับนโยบาย จำนวนตัวชี้วัดไม่ควรมีมากจนเกินไป 2. ระดับองค์กร ซึ่งเชื่อมโยงตัวชี้วัดชุมชนกับระบบการบริหารจัดการ พอช. เข้าด้วยกัน และ 3.ระดับชุมชน/กลุ่ม ควรเป็นตัวชี้วัดที่ง่าย โดยคนในพื้นที่ร่วมกำหนดว่าควรมีเรื่องใดบ้าง จำนวนเท่าไร มีกระบวนการเรียนรู้และทบทวนอย่างต่อเนื่อง
รศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร นักวิชาการอาวุโส เสนอความเห็นว่า การขับเคลื่อนเรื่องตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งจะต้องพยายามทำให้ “สั้น ง่าย กระชับ” อาจจะคิดหาคำง่ายๆ ส่วนรายละเอียดให้พื้นที่หรือชุมชนไปคิดต่อ เช่น กรอบที่ 1 คน : มีคนเก่งขึ้น (ผู้นำ+ชาวบ้าน) ทำแบบง่ายๆ และในหมู่บ้านก็ไปทำต่อ กรอบที่ 2 คุณภาพชีวิต เขาใช้คำว่า “ปัญหาคลี่คลาย” กรอบที่ 3 การบริหารองค์กร : “มีกลไกการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง และกรอบที่ 4 การสร้างความสัมพันธ์ใหม่ : มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและนโยบาย
นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ ผู้นำชุมชนอาวุโสจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสนอว่า ตัวชี้วัดไม่ควรมีมาก เพราะเป้าหมายที่ไกลเกินไปจะทำยาก ประสบการณ์จากการทำและบอกตัวเองว่าเป็นชุมชนเข้มแข็ง คือ 1. โครงสร้างผู้นำ ต้องไม่เป็นผู้นำเดี่ยว หรือเรียกว่า “สภาผู้นำ” หมายถึงท้องที่ ท้องถิ่น และตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ คัดสรรเข้ามา ในชุมชนไม่มีใครเก่งคนเดียว การที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งจะต้องนำคนเก่งมาสร้างคน สร้างทีม และคณะสภาผู้นำต้องเป็นเหมือน ครม.หมู่บ้าน กำหนดทิศทาง กำหนดเป้าหมายการพัฒนา เป็นผู้ร่างทิศทางในการทำงาน และส่งต่อสภาชาวบ้าน ในการประชุมประจำเดือน 1 ครั้ง และหากชาวบ้านเห็นด้วยก็ประกาศใช้ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดสำนึกร่วมว่าเขามีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหาและนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน
2.การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน การเข้าร่วมประชุมพร้อมเพียง ต่อเนื่อง การได้คุยกันสำคัญ เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน นำมาสู่การแก้ปัญหาและการคลี่คลายนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกัน 3.การมีข้อมูลและการนำข้อมูลมาใช้ประกอบให้เป็นแผน เมื่อก่อนเราไม่มีข้อมูล ไม่มีแผน ทำให้คนอื่นมาจัดการให้ หรือทำข้อมูลและส่งข้อมูลให้คนอื่นใช้ ตัวเองไม่เคยใช้เอง นำไปสู่ความล้มเหลว
“ตัวชี้วัดเข้มแข็งสำคัญคือ การที่ชุมชนนั้นนำข้อมูลของตัวเองมาใช้ และนำข้อมูลมาประกบเพื่อเป็นแผน เมื่อก่อนเราใช้คำว่าแผนแม่บท คือทุกเรื่อง จะนำมาสู่เรื่องอื่นๆ ในมิติต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และนำมาแยกว่าแต่ละด้านให้ใครใช้” นายโชคชัยกล่าว
นายโชคชัยยกตัวอย่างการนำแผนมาใช้ 3 ด้านว่า 1. แผนเราทำเอง ร่วมมือกันทำ ร่วมมือกันแก้ไข เช่น ด้านสังคม คนในชุมชนเป็นคนแก้ไขได้ 2.แผนที่ทำร่วม เป็นเรื่องที่ชาวบ้านอยากทำ แต่ศักยภาพไม่พอ ต้องเชิญนักวิชาการ/นักพัฒนาชุมชน/ผู้ที่เกี่ยวข้องมาเสริมงานวิชาการ ความรู้ และ 3.แผนขอ เป็นแผนที่ชุมชนทำเองไม่ได้ เป็นแผนทำขอ ใกล้ตัวสุดคือ อบต. เทศบาล และชาวบ้าน สามารถทำกว้างๆ ไว้ เป็นเหมือนการสร้างสนามบิน ขอทุกเรื่อง เรื่องสาธารณูปโภค ทำสนามบินให้แข็งแรง ทำทุกด้าน พอเครื่องบินมาลงก็สามารถรองรับได้
นายชาติชาย เหลืองเจริญ ผู้นำชุมชนอาวุโสจาก จ.ระยอง กล่าวว่า เป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ว่าชาวบ้านอย่างเราเป็นผู้กำหนดอนาคตประเทศใหม่ “การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยชาวบ้านเป็นแกนหลัก” วันนี้ทุกขบวนการของประเทศไทยทำเรื่องนี้ ผ่านองค์กร เครือข่าย มีการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม และเราจะพิสูจน์ว่าตัวชี้วัดทุกตัวเราทำได้ แต่การทำงานของเราเราวางทีละตัวๆ ใน 51ตัว และเราค่อยๆ คลี่ดู เพื่อไล่ลำดับการทำตัวชี้วัด เราจะเคลื่อนเต็มพื้นที่ และค่อยๆ ทำ ทำให้ตัวชี้วัดนี้คะแนนเต็ม เราต้องเขย่าตัวชี้วัด 4 กรอบ และนำมาสู่ 51 ตัวให้เข้มแข็งและแข็งแรงขึ้น รัฐถึงจะฟังเรา
นายประนอม เชิมชัยภูมิ ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน จ.เชียงราย กล่าวว่า ตัวชี้วัดที่ดีที่สุดคือ “การทำให้ชีวิตของผมดีขึ้นกว่าเดิม” และสิ่งที่ยอมรับโดยทั่วกันคือ พื้นฐานสำคัญของปัญหามาจากรากฐานสำคัญ คือ “ความเหลื่อมล้ำ” วันนี้พี่น้องเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง คำถามก็คือ คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นได้หรือไม่หากไม่มีที่ดินทำกิน และจะมีตัวชี้วัดข้อไหนที่จะบอกถึงการลดความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพยากร และทำให้ความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดินทำกินลดลง ความเหลื่อมล้ำเรื่องเศรษฐกิจลดลง
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และที่ปรึกษาคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง กล่าวตอนหนึ่งว่า ตัวชี้วัดของเรา อาจจะเรียกว่า “วิสัยทัศน์” คือ อยากเห็น อยากมี อยากให้เกิด หากบรรลุวิสัยทัศน์ ถือว่าบรรลุเป้าหมายของเราแล้ว ตัวชี้วัดจะมีเกณฑ์ มีเป้าหมายกี่เปอร์เซ็นต์ ตัวชี้วัดเป็นภาษาของตัวเลข หากไม่เป็นตัวเลข ไม่ใช่ตัวชี้วัด เช่น มีความสุขมากขึ้น หากไม่แปลงเป็นตัวเลขได้ ไม่ถือเป็นตัวชี้วัด
“ตัวชี้วัดนี้เปรียบเหมือนเป้าหมายให้ชุมชนเข้มแข็ง และตัวชี้วัดนี้อาจไม่ดีที่สุด แต่จะเป็นตัวชี้วัดที่มีความหมาย หากเราสร้างตัวชี้วัดนี้เอง และนำตัวชี้วัดนี้ไปเทียบกับชุมชนตลอดเวลาจะเป็นแรงขับให้ชุมชนไปข้างหน้า หากทุกชุมชนขับเคลื่อนตรงนี้จะเป็นการปฏิรูปประเทศไทย และต่อไปนี้หน่วยงานต่างๆ ที่เข้าไปในชุมชนจะต้องพิจารณาตัวชี้วัดนี้ ประเทศไทยอาจจะมีนวัตกรรมการกำหนดตัวชี้วัดนวัตกรรมใหม่ๆ นี้” ผศ.ดร.จิตติกล่าว
นอกจากนี้ ผศ.ดร.จิตติ ได้ยกตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง เพื่อจัดการปัญหาของตนเอง เช่น 1.ผู้นำชุมชนหลากหลาย (หลายกลุ่ม อาชีพ) เก่ง (ถ่ายทอดความรู้ พัฒนาให้คนอื่นเก่งได้ด้วย) มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติ มีผู้นำคนรุ่นใหม่ + คนหน้าใหม่ (ที่เข้ามาทำงานพัฒนา) 2.หน่วยงานสามารถทำงานเชื่อมโยงร่วมกับหน่วยงานได้ (วางแผนร่วม ทำร่วม) แก้ไขปัญหาจัดการตนเองได้ ปัญหาของชุมชนลดลง ปัญหารายได้ สุขภาพ ที่อยู่อาศัย
3.ชุมชนกำหนดทิศทางการพัฒนาของชุมชนด้วยตนเอง ตามวิถีวัฒนธรรมของชุมชน 4.ชุมชนสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานได้ 5,ชุมชนมีฐานข้อมูลของชุมชน เผยแพร่สู่สาธารณะได้ 6.ชุมชนมีกติกาของชุมชน เช่น ธรรมนูญ 7.ชุมชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 8.ชุมชนมีทุนของชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน การจัดสวัสดิการ ทรัพยากรธรรมชาติ 9.มีกลุ่มต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการ และมีกิจกรรมต่อเนื่อง
นายสาโรจน์ สินธู ผู้นำตำบลเขาแก้ว จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ตำบลนำร่องที่ขับเคลื่อนเรื่องชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง กล่าวว่า ตัวชี้วัดฯ เป็นทิศทางในการทำงานพัฒนาในตำบล ทำให้มีกรอบการทำงาน ไม่หลงประเด็น และทำให้สามารถวัดผลสำเร็จของการทำงานได้เป็นรูปธรรม เช่น กรอบที่ 3 ประเด็นตัวชี้วัดเรื่องคุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น ข้อ 3.2 จำนวนสมาชิกกองทุนสวัสดิการ กลุ่มออมทรัพย์ เพิ่มขึ้น โดยตำบลเขาแก้วกำหนดตัวชี้วัดว่า “จำนวนสมาชิกออมเงินเพิ่มขึ้นทุกครัวเรือนปีละ 10 % ของจำนวนประชากรในตำบล และสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนเพิ่มขึ้นในปีนี้จำนวน 200 คน” (ปัจจุบันมีสมาชิก 3,762 คน)
นอกจากนี้ตัวชี้วัดข้อ 3.18 เรื่องการมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น ตำบลเขาไม้แก้วกำหนดตัวชี้วัดว่า “จำนวนต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5,000 ต้นภายในปี 2565” (ปัจจุบันปลูกไปแล้วประมาณ 800 ต้น และจะปลูกในช่วงเดือนตุลาคมนี้อีก 1,000 ต้น)
“ตอนนี้เรากำลังจะทำเรื่องธรรมนูญตำบล โดยทำเรื่องนี้ร่วมกับ อบต. อสม. และหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น มีเป้าหมายเพื่อให้คนในตำบลเขาแก้วมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งเรื่องสุขภาพ การทำเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย และเรื่องสิ่งแวดล้อม และจะทำเรื่องตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งให้ครบทั้ง 51 ประเด็น” นายสาโรจน์กล่าว
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวสรุปปิดท้ายว่า การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ คือการปฏิบัติ จะขยายผลเชื่อมโยงไปสู่ตำบลอื่น ลองค่อยๆ ขยับวางแผนดูแต่ละภาค โดยให้มีเจ้าหน้าที่ พอช.สนับสนุนต่อเนื่อง เพื่อทำให้ชุมชนเข้มแข็งซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ พอช.
“ปีหน้า พอช.จะครบ 20 ปี ต้องเสนอเรื่องชุมชนเข้มแข็งออกไปสู่สาธารณะ ขยายผลไปสู่รัฐบาล จะเป็นคุณูปการว่าเป็นการพัฒนาที่มาจากพี่น้องชุมชนอย่างแท้จริง เริ่มจากพวกเราอย่างเข้มแข็ง แข็งแรง มีกระบวนท่า มีตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง ทำให้บรรลุเป้าหมายของ พอช.ด้วย และปีหน้าจะเป็นมหกรรมชุมชนเข้มแข็ง” นายชัชวาลย์กล่าวปิดท้าย
ส่วนการขับเคลื่อนเรื่องตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งในปีงบประมาณ 2563 จะมีการขับเคลื่อนในระดับจังหวัด จังหวัดละ 1 ตำบลทั่วประเทศ ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะขับเคลื่อนจังหวัดละ 3-5 เขต/ตำบล