ประวัติ กองเมืองปัก : เรื่อง/ภาพ
“นอกจาก เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ที่เกิดจากการเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลกุดรัง ยังถือว่าได้สร้างกองบุญนี้ให้เป็นมรดกของชุมชนของลูกหลานในตำบล” เพราะนอกจากได้ร่วมกันบริจาคหรือที่เรียกกันว่าสมทบให้กองทุนเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลคนในตำบลดูแลกันตั้งแต่ในครรภ์มารดาไปจนถึงเชิงตะกอนแต่มากกว่านั้นเป็นการดูแลหรือสร้างสวัสดิการให้คนเป็นให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
กองทุนสวัสดิการชุมชนตั้งเมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นวันสรงกู่ที่ถือเป็นวันแห่งการสร้างวัฒนธรรมความร่มเย็นของชุมชนจุดเริ่มต้นของการสร้างความเชื่อมั่นในทุกๆ ปี เริ่มต้นจากสมาชิก ๖๙๖ คน ปัจจุบัน ๒,๐๐๐ กว่าคน จัดสวัสดิการมากกว่า ๑๗ อย่าง เช่นสวัสดิการด้านการช่วยเหลือที่ดินที่ทำกินและที่อยู่อาศัย (ตามนโยบายรัฐ) สวัสดิการด้านสนับสนุนกลุ่มองค์กร เช่นกลุ่มวิสาหกิจ, กลุ่มเกษตร ฯลฯ เป็นต้น
เพราะมนุษย์เกิดมาความต้องการพื้นฐานคือปัจจัยสี่ แต่หลายคนเกิดมาไม่เพียบพร้อมสมบูรณ์ มีชีวิตอยู่แค่วันต่อวันเมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นการสะท้อนถึงความเหลือมล้ำและความขัดสนบนฐานะของความเป็นคนที่ไม่เท่าเทียม กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลกุดรังซึ่งมี ๑ ต้นทุนทางสังคมสูงคือ ชุมชนรู้รักสามัคคี “สภากุดรัง” จึงร่วมกันมองความไม่เท่าเทียมเหล่านี้อย่างชัดเจนว่าอย่างน้อยปัจจัยสี่ต้องมีทุกคน “ทำอย่างไร” จึงเป็นการสร้างทางออกให้กับสมาชิกกลุ่มนี้ จึงมองไปยังทุนที่ ๒ “ที่สาธารณะประโยชน์” ที่มีอยู่มากในชุมชนแต่ปล่อยให้คนที่เห็นแก่ได้เอาไปใช้ประโยชน์จึงเกิด “เวทีกลาง” ขึ้นมาสร้างทางไปสู่ปัจจัยแห่งชีวิต
นายปองประชา นนทะนำ ประธานกองทุนฯ พูดอย่างภาคภูมิใจว่า เรื่องนี้ไม่ใช้เป็นเรื่องของวาสนาหรือการสงเคราะห์หากแต่การนำพาสมาชิกกองทุนลุกขึ้นมาต่อสู้ ต้องใช้คำนี้เพราะ ๑๐ ปี คือเวลาที่ความพยายามเป็นรูปธรรมต้องสร้างแนวร่วมของตำบลให้เกิดความเป็นเอกภาพสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานโดยเฉพาะของรัฐเพราะเขามองแค่ว่านำกฏหมายมาบอกชาวบ้านก็จนตรอกไม่มีทางเดิน แต่กองทุนของเรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กล่าวได้ว่าหัวใจประชาชนจริงๆเป็นอบต.ที่ใช้อำนาจเพื่อประชาชนจริงๆ
นายอุดร แสงโคตร ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลกุดรัง กล่าวว่า เรามีเวทีกลาง “สภากุดรัง” **องค์กรบริหารท้องถิ่น ใช้ยุทธศาสตร์ ๑ ตำบล ๑ แผนพัฒนาโดยมีผู้นำท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์สารวัตรกำนัน) ผู้นำท้องถิ่น (ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล) สภาองค์กรชุมชนตำบล (องค์กรภาคประชาชนตาม พรบ.สภาองค์กรชุมชน๒๕๕๑) หน่วยงานรัฐ (ราชการส่วนภูมิภาคในเขตตำบลทุกหน่วย) และภาควิชาการ (มหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม) โดยมีธรรมนูญตำบลเป็นเครื่องมือกำหนดบทบาท
ปัญหาที่กองทุนสวัสดิการชุมชนนำเข้าสู่เวที จึงได้เกิดกลไกการทำงานจากทุกภาคส่วนกำหนดบทบาทหน่วยงานเช่น อบต.สำรวจกลุ่มคนที่ประสบปัญหา ตรวจสอบที่สาธารณะประโยชน์ในชุมชนซึ่งบทบาทของ อบต.ดูแลรักษาที่สาธารณะฯอยู่แล้วผู้นำทั้งตำบลทำหนังสือถึงอำเภอและจังหวัด จนตั้งคณะกรรมการ ร่วมพิจารณาจนสุดท้ายพี่น้องที่เดือดร้อนได้รับการจัดสรรที่ดินที่ทำกินที่จากจังหวัดจำนวน ๒๗๓ ราย ๒,๒๕๕ ไร่และองค์กรเราได้ใช้บทบาทของกองทุนสวัสดิการชุมชนประสานไปยังสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จนได้รับการสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงตำบลกุดรัง
นอกจากได้ที่ดินไว้เป็นที่ทำกินอย่างมั่นคงแล้ว กองทุนยังได้ขอรับการสนับสนุนระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรให้กับสมาชิกและกลุ่มองค์กรวิสาหกิจชุมชนอีกจำนวน ๘๐ โครงการซึ่งเป็นงบประมาณ ๓๐ กว่าล้านบาททำให้ครอบคลุมพื้นที่ของตำบลกุดรังจนสามารถกล่าวได้ว่าเรามีสวัสดิการด้านพลังงานทดแทน “หยุดภัยแล้งด้วยแสงอาทิตย์”
สิ่งที่กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลกุดรังเราร่วมกับชุมชนช่วยเหลือเกื้อกูลกันใช้ความรู้รักสามัคคีที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๙ ทรงประทาน ทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาความเหลือมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางทุนทางสังคมที่ช่วยหลอหลอมความรักความสามัคคีของคนในชุมชน แสดงออกถึงการช่วยกันแก้ไขปัญหาแบบเน้น ภารกิจ ในลักษณะเชิงบวก เพื่อสนับสนุนงานในลักษณะพลเมืองแบบประนีประนอมกล่าวคือ กองทุนสวัสดิการชุมชนของเราดำเนินงานที่สะท้อนเจตนารมณ์ ความสัมพันธ์ของสมาชิกในท้องถิ่นจากการบริหารงานอย่างใกล้ชิดและอาศัยความร่วมมือ/ความยินยอมจากประชาชน ถือว่าเป็นกองทุนสวัสดิการที่ผ่านพ้น เกิด แก่เจ็บ ตาย สู่ “สวัสดิการแห่งชีวิต ฮักที่สุดกุดรัง” ดิน น้ำ ป่า อาชีพ ที่ให้มากกว่าสวัสดิการ นี้คือมรดกของชุมชนอย่างแท้จริง