โครงการวิจัยการพัฒนานวัตกรรมระบบสวัสดิการชุมชนอีสาน ในบริบทที่เปลี่ยนแปลง
- กระบวนการถอดบทเรียน
กระบวนการถอดบทเรียนกองทันสวัสดิการชุมชนตำบลคูขาด อ.คง จ.นครราชสีมา ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นกองทุนตัวแทนของกลุ่มจังหวัด นครชัยบุรินทร์(นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ) จัดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 10.00 3 – 15.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลคูขาด อยู่ติดกันกับที่ทำการของกองทุนฯ
ผู้เข้าร่วมถอดบทเรียน ในครั้งนี้ประกอบด้วย คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคูขาด รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคูขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สนับสนุนกองทุน ผู้ที่เคยได้รับการจัดสวัสดิการจากกองทุน ตัวแทนเครือข่ายสวัสดิการจังหวัด และคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองคง กองทุนฯเทพาลัย กองทุนฯบ้านกลาง รวมจำนวน ประมาณ 30 คน มี อาจารย์นิรันดร คำนุ และชัยสิทธิ์ แนวน้อย เป็นผู้ดำเนินการถอดบทเรียน
กระบวนการถอดบทเรียน เริ่มต้นจากการ ทำความรู้จัก แนะนำตัวแต่ละภาคส่วนที่เข้าร่วม ชี้แจงความเป็นมาของการจัดเวทีถอดบทเรียน และประเด็นในการถอดบทเรียนกองทุน ตัวแทนกองทุนฯนำเสนอ การดำเนินงานตามประเด็นที่ถอดบทเรียน พร้อมทั้งมีการซักถาม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่คณะผู้วิจัยค้นพบจากการถอดบทเรียนกองทุนฯ อื่น ช่วงสุดท้าย คณะผู้วิจัยประมวลสรุปสิ่งที่ค้นพบ จากการถอดบทเรียนนี้ จากนั้นจึงขอเยี่ยมชมที่ทำการกองทุนฯ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเอกสารและภาพผลการดำเนินงานต่างๆ
- บทเรียนกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคูขาด
ความเป็นมาของกองทุนฯ ความเข้าใจต่อเป้าหมายและเจตนารมณ์
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคูขาด ในระยะก่อตั้งนั้น ได้ รับการสนับสนุนจาก ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 20 จังหวัดนครราชสีมาเป็นผู้คอยส่งเสริม และจุดประกายให้คนในตำบลคูขาดได้รู้จักกับงานสวัสดิการชุมชน มีการสนับสนุนงบประมาณให้ผู้นำแต่ละชุมชน ที่เป็นสมาชิก อบต. ไปศึกษาดูงานที่กองทุนสวัสดิการชุมชนบ้านขาม อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ หลังจากนั้นจึงได้มีการประชุม คัดเลือกคณะกรรมการและจัดตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคูขาดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2561
ในระยะแรกที่ดำเนินการก่อตั้ง มีผู้นำชุมชนและ ส.อบต. เพียง 7 หมู่บ้าน (จากจำนวน 21 หมู่ในตำบลคูขาด) ที่ไปประชาสัมพันธ์และเชิญชวนชาวบ้านสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยแจ้งให้ชาวบ้านที่สนใจเข้าร่วม ให้เป็นการ บริจาค ที่จะคืนเป็นสวัสดิการต่างๆแทนเงินที่บริจาค จำนวน 548 คน โดยกลุ่มเป้าหมายในช่วงนั้นคือ กลุ่มผู้สูงอายุในตำบล ในการดำเนินการตั้งกองทุน ได้รับการสนับสนุนจากพัฒนาสังคม หน่วยที่ 20 เป็นเงิน จำนวน 60,000 บาท ค่าสมัครสมาชิก รายละ 20 บาท จำนวน 10,960 เงินสัจจะรายเดือน ๆเดือนละ 30 บาท เป็นจำนวน 16,440 บาท รวมเป็นเงิน 87,400 บาท
เป้าหมายในระยะเริ่มแรก มุ่งเน้นไปที่การจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุเป็นหลัก จัดสวัสดิการด้านการเกิด แก่ เจ็บ และการเสียชีวิต รวมไปถึงส่งเสริมการออมทรัพย์ และดูแลกันที่มากกว่าเวลาเสียชีวิต ทั้งการเกิด การเจ็บป่วย
ในปี 2554 กองทุนสวัสดิการชุมชนคูขาด มีการจัดกิจกรรม เวทีคนคูขาดไม่ขาดสวัสดิการ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จัก และเชิญผู้พิการทั้งหมดในตำบลเข้าร่วมและจัดสวัสดิการให้ผู้พิการ(มอบรถเข็น) การระดมทุนบริจาคให้กับกองทุนฯ ทำให้คนในตำบลรู้จักและสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบัน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคูขาด มีสมาชิก จำนวน 3,531 คน จาก 21 หมู่บ้าน เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน (แรกเกิดจนถึง 18 ปี) จำนวน 830 คน บุคคลทั่วไป จำนวน 1300 คน ผู้สูงอายุ (อายุ 60 ขึ้นไป) 626 คน ผู้พิการและด้อยโอกาส จำนวน 409 คน และอื่นๆ(พระสงฆ์) จำนวน 12 รูป
กระบวนการดำเนินงานกองทุน
– โครงสร้าง กลไกการทำงานและ ภาคี และบทบาทหน้าที่
กองทุนฯคูขาดมีโครงสร้างการทำงาน 2 คือ โครงสร้างระดับตำบล และโครงสร้างการทำงานระดับหมู่บ้าน ซึ่งทั้งสองระดับนี้ จะมี คณะที่ปรึกษา และภาคีภายนอกที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุน
ในระดับตำบล มีคณะกรรมการกองทุนฯระดับตำบล มี 5 คน ที่จะมาทำงาน ณ ที่ทำการกองทุนฯ อยู่เป็นประจำ หมุนเวียนกันเข้ามาทำงานตลอด ทั้ง 5 คน ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกกองทุน มีวาระคราวละ 2 ปี และสามารถเข้ารับการคัดเลือกดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีก 2 สมัย บทบาทหน้าที่ คณะกรรมการฯระดับตำบลนี้ จะเป็นตัวหลักในการดำเนินงาน บริหารจัดการกองทุน ให้บรรลุตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์กองทุน ในทุกๆด้าน
คณะกรรมการในระดับหมู่บ้าน ได้มาจาก สมาชิกกองทุน ฯที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทน ใน สัดส่วน สมาชิก 50 คน จัดให้มีตัวแทน 1 คน เป็นคณะกรรมการประจำหมู่บ้าน ทำหน้าที่ ประสัมพันธ์ ให้ความรู้ด้านสวัสดิการ รักษาสิทธิสมาชิก ประสานระหว่างสมาชิกกับกองทุน บางคนทำหน้าที่จัดเก็บรวบรวมเงินของสมาชิกนำส่งเข้ากองทุน คณะกรรมการระดับหมู่บ้านนี้ มีวาระการทำงานเช่นเดียวกันกับคณะกรรมการระดับตำบล
การดำเนินงานกองทุน จะมีคณะที่ปรึกษา มาจากคณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ ฝ่ายวิเคราะห์นโยบายและแผนของอบต. คูขาด ปลัดอบต.คูขาด กำนันตำบล ผู้ทรงคุณวุฒิในชุมชน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินงานกองทุน
นอกจากนั้นกองทุน ฯคูขาด ยังได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือ
พัฒนาสังคมหน่วยที่ 20 จังหวัดนครราชสีมา ขบวนสวัสดิการจังหวัดนครราชสีมา เครือข่ายสวัสดิการภาคอีสาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่ สนับสนุน กำกับติดตาม ให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานกองทุน
– ระบบการทำงาน
การทำงานของกองทุน ในระดับตำบลจะมีคณะกรรมการบริหารกองทุนระดับตำบล 5 คน มาทำหน้าที่ประจำในสำนักงานกองทุน โดยการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำหน้าที่ รับเงิน รับเรื่องเบิกจ่ายสวัสดิการ ที่เกิดขึ้นในแต่ละสัปดาห์ คณะกรรมการบริหารกองทุนระดับตำบลมีการแบ่ง ฝ่าย เป็น ประธาน กองเลขา การเงินการบัญชี ฝ่ายตรวจสอบ โดยระบบการทำงาน ส่วนมากจะเป็นระบบการทำงานร่วมกัน ในแนวราบ ไม่ใช้ระบบสั่งการ มีการปรึกษาหารือกันตลอดในคณะกรรมการ ทั้ง 5 คน หากมีตำแหน่งใดไม่มาทำงาน คนอื่นก็สามารถรับเรื่องไว้ดำเนินการต่อได้ แล้วมีการทำบันทึกหลักฐานต่างๆ ไว้ให้ ส่วนการทำงานกับคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน ก็จะอาศัยการประสานงานทั้งทางโทรศัพท์ และออกหนังสืออย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความร่วมมือและย้ำให้เห็นความสำคัญของกิจกรรมที่ขอความร่วมมือ
– การจัดเก็บข้อมูล
ข้อมูลของกองทุน จะมีทั้งข้อมูลฐานข้อมูลสมาชิก ข้อมูลทั่วไปกองทุน ข้อมูลการเบิกจ่ายสวัสดิการ และข้อมูลด้านการเงินกองทุน
ฐานข้อมูลสมาชิก กองทุน ฯจะมีการจัดทำสมุดทะเบียนสมาชิกแต่ละหมู่บ้านไว้ที่กองทุน พร้อมทั้งมอบให้คณะกรรมการแต่ละบ้านเก็บรักษาไว้ นอกจากนั้นข้อมูลจะถูกบันทึกไว้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในที่ทำการกองทุน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าจากองค์การบริหารส่วนตำบล มาเป็นผู้ช่วยในการบันทึกข้อมูลต่างๆ เสมอ สามารถนำมาใช้งาน สรุปผลการดำเนินงานกองทุน เพื่อขอรับการสมทบ แต่ระบบข้อมูลในคอมฯ ยังไม่สามารถสรุปยอดรับ – จ่ายสวัสดิการกับสมาชิกรายคน ได้
ข้อมูลทั่วไปของกองทุน ไม่ว่าจะเป็น กฎระเบียบ คณะกรรมการ ความเป็นมาของกองทุนฯ บันทึกการจัดกิจกรรม การดำเนินงาน จะทำเป็นเล่มเอกสารเก็บไว้ที่กองทุน และทำบันทึกไว้ในสมุดบัญชีเสมอ
การจัดเก็บข้อมูลการเงินกองทุน จะใช้ระบบบัญชีรวมกองทุน ฯ ระบบบัญชีแต่ละหมู่บ้าน สมุดบัญชีออมทรัพย์และรับสวัสดิการสมาชิกรายคน โดยจะออกใบเสร็จรับเงินให้สมาชิกทุกครั้งที่มีการรับจ่ายเงินจากกองทุน
– การบริหารจัดการงบประมาณ
กองทุนฯ มีรายได้ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนกระทั่งปัจจุบัน มีรายได้รวม ประมาณ 9.6 ล้านบาท โดยได้มาจาก การสมทบจากสมาชิก 6.5 ล้านบาท รัฐสมทบ 2.02 ล้านบาท อปท. สมทบ 1.2 แสนบาท การบริจาค 6.2 แสน และดอกเบี้ย 6.3 หมื่นบาท
ส่วนรายจ่ายของกองทุน ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นจำนวน ประมาณ 5.9 ล้านบาท โดย มีการจัดสวัสดิการด้านสวัสดิการด้านการเกิด 36,000 บาท การเจ็บป่วยและเสียชีวิต 2.2 ล้าน สวัสดิการผู้สูงอายุ 12,000 บาท สวัสดิการผู้พิการและด้อยโอกาส 49,000 บาท สวัสดิการด้านอาชีพ 82,000 บาท สวัสดิการภัยพิบัติ 25,000 บาท สวัสดิการด้านการศึกษา141,200
ในการบริหารจัดการงบประมาณ ของกองทุน จะมีระบบการบริหารจัดการ ใน 4 ระดับ คือ ระดับสมาชิก ระดับหมู่บ้าน ระดับกองทุน และระดับจังหวัด
ในระดับสมาชิก สมาชิกกองทุนฯ แต่ละคน จะมีสมุดคู่มือกองทุนสวัสดิการสังคม ตำบลคูขาด ประจำตัว มีชื่อ หมายเลขสมาชิก ที่อยู่ วันสมัคร และลายมือชื่อผู้สมัคร พร้อมทั้ง คำสัญญาว่า จะสะสมเงินเป็นค่า
สวัสดิการเป็นเงินจำนวน……….. บาทต่อเดือน เมื่อสมาชิก มีการนำส่งเงินสะสม คณะกรรมการหมู่บ้าน จะลงจำนวนเงินและลงรายมือชื่อผู้รับเงินไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และเมื่อมีการเบิกเบิกจ่ายสวัสดิการ ก็จะนำสมุดคู่มือนี้มาลงบันทึกการรับสวัสดิการ พร้อมลงลายมือชื่อกรรมการไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
ในระดับหมู่บ้าน จะมีคณะกรรมการกองทุนประจำหมู่บ้าน บ้านละ 2 คน ทำหน้าที่เป็นผู้เก็บรวบเงินสะสมจากสมาชิก ซึ่งแต่ละคนก็จะมี รายชื่อสมาชิกที่ตนเองรับผิดชอบ รวมไปถึงดูแลตอบคำถามข้อสงสัย และให้คำปรึกษาแก่สมาชิก และดูแลการจัดสวัสดิการหากมีสมาชิกที่ตนเองรับผิดชอบต้องเบิกเงินสวัสดิการ นอกจากนั้น กรรมการบางคน ยังจำเป็นต้อง สำรองเงินตนเองจ่ายให้กับสมาชิกตนเอง เมื่อสมาชิกบางคนไม่ได้จ่ายในแต่ละเดือน เพื่อนำส่งเข้ากองทุนฯ แล้วจึงตามเก็บจากสมาชิก รูปแบบการเก็บเงินสะสมนี้ แต่ละหมู่บ้านมีวิธีการเรียกเก็บที่แตกต่างกันหลายวิธีการ ทั้ง การตั้งโต๊ะที่ทำการแล้วให้สมาชิกนำเงินมาส่ง การตามเก็บจากสมาชิกแต่ละครัวเรือน รวมไปถึงการประกาศหอกระจายข่าวให้สมาชิกนำเงินส่งตามกำหนดในแต่ละเดือน จากนั้นคณะกรรมการกองทุนฯแต่ละหมู่บ้าน ก็จะรวบรวมเงินที่ได้นำส่งเข้ากองทุน ฯ บางหมู่บ้านที่ชาวบ้านไม่มีความพร้อมในการส่งเงิน กรรมการก็จะออกเงินให้ก่อน แล้ว เรียกเก็บย้อนคืนจากสมาชิก โดยจะต้องไม่ให้ขาดส่งติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง การเก็บเงินจะเก็บส่ง ภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน โดยการลงลายมือรับเงินประจำตัวสมาชิก และลงบัญชีที่สมุดบัญชีคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน
การเบิกจ่ายสวัสดิการของสมาชิก เมื่อต้องเบิกจ่ายสวัสดิการ สมาชิกจะสามารถเบิกเงินจาก กรรมการของแต่ละหมู่บ้านซึ่งจะถือเป็นเงินสดไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก จากนั้นกรรมการก็จะนำหลักฐานการจ่าย มาเบิกเงินกับกองทุน ฯ ซึ่งจะทำไปพร้อมๆกันกับวันที่นำเงินออมมาส่งให้กองทุน
หากเป็นการเบิกสวัสดิการเป็นเงินจำนวนมาก คณะกรรมการกองทุนจะเป็นผู้นำจ่าย หรือมอบหมายให้คณะกรรมการอื่นๆ เป็นผู้นำจ่าย
ในระดับกองทุนฯ จะมีคณะกรรมการกลาง กองทุน จำนวน 5 คน ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน รวบรวมเงินรายได้ทั้งหมด นำส่งเข้าบัญชีกองทุน และ เบิกจ่ายเงินสวัสดิการที่มีในแต่ละเดือน พร้อมทั้งเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่มีไว้ ในการดำเนินงานกองทุน คณะกรรมการทั้ง 5 จะหมุนเวียนมาประจำที่ทำการกองทุนเสมอ เพื่อรับเรื่อง ต่างๆ จากสมาชิก โดยคณะกรรมการฯ จะมีสมุดทะเบียน รายรับ รายจ่าย สมุดงบดุล พร้อมทั้งเขียนใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานการรับเงิน และจ่ายเงินตลอดในการรับ จ่าย ต่างๆ
คณะกรรมการกองทุน จะทำหน้าที่สรุปการเงินทุกเดือน มีการสรุปงบดุล รายงานผลการดำเนินงาน ให้กับสมาชิกทราบ ทุก 3 เดือน โดยจะแจ้งไว้ที่ทำการกองทุน และแจ้งไปยังคณะกรรมการแต่ละหมู่บ้าน
ในระดับจังหวัด และระดับภาค จะมีคณะทำงานเครือข่ายสวัสดิการจังหวัด และ เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และพัฒนาสังคม หน่วยที่ 20 จังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้กำกับ ให้คำปรึกษา และสนับสนุนการดำเนินงานกับคณะกรรมการกองทุน พิจารณาผลการดำเนินงานและพิจารณาให้การสมทบเงินจากภาครัฐ ในแต่ละปี
– ระบบการติดตามสนับสนุน/ความร่วมมือกับภาคี
– ความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลคูขาด ตั้งแต่เริ่มต้นกองทุนฯ มีความร่วมมือกับ
องค์การบริหารส่วนตำบลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งปัจจุบัน อบค.ส่งเสริมให้สมาชิกอบต.และเจ้าหน้าที่ อบต. สมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ ให้การสนับสนุนงบประมาณ โดยระบุในแผนงบประมาณของอบต.เป็นประจำทุกปี นอกจากนั้นยังสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ อบต. มาช่วยในการตรวจสอบ เก็บข้อมูล พิมพ์เอกสารต่างๆในกองทุน พร้อมทั้งให้ที่ทำงานกับกองทุนฯในการดำเนินงาน ประชุม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
– เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมหน่วยที่ 20 สนับสนุนการจัดตั้งกองทุน และให้คำปรึกษาการดำเนินงานด้านต่างๆของกองทุน หากกองทุนมีปัญหาก็จะลงพื้นที่มาร่วมกันแก้ไขปัญหา
– สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พอช. ที่ทำงานผ่านขบวนสวัสดิการจังหวัด แต่ที่ผ่านมา ยังต้องพัฒนาระบบการจัดการเอกสาร แบบฟอร์มที่ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย และทำงานให้ที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น
– คณะกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการจังหวัด ทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณารับรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณภาครัฐ แต่ยังขาดระบบการทำงานเชื่อมโยงกันและกัน การสร้างความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนงาน
– ความสำเร็จที่เกิดจากการดำเนินงานกองทุน/สิ่งดีๆที่เกิดจากกองทุนฯ
“สวัสดิการชุมชนที่ทำมาเป็นสวัสดิการที่ได้กินก่อนตาย ไม่ใช่ต้องรอให้ตายก่อนจึงจะได้รับ” ป้าคำหาญ กล่าว
“การไปมอบเงินให้กับญาติผู้เสียชีวิต เป็นเสมือนการเป็นตัวแทนของคนทั้งตำบลที่ไปร่วมทำบุญ สมาชิกบางคนไม่ได้ไปร่วมงานบุญเงินบาทที่ท่านออกมาสมทบ เป็นเสมือนการโฮมบุญกับผู้เสียชีวิต” ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคูขาดกล่าว เป็นอีกแง่มุมของการแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนทั้งตำบล
“เงินหมื่นสำหรับบางคนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับบางคนกลับมีค่ามหาศาล เช่นคนป่วย ที่ต้องส่งต่อ หากเสียชีวิตเร่งด่วน จำเป็นต้องใช้จ่ายในการจัดการศพ การจัดการงานพิธีต่างๆ เงินจำนวนนี้มีค่ามากสำหรับชาวบ้าน” ประธานขบวนสวัสดิการชุมชนจังหวัดนครราชสีมากล่าว
“เงินที่ได้มาจากสวัสดิการ เป็นเสมือนเงินที่ชาวบ้านมาร่วมทำบุญ
มันมีความหมายที่แตกต่างจากเงินที่ได้จากบริษัทประกันชีวิตที่เขามอบให้เมื่อเสียชีวิต
เป็นบุญที่ทุกคนได้ทำร่วมกัน ” ประธานกองทุนฯกล่าว
“ศพไร้ญาติ ที่มาเสียชีวิตในพื้นที่ตำบลฯ กองทุนฯก็จะช่วยการจัดการศพ” เป็นเจ้าภาพจัดการศพ
– การบรรลุตามเป้าหมายการจัดสวัสดิการ
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุน ฯ มีการแก้ไขระเบียบกองทุน มาแล้ว 5 ครั้ง โดยปัจจุบัน กองทุน ฯ มี การจัด
สวัสดิการ 12 ด้าน ประกอบด้วย 1)การเกิด 2)การแก่ 3)การเจ็บ 4)การตาย 5)สวัสดิการผู้พิการ 6)สวัสดิการผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส 7)ผู้พิการที่ต้องใช้รถ 8)สวัสดิการอุบัติเหตุเด็กแรกเกิดถึง 8ปี 9) สวัสดิการด้านการศึกษา 10)สวัสดิการด้านสาธารณะประโยชน์ 11)สวัสดิการด้านคณะกรรมการดำเนินงานและกรรมการ กรรมการที่ปรึกษา และ 12)สวัสดิการด้านการส่งเสริมอาชีพ วิสาหกิจชุมชน สถาบันการเงินชุมชน
สวัสดิการบ้านผู้สูงอายุ 5,000 บาท สมทบเครือข่ายสวัสดิการจังหวัด 25,000 บาท สวัสดิการด้านการบริหารจัดการกองทุน 480,000 และ ธุรการกองกองทุน 180,000 บาท
สมาชิกกองทุนฯ ในปัจจุบัน ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานกองทุนฯ ยังไม่สามารถบรรลุถึง การสร้างชุมชนสวัสดิการได้ทั้งหมด สมาชิกกองทุนฯในปัจจุบัน ยังไม่เข้าเป็นสมาชิก ถึงครึ่งของจำนวนประชากรทั้งตำบล แม้สมาชิกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากชาวบ้านมีสภาพทางเศรษฐกิจ รายได้จากการเกษตรน้ำฝนเป็นส่วนมาก
นอกจากนั้นการขยายการจัดสวัสดิการที่ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้นใน
– สิ่งที่ยังต้องเพิ่มเติม/ หรือต้องพัฒนากองทุน ทำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
– การปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนบุคคลากรมาช่วยในการดำเนินงานกองทุน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน นอกจากนั้นคือการกำหนดให้ท้องถิ่นร่วมสมทบการดำเนินงานกองทุน ฯ จะสามารถขยายการจัดสวัสดิการได้ครอบคลุมทั้งสมาชิกและสวัสดิการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น หากสมทบได้ ร้อยละ 1 ของงบประมาณอุดหนุนองค์การบริหารส่วนตำบลก็จะเป็นการดี
– การสร้างผู้นำ ผู้สืบทอดเจตนารมณ์กองทุนรุ่นสอง ที่จะสืบทอดการดำเนินงานร่วม และทำงานแทนคนรุ่นเก่า แต่อาจจะเป็นอุปสรรคด้านความจำเป็นด้านค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต
– การพัฒนาระบบข้อมูลกองทุนฯ ที่จำเป็นต้องพัฒนาและยกระดับให้มีความทันสมัย ด้วยระบบเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สามารถใช้ในการติดตามการดำเนินงานได้อย่างอย่างรวดเร็วและเป็นปัจจุบันพร้อมกับการพัฒนาทักษะของคณะกรรมการในการใช้ระบบข้อมูล การกรอกข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล
–
3.บทเรียนและข้อค้นพบที่สำคัญพื้นที่
– กระบวนการถอด
– ในเวทีการถอดบทเรียนนี้ คณะกรรมการจากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอื่น ตัวแทนจากขบวนสวัสดิการชุมชนจังหวัด มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย เกิดการขยายสิ่งดีๆที่กองทุนทำมา ไปสู่การปรับเปลี่ยน พัฒนากองทุนตนเองให้ดียิ่งขึ้น
– การจัดกระบวนการถอดบทเรียน ยังไม่เกิดการซักถามแลกเปลี่ยนมุมมอง และความคิดเห็นจากผู้ที่เคยได้รับสวัสดิการ
– บทเรียนที่พบจากพื้นที่
– การเข้าถึงเจตนารมณ์ของงานสวัสดิการชุมชน ที่คณะกรรมการกองทุน สามารถนำพาให้สมาชิก เข้าถึงเจตนารมณ์ของการดูแลกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน เป็นการให้อย่างมีคุณค่า และรับอย่างมีศักดิ์ศรี การสร้างระบบการจัดสวัสดิการที่เข้าถึงกลุ่มคนวัยเด็กและเยาวชน การดึงภาคีต่างให้เข้าร่วมสนับสนุนกองทุนฯอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นกองทุนฯยังมีระบบการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส รวมไปถึงการสร้างบุคลากรในกองทุน ให้มีความเป็นผู้ที่มีจิตอาสา จึงส่งผลให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคูขาดเป็นกองทุนที่สามารถเป็นต้นแบบได้ในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการที่ดี
– ข้อสังเกตที่มีต่องานกองทุนสวัสดิการคูขาด
– การดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคูขาด หากจะยกระดับความสามารถกองทุนฯให้เกิดการยอมรับเพิ่มมากขึ้น ควรที่จะพิจารณาเพิ่มเติมดังนี้
– การจัดการระบบข้อมูลกองทุน ให้มีความทันสมัย
– การกำหนดเป้าหมายกองทุน ทั้งระยะยาวและระยะสั้น วางแผนการ เงิน พัฒนาบุคลากร และแผนงานด้านส่งเสริมสวัสดิการอย่างเป็นระบบ