โครงการวิจัยการพัฒนานวัตกรรมระบบสวัสดิการชุมชนอีสาน ในบริบทที่เปลี่ยนแปลง
1. กระบวนการถอดบทเรียน
กระบวนการถอดบทเรียนกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอาฮี อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นกองทุนตัวแทนของกลุ่มจังหวัดวัฒนธรรม ภาษา ภูผา ประกอบไปด้วย จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี จัดขึ้นในวันที่ 22 ธันวาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 09.30 – 15.00 น. ณ ห้องประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบลอาฮี ผู้เข้าร่วมถอดบทเรียน ในครั้งนี้ประกอบด้วย คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอาฮี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอาฮี เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลผู้ที่สนับสนุนกองทุน และตัวแทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเลย นอกจากนี้ผู้อำนวยการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) นายนายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ รวมจำนวนประมาณ 30 คน โดยมีอาจารย์นิรันดร คำนุ นายไชยา พลขาง นางสาวคีย์ญาชล เวฬุวนารักษ์ และนายชัยสิทธิ์ แนวน้อย เป็นผู้ดำเนินการถอดบทเรียน และมีนางสาวสิระมนตร์ เวฬุวนารักษ์เป็นผู้บันทึกข้อมูล ซึ่งมีประเด็นในการถอดบทเรียนดังนี้
1) เป้าหมายและการก่อตั้งของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอาฮี
2) การดำเนินงาน/ระบบการจัดการ/ระบบการเงิน/ระบบข้อมูลของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอาฮี
3) การบรรลุเป้าหมายของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอาฮี
4) สิ่งที่ต้องเติมเต็มและพัฒนาของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอาฮี
กระบวนการถอดบทเรียน เริ่มต้นจากการ ทำความรู้จัก แนะนำตัวแต่ละภาคส่วนที่เข้าร่วม ชี้แจงความเป็นมาของการจัดเวทีถอดบทเรียน และประเด็นในการถอดบทเรียนกองทุน ตัวแทนกองทุนฯนำเสนอ การดำเนินงานตามประเด็นที่ถอดบทเรียน พร้อมทั้งมีการซักถาม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่คณะผู้วิจัยค้นพบจากการถอดบทเรียนกองทุนฯ อื่น และในช่วงสุดท้ายคณะผู้วิจัยประมวลสรุปสิ่งที่ค้นพบจากการถอดบทเรียนครั้งนี้
2. บทเรียนกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอาฮี
เป้าหมายและการก่อตั้งของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอาฮี
กองทุนสวัสดิการชุมชนอบต.อาฮี เป็นกองทุนที่ยึดตามการเขตการดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลอาฮี คือทั้งตำบลน้ำทูนและตำบลอาฮี ทำให้กองทุนฯนี้เป็นกองทุนที่รวมเอาสองตำบลที่อยู่ใกล้เคียงกันมาจัดสวัสดิการร่วมกัน คือ ตำบลน้ำทูน จำนวน 5 หมู่บ้าน และตำบลอาฮี ทั้งหมด 6 หมู่บ้าน รวมเป็น 11 หมู่บ้าน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของทั้งสองตำบล ในการจัดตั้งกองทุนฯนี้ขึ้นก็ได้มีการประชุมหารือและผ่านการทำประชาคมของทั้งสองตำบล เพื่อให้สามารถที่จะร่วมกันตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมาได้ โดยก่อนหน้าที่จะมีการก่อตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนกองทุนนี้เคยเป็นกองทุนผู้สูงอายุ ที่จะมีการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ แต่ต่อมาพบว่ากองทุนผู้สูงอายุนั้นไม่สารมารถที่จะจัดสวัสดิการให้แก่คนในชุมชนคนอื่นๆได้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่กองทุนจะล้มเหลว จึงได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนอบต.อาฮีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2551 เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสวัสดิการได้อย่างเท่าเทียมกันมิใช่เข้าถึงเพียงแต่ผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งได้ระบุเป้าประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนฯขึ้นมาคือ ประการแรกเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักออมเงินเพื่อแบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประการที่สองเพื่อจัดสวัสดิการแก่สมาชิกตลอดชีวิต ประการที่สามเพื่อให้เกิดคุณธรรม ความสามัคคี มีน้ำใจ ร่วมกันแก้ไขปัญหา สร้างสัมพันธภาพที่ดีแก่สมาชิก ประการที่สี่เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง มีองค์กรที่คอยช่วยเหลือเมื่อ เกิดความเดือดร้อนหรือจําเป็น และประการสุดท้ายเพื่อให้กองทุนนี้ไม่ดําเนินการเพื่อแสวงหาผลกําไรสูงสุด ทางทรัพย์สินแต่ดําเนินการเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิก
ในระยะแรกตั้งนั้นทางกองทุนฯก็ได้ไปศึกษาและดูงานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย เพื่อดูเป็นแนวทาง รวมถึงได้ทราบทั้งการวางโครงสร้างคณะกรรมการ บทบาทหน้าที่ และการดำเนินงานต่าง ๆ รวมไปถึงนำเรื่องระบบข้อมูล การทำทะเบียบคุม และสมุดเงินสมทบของสมาชิกก็ล้วนแล้วแต่ได้ต้นแบบมาจากกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาอ้อ ดังนั้น กองทุนสวัสดิการชุมชน อบต.อาฮี จึงได้มีการเรียนรู้และขอคำปรึกษาจากกองทุนฯของนาอ้อ โดยใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินงานกองทุน ในการแรกตั้งการรับสมัครสมาชิกของทางกองทุนนั้นไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากในตำบลเคยการกองทุนฌาปนกิจที่ล้มเหลว ทำให้คนในชุมชนนั้นขาดความเชื่อมั่นในการที่จะเข้าร่วม แต่ทางกองทุนก็ได้มีการแก้ไขปัญหาโดยการการออกประชาคมทำความเข้าใจกับประชาชน โดยมีหน่วยงานต่างๆ ในชุมชนให้ความร่วมมือ และเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับกองทุนฯ ทั้งกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนคนอื่นๆ ทำให้กองทุนค่อยๆได้รับความไว้วางใจ และสามารถพัฒนาจนเป็นกองทุนฯที่มีความเข้มแข็งจนถึงทุกวันนี้
กระบวนการดำเนินงานกองทุน
– โครงสร้าง กลไกการทำงาน และ ภาคี และบทบาทหน้าที่
การทำงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน อบต.อาฮี จะมีการผสานเข้ากับการทำงานของกองสวัสดิการสังคมของอบต.อาฮี โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอาฮีได้มอบหมายให้กองสวัสดิการสังคมมีภารกิจหน้าที่ที่จะช่วยเหลือ และสนับสนุนกองทุนฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มองว่าเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ หากแต่มองว่าเป็นภาระงานของกองสวัสดิการสังคมในการที่จะช่วยเหลือให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับสวัสดิการที่ดียิ่งขึ้น ประกอบกับภาระงานของกองสวัสดิการสังคมก็มีความใกล้เคียงและซ้อนทับกับกองทุนฯ จึงมองว่าหากทำงานประสานกันก็จะทำให้ประชาชนทั้งตำบลอาฮี และตำบลน้ำทูนสามารถที่จะได้รับสวัสดิการได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น จึงได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานต่างๆของกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นอย่างมาก เกิดเป็นเครือข่ายการทำงานระหว่างอปท.และกองทุนฯ ที่มีการพึ่งพาอาศัยกัน เช่น การที่กองทุนต้องขอความช่วยเหลือในเรื่องการจัดทำเอกสาร ระบบข้อมูล รวมไปถึงระบบการเงินด้วย ซึ่งทางกองทุนฯก็ได้มีการช่วยเหลือโดยการเป็นผู้ประสานงานต่างๆในชุมชนให้กับอปท.ด้วย เป็นต้น โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอาฮีก็มีมุมมองต่อกองทุนฯว่ากองทุนฯเป็นสิ่งที่ดี และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้ จึงทำให้ในการทำงานประสานระหว่างอปท. และกองทุนฯ เป็นไปอย่างพึ่งพาอาศัยกัน สร้างความเข้มแข็งให้แก่ทั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน อบต.อาฮี
นอกจากนี้ในระดับการทำงานของภาคประชาชนก็ได้มีคณะกรรมการที่เกิดจากการเลือกของสมาชิกให้เข้ามาทำงาน โดยคนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่เป็นที่นับน่าถือตาของคนในแต่ละชุมชน เป็นบุคคลที่มีจิตสาธารณะ ทำงานเพื่อชุมชน และไม่เอาเงินหรือค่าตอบแทนเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งจะมีการคัดเลือกกรรมการหมู่บ้านทุก 2 ปี กรรมการหมู่บ้านละ 4 คน และมีการเลือกตัวแทนกรรมการหมู่บ้านละ 1 คน เพื่อตั้งเป็นประธานหมู่บ้านและเป็นคณะกรรมการในระดับตำบลในการเข้าร่วมประชุม รวมจำนวนกรรมการทั้งหมด 44 คน โดยในตอนแรกตั้งกองทุนนั้นได้มีการประชุมคณะกรรมการในทุกๆเดือน แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องการเดินทาง เนื่องจากกองทุนฯนี้เป็นการจัดสวัสดิการให้แก่ 2 ตำบล ทำให้ในบางตำบลที่อยู่ห่างไกลลำบากในการเดินทางมาเข้าร่วมประชุม ทำให้ต้องมีการปรับให้มีการประชุม 3 เดือนครั้ง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และลดภาระงานของกรรมการของกองทุนด้วย
บทบาทหน้าที่ของกรรมการกองทุนฯจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนหน้างานที่ทำงานในชุมชน กับส่วนกลาง ที่ทำงานอยู่ที่กองทุน โดยบทบาทของส่วนหน้างานจะเป็นกรรมการของแต่ละหมู่บ้านที่จะทำหน้าที่ในการเก็บเงิน การรับสมัครสมาชิก และการประสานงานเรื่องการจ่ายสวัสดิการ ในส่วนของบทบาทหน้าที่ของส่วนกลางก็จะเป็นฝ่ายเหรัญญิก ฝ่ายข้อมูล ที่จะทำหน้าที่ในการบันทึกข้อมูล และจัดทำบัญชีต่างๆ รวมไปถึงการเบิกเงิน และนำไปจ่ายสวัสดิการแก่สมาชิกผู้ขอรับ โดยในทุกเดือนกรรมการของหมู่บ้านก็จะต้องมีหน้าที่ในการนำเงินสมทบและเอกสารหลักฐานต่างๆเข้ามาให้ที่ที่ทำการกองทุนฯ เพื่อให้ฝ่ายนี้ตรวจสอบและบันทึกข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์ จัดเก็บเป็นไฟล์ เพื่อสะดวกต่อการนำข้อมูลไปใช้งานและทำให้ง่ายต่อการจัดเก็บ
– ระบบการทำงาน
ในการทำงานของคณะกรรมการของกองทุนฯจะแบ่งบทบาทหน้าที่เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกที่เป็นกรรมการแต่ละหมู่บ้าน ทำหน้าที่ในการเก็บเงิน การรับสมัครสมาชิก และการประสานงานเรื่องการจ่ายสวัสดิการ ในส่วนของการเก็บเงินสมทบกับสมาชิกนั้น ในอดีตมีการตั้งโต๊ะเก็บเงินสมทบเมื่อเวลามีการจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันรูปแบบการจ่ายเบี้ยงยังชีพผู้สูงอายุเปลี่ยนไป ประกอบกับมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนในวัยอื่นๆเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทางกองทุนฯต้องเปลี่ยนรูปแบบในการเก็บเงิน โดยจะมีเรียกในแต่ละเดือนว่าจะเก็บเงิน และจะมีจุดที่รอรับ ซึ่งมีความแตกต่างไปแต่ละหมู่บ้าน เช่น ศาลาประชาคมของแต่ละหมู่บ้าน หรือรอรับที่บ้านของคณะกรรมการเอง เป็นต้น นอกจากนี้กรรมการยังต้องอำนวยความสะดวกให้แก่คนที่เดินทางมาจุดเก็บเงินลำบากหรือไม่สามารถเดินทางมาเองได้ เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ เป็นต้น โดยในการเก็บเงินนั้นจะต้องไม่เกินวันที่ 10 ของทุกเดือนเพื่อที่จะให้กรรมการต้องนำเงินไปส่งยังที่ทำการกองทุนฯ กรรมการกองทุนที่เป็นตัวแทนมาส่งเงินในแต่ละหมู่บ้านจะได้รับค่าเดินทางตามจำนวนสมาชิกในหม่บ้านนั้นๆ เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 300 บาท ซึ่งในการเดินทางมาประชุมก็จะได้ค่าเดินทางในลักษณะเดียวกัน ในส่วนของหน้าที่ในการรับสมัครสมาชิกของกองทุนฯ ผู้ที่ต้องการสมัครสามารถที่จะสมัครได้กับกรรมการแต่ละหมู่บ้าน โดยเปิดรับสมัครในทุกวัน ซึ่งหากต้องการสมัครทางกรรมการก็จะมีแบบฟอร์มการสมัครให้กรอก พร้อมทั้งให้แนบเอกสารหลักฐาน หลังจากที่กรรมการหมู่บ้านตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารหลักฐาน และกรรมการก็จะนำเอกสารหลักฐานและแบบฟอร์มไปส่งให้ฝ่ายข้อมูลบันทึกข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์ในวันที่ส่งเงินสมทบที่ที่ทำการกองทุนฯ สำหรับผู้ที่สมัครสมาชิกใหม่นั้นการที่จะได้รับสวัสดิการ ผู้ที่สมัครจะต้องเป็นสมาชิกให้ครบ 90 วัน จึงจะมีสิทธิที่จะขอรับสวัสดิการได้ ในส่วนของการขอรับสวัสดิการแต่ละประเภท สมาชิกต้องมารับแบบฟอร์มการขอรับสวัสดิการจากกรรมการแต่ละหมู่บ้านไปกรอกและเตรียมเอกสารหลักฐานแล้วนำมาส่งที่กรรมการ ทางกรรมการเมื่อตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารหลักฐาน มีการให้ประธานของหมู่บ้านลงนามรับรอง และแจ้งทางเหรัญญิกให้นำเงินสำรองในมือมาจ่ายสวัสดิการ แต่หากเงินที่สำรองไว้ไม่พอเหรัญญิกก็จะมีการสำรองจ่ายก่อน เนื่องจากกองทุนจะทำการเบิกเงินเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของกองทุนฯ
ในการส่งเอกสารหลักฐานแก่ส่วนกลางที่ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลและจัดเก็บเอกสาร กรรมการแต่ละหมู่บ้านเมื่อถึงวันที่จะมาส่งเงินกรรมการก็จะมีการรวบรวมเอกสารและหลักฐานทั้งหมดในแต่ละเดือนไปส่งที่ที่ทำการกองทุนฯ จากนั้นเหรัญญิกก็จะทำหน้าที่ในการเบิกเงินมาคืนในส่วนที่ตนสำรองจ่าย และทำการเบิกเงินสำรองไว้ในการจ่ายสวัสดิการในรอบเดือนต่อไป ซึ่งเป็นการเบิกเดือนละ 1 ครั้ง โดยในการจ่ายสวัสดิการทุกครั้งจะต้องมีพยานรับรู้ นอกจากนี้ในการทำงานยังมีกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงินสวัสดิการต่างๆว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือเป็นไปตามระเบียบของกองทุนหรือไม่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นแสดงให้เห็นว่ากองทุนฯนั้นความโปร่งใส และมีฝ่ายที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เพื่อให้กองทุนดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และมีธรรมมาภิบาล
– การจัดเก็บข้อมูล
ในการจัดเก็บข้อมูลทางกองทุนฯได้มีการจัดเก็บข้อมูลทั้งในสมุดทะเบียนคุมของกรรมการหมู่บ้าน และในปี 2554 เป็นต้นมาก็ได้มีการบันทึกลงในระบบคอมพิวเตอร์ ลงในโปรแกรม Microsoft Excel จัดเก็บเป็นไฟล์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่กองสวัสดิการสังคมในการบันทึกและจัดเก็บข้อมูล ในส่วนของการจัดเก็บข้อมูลการส่งเงินของกรรมการ เหรัญญิกก็ได้มีสมุดทะเบียนที่ใช้ลงนามเวลารับเงินที่กรรมการแต่ละหมู่บ้านมาส่ง เพื่อเป็นการเอกสารที่ใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องของระบบบัญชีการรับจ่ายเงิน นอกจากนี้สมาชิกยังมีสมุดประจำตัวของสมาชิกที่จะบันทึกการจ่ายเงินสมทบในแต่ละเดือนที่มีการลงชื่อรับรองโดยกรรมการของแต่ละหมู่บ้าน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระบบการจัดเก็บข้อมูลของกองทุนสวัสดิการชุมชน อบต.อาฮี นั้นมีการจัดเก็บใน 2 รูปแบบ คือ ในรูปแบบของสมุด ทั้สมุดทะเบียนคุมที่เป็นความรับผิดชอบของแต่ละกรรมการหมู่บ้าน สมุดทะเบียนการส่งเงินของกรรมการหมู่บ้าน และสมุดประจำตัวของสมาชิก ส่วนการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบที่สองก็คือ การจัดเก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรม Microsoft Excel เพื่อที่จะสามารถจัดทำทะเบียนสมาชิกและบัญชีการส่งเงินสมทบ รวมถึงการได้รับสวัสดิการของสมาชิกด้วย
ภาพสมุดประจำตัวสมาชิก
– การบริหารจัดการงบประมาณ
กองทุนสวัสดิการชุมชน อบต.อาฮี มีเงินทุนหมุนเวียน ณ วันที่ 31 มิถุนายน 2561 จำนวน 1,085,272.51 บาท ซึ่งจำนวนนี้รวมทั้งเงินในบัญชีและเงินสดที่ถือเป็นเงินสำรองจ่ายในมือ ระบบการบริหารจัดการงบประมาณของกองทุนมีการ การจัดสรรเงินกองทุนมีการจัดสรรดังนี้
1) ร้อยละ 70 ใช้ในการจัดสวัสดิการครบวงจรให้แก่สมาชิก
2) ร้อยละ 20 ใช้ในการบริหารจัดการกองทุน
3) ร้อยละ 10 ใช้ในการบำเพ็ญประโยชน์ หรือสาธารณประโยชน์
โดยในการบริหารงบประมาณจะมีการสรุปงบประมาณทั้งในรายเดือน รอบสามเดือนที่มีการประชุม และมีการสรุปเป็นรายปี เพื่อนำเสนอข้อมูลให้แก่สมาชิกได้รับทราบในการประชุมประจำปี นอกจากนี้ยังมีการประเมินความเสี่ยงของกองทุน โดยการดูข้อมูลสรุปรายรับรายจ่ายของกองทุน ประกอบกับข้อมูลการจัดสวัสดิการการเสียชีวิตว่ามีจำนวนที่สูงหรือไม่ เนื่องจากสวัสดิการด้านนี้เป็นสวัสดิการที่มีการจ่ายเป็นจำนวนเงินที่สูง หากในรอบปีใดมีการจ่ายสวัสดิการในด้านนี้มาก ก็จะทำให้กองทุนนั้นมีความเสี่ยงที่จะล้มได้ หรือการประเมินที่สมดุลย์ของรายรับรายจ่าย หากมีรายจ่ายมากกว่าก็หมายความว่า กองทุนมีความเสี่ยงในการล้มเหลวเช่นกัน ทำให้ในการประชุมแต่ละครั้งทั้งในการประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ก็จะมีการหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังเช่นในปัจจุบันที่กองทุนมองว่าปัญหาของกองทุนฯอยู่ที่สัดส่วนของสมาชิกกองทุนฯส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีความเสี่ยง ดังนั้นทางกองทุนก็มีมาตรการที่จะเพิ่มสมาชิกในกลุ่มวัยแรงงานและวัยเด็กเยาวชนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากองทุนสวัสดิการชุมชน อบต.อาฮี มีระบบการบริหารงบประมาณที่มีความชัดเจน มีระบบการเงินรายบุคคล รายหมู่บ้าน รายตำบล และระดับกองทุน มีทั้งระบบบันทึกข้อมูลแบบมือและการบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ โดยกรรมการจะมีทะเบียนคุมของแต่ละคน และนำส่งให้เจ้าหน้าที่กองสวัสดิการสังคมบันทึกลงในคอมพิวเตอร์
– ระบบการติดตามสนับสนุน/ความร่วมมือกับภาคี
หน่วยงานภาคีที่ให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับกองทุนสวัสดิการชุมชน อบต.อาฮี ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลอาฮี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเลย ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเลย กองทุนสวัสดิการตำบลนาอ้อ รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และโรงพยาบาลอำเภอท่าลี่ ในส่วนการให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนตำบลอาฮีนั้นได้มีการให้การสนับสนุนกองทุนฯตั้งแต่แรกตั้ง และมีการสนับสนุนอย่างต่อมาเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยจุดเริ่มต้นของการที่ได้เข้ามาสนับสนุนก็คือ ภาคประชาชนมีความต้องการที่จะก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา ทำให้ในการทำเอกสารต้องได้รับการรับรองจากทางอปท. ภาคประชาชนจึงได้มาขอความร่วมมือ เมื่อภาคประชาชนได้มีการขอความร่วมมือและทางอปท.ได้มีการช่วยเหลือ นำมาสู่การที่อปท.มีความสนใจกองทุนฯ จึงได้มีการสอบถาม ศึกษาเพิ่มเติม และรู้ว่ามีประโยชน์กับชาวบ้าน จึงให้ความร่วมมือเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยง มีการนำเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชนเข้าในแผนและข้อบัญญัติของอปท. มีการตั้งงบประมาณให้กองทุนสวัสดิการทุกปี โดยได้รับงบประมานสนับสนุนทั้งหมด 600,000 บาท อีกทั้งยังให้การสนับสนุนในเรื่องสถานที่ที่ตั้งที่ทำการกองทุนให้อยู่ในสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลอาฮีอีกด้วย และให้สถานที่ในการประชุมทุกครั้งของกองทุนฯ นอกจากนี้ยังได้เพิ่มระดับการเชื่อมโยงภาคีการทำงานด้วยการกำหนดเรื่องกองทุนสวัสดิการเข้าไปในภาระงานของกองสวัสดิการสังคม ทำให้กองทุนมีเจ้าหน้าที่ที่ช่วยดูแลเองระบบข้อมูลและการทำบัญชีของกองทุนฯ รวมไปถึงมีการให้การสนับสนุนเรื่องวัสดุ อุปกรณ์ การจัดทำเอกสารต่างๆแก่กองทุนฯด้วย ในส่วนของความร่วมมือของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณทั้งงบประมาณแรกตั้ง และเงินที่สมทบในการจัดสวัสดิการให้แก่คนในชุมชน โดยมีการสมทบมา 3 รอบ รวมเป็นจำนวนเงิน 795,780 บาท อีกทั้งทางพอช.ยังช่วยเป็นพี่เลี้ยงในเรื่องการทำบัญชีรายเดือน รายสามเดือน และรายปี เพื่อให้กองทุนนำมาปรับใช้จนถึงปัจจุบัน และนอกจากจะให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณและการเป็นพี่เลี้ยงแล้ว พอช.ก็ยังมีการมาสอบทานกองทุนฯ โดยมีการจัดกลุ่มแต่ละกองทุนเพื่อให้ทราบสถานการณ์ของแต่ละกองทุนฯว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดในการที่กองทุนฯจะมีความมั่นคงและมีความเข้มแข็ง และนำไปสู่การหาแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาได้ ในการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเลย ก็ได้มีการให้ความช่วยเหลือในเรื่องการเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่กองทุนฯ โดยจะมีการลงพื้นที่มาที่กองทุนฯทุกปี เพื่อมาให้คำแนะนำและร่วมกันพัฒนากองทุนฯให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น อีกทั้งพมจ.ยังได้มีการสนับสนุนเรื่องความรู้และการพัฒนาอาชีพของคนในชุมชน และมีการนำโครงการมาลงเพื่อให้ทุนในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้พมจ.ยังได้ช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ด้วยการให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ไม่ได้อยู่ในการช่วยเหลือของกองทุนฯ กองทุนฯจะมีการส่งเรื่องแจ้งไปที่พมจ.สำหรับกรณีที่กองทุนฯมองว่าเป็นผู้ยากไร้และต้องการสวัสดิการและไม่เข้าข่ายการให้สวัสดิการของกองทุน นอกจากจะมีหน่วยงานภาครัฐแล้วยังมีหน่วยงานภาคประชาชนที่ได้ให้ที่เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนก็คือ ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเลย กองทุนสวัสดิการตำบลนาอ้อ ที่ให้ความช่วยเหลือในการเป็นพี่เลี้ยง ร่วมให้คำปรึกษา และเสนอแนะแนวทางดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในกองทุนฯ อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือในเรื่องเอกสารต่างๆที่กองทุนฯมีความจำเป็นต้องทำ หากไม่เข้าใจก็สามารถที่จะขอคำอธิบายและคำแนะนำได้
นอกจากนี้หน่วยงานในพื้นที่ที่ให้การสนับสนุนแก่กองทุนฯก็ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน และร่วมเป็นที่ปรึกษา และให้ความร่วมมือในเรื่องของการติดต่อ ประสานงานต่างๆภายในพื้นที่ นอกจากนี้ก็ยังได้รับการช่วยเหลือจากโรงพยาบาลอำเภอท่าลี่ ที่เมื่อเวลามีสมาชิกที่เป็นผู้ป่วยจากกองทุนฯไปเข้ารับการรักษา และต้องการของหลักฐานใบรับรองแพทย์ต่างๆ เพื่อนำมาขอรับสวัสดิการจากกองทุน ทางโรงพยาบาลอำเภอท่าลี่ก็จะมีการออกใบรับรองแพทย์ให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
– ความสำเร็จที่เกิดจากการดำเนินงานกองทุน/สิ่งดี ๆ ที่เกิดจากกองทุนฯ
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งระหว่างทางในขณะที่กำลังดำเนินงาน และความสำเร็จในปลายทางที่จะเกิดขึ้น โดยความสำเร็จระหว่างทางที่เกิดขึ้นมาที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การที่คนในชุมชนมีการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือกันเอง การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อีกทั้งยังทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน คนในชุมชนและเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคีต่างๆก็ได้มีการประสานความร่วมมือ เกิดเป็นเครือข่ายที่ค่อยช่วยเหลือกัน เกิดเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น จะเห็นได้จากการบูรณาการงานของกองทุนฯกับกองสวัสดิการสังคมของอบต.อาฮี ที่มีการทำงานร่วมกัน ประสานกัน ร่วมทั้งเจ้าหน้าที่ก็มองว่าการสนับสนุนและช่วยเหลือกองทุนฯเป็นหน้าที่และเป็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ทั้งตัวกรรมการโครงการเอง และเจ้าหน้าที่มีความสบายใจในการทำงานร่วมกัน ในส่วนของความสำเร็จในปลายทางก็คือการที่คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต แม้จะยังมองเห็นผลที่เกิดขึ้นได้ไม่ชัดเจนนัก แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่มีการตั้งกองทุน และเป็นกองทุนที่มีการพัฒนาทั้งในเรื่องการจัดสวัสดิการ การดำเนินงาน และการบูรณาการภาคีเครือข่าย ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่กองทุนฯต้องการได้
– การบรรลุตามเป้าหมายการจัดสวัสดิการ
เป้าหมายของการจัดสวัสดิการชุมชนของกองทุนฯคือ เพื่อต้องการให้คนในชุมชนมีสวัสดิการที่ครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งเกิดจากการที่กองทุนฯมองว่าสวัสดิการที่ภาครัฐให้การช่วยเหลือนั้นมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องจำนวน เอกสาร หลักฐาน และไม่สามารถช่วยเหลือได้เพียงพอ จึงต้องการที่จะจัดสวัสดิการโดยภาคประชาชน เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนด้วยกันเอง จากที่นตอนแรกตั้งมีการจัดสวัสดิการเพียงไม่กี่ด้าน ก็พัฒนาขึ้นมาจนสามารถที่จะจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกได้หลายหลายมากขึ้น โดยในปัจจุบันกองทุนฯได้มีการจัดสวัสดิการทั้งสิ้น 10 ด้าน ได้แก่
1.ตั้งครรภ์ โดยสตรีที่เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน 90 วันขึ้นไป หากตั้งครรภ์ กองทุนสวัสดิการชุมชน มอบไข่ ให้เดือนละ 1 แผง (จำนวน ๙ แผง) หรือเงินจำนวน 1,000 บาท ทุกราย(ระหว่างที่ตั้งครรภ์)
- การเกิด โดยเด็กแรกเกิด ได้รับเงินขวัญถุง รายละ 500 บาท ซึ่งบิดาหรือมารดา ต้องเป็นสมาชิก กองทุนสวัสดิการไม่น้อยกว่า 90 วัน และเด็กคนดังกล่าวจะต้องเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการ จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า 20 บาท
3.การศึกษา โดยเด็กที่เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน มาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน กองทุนสวัสดิการมอบทุนให้เด็กเข้าเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและอนุบาล รายละ 500 บาทต่อปี เด็กเรียนชั้นประถมศึกษา รายละ 500 บาทต่อปี โดยให้ทุนปีละไม่เกิน 30 ทุน และการพิจารณาจ่ายทุนการศึกษาให้ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการ
- ผู้สูงอายุ โดยสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนฝากเงินออมครบ 365 วัน ( 1 ปี) และมีอายุครบ 90 ปีขึ้นไปจะได้รับบำนาญปีละ 300 บาท
5.การเจ็บป่วย โดยสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่เป็นสมาชิกมาไม่น้อยกว่า 90 วัน ป่วยนอนโรงพยาบาล จ่ายสวัสดิการให้ คืนละ 100 บาทปีละไม่เกิน 10 คืน
6.การเสียชีวิต โดยจะมีการแบ่งการให้สวัสดิการเป็นขันบันไดตามระยะเวลาในการสมทบเงิน ได้แก่ ฝากออมครบ 90 วันขึ้นไป หากเสียชีวิตจะได้เงินรายละ 6,000 บาท ฝากออมครบ 1 ปีขึ้นไปหากเสียชีวิตจะได้รับเงินรายละ 8,000 บาท และฝากออมครบ 3 ปีขึ้นไปหากเสียชีวิตจะได้รับเงินรายละ 9,000 บาท
7.สวัสดิการช่วยเหลือสาธารณะประโยชน์ให้แก่ชุมชน ในด้านต่างๆ ได้แก่ สมทบให้หน่วยกู้ชีพกู้ภัยในชุมชน การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน การสนับสนุนบุญประเพณีในชุมชน รวมไปถึงการสนับสนุนวันผู้สูงอายุ และกิจกรรมผู้สูงอายุ
- สมาชิกลาอุปสมบทเกิน 15 วัน รับเงินช่วยจัดงานอุปสมบท รายละ 1,000 บาท (ได้รับเพียงครั้งเดียวตลอดการเป็นสมาชิกกองทุน)
- ช่วยเหลือเด็กและครอบครัวเด็กที่ยากจน ค่าสนับสนุนบุญประจำปีหมู่บ้านละ 1,000 บาท จำนวน 11 หมู่บ้าน ปีละ 1 ครั้ง เป็นเงิน 11,000 บาท
- สมาชิกจัดงานมงคลสมรสและจดทะเบียนสมรสได้รับเงินขวัญถุงสร้างครอบครัว รายละ 1,000 บาท (หากคู่สมรสเป็นสมาชิกกองทุนจ่ายเพียงคนเดียว และหนึ่งคนได้รับครั้งเดียวตลอดการเป็นสมาชิก)
– สิ่งที่ยังต้องเพิ่มเติม/ หรือต้องพัฒนากองทุน ทำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
สิ่งที่ทางกองทุนฯต้องการที่จะพัฒนาในเรื่องแรกก็คือ อยากพัฒนาการจัดสวัสดิการไปสู่กลุ่มคนที่ไม่มีทะเบียนบ้านในชุมชนด้วย เนื่องจากพื้นที่ของอบต.อาฮีเป็นพื้นที่ชายแดน จึงทำให้มีคนต่างด้าวเข้ามาทำงานและตั้งถิ่นฐานในชุมชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นคนในชุมชน เพราะบางคนเข้ามาอยู่ถาวร (กลุ่มคนที่มีบัตรชมพูที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวร) และมีครอบครัวอยู่ในพื้นที่ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ที่มีจำนวนมากในชุมชนไม่สามารถที่จะมีสวัสดิการต่างๆเหมือนคนในชุมชนคนอื่นๆได้ ทางกองทุนฯมีความต้องการที่จะจัดสวัสดิการให้แก่คนกลุ่มนี้และอยากรับเป็นสมาชิก แต่หากรับเข้าเป็นสมาชิก คนกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้รับเงินสมทบหรือเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ทำให้กองทุนต้องการที่จะหาแนวทางการพัฒนาสวัสดิการให้ครอบคลุมคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในเรื่องของการจัดสวัสดิการทางกองทุนมีความต้องการที่จะจัดสวัสดิการเพิ่มเติมในเรื่อง การอนุรักษ์ทรัพยากร ดิน น้ำ และป่า ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นสวัสดิการที่ช่วยในเรื่องพื้นที่สาธารณะประโยชน์ให้คงอยู่คู่ชุมชน และเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชนต่อไปในอนาคต นอกจากนี้การจัดสวัสดิการของกองทุนที่ยังต้องการเพิ่มเติมก็คือในเรื่องอาชีพ คือต้องการบูรณาการการจัดสวัสดิการด้านการพัฒนาอาชีพให้เข้ากับการจัดสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น การเชื่อมระหว่างอาชีพทำของชำร่วยกับการจัดงานศพ ซึ่งในชุมชนมีกลุ่มอาชีพนี้ที่ให้ผู้ด้อยโอกาสทำอยู่จากการที่ได้รับการสนับสนุนจากพมจ. แต่ยังขาดตลาดและการบูรณาการ หากสามารถบูรณาการได้ก็จะถือได้ว่าเป็นการจัดสวัสดิการที่ได้ประโยชน์แก่คนในชุมชน
ในส่วนของสิ่งที่ทางกองทุนฯต้องการเพิ่มเติมและพัฒนาก็คือ ในเรื่องของระเบียบกองทุนฯที่มีการระบุว่า “หากสมาชิกยื่นความจำนงขอลาออกและได้รับอนุมัติ กองทุนจะคืนเงินให้เท่ากับจำนวนที่ส่งเงินสัจจะทั้งหมด ในกรณีสมาชิกที่ลาออกนั้นยังไม่เคยได้รับสวัสดิการใดๆจากกองทุนเท่านั้น หากเคยได้รับสวัสดิการจากกองทุนจะไม่ได้รับเงินออมคืน” ซึ่งการระบุในระเบียบกองทุนแบบนี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่กองทุน เพราะหลักการของสวัสดิการชุมชนคือการมาออมบุญ หรือการนำเงินมารวมกันเป็นกองบุญ แล้วนำมาจัดสวัสดิการให้แก่คนในชุมชนเอง ดังนั้นหากมีการระบุเรื่องการคืนเงิน จะทำให้กองทุนมีความเสี่ยงที่สมาชิกจะขอลาออกและหากมีคนลาออกเป็นจำนวนมากก็อาจจะส่งผลกองทุนฯนั้นล้มเหลวได้ ในส่วนต่อมาที่กองทุนฯยังการเพิ่มขยายฐานสมาชิกไปสู่คนกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบันสมาชิกของกองทุนฯส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ทำให้กองทุนฯมีความเสี่ยงที่จะล้มและขากความยั่งยืน ทำให้กองทุนมีการวางแผนที่จะขยายฐานสมาชิกไปยังกลุ่มเด็ก วัยทำงาน พระสงฆ์ หรืออาจจะไปสู่คนต่างด้าว เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงแก่กองทุนฯและยังเป็นการตอบสนองต่อเป้าประสงค์ของการก่อตั้งกองทุน คือ การที่ต้องการให้คนในชุมชนทุกคนได้รับสวัสดิการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
นอกจากนี้กองทุนยังต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการวิเคราะห์ความเสี่ยงของกองทุนฯ ว่าใช้หลักเกณฑ์อย่างไรในการพิจารณาความเสี่ยงของกองทุน สร้างเป็นสูตรเพื่อง่ายต่อการวิเคราะห์และสามารถที่จะนำไปใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของกองทุนฯได้จริง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงและพัฒนาให้กองทุนมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกองทุนฯยังต้องการให้หน่วยงานต่างๆพัฒนาโปรแกรมที่สามารถลิงค์ข้อมูลของสมาชิกกับการจัดสวสัดิการว่าเคยได้รับสวัสดิการมาแล้วกี่ครั้ง อะไรบ้าง แล้วสามารถที่จะเช็กได้ว่ากลุ่มประชากรของสมาชิกแยกตามอายุได้ สามารถดึงข้อมูลรายคน รายหมู่บ้าน รายตำบล และภาพรวมของกองทุนออกมาได้ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บและง่ายต่อการนำเสนอข้อมูลให้แก่สมาชิกในกองทุนได้รับทราบ
ภาพสรุปผลการถอดบทเรียนกองทุนสวัสดิการชุมชม อบต.อาฮี
3. บทเรียนและข้อค้นพบที่สำคัญพื้นที่
กระบวนการถอด
กระบวนการถอดบทเรียน ในตอนเปิดเวทีได้มีการชี้แจ้งวัตถุประสงค์และประเด็นที่ใช้ในการถอดบทเรียนให้แก่กรรมการกองทุน และตัวแทนหน่วยงานต่างๆที่เข้าร่วมเวทีได้รับทราบ เพื่อให้กรรมการและหน่วยงานที่หนุนเสริมได้มีความเข้าใจ และสามารถที่จะตอบคำถามได้อย่างตรงประเด็น และตอบได้ตรงตามความเป็นจริงมากที่สุด เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการถอดบทเรียนคือการนำไปสร้างเป็นชุดความรู้ และสามารถนำไปพัฒนาไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในการจัดสวัสดิการชุมชนในรูปแบบอื่นๆได้ อีกทั้งในการถอดบทเรียนแต่ละประเด็นได้มีการเขียนสรุปข้อมูล เพื่อเป็นการตรวจสอบความครบถ้วนและความถูกต้องสมบูรณ์ของประเด็นในการถอดบทเรียน แต่ในกระบวนการถอดบทเรียนพบว่า ภาษาเป็นตัวแปรสำคัญในการสอบถาม เนื่องจากในคณะผู้ดำเนินการถอดบทเรียนไม่คุ้นเคยกับภาษาท้องถิ่นในพื้นที่ ทำให้ในการสอบถามกับกรรมการบางท่านที่ไม่สามารถพูดภาษากลางหรือภาษาอีสานได้นั้น ต้องมีคนที่แปลให้ ซึ่งก็อาจจะทำให้จับใจความสำคัญหรือจับประเด็นในคำตอบได้ไม่ชัดเจนนัก ประกอบกับก่อนการถอดบทเรียนคณะผู้ดำเนินการไม่มีการเตรียมระหว่างผู้สอบถามกับผู้ที่เขียนสรุป ทำให้ในการเขียนสรุปอาจจะมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อน และอาจจะมีประเด็นที่ตกหล่นได้
บทเรียนที่พบจากพื้นที่
ในการถอดบทเรียนกองทุนสวัสดิการชุมชน อบต.อาฮีครั้งนี้ พบว่า กองทุนฯมีจุดเด่นคือการสร้างความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบลอาฮี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเลย ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเลย กองทุนสวัสดิการตำบลนาอ้อ รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และโรงพยาบาลอำเภอท่าลี่ โดยมีการสร้างภาคีเครือข่ายโดยมีการหนุนเสริมทั้งในเรื่องงบประมาณ การให้คำปรึกษา คำแนะนำ การจัดทำเอกสาร ระบบการเงินการบัญชี หรือแม้แต่ในเรื่องเครือข่ายความสัมพันธ์ที่อำนวยความสะดวกให้แก่คนที่เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน อบต.อาฮี ดังเช่นที่ โรงพยาบาลอำเภอท่าลี่ที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายในการทำใบรับรองแพทย์ เป็นต้น
ระบบการจัดเก็บข้อมูลของกองทุนสวัสดิการชุมชน อบต.อาฮี นั้นมีการจัดเก็บใน 2 รูปแบบ คือ ในรูปแบบของสมุด ทั้สมุดทะเบียนคุมที่เป็นความรับผิดชอบของแต่ละกรรมการหมู่บ้าน สมุดทะเบียนการส่งเงินของกรรมการหมู่บ้าน และสมุดประจำตัวของสมาชิก ส่วนการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบที่สองก็คือ การจัดเก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรม Microsoft Excel เพื่อที่จะสามารถจัดทำทะเบียนสมาชิกและบัญชีการส่งเงินสมทบ รวมถึงการได้รับสวัสดิการของสมาชิกด้วย
ในส่วนของการบริหารงบประมาณของกองทุนฯจะมีการสรุปงบประมาณทั้งในรายเดือน รอบสามเดือนที่มีการประชุม และมีการสรุปเป็นรายปี เพื่อนำเสนอข้อมูลให้แก่สมาชิกได้รับทราบในการประชุมประจำปี นอกจากนี้ยังมีการประเมินความเสี่ยงของกองทุน โดยการดูข้อมูลสรุปรายรับรายจ่ายของกองทุน ประกอบกับข้อมูลการจัดสวัสดิการการเสียชีวิตว่ามีจำนวนที่สูงหรือไม่ เนื่องจากสวัสดิการด้านนี้เป็นสวัสดิการที่มีการจ่ายเป็นจำนวนเงินที่สูง หากในรอบปีใดมีการจ่ายสวัสดิการในด้านนี้มาก ก็จะทำให้กองทุนนั้นมีความเสี่ยงที่จะล้มได้ หรือการประเมินที่สมดุลย์ของรายรับรายจ่าย หากมีรายจ่ายมากกว่าก็หมายความว่า กองทุนมีความเสี่ยงในการล้มเหลวเช่นกัน ทำให้ในการประชุมแต่ละครั้งทั้งในการประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ก็จะมีการหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา
ในการจัดสวัสดิการของกองทุนก็ได้มีการพัฒนาจากที่ตอนแรกตั้งหองทุนฯนั้นมีการจัดสวัสดิการเพียงไม่กี่ด้าน ก็พัฒนาขึ้นมาจนสามารถที่จะจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกได้หลายหลายมากขึ้น โดยในปัจจุบันกองทุนฯได้มีการจัดสวัสดิการทั้งสิ้น 10 ด้าน ได้แก่ 1.ตั้งครรภ์จะให้สวัสดิการเป็นการมอบไข่ 2. การเกิด โดยเด็กแรกเกิดได้รับเงินขวัญถุง 3.การศึกษาให้แก่เด็กที่เข้าเป็นสมาชิก 4. ผู้สูงอายุเมื่อมีอายุครบ 90 ปีขึ้นไปจะได้รับบำนาญ 5.การเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล 6.การเสียชีวิตจ่ายสวัสดิการแบบเป็นขั้นบันได 7.สวัสดิการช่วยเหลือสาธารณะประโยชน์ให้แก่ชุมชนในด้านต่างๆ 8. สมาชิกอุปสมบทรับสวัสดิการเงินช่วยจัดงานอุปสมบท 9. ช่วยเหลือเด็กและครอบครัวเด็กที่ยากจน 10. สมาชิกจัดงานมงคลสมรสและจดทะเบียนสมรสได้รับเงินขวัญถุงสร้างครอบครัว
การบรรลุเป้าหมายหรือความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งระหว่างทางในขณะที่กำลังดำเนินงานของกองทุนฯ และความสำเร็จในปลายทางที่จะเกิดขึ้น โดยความสำเร็จระหว่างทางที่เกิดขึ้นมาที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การที่คนในชุมชนมีการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือกันเอง มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบสิ่งของ เงินทอง หรือการเยี่ยมยามถามไถ่ ก็แสดงให้เห็นถึงการที่คนในชุมชนมีความผูกพันธ์ และร่วมกันดูแลกัน อีกทั้งในการดำเนินงานของกองทุนฯก็ได้ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีและแน่นแฟ้นของคนในชุมชน นอกจากนี้ยังทำให้คนในชุมชนและเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคีต่างๆได้มีการประสานความร่วมมือ เกิดเป็นเครือข่ายที่ค่อยช่วยเหลือกัน เกิดเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น จะเห็นได้จากการบูรณาการงานของกองทุนฯกับกองสวัสดิการสังคมของอบต.อาฮี ที่มีการทำงานร่วมกัน ประสานกัน ร่วมทั้งเจ้าหน้าที่ก็มองว่าการสนับสนุนและช่วยเหลือกองทุนฯเป็นหน้าที่และเป็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ทั้งตัวกรรมการโครงการเอง และเจ้าหน้าที่มีความสบายใจในการทำงานร่วมกัน ในส่วนของความสำเร็จในปลายทางก็คือการที่คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต แม้จะยังมองเห็นผลที่เกิดขึ้นได้ไม่ชัดเจนนัก แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่มีการตั้งกองทุน และเป็นกองทุนที่มีการพัฒนาทั้งในเรื่องการจัดสวัสดิการ การดำเนินงาน และการบูรณาการภาคีเครือข่าย ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่กองทุนฯต้องการได้
ข้อสังเกตที่มีต่องานกองทุนสวัสดิการ
กองทุนสวัสดิการ อบต.อาฮี เป็นกองทุนที่มีความเข้มแข็ง และค่อนข้างที่จะมั่นคง แต่ก็ยังจุดที่เป็นความเสี่ยง ซึ่งหากไม่ได้รับแก้ไขก็อาจจะกลายเป็นปัญหาที่สำคัญได้ในอนาคต ปัญหาก็คือ ระเบียบกองทุนฯที่มีการระบุว่าสามารถคืนเงินแก่สมาชิกที่ไม่เคยได้รับสวัสดิการใดๆเลยได้ หากต้องการจะลาออก ซึ่งการระบุในระเบียบกองทุนแบบนี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่กองทุน เพราะหลักการของสวัสดิการชุมชนคือการมาออมบุญ หรือการนำเงินมารวมกันเป็นกองบุญ แล้วนำมาจัดสวัสดิการให้แก่คนในชุมชนเอง ดังนั้นหากมีการระบุเรื่องการคืนเงิน จะทำให้กองทุนมีความเสี่ยงที่สมาชิกจะขอลาออกและหากมีคนลาออกเป็นจำนวนมากก็อาจจะส่งผลกองทุนฯนั้นล้มเหลวได้