ในงานมอบบ้านพอเพียงของชาวนครราชสีมาที่จะจัดขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ในส่วนของเจ้าภาพจัดงานนั้นเริ่มคึกคัก ร่วมรักสมัครสมานสามัคคีเพราะที่นี่คือ “โคราชหนึ่งเดียว” ทั้งขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน เครือข่ายระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชน เครือข่ายโครงการบ้านมั่นคงเมือง บ้านมั่นคงชนบท บ้านพอเพียงชนบท ต่างเกิดการประสานภาคีเข้ามาเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากันยกใหญ่ ทุกๆเครือข่ายต่างก็โทรถาม ไลน์ถาม ถึงงานมอบบ้านพอเพียงของคนพอเพียงจังหวัดนครราชสีมากันไม่ขาดสาย โดยเฉพาะพื้นที่เจ้าภาพ ที่ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมาได้ใช้สถานที่ตำบลดอนชุมพู อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ยิ่งต้องเตรียมการ เตรียมงานกันอย่างขะมักเขม้น
“หลายคนถามถึงว่าตำบลดอนชุมพูอยู่ที่ไหน เขามีดีอย่างไร จึงได้เลือกพื้นที่แห่งนี้ในการจัดกิจกรรมมอบบ้านพอเพียงของคนพอเพียง เราไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับตำบลดอนชมพูกันครับ”
เหลียวหลัง แลหน้า ก่อนก้าวเข้าสู่ชุมชนตำบลดอนชมพู
ตำบลดอนชุมพู อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา คนตำบลดอนชมพู เป็นชาวไทยโคราช อยู่กันมาตั้งแต่ดั้งเดิมหลายช่วงอายุคน มีภาษาพูดเป็นภาษาไทยโคราช คนเฒ่าคนแก่นิยมเคี้ยวหมาก มีความเป็นอยู่แบบสังคมชนบท มีขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทยๆ มีวันตรุษศาสตร์ เข้าวัดฟังธรรม ในอดีตเป็นป่าทึบติดแม่น้ำมูลมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย ส่วนใหญ่จะไม่ทราบถึงประวัติหมู่บ้าน มีบ้านศรีสุขหมู่ที่ 8 ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2452 โดยนายอินทร์ นางขาว โอ่งกลาง อพยพจากบ้านโพธิ์ ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง บ้านจอก หมู่ที่ 11 ซึ่งตั้งบ้านเรือนมาร้อยกว่าปี มีนายแก้ว นางปาน มาอาศัยเป็นครอบครัวแรก
สภาพทั่วไป ตำบลดอนชมพูอยู่ทางทิศตะวันออกของตำบลโนนสูง ห่างจากที่ว่าการอำเภอโนนสูงประมาณ 22 กิโลเมตรและมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลต่างๆ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโนนสูง
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบิง อำเภอโนนสูง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลสำฤทธิ์ อำเภอพิมาย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง
ภูมิประเทศ ตำบลดอนชมพูมีรูปคล้ายรูปสี่เหลี่ยม มีทางหลวงหมายเลข 2 ตัดผ่านในแนวเหนือ–ใต้ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ ลำมูลไหลผ่านทางด้นตะวันออกของตำบลในแนวใต้–เหนือ และลำเชียงไกร ไหลผ่านตอนเหนือของตำบลในแนวตะวันตก–ตะวันออก และไหลลงสู่ลำมูล ที่บ้านส้ม ความลาดชันจากแผนที่แสดงความสูงต่ำของพื้นที่ตำบลดอนชมพู มีความสูง 160 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีเนื้อที่ตำบลดอนชมพูมีเนื้อที่ประมาณ 44.31 ตารางกิโลเมตร หรือจำนวน 27,693 ไร่
ปัจจุบันตำบลดอนชมพูมีทั้งหมดหมู่บ้าน 13 หมู่บ้าน ประชาการ ประชากรทั้งสิ้น 7,876 คน แยกเป็นชาย 3,798 คน หญิง 4,078 คน มีความหนาแน่นเฉลี่ย 177.74 คน/ตารางกิโลเมตร
ด้วยสภาพที่เปลี่ยนไปจากอดีต ที่เคยอยู่กันแบบพี่แบบน้อง ฉันญาติมิตรช่วยเหลือ พึ่งพาซึ่งกันและกันเคารพให้เกียรติ อาศัยธรรมชาติที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบัน ต้องแข่งขัน ยึดเงินเป็นตัวตั้งหลงตามกระแสทุนนิยม รอแต่การช่วยเหลือทุกวันนี้สังคมถูกสอนให้หาแต่เงิน ตื่นเช้ามานั่งรอซื้อของที่เขาเอามาขาย เลยต้องดิ้นรนหาแต่เงินทิ้งลูกไว้กับตายายคนที่อยู่ก็ละเลยการอบรมสั่งสอนลูกหลาน คิดว่าเป็นหน้าที่ของครูที่โรงเรียน ทำให้ชุมชนอ่อนแอ ทำให้ปัญหาสังคมตำบลดอนชมพูมีความสลับซับซ้อนและรุนแรง
“ผู้คนตำบลดอนชมพูเราต้องการหลักคิด ตั้งสติ เพื่อให้อยู่รอด และอยู่อย่างยั่งยืน ทำให้เราต้องกลับมาคิดทบทวนว่าชุมชนท้องถิ่นเรา ต้องคิดด้วยตนเอง สร้างการเปลี่ยนแปลงจากการคิดภายในตัวเราเอง ชุมชนเราถึงจะพัฒนาได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน”
แต่กว่าจะมาเป็นวันนี้ได้ก็ผ่านอุปสรรค ปัญหามากมายทั้งที่เกิดจากภายในชุมชนเองและที่เกิดจากภายนอกชุมชน ไม่ว่าจะเป็นตัวคณะทำงานเอง จากตัวสมาชิกในชุมชน จากตัวระบบและอีกหลายๆปัจจัย แต่เราก็ผ่านมาได้จนถึงทุกวันนี้ด้วยประสบการณ์และการทำงานที่ไม่เคยหยุดนิ่งกว่า 10 ปี โดยยึดคติที่ว่า “ปัญหาของชุมชนเรา ถ้าเราไม่แก้ แล้วจะรอให้ใครมาแก้”
หลักคิดของเราและเพื่อนๆ คือต้นทุนการพัฒนา โดยการรวมตัวกันของแกนนำที่มีจิตอาสาเรียกว่า คณะทำงานเพื่อการพัฒนาตำบลดอนชมพูหรือเครือข่ายอาสาพัฒนาสังคมตำบลดอนชมพู เพื่อวัตถุประสงค์ คือขับเคลื่อนงานพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตำบล เน้นการบูรณาการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนสู่ความยั่งยืน เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของคนตำบลให้อยู่ดี กินดี พร้อมทั้งพัฒนาและฟื้นฟู การพึ่งพา ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในรูปแบบสวัสดิการ พัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เสริม ให้กับคนในตำบล
ชุมชนเรามีหลักการพัฒนาอยู่ว่า เราต้องเน้นการพัฒนาคน การปรับวิธีคิด เพราะชุมชนจะเข้มแข้ง ต้องเข้มแข้งทางความคิด คิดเป็น ทำเป็น เพราะวันนี้สังคมถูกกระแสที่สร้างความอ่อนแอโถมใส่ทุกวัน
เรามองว่า ปัญหาที่ต้องแก้ คือ ความอ่อนแอทางความคิดของผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นงานใหญ่ นี่คือยุทธศาสตร์ของเรา ไม่ใช่กิจกรรม เพราะกิจกรรมเป็นเพียงเครื่องมือโดยยึดหลักความสมัครใจ และเน้นการพัฒนาบนฐานทุนเดิม มีส่วนร่วมของทุกคน พัฒนาตามศักยภาพของแต่ละชุมชน บริหารจัดการทุนทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นำมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับส่วนรวม พร้อมทั้งประสานงานบูรณาการกับหน่วยงานภาคี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข้ง โดยมีการถอดบทเรียนจากการทำงาน สรุปประเมิน ทบทวนผลหลังการทำงานเพื่อปรับแผนให้ทันกับสถานการณ์ เชื่อว่านี่คือต้นทุนของการพัฒนา จุดเริ่มของชุมชนท้องถิ่นที่จะสามารถจัดการตนเองได้ และนำไปสู่ตำบลแห่งการเรียนรู้และพัฒนาเชิงบูรณาการ เพื่อการจัดการตนเองตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พรบ. สภาองค์กรชุมชน เครื่องมือการพัฒนาของคนตำบลดอนชมพู
31 สิงหาคม 2559 เป็นวันที่เราได้ร่วมกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนชมพู โดยมีคุณนิตยา เกษประเสริฐ แกนนำขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา เข้ามาพูดคุยและสร้างความเข้าใจการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนชมพู แรกเริ่มสภาองค์กรชุมชนมีการจัดตั้งแค่หลวมๆ เท่านั้น เพราะยังไม่เข้าใจเรื่องสภาองค์กรชุมชนมากนัก แต่รู้ว่าน่าจะเป็นเรื่องดี
ต่อมาเรามีการปรับโครงสร้างสภาองค์กรชุมชนใหม่ทั้งตำบล มีเวทีปรึกษาหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของชุมชน คนในชุมชนก็เริ่มตื่นรู้และเข้ามาร่วมการพัฒนาชุมชนของคนตำบลดอนชมพู การรวมตัวครั้งนี้นำไปสู่การจัดระบบความสัมพันธ์ใหม่ของชุมชน โดยมี องค์การบริหารส่วนตำบลดอนชมพู โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอนชมพู โรงเรียนดอนชมพู (สังฆประชานุเคราะห์) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พระสงฆ์ กลุ่มองค์กรต่างๆ ในตำบลและหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งหมดนี้ โดยมีสภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลางและใช้ พรบ. สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือการพัฒนาของคนตำบลดอนชมพู
“แรกๆ เราก็ไม่เข้าใจว่าสภาองค์กรชุมชนตำบลคืออะไร แต่พอเราได้มีเวทีประชุมกันบ่อยเข้าและทุกคนได้แสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างอิสระ เพื่อต้องการให้เห็นการพัฒนาของบ้านตนเอง ก็เริ่มเข้าใจว่าสภาองค์กรชุมชน คือ วงประชุมปรึกษาหารือในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาของคนชุมชนอย่างมีส่วนร่วม”
มันดีนะเวทีแบบนี้ มันเป็นเวทีแบบมีชีวิต มันเป็นจิตวิญญาณ การที่คนเราพร้อมใจกัน หามติร่วมกัน เคารพกฎ ระเบียบ กติกา ร่วมกันนั้น เป็นเรื่องที่ดีงามและทำงานร่วมกันได้แบบจริงใจ งานพัฒนาที่ตำบลดอนชมพูจึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
พอมีหน่วยงานเข้ามาร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน จากนั้นเราก็เริ่มได้มีการเก็บข้อมูลตำบลดอนชมพูโดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญ
ต่อมามีการเปิดเวทีประชุมเครือข่ายหลักประกันสุขภาพโดยใช้สถานที่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลดอนชมพู มี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เครือข่าย อสม. ครูโรงเรียนในเขตตำบลดอนชมพู วัด แล้วทุกครั้งจะมีเจ้าภาพหลักที่เกี่ยวข้อง กับหน่วยงานส่วนไหน เช่น เรื่องสุขภาพ อสม. และคุณหมอ จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ด้านสภาองค์กรชุมชน รับผิดชอบเรื่องที่อยู่อาศัย ตามโครงการบ้านพอพียงชนบท เราหนุนเสริมกันทั้งราษฎร์ รัฐ มีการระดมทุนทางแรงงาน ช่างชุมชน การทำอาหารมาช่วยกัน เป็นการร่วมด้วยช่วยกัน งานทุกอย่างที่ชุมชนทำเองได้เราก็ร่วมด้วยช่วยกันการเก็บและสำรวจข้อมูล เมื่อปี 2559 พบว่ามีปัญหาเรื่องการเกิดอุบัติเหตุ เพราะอยู่ติดกับถนนมิตรภาพ ปัญหาเรื่องการขยะ ที่แม่ค้ารถเร่ขนผักชอบทิ้งขยะลงสองข้างถนน ปัญหาเรื่องน้ำที่ต้องรอน้ำฝนเท่านั้น เพราะที่นี่มีปัญหาเรื่องดินเค็ม ปัญหาเรื่องความยากจน ปัญหาเรื่องเด็กท้องก่อนวัย ปัญหาเรื่องสุขภาพของชาวบ้าน บางคนป่วยยังต้องดูแลลูกหลาน ที่พ่อแม่ฝากไว้แล้วไปทำงานยังในเมือง ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่มีบางครอบครัวอาศัยอยู่ในที่ดินสาธารณะ เป็นต้น
ที่นี่มีความสามัคคี “เรารักดอนชมพู” มันเป็นความภาคภูมิใจของเรา การแก้ปัญหาโดยคนในชุมชนเองนั้นเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงกับความต้องการของเรา
แผนพัฒนาตำบล…..จุดเริ่มต้นขบวนการพัฒนาจากฐานราก
ตั้งแต่การสร้างการมีส่วนร่วมให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน เพื่อจะก้าวไปสู่ 10 ปี กับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะให้การทำงานได้บรรลุตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ดังนั้นการวางแผนจึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อการบริหารงานเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการวางแผนเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต เป็นการวางกรอบและทิศทางของการพัฒนา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีระบบ ซึ่งในการวางแผนจะต้องมีการระดมความคิด อย่างมีทิศทาง รวมทั้งเน้นให้มีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง
ดังนั้นสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนชมพู จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำแผนพัฒนาตำบล และเพื่อให้พัฒนาครอบคลุมและตรงกับความต้องการทุกๆ ด้าน ขบวนองค์กรชุมชนตำบลดอนชมพู จึงได้ประสานการทำงานทุกๆหน่วยงานในตำบล โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลดอนชมพู โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอนชมพู ครูโรงเรียน พระสงฆ์ ที่ต้องการพัฒนาชุมชนโดยให้ประชาชนมาแสดงสิทธิออกความคิดเห็นและให้ตรงตามความต้องการ ขณะเดียวกันขบวนองค์กรชุมชนดอนชมพูต้องมีแผนของชุมชนเองเช่นกัน และเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนทุกๆด้าน คือ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารการจัดการอย่างมีส่วนร่วม
สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนชมพู จึงมีหลักการและเหตุผลที่จะต้องจัดทำแผนพัฒนาตำบล เพื่อให้ตรงกับความต้องการของชุมชนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต จึงได้มีเวทีประชาคมการทำแผนพัฒนาร่วมกันทั้งตำบล คือ
- เพื่อเป็นการเตรียมโครงการพัฒนาต่างๆ ให้อยู่ในลักษณะที่พร้อมจะนำไปปฏิบัติได้
- เพื่อแสดงจุดหมายและแนวทางการพัฒนาทั้งนี้เพื่อสอดคล้องและสามารถสนองตอบต่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายรวมของการพัฒนาตำบล
- เพื่อให้สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนชมพู มีการจัดทำแผนพัฒนาตำบลตามภารกิจของสภาองค์กรชุมชนตำบล
- เพื่อให้การพัฒนากิจการสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสัมฤทธิ์ผลในการพัฒนาสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
- เพื่อเป็นเอกสารแผนพัฒนาตามองค์ประกอบของแผนพัฒนาแบบมีส่วนร่วม
- เพื่อพัฒนาคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนชมพูให้มีทักษะและความสามารถเพิ่มขึ้น
จะเห็นได้ว่าการเตรียมความพร้อมที่จะให้เป็นกลไกพื้นที่ในการเชื่อมโยงงานพัฒนาและจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยการรายงานผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชน และการนำเสนอความเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาด้านต่างๆ ได้เป็นระบบ
ดังนั้นการจัดทำแผนพัฒนาจึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คณะกรรมการกิจการสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนชมพู ได้พิจารณาอย่างรอบคอบให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ที่อาจมีความเชื่อมโยงและส่งผลทั้งในเชิงสนับสนุน การกำหนดแนวทางการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ คือ
- พัฒนาศักยภาพแกนนำในระดับตำบล เพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมแกนนำและมอบภารกิจให้ไปปฏิบัติการตามแผนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน/ตำบล
- จัดเวทีสร้างความเข้าใจประสานความร่วมมือท้องถิ่น ท้องที่ และหน่วยงานในตำบล เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางการสร้างข้อตกลงร่วมกันของจังหวัด การทบทวนเนื้อหา กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาตำบล การออกแบบการวางแผนการจัดทำเวทีระดับหมู่บ้านร่วมกัน
- การจัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาตำบล/หมู่บ้าน ที่มีองค์ประกอบไปด้วย คณะขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนตำบล ท้องถิ่น ท้องที่ ปราชญ์ชาวบ้าน พระสงฆ์ อนามัย ครูในโรงเรียน และหน่วยงานในตำบล
- การจัดทำเวทีจัดทำแผนพัฒนาตำบล/หมู่บ้าน โดยการระดมความคิดเห็นร่วมในด้านสภาพปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการของประชาชน ศักยภาพและทุนที่สำคัญในตำบลการทบทวนข้อมูลมือสองและแผนพัฒนาชุมชนเดิมที่ชุมชนได้ดำเนินการมาแล้วและการสรุปข้อมูลกำหนดเป็นแผนการพัฒนาตำบล/หมู่บ้าน ร่วมกัน
- การสรุปสังเคราะห์/วิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำเป็นแผนการพัฒนาระดับตำบล โดยแยกออกเป็นแต่ละด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจัดทำเป็นรูปเล่มแผนพัฒนาตำบล
- การจัดเวทีประชาพิจารณ์แผนพัฒนาชุมชนเพื่อรับรองแผนงาน โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคณะขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนตำบล ท้องถิ่น ท้องที่ ปราชญ์ชาวบ้าน พระสงฆ์ และหน่วยงานในตำบลได้ร่วมกันให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ และรับรองแผนพัฒนาชุมชนระดับตำบล
- การเข้าร่วมเวทีสังเคราะห์ข้อมูลและจัดทำแผนพัฒนาตำบลของภาคประชาชนในระดับตำบล เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ให้ความเห็น ข้อเสนอแนะและตรวจสอบความถูกต้องของแผนพัฒนาตำบลและเกิดกระบวนการรับรองแผนพัฒนาตำบลร่วมกัน
ด้วยรูปแบบการทำงานแบบภาคประชาชน จึงทำให้สามารถต่อยอดการทำงานของเครือข่ายองค์กรชุมชนตำบลดอนชมพูได้เป็นอย่างดี และต่อยอดทางความคิดที่มุ่งเน้นพาสังคมไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข ชีวิตมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับภารกิจฟื้นฟูทรัพยากร คน ดิน น้ำ ป่า โดยมีกลุ่มกิจกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนงานอย่างมีเป้าหมาย แผนพัฒนาชุมชนตำบลดอนชมพูจึงเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง จนสามารถก้าวไปสู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม
กลุ่มคนสร้างงาน “สวัสดิการชุมชนตำบลดอนชมพู”
จุดประกายความคิดของคนตำบลดอนชมพูที่จะดูแลช่วยเหลือกันในรูปแบบการจัดสวัสดิการชุมชน ที่เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มของคนจากกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้สร้างการยอมรับกองทุนสวัสดิการชุมชนภายใต้วิถีชีวิตของแต่ละชุมชน
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดอนชมพู
ก่อตั้งเมื่อ 7/2/2551 สมาชิกกองทุน 1,646 คน สมทบจาก พอช. 100,000 บาท สมทบจาก อบต. 215,000 บาท สมทบจากอื่นๆ 6,000 บาท เงินบริจาค 35,050 บาท เงินกองทุนคงเหลือ 5,105,157 บาท
|
วิถีชีวิตคนเรามีความเสี่ยง ความไม่แน่นอนแฝงอยู่ด้วยกันทุกคน บางเรื่องก็เกิดขึ้นตามวัยของคนเรา เช่น คนในวัยเด็กและวัยสูงอายุจะช่วยตัวเองไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยด้วยโรคระบาด อุบัติภัย สาธารณภัย และความเสี่ยงในทางเศรษฐกิจจากการประกอบอาชีพและความผันผวนของกระแสเศรษฐกิจ เป็นต้น
ซึ่งสภาวะที่คนเราตกทุกข์ได้ยาก เจ็บป่วยช่วยตัวเองไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นทั้งญาติมิตรสหาย หรือจากหน่วยงานต่างๆ เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะช่วยตัวเองได้ แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างถาวร ก็ต้องมีหน่วยงานท้องถิ่นอย่างองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นหน่วยงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เข้าไปทำหน้าที่ให้การช่วยเหลืออย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ดั่งกรณีที่ตำบลดอนชมพู อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
กลุ่มคนสร้างงาน เราให้ความสนใจเรื่องการจัดสวัสดิการในตำบลเป็นพิเศษที่จะต้องจัดให้มีหลักประกันความเสี่ยงหรือระบบสวัสดิการแก่ประชาชน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
ซึ่งการจัดสวัสดิการให้ครบถ้วนตั้งแต่เกิดจนตายนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่งซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจไม่สามารถจัดให้มีสวัสดิการได้ทุกๆ เรื่องพร้อมกันทีเดียว อีกทั้งจำเป็นต้องเลือกวิธีการจัดบริการหลากหลายรูปแบบ ไม่มุ่งเน้นแต่การจัดสวัสดิการสังคมเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องคำนึงถึงการส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ซึ่งระบบสวัสดิการที่ดีก็คือ ส่งเสริมให้คนรวมกลุ่มกันเพื่อหาทางช่วยตัวเองให้ได้ในระยะยาว โดยวิธีการลดรายจ่ายลงวันละ 1 บาทเพื่อนำมาทำบุญร่วมกัน และ อบต. ขอสนับสนุนในส่วนที่ชุมชนยังขาดอยู่ โดยที่ผ่านมา อบต. ได้ช่วยเหลือผู้สูงอายุกว่า 1,380 ราย ผู้ด้อยโอกาส 209 ราย เด็ก 18 ราย ซึ่งเขาเหล่านี้ไม่มีรายได้ที่จะช่วยเหลือตนเองได้ ที่สำคัญเราต้องหาอาชีพที่เหมาะสมให้กับคนกลุ่มนี้
เท่าที่ได้สำรวจข้อมูลพบว่าคนตำบลดอนชมพูมี 13 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 7,500 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ที่เหลือก็ออกไปขายแรงงานตามโรงงานอุตสาหกรรม รับราชการ ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน มีเพียงจำนวนน้อยที่จะเป็นคนต่างถิ่นมารับจ้างทั่วไปและเป็นเขยเป็นสะใภ้
ในตำบลมีการจัดเวทีระดมความเห็นจากหลายฝ่ายและได้เชิญ อบต. เกษตรตำบล พัฒนาชุมชน หัวหน้าสถานีอนามัย ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 13 หมู่บ้าน และประชาชนทั่วไปทั้งตำบล ซึ่งการพูดคุยเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะ อบต. พร้อมสนับสนุนและสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการ สวัสดิการชุมชนจึงได้ก่อรูปร่างขึ้นโดยการเปิดรับสมัครสมาชิกวันละ 1 บาท แรกๆ มีชาวบ้านเข้ามาเป็นสมาชิกเริ่มแรกประมาณ 500 คน ยอดรวมเงินกองทุนตั้งต้นกว่า 60,000 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 1,646 คน และมีเงินออมเพื่อสวัสดิการ 5,105,157 บาท ซึ่งในปี 2562 นี้ จัดสวัสดิการแก่สมาชิกไปแล้วกว่า 25 ราย นอกเหนือจากสวัสดิการที่สมาชิกได้รับเป็นตัวเงินตั้งแต่เกิดจนตายแล้ว ชาวบ้านยังหวนคืนสู่วิถีเดิมคือ การหมุนเวียนเอาแรงกันแม้จะยังมีไม่มากแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์พืช การแบ่งปันการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งในการประกอบอาชีพเสริม เช่น ปลูกผัก ตลอดจนการแบ่งปันในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น กลุ่มเลี้ยงวัวนำมูลวัวขายในราคาถูกให้กับกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ไปทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ ขายให้กลุ่มปลูกผักสวนครัวพืชผักเติบโตนำไปขายกลุ่มแปรรูปอาหารในราคาต่ำ ซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนแล้วแต่อยู่ในระบบเกื้อกูลกันทั้งสิ้น
หลังจากเข้าเป็นสมาชิกแล้วก็ได้รับการคุ้มครองทันทีไม่ต้องรอ 6 เดือน ตัวอย่างมีอยู่คนหนึ่งเขาเป็นสมาชิกได้ประมาณหนึ่งเดือนก็เสียชีวิตซึ่งเขายากจนอยู่บ้านหลังเล็กสองตายาย เมื่อเขาเสียไปก็ได้เงินจากกองทุนได้ทำบุญส่งวิญญาณ ตาแก่ๆ ที่ยังอยู่ก็ไม่ต้องลำบากไปหาเงินมาทำบุญ ส่วนชาวบ้านก็มาชวยเหลือกันจนเสร็จงาน
“ดีใจที่มีกองทุนสวัสดิการ ที่ไม่เพียงแค่รอจะได้รับสวัสดิการแต่เป็นการให้มีเพื่อนฝูงห่วงใยมากขึ้น ดูแลเราเหมือนกับว่าเราเป็นเครือญาติกันจริงๆ”
นี่คือน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ เขามองว่า สวัสดิการชุมชน คือหัวใจที่จะให้คนทั้งตำบลมีความสุขร่วมกัน ซึ่งเมื่อมามองเห็นการรวมพลังทั้งราษฎร์–รัฐ จนสามารถสร้างความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน
“บ้านพอเพียงของคนพอเพียง” ตำบลดอนชมพู
การคิดค้นแนวทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ เป็นการอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประกอบการแก้ไขปัญหาของชุมชนได้เป็นอย่างดี เฉกเช่นปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในชุมชนชนบท ที่เป็นปัญหาพื้นฐานของชุมชนมายาวนาน
จากการสำรวจข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556 พบว่าไทยมีครัวเรือนประมาณ 20.167 ล้านครัวเรือน มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยประมาณ 15.510 ล้านครัวเรือน ส่วนที่เหลือไม่มีกรรมสิทธิ์ประมาณ 4.657 ล้านครัวเรือน
แต่ขณะเดียวกันเพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นไปตามแนวทางของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จึงเกิดแนวคิดที่จะทำให้คนจนในชนบทที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ดินทำกิน จึงได้จัดทำโครงการบ้านพอเพียงชนบทเพื่อรองรับนโยบายรัฐบาล ซึ่งอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ. 2559-2568) ด้วยการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบท มีระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563) เป้าหมาย 5,300 ตำบล 3.52 แสนครัวเรือน ซึ่งในปี 2560 สามารถดำเนินการได้จำนวน 754 โครงการ 76 จังหวัด 747 ตำบล 10,369 ครัวเรือน จากเป้าหมาย 9,000 ครัวเรือน ในปี 2561 มีเป้าหมายดำเนินงาน 1.5 หมื่นครัวเรือน
โครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลดอนชมพูดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 มีสมาชิกผู้เดือดร้อนกว่า 60 ครัวเรือนเป็นการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในรูปแบบการซ่อมแซม ปรับปรุง หรือสร้างบ้านสำหรับครัวเรือนที่ยากจน จากการดำเนินงานของภาคประชาชนและภาคีร่วมมือ พบว่าการสนับสนุนให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการสร้าง/ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของผู้เดือดร้อนในพื้นที่ ทำให้ตำบลดอนชมพู มีความตื่นตัวในการร่วมกันดำเนินการในทุกขั้นตอนของการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันของชุมชน รวมทั้งนำไปสู่การเชื่อมต่อกับฐานงานพัฒนาด้านต่างๆ ของชุมชนได้เป็นอย่างดี
โครงการบ้านพอเพียงชนบทไม่ได้ช่วยเหลือหรือให้เงินชาวบ้านเป็นเงินสด แต่จะสำรวจข้อมูลว่าบ้านที่จะได้รับการช่วยเหลือมีกี่หลัง จะซ่อมแซมอะไรบ้าง เช่น เปลี่ยนหลังคาที่ผุพังกี่แผ่น ซ่อมฝาบ้าน ใช้ไม้ ใช้วัสดุอะไร จำนวนเท่าไหร่ ปูนกี่ถุง รวมเป็นราคาเท่าไหร่ ใช้วิธีสืบราคาดูจากหลายร้าน แล้วสั่งซื้อวัสดุส่งไปให้บ้านที่จะซ่อมแซม โดยเราจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแบ่งหน้าที่กันทำงาน เช่น ฝ่ายสืบราคา ฝ่ายตรวจรับวัสดุ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายช่าง เพื่อให้การทำงานมีความโปร่งใส ชาวบ้านที่เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือจริงกลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยในชนบท ที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งบ้านที่ก่อสร้างมานานแล้วมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ก่อสร้างด้วยวัสดุที่ไม่มั่นคง ไม่ได้ปรับปรุงซ่อมแซม และครอบครัวขยายที่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอ
ตั้งแต่ปี 2561 ตำบลดอนชมพูได้เข้าร่วมประชุมกับขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมาและเป็นว่าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์จึงได้ลงสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และที่สำคัญเรามีข้อมูลอยู่ในฐานของ อบต. จึงนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์ร่วมกัน จากนั้นจึงได้ทำโครงการไปขอรับการสนับสนุนจากขบวนจังหวัดนครราชสีมาในปี 2561 และก็ได้รับการอนุมัติมาจำนวน 23 หลังคาเรือนและได้ดำเนินการรับการแก้ไข ปรับปรุงซ่อมแซม ทั้ง 23 ครัวเรือน และในปี 2562 อีกจำนวน 13 ครัวเรือน
ตอนแรกที่มีโครงการบ้านพอเพียงชนบท พอรู้ว่ามีเงินช่วยเหลือเพียงหมื่นแปด หลายคนบอกไม่เอาหรอก จะเอาไปทำอะไรได้ ผู้นำพูดอย่างนี้ ผมก็พยายามยกตัวอย่างให้ผู้นำเข้าใจว่า อย่างคนเป็นผู้นำ เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็น ส.ท.หรือ อบต. พวกนี้ฐานะค่อนข้างดี เขาก็จะไม่เดือดร้อน แต่ว่าเงินหมื่นแปด สำหรับคนจน คนที่เดือดร้อน มันมีความสำคัญมาก เงินหมื่นแปดช่วยเขาได้เยอะ บางบ้านหลังคาหลุด หลังคารั่ว ฝาบ้านแตก พอฝนตกก็เปียกปอนกันทั้งบ้าน พอเงินหมื่นแปดมาได้หลังคาใหม่ ได้ฝาผนังบ้านมาอีกแถบหนึ่ง อย่างนี้มันก็ช่วยเขาได้เยอะ เพราะจะหาเงินก้อนทีเดียวมาหมื่นแปดก็คงหาไม่ได้
ปี 2562 คณะทำงานเครือข่ายจังหวัดนครราชสีมาจะทำการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เพื่อแก้ไขปัญหาหาผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ตามโครงการบ้านพอเพียงชนบทและโครงการบ้านมั่นคงเมือง โครงการบ้านมั่นคงชนบท จากนั้นเสนอให้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) นครราชสีมา เป็นเลขานุการในการประสานงาน และมีผู้แทนภาคประชาชนเข้าไปร่วม เพื่อรับทราบข้อมูลผู้เดือดร้อน รวมทั้งประสานหน่วยงานและภาคีต่างๆ เพื่อหาช่องทางในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนผู้มีรายได้น้อยด้านที่อยู่อาศัยต่อไป
การใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนชมพู ขับเคลื่อนโครงการบ้านพอเพียงชนบท มีชาวบ้านได้รับการช่วยเหลือซ่อมบ้านพอเพียงทั้งหมด 36 ครัวเรือน ใช้งบซ่อมบ้านรายละ 19,000 บาท แต่ทุกครัวเรือนต่อไปนี้จะต้องออมเงินเข้ากองทุนเพื่อดูแลตนเอง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาคุณภาพการอยู่อาศัยของครัวเรือนยากจน ผู้มีรายได้น้อยมีคุณภาพมีชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นพื้นฐานสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมที่จะให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นหลักในการจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน
“ดอนชมพูครอบครัวเดียวกัน” เรารักดอนชมพู
รากเหง้าของชุมชนตำบลดอนชมพู คือ สังคมแห่งความรัก ความสามัคคีรักใคร่ปรองดอง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งการประคับประคองให้รากเหง้านี้คงอยู่ถ้าไม่ใช่คนตำบลดอนชมพูด้วยกันเอง
31 กรกฎาคม 2562 เป็นอีกวันของคนตำบลดอนชมพู ที่ต้องจารึกไว้ถึงความรักสมัครสมานสามัคคีกันเอง ด้วยหวังว่าคนตำบลดอนชมพูทุกคนที่ซึมซับความรักสามัคคีในสายเลือด สังคมที่เต็มไปด้วยมิตรไมตรี ความสามัคคี รักใคร่ปรองดอง วิถีชีวิตแบบเรียบง่าย จะหวนกลับมาภายใต้คำว่าคุณธรรมจริยธรรมที่ดี อย่าให้เหือดหายไปจากหัวใจของคนตำบลดอนชมพู
ภายในตำบลนี้จะประกอบไปด้วย “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ความเป็นชุมชนจึงเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ ที่มีพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่อบรมสั่งสอนให้มีความรู้ ความคิด นำไปใช้ในการประกอบอาชีพ การคิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยคนในชุมชนเอง อีกทั้งยังปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ที่ดีงาม เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างมีความสุข
คนตำบลดอนชมพูที่มีประชากรว่า 7,876 คน จึงเปรียบเสมือน ครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ทำอย่างไรจึงจะทำให้ครอบครัวนี้มีความสุข มีความรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพหรือเอาตัวรอดได้ในท่ามกลางวิกฤต มีคุณธรรมที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ความคิดในความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ ความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นเมื่อไร ไม่มีใครรู้คำตอบ คนดอนชมพูซึ่งเป็นคนไทยคนหนึ่งที่ช่วยชาติได้คือ ให้มีความรู้ ความคิด คิดวิเคราะห์สิ่งใดดี สิ่งใดที่จะทำให้ครอบครัวเป็นสุขได้ สิ่งใดจะทำให้ชุมชนเจริญรุ่งเรืองหลักการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น สู่การจัดการตนเอง หากทุกคนอ้าแขนรับที่จะก้าวข้ามด้วยความเต็มใจ โอบกอดด้วยความรัก สัมผัสนั้นถึงแม้ว่าจะมิใช่อ้อมกอดของพ่อแม่ที่แท้จริง แต่สำหรับคนตำบลดอนชมพูแล้ว อ้อมกอดนั้นมิใช่เพียงแต่สัมผัสผิวภายนอกและจางหายไปเมื่อลมพัดผ่าน แต่เป็นอ้อมกอดที่สัมผัสได้ถึงความอบอุ่น อบอุ่นไปถึงหัวใจดวงน้อยๆ หัวใจที่มีเลือดเนื้อมีชีวิตซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ที่สุดได้มีความสุข สงบ ร่มเย็น มีความคิดเดียวกัน
คงไม่สายเกินไปที่คนตำบลดอนชมพูทุกคนจะร่วมกันร้องเพลง “รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนไทย จะเกิดภาคไหนไหนก็ไทยด้วยกัน เชื้อสายประเพณีไม่มีกีดกั้น เกิดใต้ธงไทยนั้น ปวงชนทุกคนคือไทย” คงไม่ต้องอธิบายถึงเนื้อเพลง ท่อนที่ยกตัวอย่างมา ซึ่งมีความชัดเจนในตัวเอง กลับมาเถิดนะ กลับมาเป็นครอบครัวเดียวกัน ครอบครัวแห่งความรัก ความสมัครสมานสามัคคีของคนในตำบลดอนชมพูตลอดไป
เขียนโดย ประพันธ์ สีดำ