ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ต่างปรับตัวรับมือสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งเรื่องการขยายตัวของชุมชนเมือง การขยายเส้นทางคมนาคมสายโชคชัย-เดชอุดม ปัญหาขยะและมลพิษ นำไปสู่การผลักดันโครงการพัฒนาต่างๆ อาทิ โรงไฟฟ้าขยะ โรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวะมวล มาดำเนินการในพื้นที่อำเภอสังขะ ตลอดจนแผนงานการขุดลอกห้วยทับทัน ให้เป็นคลองส่งน้ำรองรับระบบกระจายน้ำ ซึ่งต้องแลกด้วยการสูญเสีย ทรัพยากรสองฝั่งลำน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าบุ่งป่าทามและวังปลาจำนวนมาก
พื้นที่แถบนี้ขึ้นชื่อเรื่อง “ไก่ย่างห้วยทับทัน” ซึ่งเคล็ดลับความอร่อยนั้น ต้องใช้ไม้มะดันซึ่งขึ้นตามป่าทาม พื้นที่ชุ่มน้ำห้วยทับทัน มาเป็นไม้เสียบปิ้งย่างไก่ การใช้ปริมาณมากในแต่ละวัน แต่ละเดือน สร้างความวิตกกังวนให้กับชุมชนท้องถิ่นที่รักษาและหวงแหนทรัพยากรท้องถิ่น แต่ไม้ปิ้งไก่คงเปรียบเทียบขนาดความสูญเสียของโครงการพัฒนาต่างๆ ไม่ได้
นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชุมชนต่างๆ ระหว่างการพัฒนากับการรักษาสมดุลทางธรรมชาติ ฐานทรัพยากรอาหารและปัจจัยชี้ขาดความอยู่รอด ที่ผ่านมาแม้สภาองค์กรชุมชนตำบลต่างๆ จะมีเวทีแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือแบบอำเภอบูรณาการ โดยใช้เรื่องเกษตรอินทรีย์และการขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัย เป็นประเด็นร่วมในการเชื่อมโยงเครือข่าย แต่พลังของเครือข่ายดังกล่าว จะต้านทานความท้าทายครั้งนี้ได้หรือไม่ อย่างไร เป็นประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
“ผมคัดค้านการขุดลอกลำห้วยทับทัน รวมถึงสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลทับทันส่วนใหญ่ด้วย เราคิดว่าปล่อยให้ลำห้วยคดโค้งตามธรรมชาตินั้นเหมาะสมแล้ว ชาวบ้านในตำบลทับทัน ได้อาศัยการหาปลาเลี้ยงชีพมาหลายชั่วอายุคน สองฝั่งลำน้ำมีมะดัน มะแซว ผักหนาม ผักกูด หวาย ไผ่ มีพืชผัก มีอาหารธรรมชาติมากมาย มีความสวยงาม ที่สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ไม่ควรถูกทำลายลงเพราะการขุดลอกแบบทำลายร้าง” นายสุวรรณ อุปถัมภ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับทันกล่าว
จุดยืนของนายกสุวรรณ คือจุดร่วมของสภาองค์กรชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการปกป้องฐานทรัพยากรอาหารของชุมชน ได้ล่องเรือสำรวจข้อมูลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนต่างๆ โดยมีสภาองค์กรชุมชนเป็นฝ่ายประสานงานในพื้นที่ กระทั่งพบแนวทางความร่วมมือว่า จะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการรับมือความเปลี่ยนแปลง
แผนงานเชื่อมโยงงบประมาณกับท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆในระดับจังหวัด โดยใช้รูปแบบกระบวนการพัฒนาโดยมีสภาองค์กรชุมชนตำบลทับทัน เป็นตัวขับเคลื่อนงานพัฒนาในตำบลทับทัน
สภาองค์กรชุมชนตำบลทับทัน ใช้เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทับทัน โดยสร้างชุมชนต้นแบบและแปลงสาธิตของบ้านขามพัฒนาหมู่ที่ 12 เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนของตำบล ผ่านฐานการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ แปลงปลูกผักปลอดสาร การเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์-ชีวภาพ การจัดระบบกระจายน้ำที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นการผลิต จนสามารถพัฒนาเป็นฐานการเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวชุมชน กระทั่งบ้านขามพัฒนา สามารถได้รับรางวัลรองชนะเลิศ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในระดับประเทศ
ในฐานะพื้นที่รูปธรรม สามารถพัฒนาต่อยอดงานเศรษฐกิจและทุนชุมชน ด้วยการเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน จากวนอุทยานสนสองใบ ปักหมุดโนวเจีย เมียนเซาะ –เนิน 400 ชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ตำบลตาตุม –เขื่อนขนาดมอญ –ปราสาทภูมิโปน พื้นที่ตำบลดม –ปราสาทยายเหงา พื้นที่ตำบลบ้านชบ – แปลงเกษตรอินทรีย์ พื้นที่ตำบลสังขะ – หมู่บ้านทอผ้าไหมโคกกระชาย –หมู่บ้านเศรษฐกิจแบบพอเพียง บ้านขามพัฒนา ม.12 พื้นที่ตำบลทับทัน กระทั่งได้รับการการสนับสนุนงบประมาณโครงการชุมชนท่องเที่ยว Otop นวัตวิถี หมู่บ้านละ 3 ล้านบาท จากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
นี่คือรูปธรรมความร่วมมือของภาคประชาชนกับอบต.ทับทัน ภายใต้แนวทางชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน ควบคู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาสมดุลชีวิต สมดุลทางธรรมชาติ ไว้เป็นมรดกจากคนรุ่นนี้สู่รุ่นต่อไป