ตำบลด่านม่วงคำ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม เมื่อเสร็จจากฤดูการเก็บเกี่ยวแล้วจะทอผ้าไหมไว้ใช้ในครัวเรือน การทอผ้าไหมมีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ สืบทอดมาสู่ลูกหลานต่อมา
เริ่มแรกจะพากันปลูกหม่อน เลี้ยงไหมด้วยตัวเอง ทำการสาวไหม ฟอกย้อม ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้ได้แค่พอใช้ในครัวเรือน แม่จะมอบให้ลูกหลานคนละผืน ไว้ใส่ไปงานบุญต่างๆ การทอผ้าลายราชวัตร บ้านลาดค้อ หมู่ 3 เป็นที่ขึ้นชื่อของตำบลและอำเภอ เป็นผ้าซิ่นลายขิด ซึ่งเป็นเนื้อผ้าที่มีความหนา และสีสวย ลายสวน จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2517 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมาเปิดโรงเรียนร่มเกล้า แล้วทรงเห็นยายทุ้ม-ยายไท้ใส่ผ้าไหมไปรับเสด็จ สมเด็จพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 จึงทรงได้มีความสนใจผ้าไหมของยายทุ้ม-ยายไท้ และในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์
นางสาวคำเพชร แก้วเคน ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลด่านม่วงคำ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า จะมีงบประมาณจากสำนักงานรพช. 350,000 บาท กลุ่มแม่บ้านจึงได้รวมตัวกัน จัดตั้งกลุ่มเพื่อที่จะทำโครงการของงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานรพช. และได้กู้ยืมทุนหมุนเวียนจากองค์การบริหารส่วนตำบล 1,100,000 บาท เพื่อที่จะนำทุนที่ได้ไปพัฒนากลุ่มต่อไป
ต่อมาชาวบ้านจึงมีแนวคิด การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือสามารถพึ่งตนเองได้ แต่ละครอบครัวมีการบริหารจัดการอยู่อย่างประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย มีการจัดทำบัญชีครัวเรือนดำเนินชีวิตโดยยึดหลักทางสายกลางอยู่ได้อย่างสมดุล คือความสุขแท้จริง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักการพึ่งตนเองในองค์ประกอบ 5 ด้านคือ ด้านจิตใจเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้มีจิตสำนึกที่ดี ประนีประนอมนึกถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ด้านสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูล รู้รักสามัคคี สร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ชาวบ้านรู้จักเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความยั่งยืน รู้จักใช้เทคโนโลยีจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้านเศรษฐกิจก่อให้เกิดประโยชน์กับคนจำนวนมาก เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ดำรงชีวิตอย่างพออยู่พอกิน มีหน่วยงานของรัฐมาสนับสนุนเช่น สำนักงานพัฒนาชุมชน ให้การสนับสนุนลงทะเบียน OTOP การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ระดับ 4 ดาว มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช) จากสำนักงานอุตสาหกรรม และสำนักงานเกษตรอำเภอสนับสนุนการลงทะเบียนวิสาหกิชุมชน
นางสาวคำเพชร แก้วเคน กล่าวต่อไปว่า แนวทางการขับเคลื่อนกลุ่มทอผ้าไหม โดยเรียนรู้ด้วยตนเองเวทีเรียนรู้ วิเคราะห์ชุมชนสงเคราะห์ แผนชุมชน พัฒนาคน พัฒนากลุ่ม ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมพัฒนาสมาชิก จนเกิดการบริหารจัดการเครือข่ายการผลิต การตลาดแสวงหาภาคีพัฒนาการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
ดังนั้นประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานรวมทั้งสนับสนุน ปัจจัยผลผลิตต่อความสำเร็จในการดำเนินงาน โดยมีกลุ่มสมาชิกจำนวน 214 ราย ปริมาณผลผลิต 171,200 หน่วย/ปี ประมาณรายได้ 1,000,000 บาท/ปี ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มระดับ 4 ดาว เกิดทักษะในการบริหารจัดการกลุ่มเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งความสำเร็จของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงกับความต้องการของประชาชน ที่ร่วมดำเนินการโดยใช้วิธี กระบวนการตามแบบพัฒนา กลุ่มทอผ้าไหม ตำบลด่านม่วงคำ ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน
แหล่งเพาะพันธุ์กล้าไม้ บ้านด่านม่วงคำ หมู่ที่ 1
เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีการผลิตและเพาะพันธุ์กล้าไม้เพื่อจัดจาหน่ายแก่ผู้ที่สนใจและสัญจรผ่านไปมาและยังเป็นอาชีพหลักของคนในหมู่บ้านที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 จนถึงปัจจุบัน มีสมาชิก 50 คน มีคณะกรรมการบริหารจำนวน 5 คน วิธีดำเนินงานของกลุ่มมีการให้คำแนะนำ ช่วยเหลือกันและกันในการตลาด แหล่งจำหน่าย แหล่งวัตถุดิบ เป็นต้น สำหรับการลงทุนจะเป็นของสมาชิกดำเนินการเอง
การเลี้ยงจิ้งหรีดเลียนแบบธรรมชาติ
ของหมู่บ้านป่าขาว หมู่ 7 ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ใช้ในการบริโภคในครัวเรือน เมื่อเหลือกิน ก็นำออกจำหน่ายในหมู่บ้านและชุมชน สามารถทำรายได้ในการครองชีพได้ เป็นอาชีพเสริมรองจากอาชีพหลัก ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชการที่ 9 โดยยึดหลักทางสายกลาง ให้ได้อยู่อย่างพอเพียง เพิ่มรายได้ลดรายจ่ายในครัวเรือน
เขียนโดย นางลำดวน สุภาอ้วน