โดย คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าคล้อ
“ผู้เดือดร้อนทางด้านที่อยู่อาศัยต้องหมดไปจากชุมชน คนในตำบลท่าคล้อต้องร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือผู้เดือดร้อนทั้งหมด”
คำกล่าวข้างต้น เป็นตั้งปณิธานอันแน่วแน่ในการขับเคลื่อนประเด็นงานที่อยู่อาศัยขอ นางจุรีรัตน์ เล็กมณี ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าคล้อ ซึ่งได้กล่าวเสริมต่อไปอีกว่า “สภาองค์กรชุมชนมีตัวแทนมาจากหลายกลุ่มเข้ามาอย่างหลากหลาย ถือว่าเป็นโอกาสดีที่เรามีเครื่องมือบ้านพอเพียงชนบท มาใช้ในการบรรเทาความเดือดร้อนทางด้านที่อยู่อาศัย และทำให้คุณภาพชีวิตของคนตำบลท่าคล้อดีขึ้น ชาวบ้านก็รู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิต และครอบครัวก็อบอุ่นมากยิ่งขึ้น”
สภาองค์กรชุมชนตำบลท่าคล้อจดแจ้งและจัดตั้งเมื่อวันที่ 13 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัด มีกลุ่มองค์กรที่จดแจ้ง 17 กลุ่ม มีการจัดโครงสร้างการบริหารแบ่งบทบาทหน้าที่ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนา มีคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนที่มาจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้ง 11 หมู่บ้าน ร่วมกับการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านในแต่ละเดือน โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลางในการพูดคุยถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขเรื่องต่างๆ ในชุมชน จึงได้ผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคณะทำงานจากการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้เดือดร้อน ผ่านโครงการบ้านพอเพียงชนบท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า พอช.
การดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าคล้อ โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีหารือและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในครั้งนี้ ได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรอำเภอ รพ.สต.หาดสองแคว รพ.สต.ท่าคล้อ อบต.ท่าคล้อ สภอ.หินซ้อน และภาคเอกชน เช่น บริษัทผลิตปูนซีเมนต์ ตรานกอินทรีย์ TPI SCG พร้อมทั้งตัวแทนกลุ่มองค์กร คณะทำงานระดับจังหวัด และสมาชิกฯ มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงานร่วมกัน และเชื่อมโยงพี่น้องประชาชน กลุ่มองค์กรต่างๆ ในตำบล และหน่วยงานภาคีที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตำบล มีการแบ่งกลุ่มหาจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคในชุมชน ในการดำเนินการร่วมกันตามบ้านมั่นคงชนบท
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2561 มีการประชุมสภาองค์กรชุมชนเพื่อการสำรวจผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ในแต่ละหมู่บ้านจำนวน 11 หมู่บ้าน พบว่ามีผู้เดือดร้อนจำนวน 32 ครัวเรือน รวม 123 คน และมีการจัดลำดับความเดือดร้อนในการซ่อมแซม จากครัวเรือนที่ 1 ถึง ครัวเรือนที่ 32 โดยมีการเกณฑ์ มีระเบียบ ข้อบังคับ กติการะดับตำบล คือ ต้องเป็นผู้เดือดร้อนที่อาศัยอยู่ในชุมชน สามารถที่จะซ่อมแซมบ้านให้เสร็จทันเวลาที่กำหนด และพร้อมที่จะสมบทเงินคืนเข้าสู่กองทุนบ้านพอเพียงของตำบลได้
ภาพการสำรวจความเดือดร้อนที่อยู่อาศัยและการจัดลำดับการซ่อมสร้าง
สภาองค์กรชุมชนตำบลท่าคล้อได้เสนอโครงการบ้านพอเพียงชนบท ปีงบประมาณ 2562 ต่อคณะทำงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี และสำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยได้รับการอนุมัติงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน 14 ครัวเรือน จำนวนเงินทั้งหมด 197,468 บาท แบ่งเป็นการสร้างใหม่ 3 ครัวเรือน และการซ่อมแซม 11 ครัวเรือน
ในการปรับปรุงซ่อมแซมมีแนวคิดว่าให้มีการบริหารจัดการร่วมกัน สั่งของไว้ที่ส่วนกลาง ถึงเวลาซ่อมแซมมาเบิกจ่าย โดยใช้ช่างจิตอาสาในตำบล แต่มีช่างชุมชนที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นคนหลักในการช่วยดูแลในการซ่อมแซม ส่วนวัสดุซื้อจากร้านเดียวกัน เพื่อให้ได้ราคาถูกและง่ายต่อการจัดการเรื่องเอกสาร มีการบูรณาการโดยใช้ช่างชุมชนเป็นคนหลัก และมีจิตอาสาจากชุมชน กลุ่มผู้นำชุมชน มาร่วมแรงร่วมใจทำบ้านให้กับผู้เดือดร้อนให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแข็งแรง และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม สามารถช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ซ่อมแซม ปรับปรุง ให้มีสภาพที่ดีขึ้น จำนวนทั้งหมด 14 ครัวเรือน
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบท คือ เกิดการหมุนเวียนเงินทุนช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากหลังที่ 1 สู่หลังที่ 2 และหลังต่อๆ ไป ผ่านกองทุนหมุนเวียนโครงการบ้านพอเพียงชนบท ตำบลท่าคล้อ เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการดูแล ซ่อมแซม ปรับปรุงบ้าน ให้กับผู้เดือดร้อนครัวเรือนอื่นๆ เกิดความสุขของคนในชุมชนทั้งผู้ให้และผู้รับ รวมทั้งเกิดความสามัคคีในชุมชนร่วมมือช่วยกันซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น
นายทองดำ จันทะน้อย อยู่บ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 6 จำนวนสมาชิกในครัวเรือน 2 คน โดยการปรับหลังคาสังกะสีที่ผุกร่อนเป็นสนิม ได้รับงบประมาณ 18,450 บาท เพื่อซ่อมหลังคาใหม่ ได้กล่าวว่า “ตารู้สึกขอบคุณทางคณะทำงานจังหวัดและเจ้าหน้าที่ พอช. รวมทั้งคนในชุมชนที่เกี่ยวข้องทุกคน ที่ช่วยให้ตาได้มีโอกาสใช้ชีวิตใหม่ แต่ก่อนทั้งแดดทั้งฝนทำให้ตาอยู่อย่างยากลำบาก แต่หลังจากได้หลังคาใหม่ คนในบ้านมีโอกาสได้มาใช้ชีวิตร่วมกันมากยิ่งขึ้น และปลอดภัยขึ้น”
สภาพบ้านของนายทองดำ จันทะน้อย ก่อนและหลังการดำเนินการซ่อมสร้าง
การแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยของคนตำบลท่าคล้อ มาจากเวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าคล้อ โดยใช้เป็นเวทีกลางในการพูดคุย รวบรวมข้อมูลในการแก้ไขปัญหา และเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีที่มีอยู่ในตำบล ในการบูรณาการซ่อมแซมและปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น ทำให้ผู้ด้อยโอกาสในตำบลท่าคล้อมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและแข็งแรงทั้งตำบล
นอกเหนือจากปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว ยังเป็นเวทีกลางที่คนท่าคล้อสามารถพูดคุยได้ทุกเรื่อง เช่น เรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีพ และอื่นๆ เวทีที่ไม่เป็นทางการมาก ทำให้ประชาชน สมาชิก กล้าที่จะแสดงความคิด นำเรื่องทุกข์ร้อนมาเล่าให้ฟัง ทำให้เกิดการร้อยเรียงปัญหาและหาแนวทางแก้ไขต่อไป และเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานของคน “ตำบลท่าคล้อ”
หลังจากนี้ สภาองค์กรชุมชนตำบลท่าคล้อ มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาผู้เดือดร้อนทางด้านที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่าคล้อ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนมั่งคั่ง และมีแนวทางการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนที่อยู่อาศัยรายใหม่ รวมทั้งการแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและวัยทำงาน