โดย สภาองค์กรชุมชนตำบลลำสนธิ
ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เป็นปัญหาหนึ่งที่ค้นพบในการทำแผนพัฒนาตำบล โดยเฉพาะบริเวณคลองหนองหัวช้างในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลลำสนธิ อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี บริเวณใต้ลุ่มน้ำจะมีบ้านเรือนราษฎรพักอาศัยอยู่ ประมาณ 10 หลังคาเรือน ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเลี้ยงวัวนม และวัวเนื้อ อีกส่วนหนึ่งประกอบอาชีพปลูกผักจำหน่าย โดยทุกๆ ปีในช่วงฤดูฝนจะเกิดเหตุน้ำท่วมขังบ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหายอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2560 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ประชาชนลำสนธิเดือดร้อนกันเป็นจำนวนมาก ทั้งสภาพบ้านเรือนเสียหาย การเดินทางก็ไม่สะดวก และส่งผลต่อการประกอบอาชีพเลี้ยงวัวนมต้องอพยพวัวออกไปจากพื้นที่อื่น
ภาพปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ชาวตำบลลำสนธิต้องเผชิญในปีพ.ศ. 2560
แต่เดิมคนตำบลลำสนธิ ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเช่นนี้ ในอดีตตำบลนี้เป็นที่รู้กจักกันดีในชื่อบ้านหนองกะโตวา เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีหนองน้ำขนาดใหญ่มีผักกะโตวาขึ้นอยู่เต็มหนองน้ำ เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ และสัตว์ป่า เช่น ช้าง หมูป่า เก้ง กวาง กระจง ต่อมาสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเกิดการระบาดของไข้ป่า จึงสั่งให้มีการทำถนนลูกรังผ่านเพื่อความสะดวกในการเดินทาง ผลจากการทำถนนทำให้หนองน้ำอันกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์หายไป จึงกลายเป็นว่าถนนใหม่นั้นเป็นที่ขัดขวางทางไหลของน้ำและเป็นที่รองรับน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมา
คุณยายผู้ประสบภัยพิบัติอุทกภัยรายหนึ่ง เล่าว่า “บ้านของยายน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ถ้าฝนตกเป็นระยะเวลาหลายวัน แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วน้ำท่วมหนักมาก สูงประมาณ 1 เมตร และเป็นน้ำป่าที่ไหลมาอย่างรวดเร็ว กระทันหันตอนกลางดึก โชคยังดีที่บ้านยายอยู่กันหลายคน จึงช่วยกันเก็บข้าวของและดูแลกันได้ หน่วยงานทั้งใน-นอกพื้นที่ยังเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างดี ทำให้ยายรู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น”
จากการให้ข้อมูลของคุณยาย ทำให้เห็นถึงการร่วมมือร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหา และประชาชนเจ้าของพื้นที่ก็มีความพร้อมความสามารถช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งสภาองค์กรชุมชนตำบลลำสนธิ ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรหลักที่สามารถพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสได้
สภาองค์กรชุมชนตำบลลำสนธิ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาความเดือดร้อนเรื่องผู้คนในตำบล ได้นำประเด็นการบริหารจัดการน้ำขึ้นมาพูดคุยกันอยู่เสมอๆ และเริ่มรวมกลุ่มของคนในตำบลทั้ง 6 หมู่บ้าน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่เข้ามาร่วมกันหาทางออกของปัญหา นายสุรินทร์ เทศนา ประธานสภาองค์กรองค์กรชุมชนลำสนธิเล่าให้ฟังว่า “เราทนอยู่กับปัญหาอย่างนี้กันไม่ได้อีกแล้ว เราคิดในการจัดการปัญหาต่างๆ ร่วมกันมาหลายปี เราต้องแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านในพื้นที่ตื่นตัวและสามารถจัดการน้ำท่วมได้เองในระดับหนึ่ง โดยเราต้องมาร่วมคิด ร่วมคุยกัน แล้วจึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกให้เข้ามาช่วยเหลือ”
การพลิกวิกฤตเป็นโอกาสครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านเริ่มตื่นตัวในการเข้ามาช่วยกันในการแก้ปัญหาตามความต้องการของตนเองและตามบริบทของคนในพื้นที่ โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลางในการเจรจาพูดคุย ซึ่งทำให้มีผู้บริหารจากหลายหน่วยงาน เช่น กรมปศุสัตว์ กรมชลประทาน ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลพบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ จังหวัดลพบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลลำสนธิ ตลอดจนหน่วยงานอื่นลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหายและได้ให้ความช่วยเหลือ
ภาพความช่วยเหลือจากทั้งประชาชนในหมู่บ้านและจากหน่วยงานอื่นๆ
นางวันทนา บุญหรรษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลำสนธิ เล่าว่า “ทาง อบต. ได้ให้ความช่วยเหลือ ทั้งการจัดศูนย์พักพิงแก่ผู้ประสบภัย การจัดถุงยังชีพ จัดตั้งครัวจิตอาสาในพื้นที่ และส่งกำลังคนไปช่วยในการอพยพเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งมีการประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้นยังมีการตั้งงบประมาณไว้สำหรับการฟื้นฟู เยียวยาผู้ประสบภัย และปรับปรุงภูมินิเวศน์สำหรับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และการใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรมต่อไป”
ภาพปัจจุบันหลังจากการร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาอุทกภัย
เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นนำมาซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำ และภูมิทัศน์โดยรอบคลองให้มีความสะอาด สวยงาม และมีการจัดโซนนิ่งในการเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมอาชีพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้คุณภาพชีวิตของคนที่พักอาศัยอยู่บริเวณนั้นดีขึ้น โดยมีการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ประกอบกับอุปนิสัยของคนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเป็นคนรักสงบ ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ทำให้มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนต่อไป