โดย คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลเชียงงา
ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า บรรพชนชาวพวนดั้งเดิมคือพวนเชียงขวาง เป็นชาติพันธุ์ที่เคร่งต่อพระพุทธศาสนามาก ยกย่อยเคารพบูชาพระสงฆ์เป็นเจ้าชีวิต แม้แต่การอพยพย้ายถิ่นฐานก็ยังให้พระสงฆ์เป็นผู้นำในการโยกย้ายและลงหลักปักฐานที่ทำมาหากิน เมื่อสร้างบ้านเรือนเป็นชุมชนแล้ว คนพวนยกย่องเคารพนับถือผีบรรพชน สร้างหอผีประจำทุกหมู่บ้าน เรียกหอผีปู่ตาบ้าน (หรือศาลผีปู่ตาบ้าน) ให้ปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้านโดยมีพิธีเลี้ยงผีทุกปี คนพวนนับถือพุทธศาสนาเถรวาทที่เมืองพวน (เมืองคูน) มีวัด มีเจดีย์เพื่อบรรจุพระพุทธรูป และอัฐิธาตุ ทั้งหมดเป็นศิลปะ (พวน) เชียงขวาง สร้างเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมความศรัทธาและใช้ในการประกอบพิธีกรรรม
วัดเชียงงา ตำบลเชียงงา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นวัดที่ตั้งองค์ เจดีย์วัดเชียงงา มีศิลปะที่ซับซ้อนอ่อนช้อยวิจิตรงดงามมากกว่า นับอายุได้ 187 ปีล่วงมาแล้ว เป็นสัญลักษณ์อันเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง รวมถึงเป็นจุดศูนย์รวมแห่งความศรัทธาในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ร่วมกับจารีตอันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีพวนที่ติดตัวมา จะได้ประพฤติปฏิบัติตามแบบบรรพชนยังถิ่นฐานใหม่ต่อไป
จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบเจดีย์โดยสำนักศิลปากรที่ 4 จังหวัดลพบุรี พบว่ามีความใกล้เคียงกับธาตุดำที่เมืองคูนหรือเมืองเชียงขวางเก่า ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของชาวพวน นักประวัติศาสตร์ศิลปะกำหนดอายุสมัยธาตุดำอยู่ในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 19 จึงมีความเป็นไปได้ว่า เจดีย์วัดเชียงงาได้รับอิทธิพลรูปแบบมาจากธาตุดำ เมืองเชียงขวาง (สปป.ลาว)
นายชวลิต สังขมาลัย กำนันตำบลเชียงงา ในฐานะประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเชียงงา บอกว่า “แม้คนในชุมชนยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในหลายๆ เรื่อง แต่ทุกๆ เรื่องก็สามารถพูดคุยตกลงกันได้ โดยมีการใช้เวทีกลางสภาองค์กรชุมชน ให้คนทุกกลุ่มอาชีพ ทุกเครือข่าย ผู้นำชุมชน มาร่วมกันสะท้อนปัญหา และแสดงความคิดเห็นต่างๆ ในประเด็นเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ได้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมสภาองค์กรชุมชน เพราะต้องการให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูสถาปัตยกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และยกระดับให้เป็นการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน”
เจดีย์วัดเชียงงา เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนตำบลเชียงามาอย่างยาวนาน ภายใต้วัฒนธรรมของไทยพวน ซึ่งแต่ละปีจะมีการจัดงานประจำปี ในปีนี้ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ชื่องาน “สืบสานประเพณีห่มผ้าเจดีย์ศรีเชียงงา” โดยการจัดงานประจำปีครั้งนี้สภาองค์กรชุมชนเข้ามาหนุนเสริมในฐานะองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ ตั้งแต่การร่วมออกแบบกิจกรรมภายในงาน โดยจะมีการทำบุญตักบาตร การห่มผ้าเจดีย์วัดเชียงงา การแสดงมโหรสพและการจัดจำหน่ายสินค้า นอกจากนี้ยังมีการทำจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูเจดีย์วัดเชียงงาและการจัดเตรียมสถานที่จัดเตรียมสถานที่ รวมทั้งการแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบกันอีกด้วย
นอกจากสภาองค์กรชุมชนตำบลเชียงงาจะเป็นองค์กรหลักภาคประชาชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีของไทยพวนและเจดีย์วัดเชียงงาแล้ว ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่อีกด้วย เช่น พระอธิการบุญฤทธิ์ อนามโย เจ้าอาวาสวัดเชียงงา ได้ให้ความอนุเคราะห์เรื่องสถานที่ และกำลังพลในการจัดงาน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาหลักในการให้คำแนะนำต่างๆ สำนักศิลปากรที่ 4 จังหวัดลพบุรี ได้มาดูโครงสร้างของเจดีย์และจัดเตรียมกิจกรรมการห่มผ้าเจดีย์ โดยการจัดสลิงล็อคครอบองค์เจดีย์เพื่อรองรับผ้าที่จะอันเชิญขึ้นห่ม และสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นจังหวัดลพบุรี ประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรม เป็นต้น
นางสาวนพวรรณ ป้อมสูง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงงา แม่งานอีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า “เราเป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่สามารถทำงานกับทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะสภาองค์กรชุมชนซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน เราขับเคลื่อนร่วมกันมาหลายงาน งานวัฒนธรรมประเพณีไทยพวน และทำบุญเจดีย์วัดเชียงงาในครั้งนี้ อบต.ช่วยเหลือเต็มที่ ทั้งงบประมาณ กำลังคน อุปกรณ์” เรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนเป็นเรื่องที่สำคัญ และหน่วยงานทุกภาคส่วนให้ความสนใจ พร้อมเข้ามาร่วมมือร่วมใจกันอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ชาวบ้านในชุมชนยังลุกขึ้นมามองเห็นถึงความสำคัญของประเพณีดั้งเดิมท้องถิ่นตนเอง เยาวชนคนรุ่นใหม่เกิดความตระหนักในวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง และยังส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน สร้างรายได้ สร้างโอกาสให้กับคนในชุมชน
จากการลงมืออนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีไทยพวนและเจดีย์วัดเชียงงาในครั้งนี้ สภาองค์กรชุมชนตำบลเชียงงาจะการดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา และความเป็นสิริมงคลแก่ชาวพุทธบริษัทและปวงชนชาวตำบลเชียงงาโดยทั่วกัน อีกทั้งยังเป็นการที่จะอนุรักษ์ สืบทอด และปลูกฝังให้กับลูกหลานไว้เป็นมรดกที่ต้องส่งทอดต่อไปในอนาคต