โดย คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลห้วยขุนราม
ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี อยู่ห่างจากจังหวัดลพบุรีประมาณ 90 กิโลเมตร ถือว่าเป็นตำบลที่ห่างไกลความเจริญ หรือจะเรียกอีกอย่างว่า“บ้านนอก” ก็ได้ คนห้วยขุนรามส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายยวน อพยพจากสระบุรีมาจับจองที่ดินโดยการถางป่าเป็นแนวบริเวณกว้าง ประมาณปี 2518 มีหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลเพราะกลัวป่าจะหมดไป ปัจจุบันพื้นที่ตำบลห้วยขุนรามจึงเป็นพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ ส.ปก.4-01 ซึ่งเป็นที่ดินห้ามซื้อห้ามขายโดยเด็ดขาด
ปัจจุบันตำบลห้วยขุนราม แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 หมู่บ้าน 1,855 ครัวเรือน ประชากร 6,881 คน อาชีพส่วนใหญ่ของคนห้วยขุนรามคือเกษตรกรและรับจ้างทั่วไป และคนที่มีอาชีพรับจ้างจะมีรายได้น้อย ที่อยู่อาศัยทรุดโทรมตามสภาพ เพราะเมื่อรายได้น้อยก็จะไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซมบ้านเรือน
ในปี 2551 ได้มีการก่อตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลห้วยขุนรามขึ้น โดยมีนางสาวรัตนา บุญคิ้ว กำนันตำบลเป็นประธานสภาฯ และได้รู้จักกับโครงการบ้านพอเพียงชนบท ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในตำบลให้ดีขึ้นในเรื่องที่อยู่อาศัย เมื่อปี 2561 ตำบลห้วยขุนรามได้รับงบประมาณโครงการบ้านพอเพียงชนบท เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสที่มีที่อยู่อาศัยสภาพทรุดโทรมจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ทั้งหมด 13 หลัง และต่อมาในปี 2562 ได้รับงบเพิ่ม 20 หลัง แต่ทั้งนี้ จากการสำรวจทั้งตำบลพบว่ายังมีผู้เดือดร้อนที่รอดำเนินการอีก 60 หลัง แต่อย่างไรก็ตามสภาองค์กรชุมชนฯ ก็จะไม่หยุดที่เสนอโครงการบ้านพอเพียงชนบทและจะดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในตำบล
การดำเนินการโครงการบ้านพอเพียงชนบทของตำบลห้วยขุนราม เมื่อสภาองค์กรชุมชนตำบลได้รับทราบข้อมูลโครงการ จึงได้มีการประชุมแกนนำผู้นำหมู่บ้านเพื่อทำความเข้าใจ และสำรวจข้อมูลเพื่อเดือดร้อน ซึ่งพบว่ามีมากกว่างบประมาณที่จะมาช่วยเหลือ จึงได้มีการจัดเวทีหารือร่วมกันเพื่อจัดลำดับความเดือดร้อนเร่งด่วน พร้อมทั้งทำแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการต่อไป
หลังจากที่ได้มีการนำเสนอโครงการและได้รับงบประมาณมาแล้ว ได้มีการดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านให้กับผู้เดือดร้อน ซึ่งกระบวนการก็ไม่ต่างจากโครงบ้านการบ้านพอเพียงชนบทที่อื่นๆ กล่าวคือ มีคณะทำงานระดับตำบลเป็นพี่เลี้ยงและผู้ดำเนินการ มีทีมช่างชุมชนร่วมกับทีมช่าง อบต.ในการดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงสำรวจข้อมูลการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านก่อนที่จะเสนอโครงการ ส่วนการซ่อมสร้างก็ใช้วิธีการซื้อวัสดุรวมแล้วจ่ายไปตามบ้านแต่ละหลัง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ราคาวัสดุที่ถูกกว่าซื้อรายหลัง โดยมีช่างชุมชน เพื่อนบ้าน คนในชุมชนมาช่วยกันลงแรง
บ้านที่ได้รับงบบ้านพอเพียงชนบทปี2561
หลังแรกบ้านนางทองย้อย สอนราช ก่อนปรับปรุงบ้านของยายเป็นบ้านหลังเตี้ยๆ ผนังและหลังคาเป็นสังกะสี ยายอยู่กับลูกสติไม่ดี 1 คน “บ้านทรุดโทรม สังกะสีที่ล้อมบ้านก็เปิดเวลาลมมา เสาบ้านก็ปลวกกิน ยายไม่มีที่ดินทำกิน ยายอาศัยเบี้ยยังชีพกินในแต่ละเดือน เมื่อได้รับงบบ้านพอเพียง และได้ทำบ้านแล้ว ยายมีความสุขมาก ไม่เคยคิดว่าจะมีใครมาทำบ้านให้ยายใหม่ได้แบบนี้ ขอบคุณทุกๆ คนที่มาช่วยอย่างน้อยฝนตกยายก็ไม่ต้องกลัวลมพัดบ้านยายอีกแล้ว”
หลังต่อมาบ้านนางส้มลิ้ม ทองทิพย์ ก่อนซ่อมบ้านหลังนี้เป็นบ้านชั้นเดียวใช้พื้นดินเป็นพื้นบ้าน ผนังล้อมสังกะสี ด้านบนหลังคาก็รั่ว ด้านในบ้านไม่ได้เทพื้น บ้านทรุดโทรม เจ้าของบ้านมีอาชีพรับจ้าง ไม่มีที่ดินทำกิน มีเพียงแค่ที่ดินปลูกบ้านที่พ่อแบ่งให้เท่านั้น ด้วยงบประมาณบ้านพอเพียงจาก พอช.ที่ขับเคลื่อนโดยสภาองค์กรชุมชน 17,000 บาท กับงบประมาณจากการเก็บหอมรอมริบของตนเองอีก 20,000 บาท ทำให้ยายส้มลิ้ม ได้บ้านหลังใหม่ที่มีความมั่นคง แข็งแรง สวยงามกว่าเดิม ยายส้มลิ้มได้บอกว่า “ขอบคุณมากกับโครงการดีๆ ถ้าไม่มีโครงการนี้ฉันคงไม่มีปัญญาปลูกบ้านใหม่เพราะโครงการนี้ มีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. มาช่วยกันปลูกบ้านให้ฉัน อย่างน้อยค่าแรงฉันก็ไม่ต้องเสีย ฉันมีบ้านใหม่ ฉันดีใจและมีความสุขมากๆ”
สภาองค์กรชุมชนตำบลห้วยขุนรามมีส่วนช่วยในโครงการบ้านพอเพียงอย่างไร
นางสาวรัตนา บุญคิ้ว กำนันตำบลห้วยขุนราม ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลห้วยขุนราม ได้กล่าวว่า “สภาองค์กรชุมชนฯ มีส่วนช่วยคือเป็นตัวเชื่อมโยง ออกสำรวจ ทำข้อมูลและเขียนโครงการนำเสนอต่อสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเพื่อดำเนินการของบประมาณจาก พอช.” กำนันได้บอกอีกว่า ตำบลห้วยขุนรามมีจุดเด่น คือ สภาองค์กรชุมชนสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องที่ได้ดี จึงได้รับการสนับสนุนในเรื่องแรงงานจากช่าง อบต. สนับสนุนเรื่องเครื่องดื่มจากสหกรณ์โคนมบ้านสวนมะเดื่อ และได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในแต่ละหมู่ออกมาช่วยกันซ่อมแซมบ้านทุกหลัง
อีกหนึ่งกำลังสำคัญของโครงการคือ ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดลพบุรี นำโดย ร.อ.ธีระวิทย์ บุญเกิด ได้ลงตรวจเยี่ยมบ้านในตำบลห้วยขุนรามและได้มาช่วยในการขับเคลื่อนโครงการจนลุล่วงไปด้วยดี
“โครงการบ้านพอเพียงชนบทถือเป็นโครงการดีๆ อีกโครงการหนึ่งที่สามารถสร้างความสุขให้กับคนยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างน้อยถ้าบ้านมั่นคงแล้วก็ทำให้พวกเขา “นอนอุ่น” และรู้สึกปลอดภัยในบ้านหลังเล็กได้อย่างมีความสุข บางครั้งชีวิตคนเราเลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกที่จะทำดีได้ และเมื่อโอกาสดีๆ เข้ามาหาคนดีๆ ในฐานะสภาองค์กรชุมชนฯ ก็อยากช่วยเหลือและสรรหาสิ่งดีๆ มาให้คนในตำบล”
เมื่อโครงการบ้านพอเพียงชนบทเกิดขึ้นในตำบล ทำให้เห็นได้ว่าคนในตำบลห้วยขุนรามยังมีความรักความสามัคคีกัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะทุกๆ คน ยินดีที่จะทำให้คนที่ด้อยกว่ามีความสุขเท่าๆ กันกับบ้านหลังใหม่ที่ได้ซ่อมแซมไป นี่แหล่ะที่มาของคำว่า “บ้านพอเพียง บ้านที่มากกว่าบ้าน เราจะเรียกมันว่า บ้านแห่งความสุข” สุขทั้งผู้ให้และสุขทั้งผู้รับ สุขของทุกๆ คนในตำบลห้วยขุนราม