โดย คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลมหาสอน
“ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าครองชีพสูง ค้าขายก็ลำบาก ขาดตลาดจำหน่ายสินค้า ขาดนักท่องเที่ยว ทำให้รายได้ของคนมหาสอนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ แถมหนี้สินยังผ่อนทั้งชาติก็ไม่หมด” เสียงสะท้อนมาจากการเริ่มต้นประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลมหาสอน ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงปัญหาและอุปสรรคของเศรษฐกิจชุมชน แล้วเริ่มแสวงหาทางออกร่วมกัน คิดจัดทำแผนท่องเที่ยวชุมชนตำบลมหาสอน ซึ่งมีประเด็นคำถามในการพูดคุยที่สำคัญคือ “2 วัน 1 คืน สามารถท่องเที่ยวที่ไหนได้บ้างในตำบลมหาสอน?”
กำนันอุไร เท้งนาวี รองประธานสภาองค์กรชุมชน ตำบลมหาสอน ได้เล่าถึงสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชน มีทั้งที่เที่ยว ที่กิน ที่พักค้างแรม “เรามีของดีในชุมชนให้นักท่องเที่ยวมาดูมาชมอยู่แล้วทั้ง 8 หมู่บ้าน ทั้งวัดห้วยแก้ว วัดมหาสอน จุดชมวิวทุ่งนา แม่น้ำบางขาม มีของกินของอร่อยน่าชิมมากมาย ทั้งปลาแห้งสามวัน ข้าวปลอดสาร พิซซ่าเตาถ่านในตลาดชุมชน รวมทั้งมีรถอีแต๋นนำเที่ยว โฮมสเตย์และจุดกางเต็นท์ริมน้ำที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มได้” เราเห็นได้ภาพรวมว่าของดีหรือจุดแข็งทางด้านสถานที่ท่องเที่ยวตำบลมหาสอน แต่ยังขาดความเชื่อมโยงที่สามารถเป็นแนวทางให้นักท่องเที่ยวใช้เป็นแผนในการท่องเที่ยวได้
แผนการท่องเที่ยวชุมชนตำบลมหาสอน เริ่มจากการหาคำตอบต่อโจทย์ว่า “ 2 วัน 1 คืน สามารถท่องเที่ยวอะไรได้บ้างที่ตำบลมหาสอน?” โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลในแต่ละหมู่ได้ร่วมกันถกเถียงกันอย่างสนุกสนาน โดย พันเอกสามารถ ร่มพุฒตาล ได้เสนอแนะการท่องเที่ยว โดยเริ่มจากเช้าวันแรกให้มาเที่ยวที่วัดห้วยแก้ว อยู่ในหมู่ 1 และหมู่ 2 ซึ่งมีกิจกรรมที่สามารถทำได้ 2 – 3 ชั่วโมง มีสถานที่สำคัญคือเจดีย์กลางน้ำ ที่เกิดจากที่ชาวบ้านและวัดร่วมกันออกแบบ บริจาคเงิน และก่อสร้างร่วมกัน มีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ ไหว้พระทำบุญ ปฏิบัติธรรม ให้อาหารปลา และมีตลาดชุมชนริมแม่น้ำบางขามเป็นสถานที่จัดจำหน่ายสินค้าชุมชนอีกด้วย
ภาพสถานที่ท่องเที่ยวและการทำกิจกรรมภายในวัดห้วยแก้ว
หลังจากช่วงเช้าอยู่ที่วัดห้วยแก้วจนอิ่มทั้งบุญอิ่มทั้งท้องแล้ว บ่าย แนะนำให้นั่งรถอีแต๋น ของชุมชน เพื่อไปชมบ้านโบราณสไตล์ไทย-จีนอายุ 100 ปี แวะทำกระเป๋าสานจากหวาย กับคุณป้าฉลอ ทนทองคำ ประธานกลุ่มจักรสานหวายลายวิจิตร ซึ่งป้าได้เล่าให้ฟังว่า “นักท่องเที่ยวสามารถเขามาดูชมได้ทุกวัน มีอุปกรณ์ให้ฝึกทำได้ แต่ต้องตั้งใจและใจเย็น ซึ่งกว่าจะได้แต่ละใบใช้เวลานานมาก ซึ่งสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้แก่คนตำบลมหาสอนได้ถึงเดือนละ 5,000 – 18,000 บาท เป็นอาชีพเสริมที่มีคุณค่ามาก เนื่องจากเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นสินค้าทรงคุณค่าได้รางวัลระดับประเทศมาแล้ว” ในจุดนี้นักท่องเที่ยวจะได้ความรู้ และฝึกปฏิบัติจริง ซื้อเป็นของฝากที่ทรงคุณค่าได้อีกด้วย
เมื่อเพลิดเพลินกับกระเป๋าหวายแล้ว ถัดมาเป็นการล่องเรือชมวิวทิวทัศน์ บ้านเรือน และวิถีชีวิตของคนมหาสอนที่อยู่ริมแม่น้ำขาม ตลอดระยะทาง 20 กิโลเมตร แวะถ่ายรูปจุดเช็คอินที่สามเหลี่ยมทองคำแม่น้ำบางขาม ซึ่งแม่น้ำสายนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่สมัยทวารวดีและเป็นแหล่งอารยธรรมมอญ ปัจจุบันคนในชุมชนยังใช้เป็นเส้นทางสัญจรและค้าขาย และยังเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในการทำนาตลอดทั้งปี ในจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถเล่นน้ำบนแพเปียก หรือจะพายเรือพายัคเล่นก็สร้างความสุขสนุกสนานได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ภาพการล่องเรือชมวิถีชุมชนริมแม่น้ำบางขาม
หลังจากเที่ยวชมวิว ทิวทัศน์ และสถานที่ต่างๆ มาทั้งวันแล้ว ยามตะวันเริ่มตกดินอันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าถึงเวลาพักผ่อน ก็มีโฮมสเตย์ให้เลือกมากมาย ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของคนตำบลมหาสอน มีที่พักที่อยู่ริมน้ำ ค่าบริการคืนละ 1,000 บาทต่อหลัง นอนได้ 5 ท่าน และยังมีบริหารเสริม เช่น เตาปิ้งย่างและอาหารให้บริการแก่นักท่องเที่ยว พร้อมชมการแสดงวัฒนธรรมของเยาวชนในหมู่บ้าน หรือถ้าใครเล่นน้ำไม่จุใจ บริเวณที่พักก็สามารถลงเล่นน้ำหน้าบ้านได้ นับได้ว่าเป็นการสร้างความผ่อนคลายดื่มด่ำกับธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด
ภาพที่พักโฮมสเตย์ของชุมชนและการแสดงของกลุ่มเยาวชนตำบลมหาสอน
เช้าวันที่สอง ชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ชมวิวกลางทุ่งนาที่ “ฟ้าสางที่บางน้อย” หมู่ 7 ตำบลมหาสอน เป็นสถานที่มีสะพานไม้ทอดไปกลางทุ่งนา และมีศาลาพักให้นักท่องเที่ยวสามารถไปถ่ายรูป นั่งเล่น ชมทิวทัศน์ได้ และยังมีอาหารเช้าไว้ให้บริการ รวมทั้งสินค้าท้องถิ่นให้ได้ลิ้มลอง ต่อจากนั้นไปทำบุญที่วัดพระมหาสอน กราบสักการะหลวงพ่อเคลือบที่เป็นที่เคารพรักของคนตำบลมหาสอนก่อนที่จะเดินทางกลับ
ภาพวิวทิวทัศน์กลางทุ่งนาที่หมู่ 7 และหลวงพ่อเคลือบที่วัดมหาสอน
เราสามารถเห็นถึงการท่องเที่ยวของชุมชนตำบลมหาสอนได้อย่างชัดเจนมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกิดจากคนในชุมชนมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้คนมหาสอนอยู่ดีกินดี มีความสุข และนอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาคีให้การสนับสนุน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลมหาสอนให้การสนับสนุนเรื่องการพัฒนาศักยภาพผู้นำการท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว แถมยังให้งบประมาณสนับสนุนเป็นประจำทุกปี สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ้านหมี่ให้การสนับสนุนเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชนนวัตวิถี และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้รับมาตรฐาน รวมทั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำแผนตำบลและแผนธุรกิจอีกด้วย เป็นต้น
ในปัจจุบัน การท่องเที่ยวชุมชนโดยการมีส่วนร่วมและตรงตามความต้องการของคนตำบลมหาสอน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนตำบลมหาสอนนั้น ได้รับการพัฒนาเป็นสถานที่ท้องถิ่นห้ามพลาด 40 แห่งของจังหวัดลพบุรี ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ทำให้เริ่มมีปัญหาในเรื่องการรองรับนักท่องเที่ยว การจัดการขยะ และการจราจรติดขัด ซึ่งประชุมสภาองค์กรชุมชน ได้หารือถึงปัญหานี้ และกำหนดแนวทางการแก้ไขไว้เบื้องต้นแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการ แม้ว่าจะเริ่มมีปัญหา แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจน คือ เศรษฐกิจของคนตำบลมหาสอนดีขึ้น นับได้ว่าเป็นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วมของคนตำบลมหาสอนได้อย่างแท้จริง