โดย คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลซับสมบูรณ์
“ซับสมบูรณ์” เป็น 1 ใน 6 ตำบลที่อยู่ในเขตอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ถือว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลจากความเป็นเมืองมากพอสมควร อยู่ห่างจากตัวเมืองราว 130 กิโลเมตร ตำบลแห่งนี้มีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน 1,333 ครัวเรือน และมีประชากรทั้งหมด 3,527 คน คนในตำบลส่วนใหญ่ทำไร่อ้อย ไร่มัน ไร่ข้าวโพด และมีอาชีพเสริม เช่น ทำขนมไทย ผลิตภัณฑ์สินค้าจากกะลามะพร้าว เป็นต้น สภาองค์กรชุมชนตำบลซับสมบูรณ์ให้ความสำคัญ นำมาสู่การสนับสนุนสร้างเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ หาแหล่งงบประมาณและครูมาให้ความรู้พัฒนาเป็นสินค้าจากกะลามะพร้าว จนกลายเป็นสินค้า OTOP ของตำบลอันเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายของคนลพบุรี
นายวัชระ แม้นญาติ ประธานสภาองค์การชุมชนตำบลซับสมบูรณ์ได้กล่าวถึงการต่อยอดอาชีพสินค้าจากกะลามะพร้าวไว้ว่า “ดีใจที่สภาองค์กรชุมชนมีส่วนช่วยในเรื่องงบประมาณและการจัดหาครูผู้สอน เปลี่ยนจากกะลามะพร้าวที่ต้องทิ้งหลังทำขนมไทย มาเป็นสินค้าที่เพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน บางอย่างงบประมาณไม่มากหากมีการทำงานร่วมกัน เห็นความสุขของส่วนรวมมากกว่า เราเห็นรอยยิ้มของชาวบ้าน ชาวบ้านมีอาชีพเสริมเพิ่มขึ้น”
ที่มาของสินค้าจากกะลามะพร้าว ซึ่งตอนนี้เป็นสินค้า OTOP ของตำบลซับสมบูรณ์นั้น นางสังเวียน ช้อนทอง ซึ่งเป็นคนริเริ่มผลิตสินค้าจากกะลามะพร้าว โดยมีแนวคิดมากจากกะลาที่เหลือทิ้งจากการทำขนมไทย “ขนมไทยอะไรบ้างที่ใช้มะพร้าว ก็พวกขนมที่ใช้กะทิ และใช้มะพร้าวโรยหน้าทั้งหมด หลังจากทำขนมแล้ว กะลามะพร้าว ทิ้งเป็นกองๆ ป้ามองแล้วก็คิดว่ามันต้องเอาไปทำอย่างอื่นได้อีก จนมีคนขายของหาบเร่ผ่านมาแล้วมีโคมไฟกะลามะพร้าวมาขายเลยอยากทำบ้าง จึงเข้าไปหา ผู้ใหญ่ต้น (ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลซับสมบูรณ์)
หลังจากนั้น ใช้สภาองค์กรชุมชนฯ ในการขับเคลื่อนเริ่มจากการรวมกลุ่มของสมาชิกและหางบประมาณ หาครูผู้สอนมาช่วย โดยมีครู กศน.ตำบลซับสมบูรณ์ มาทำการสอนให้ จนปัจจุบันสินค้าจากกะลามะพร้าว เป็นสินค้าที่มีความต้องการมากของตลาด และมีหน่วยงานต่างๆเข้ามาสนับสนุน เช่น พัฒนาชุมชนอำเภอ มีการมาสอนการทำเป็นสินค้าต่างๆ ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า OTOP ของตำบลซับสมบูรณ์ ทำให้เพิ่มมูลค่าของสินค้าได้อีกช่องทางหนึ่ง”
เรามารู้จักสินค้าจากกะลามะพร้าวกันเถอะ
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวของชุมชน อาทิ ตะเกียง ชุดน้ำชา กล่องใส่กระดาษชำระ กระปุกออมสิน และเครื่องประดับ เป็นต้น
จากกลุ่มอาชีพเล็กๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากสภาองค์กรชุมชนซับสมบูรณ์ด้วยจำนวนเงินงบประมาณอันน้อยนิด จนวันนี้กลุ่มเล็กๆ นั้นเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนกะลามะพร้าวบ้านโปร่งเกตุ มีสมาชิก 35 ครัวเรือน และมีสมาชิกอยู่ทั้ง 7 หมู่บ้าน สร้างรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,000-12,000 บาท/ครัวเรือน เปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น มีตลาดรับซื้อสินค้าหลากหลาย และยังมีการสืบทอดการทำกะลามะพร้าวให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อไม่ให้สูญหายไปจากตำบลซับสมบูรณ์ รวมทั้งมีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ การผลิตที่หลากหลายขึ้น และมีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
นางสาวจันทร์สุวรรณ ช้อนทอง คนรุ่นใหม่ในชุมชน ที่ได้เรียนรู้การทำสินค้าจากกะลามะพร้าว หลังจากว่างจากงานเกษตรได้กล่าวว่า “ไม่เคยคิดว่ากะลามะพร้าวจะมีมูลค่า สามารถสร้างรายได้งาม ชอบที่จะทำ อย่างน้อยก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ดี มั่นคงและเป็นการสืบทอดการทำกะลามะพร้าวเป็นสินค้าต่างๆ ไม่ให้สูญหายไป เพราะตำบลซับสมบูรณ์มีดีที่กะลามะพร้าวมายาวนาน”
แม้ว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกะลามะพร้าวจะมาไกลกว่าที่คิด แต่กลุ่มวิสาหกิจนี้ยังคงเดินหน้าและจะมีการพัฒนาร่วมกับสภาองค์กรชุมชนต่อไป เพื่อการเปลี่ยนชีวิตให้คนในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น ดังวิสัยทัศน์ของสภาองค์กรชุมชนที่ว่า “ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจมั่งคั่ง มุ่งสู่คุณภาพชีวิตยั่งยืน”