ประวัติความเป็นมา
สมัย 1,000 กว่าปีมาแล้ว มีพระรถปกครองเมืองพระรถ ปัจจุบัน คือ อำเภอพนัสนิคม มีนิสัยชอบชนไก่ มักจะไปชนไก่ที่สระสี่เหลี่ยม ปัจจุบัน คือตำบลสระสี่เหลี่ยม และในสมัยนั้นไม่มีถนน การเดินทางมีความลำบากมาก พระรถจึงสร้างถนนไปถึงสระสี่เหลี่ยม ณ จุดเริ่มสร้างถนนชาวบ้านจึงเรียกว่า ศีรษะถนน ต่อมาเปลี่ยนเป็นหัวถนน และตั้งชื่อตำบลว่า ตำบลหัวถนน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตำบลหัวถนน มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวหัวถนนและเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป คือ หลวงพ่อติ้วในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีผู้เลื่อมใสศรัทธาหลวงพ่อติ้วหลั่งไหลกันมาทำบุญ ปิดทองหลวงพ่อติ้วเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตและจะมีการแห่หลวงพ่อติ้ว เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำหลวงพ่อ ซึ่งในวันนั้นประชาชนทุกผู้ทุกวัย มาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน
อาณาเขตตำบลหัวถนน
มีพื้นที่ประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 13,150 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลใกล้เคียงดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับ ต.สระสี่เหลี่ยม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
ทิศใต้ ติดกับ ต.หนองปรือ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
ทิศตะวันออก ติดกับ ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันตก ติดกับ ต.วัดหลวง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
สภาพพื้นที่
ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงใช้ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย ทางทิศตะวันตกมีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการทำนา
อาชีพ
อาชีพหลัก ทำนา ทำสวน/ทำไร่ อาชีพเสริม จักสานสุ่มไก่,ถักไม้กวาดดอกหญ้า,รับจ้าง
ความเป็นมาของ โครงการบ้านพอเพียงตำบลหัวถนน
โดยก่อตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชนในปี 2552 จำนวนสมาชิก 23 คน จากการชักชวนของขบวนจังหวัดชลบุรี หลังจากนั้นจึงได้เริ่มก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 สมาชิกแรกก่อตั้ง 159 คน ต่อในปี 2560 ได้มีขบวนจังหวัดได้มาชักชวนให้มาจัดตั้งโครงการบ้านพอเพียงในตำบล โดยเป็นตำบลนำร่องโครงการ เพื่อซ่อมแซมบ้านให้แกผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในชุมชน โดยเป็นโครงการที่จะซื้ออุปกรณ์ให้กับครอบครัวผู้เดือดร้อนในส่วนที่อยู่อาศัยที่ทำการสำรวจมา และได้รับการคัดเลือกในจำนวนเงินหลังละ 18,000 บาท ซึ่งหากการซ่อมแซมมีส่วนเกินที่มากกว่าจำนวนเงินที่ได้รับ ทางผู้เดือดร้อนจะต้องเป็นผู้จ่ายเองในส่วนนั้น รวมไปถึงค่าช่างที่เข้ามาทำการซ่อมแซมด้วย ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงที่ช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ที่ต้องการจะซ่อมแซมบ้านของตัวเองในส่วนที่จำเป็น เพื่อให้สามารถอยู่อาศัยได้ แต่เนื่องจากความไม่พร้อมของตัวแทนชุมชน จึงไม่ก่อตั้งในปีนั้น แต่หลังจากนั้นจึงได้ไปเตรียมความพร้อมในกลุ่ม จึงได้ก่อตั้งในปี 2561
ช่วงแรก ได้มีการตั้งคณะกรรมการบ้านพอเพียงขึ้น โดยมีนางจรรยา เพชรศักดา เป็นประธาน โดยในคณะกรรมการบ้านพอเพียงจะประกอบไปด้วย ตัวแทนจากสภาองค์กรชุมชนและกลุ่มสวัสดิการชุมชน รวมไปถึงตัวแทนผู้นำในแต่ละหมู่บ้าน โดยเมื่อตั้งคณะกรรมการเสร็จแล้วก็เรียกประชุม เพื่อให้ตัวแทนหมู่บ้านไปสำรวจและหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยมารวบรวมข้อมูลมานำเสนอต่อคณะกรรมการ โดยในครั้งแรกที่ลงสำรวจ มีผู้เดือดร้อนที่ได้ขอเข้าร่วมโครงถึง 40 หลัง แต่เนื่องจากงบประมาณบ้านพอเพียงที่ลงมาครั้งแรกมีเพียง 12 หลัง จึงทำให้คณะกรรมการต้องทำการคัดเลือกผู้ที่ได้รับความเดือดที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก่อน เมื่อได้รายชื่อของผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว ทางคณะกรรมจะลงไปสำรวจและประเมินสิ่งของที่จะต้องใช้ซ่อมแซม หลังจากทางคณะกรรมการก็จะประสานไปยังร้านวัสดุในพื้นที่เพื่อเบิกจ่ายของมาให้ยังบ้านที่เดือดร้าน โดยทางคณะกรรมการมีการกำหนดข้อตกลงร่วมกับผู้เข้าร่วมโครงการบ้านพอเพียงว่า จะต้องเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนสวัสดิการชุมชนก่อน หลังจากนั้นจึงได้นำหนังสือกู้ยืมมาให้ผู้เข้าร่วมโครงการเซ็น เมื่อซ่อมแซมบ้านเสร็จ ทางคณะกรรมการก็จะไปตรวจงานและเก็บข้อมูล หลังจากเดือนนั้นก็จะเริ่มให้ผ่อนส่ง
ช่วงที่สอง หลังจากที่ซ่อมแซมบ้านเสร็จแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่อนจ่ายเงินให้แก่โครงการเดือนละ 130 บาท จนกว่าจะผ่อนหมด โดย 100 บาทจะเป็นค่าผ่อนส่งโครงการบ้านพอเพียง ส่วน 30 บาทจะเป็นเงินออมของโครงการ เมื่อผ่อนครบ 3 ปี เงินส่วนนี้ก็จะคืนให้แก่ผู้ผ่อนโครงการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีเงินเก็บออมไว้บ้าง
โดยโครงการเริ่มต้นในปี 2561 ในครั้งแรกหลังจากสำรวจบ้านที่เดือดร้อนทั้งหมด 40 หลัง โดยในปีแรกได้รับงบประมาณ บ้านพอเพียงทั้งหมด 12 หลัง ทางคณะกรรมการจึงได้พิจารณาและคัดเลือกผู้ที่ได้รับความเดือดที่ต้องรีบให้การช่วยเหลือก่อน หลังจากนั้นในปี 2562 ได้รับงบประมาณบ้านพอเพียงเพิ่มอีก 25 รวมเป็น 7 หลัง รวมทั้งสิ้นเป็น 37 หลัง โดยในจำนวนบ้านทั้งหมดทางกองทุนสวัสดิการชุมชนก็ได้ช่วยสงเคราะห์ไป 15 หลัง เนื่องจากผู้ที่เดือดร้อนเป็นผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ทางกลุ่มกองทุนสวัสดิการจึงได้ช่วยเหลือ
“เนื่องจากงบประมาณโครงการมีจำกัด เราเลยต้องให้ผู้เดือดร้อนจริงๆก่อน โดยที่ให้เค้าเข้าร่วมกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อสร้างนิสัยการออมและให้เค้าได้มีสวัสดิการพื้นฐาน เพื่อพอให้ดูแลตัวเองได้”
ตัวอย่างบ้านที่ได้รับการช่วยเหลือ
นางนุกูล จันทพันธ์ บ้านเลขที่ 32/2 หมู่ที่ 9 ตำบลหัวถนน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
บ้านของนางนุกูล ได้รับการซ่อมแซม โดยการ สร้างกำแพงบ้านบางส่วนและต่อเติมส่วนครัว
โดย นางนุกูล เล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนได้สร้างบ้านตามกำลังทรัพย์ที่มี ซึ่งได้แต่ตัวโครงบ้านและหลังคา ขาดทั้งกำแพงบ้าน ฝ้าเพดานและพื้นปูน ตนจึงนำเอาหลังคาจากมาทำเป็นฝากำแพงเพื่อบังลมฝน แต่ก็ไม่สามารถกันได้ทั้งหมด ในบางทีที่ฝนตกหนัก ลมฝนก็จะพัดใส่กำแพงมุงจากทำให้กำแพงเปิดและน้ำฝนพัดเข้ามาในตัวบ้าน ทำให้ตนไม่สามารถนอนได้เลย ต่อมาได้มีผู้นำชุมชนได้มาสำรวจบ้านของตน และได้เสนอให้เข้าร่วมโครงการบ้านพอเพียง หลังจากนั้น จึงได้นำวัสดุมาต่อเติมส่วนกำแพงบ้านและส่วนครัว โดยที่คนในชุมชนรวมถึงลูกหลานได้มาช่วยกันทำให้ ต้องขอบคุณโครงการนี้มากที่ทำให้ตน ได้นอนในบ้านอย่างมีความสุขไม่ต้องกลัวกำแพงเปิดหรือฝนสาดใส่อีก หลังจากนี้ก็คงจะทยอยหาเงินมาต่อเติมส่วนที่เหลือต่อไป
นายศักดิ์ดา วิมลรัตน์ บ้านเลขที่ 45 หมู่ที่ 7 ตำบลหัวถนน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
บ้านของนายศักดิ์ดา ได้รับการซ่อมแซม เปลี่ยนหลังคาและโครงสร้างหลังคา
โดย นายศักดิ์ดา เล่าว่า เมื่อก่อน ในส่วนของหลังคาบ้านได้ผุพังลงตามกาลเวลา รวมไปคานหลังคาที่เป็นไม้เนื่องจากโดนปลวกกิน ทำให้เวลาที่ฝนตกหนักมีลมพัดรุนแรงจะทำหลังคาสั่นและมีน้ำฝนรั่วลงมา ทำให้นอนไม่ได้ต้องหาถังมารองน้ำฝนและคอยระวังว่าคานไม้ตรงหลังคาจะพังรึป่าว ต่อมาได้มีผู้นำชุมชนได้มาสำรวจบ้านของตน และได้เสนอให้เข้าร่วมโครงการบ้านพอเพียง หลังจากนั้น จึงได้นำวัสดุมา สร้างหลังคาและโครงเหล็กหลังคาบ้านขึ้นใหม่ โดยหลังจากนี้ก็จะพยายมเก็บเงินเพื่อต่อเติมเพิ่ม ต้องขอบคุณโครงการนี้มากที่ทำให้ได้หลังใหม่ ลำตัวเองก็คงจะใช้เวลาอีกนานกว่าจะมีเงินมาทำ แล้วก็ไม่รู้ว่าหลังคาจะพังมาก่อนไหม ต้องขอบคุณมากๆ
ช่วงที่สาม ปัจจุบันถึงแม้ว่าโครงการบ้านพอเพียงตำบลหัวถนนจะสามารถซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหายไปแล้วบางส่วน แต่ก็ยังบ้านอีกหลายหลังที่ยังรอการช่วยเหลือจากโครงการนี้อีกหลายหลัง ซึ่ง คุณจรรยา ประธานคณะกรรมการ ได้กล่าวว่า ขั้นต่อไปหลังจากนี้คือการส่งเสริมให้คนในชุมชนเข้ามาเป็นสมาชิกของกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยอนาคตจะกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะเข้ามาขอรับโครงการบ้านพอเพียง จะต้องเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน และมีการออมไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจาก คุณ จรรยา มองว่าการที่จะทำให้เค้าสามารถดูแลตัวเองได้ เค้าควรได้รับการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานและรู้จักการออม เพื่อให้เค้าได้เงินไว้ใช้ฉุกเฉินยามจำเป็น
ปัญหา สำหรับปัญหาที่ทางคณะกรรมการบ้านพอเพียงหัวถนน เจอก็คือ จำนวนบ้านที่โครงการบ้านพอเพียงให้งบประมาณมา ไม่เพียงพอ จึงทำให้คณะกรรมการต้องคัดเลือกผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนที่ต้องได้รับการช่วยโดยด่วนก่อน หลังจากนั้นจึงจะให้รายต่อๆไป โดยได้ทำความเข้ากับผู้ได้รับความเดือดร้อนรายอื่นๆ เพื่อให้ได้เข้าใจตรงกัน