ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นตำบลที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลองมาตั้งแต่ในอดีต ในช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจะพัดพาตะกอนซึ่งเป็นทรายมาทับถมบริเวณปากแม่น้ำลำคลอง จึงเรียกกันต่อๆ มาว่า “กองทราย” และกาลเวลาผ่านไปการเรียกชื่อตำบลก็ผิดเพี้ยนไปเป็น “ทรายมูล” โดยพื้นที่ตำบลทรายมูลส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เหมาะแก่การทำการเกษตร ประชาชนประมาณ 80% ในพื้นที่จึงมีอาชีพเกษตรกร และรับจ้างทั่วไป ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่มีทุนพอที่จะมาซ่อมแซมหรือสร้างที่อยู่อาศัย
สภาองค์กรชุมชนตำบลทรายมูล จัดตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 28 ตุลาคม 2562 มีสมาชิกจำนวน 41 คน และ ในปี พ.ศ.2560 ตำบลทรายมูลได้ใช้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล ซึ่งมีสมาชิกแรกตั้งจำนวน 24 คน ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 650 คน งบประมาณรวม 2,109,162 บาท เป็นองค์กรนำ เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการบ้านพอเพียงชนบทจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นโครงการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยทรุดโทรม โดยใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีกลางในการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนและสมาชิกในตำบล เพื่อวิเคราะห์ปัญหา คัดเลือกคณะกรรมการ
หลังจากนั้นคณะกรรมการได้ร่วมกันวางระเบียบข้อบังคับ และให้ผู้นำแต่ละหมู่บ้านออกไปสำรวจครัวเรือนผู้เดือดร้อนเพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกัน จากผลสำรวจพบว่า มีผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย จำนวนมากกว่า 50 ครัวเรือน คณะทำงานจึงได้ช่วยจัดเรียงผู้เดือดร้อนว่าใครมีความจำเป็นมากที่สุด โดยมีหลักเกณฑ์กลางในการพิจารณา เช่น เป็นผู้ยากจน ผู้พิการ จะได้รับการพิจารณางบประมาณในการซ่อมแซมเป็นลำดับแรกๆ
จากการดำเนินงาน 3 ปีที่ผ่านมา ตำบลทรายมูลได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านพอเพียงชนบททั้งหมดเป็น 20 หลัง แบ่งเป็นรายปี คือ ปี 2560 จำนวน 16 หลัง ปี2561 จำนวน 5 หลัง และปี 2562 ได้อีก 5 หลัง งบสนับสนุนหลังละ 18,000 บาท งบประมาณรวม 360,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นการซ่อมแซม ผนังบ้าน เปลี่ยนหลังคา สร้างห้องน้ำใหม่ และมีการรื้อใหม่ในบางหลังที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ผู้เดือดร้อนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่ยากจนรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
นายบัญญัติ พูลผล เป็นหนึ่งในผู้เดือดร้อนที่ได้รับการสนับสนุนให้ซ่อมแซมบ้าน มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่มีงานประจำ ถ้าใครจ้างก็จะไป อาศัยอยู่คนเดียว เมื่อก่อนอาศัยอยู่ข้างบ้านญาติ โดยการเอาผ้าใบไปกางเป็นหลังคา สภาพที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสม ต้องรื้อเพื่อสร้างใหม่ และต้องพึ่งพาญาติ เช่น ข้าวบางมื้อก็กินกับญาติ
แม้ว่างบประมาณจำนวน 18,000 บาทจะไม่เพียงพอที่จะสร้างบ้านหลังใหม่ แต่ นายบัญญัติ พูลผล ก็ได้รับการช่วยเหลือจากคนในชุมชนและญาติพี่น้องเป็นอย่างดี ทั้งในด้านวัสดุและอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น เสาบ้านเก่า หน้าต่างเก่า ที่ยังใช้ได้ รวมทั้งช่าง และแรงงาน อาหารและเครื่องดื่มในระหว่างการก่อสร้าง จนได้บ้านใหม่จากการร่วมใจกันของคนในชุมชน ถึงบ้านจะไม่ใหญ่แต่ก็สามารถสร้างความสุข และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป
(ภาพบ้านหลังการดำเนินการแล้ว ของนายบัญญัติ พูลผล )