ประวัติความเป็นมา
ตำบลโยธะกาแยกมาจากตำบลดอนเกาะกาและตำบลหมอนทอง เมื่อปี พ.ศ.2480 สมัยก่อนชาวบ้านเรียก”แม่น้ำนครนายก”ว่า “แม่น้ำโยธะกา” เนื่องจากมีต้นโยธะกาซึ่งเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งดอกสีชมพู ฝักคล้ายกระถินขึ้นเรียงรายตามสองฝั่งแม่น้ำ ปัจจุบันนี้ต้นไม้ดังกล่าวสูญหายไปหมดแล้ว ชาวบ้านจึงเรียกแม่น้ำโยธะกาว่า แม่น้ำนครนายกตามชื่อเดิม ส่วนชื่อตำบลโยธะกานั้นเป็นชื่อที่ใช้เรียกตามชื่อแม่น้ำโยธะกาซึ่งไหลผ่านตำบล
อาณาเขตตำบลโยธะกา
มีเนื้อที่ประมาณ 58.20 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 36,375 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลใกล้เคียงดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับ ต.บางสมบูรณ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก
ทิศใต้ ติดกับ ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันออก ติดกับ ต.สิงห์โตทอง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันตก ติดกับ ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
สภาพพื้นที่
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมคลองชลประทานและแม่น้ำนครนายก ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดนครนายก
อาชีพ
อาชีพหลัก ทำนา
อาชีพเสริม เลี้ยงกุ้งกุลาดำ
ความเป็นมาของ โครงการบ้านพอเพียง ตำบลโยธะกา
บ้านพอเพียงโยธะกา เกิดขึ้นมาจากการรวมกลุ่มของสภาองค์กรชุมชนโยธะกา ที่ต้องการซ่อมแซมบ้านที่ชำรุดเสียหายของสมาชิกองค์กรชุมชน โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้ง สภาองค์กรชุมชนโยธะกา ในปี 2558 แรกเริ่มมีสมาชิกทั้งหมด 41 คน โดยมี นายธีรพล อุทัยพันธุ์ หรือกำนัลบอล” เป็นประธานสภาองค์กรชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นจากการชักชวนของขบวนจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ซึ่งต่อมาจึงได้สนับสนุนและส่งเสริมในการจัดตั้งโครงการบ้านพอเพียงในปี 2560
ช่วงแรก โดย กำนัลบอล ได้เล่าว่า หลังจากที่ได้ตั้งสภาองค์กรชุมชนโยธะกาแล้ว จึงได้จัดตั้งกลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้น มีสมาชิก 60 คน เพื่อเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานของคนในชุมชน ต่อมาในปี 2560 ขบวนจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ชักชวนและส่งเสริมให้ จัดตั้งโครงการบ้านพอเพียงในพื้นที่ โดยเป็นโครงการที่จะซื้ออุปกรณ์ให้กับครอบครัวผู้เดือดร้อนในส่วนที่อยู่อาศัยที่ทำการสำรวจมา และได้รับการคัดเลือกในจำนวนเงินหลังละ 18,000 บาท ซึ่งหากการซ่อมแซมมีส่วนเกินที่มากกว่าจำนวนเงินที่ได้รับ ทางผู้เดือดร้อนจะต้องเป็นผู้จ่ายเองในส่วนนั้น รวมไปถึงค่าช่างที่เข้ามาทำการซ่อมแซมด้วย ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงที่ช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ที่ต้องการจะซ่อมแซมบ้านของตัวเองในส่วนที่จำเป็น เพื่อให้สามารถอยู่อาศัยได้ โดยให้ โยธะกา เป็นพื้นที่นำร่อง ในจังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากนั้นจึงได้มาจัดตั้งคณะกรรมการบ้านพอเพียงในพื้นที่ โดยมีตัวแทน จากทั้ง อบต. ผู้ใหญ่บ้าน นายช่างและร้านก่อสร้างในพื้นที่ รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน รวมกันเป็นคณะกรรมการ จากนั้นจึงได้จัดเวทีประชุมและให้ตัวแทนหมู่บ้าน ไปลงสำรวจผู้เดือดร้อนร้อนในหมู่บ้านของตน ซึ่งในครั้งแรกของการสำรวจมีผู้ร้องขอมามากถึง 300 ราย แต่งบประมาณของการในปี 2560 มีเพียง 42 หลังเท่านั้น จึงได้มีการจัดประชุมใหญ่ โดยเรียกผู้เดือดในแต่ละหมู่บ้านมารวมกัน แล้วบอกถึงข้อจำกัดของจำนวนบ้านที่จะได้รับการซ่อมแซม หลังจากนั้นก็จะให้ที่ประชุมเลือกผู้เดือดร้อนที่สมควรจะได้รับการซ่อมแซมโดยทันที โดยให้ที่ประชุมโหวตรับรอง จากนั้นจึงนำผู้เดือดร้อนที่ได้รับการคัดเลือกมาเซ็นสัญญากู้ยืมโครงการบ้านพอเพียง และบังคับให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการต้อง เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อส่งเสริมสวัสดิการของชาวบ้านอีกทางหนึ่ง โดยกำหนดไว้ว่า หลังจากได้รับการซ่อมแซมเสร็จแล้ว จะต้องผ่อนส่งเดือนละ 330 บาท เดือน โดย 300 บาทนั้นจะเป็นค่าผ่อนบ้านพอเพียงต่อเดือนเป็นระยะเวลา 5 ปี และ 30 บาท คือเงินออมของกองทุนสวัสดิการชุมชน หลังจากนั้นคณะกรรมการจะลงไปสำรวจและประเมินของที่ต้องใช้ตามราคา และจะให้ใบเบิกของ เพื่อไปเบิกของยังร้านก่อสร้างในชุมชน และเมื่อซ่อมแซมเสร็จ ทางคณะกรรมการจะลงไปตรวจงานและทำข้อมูลเพื่อรายงานต่อไป
ช่วงที่สอง หลังจากเมื่อบ้านใดซ่อมแซมเสร็จ ก็จะเริ่มเก็บเงินผ่อนรายเดือนในเดือนต่อไป แต่ในระยะแรกช่วงปี 2560 พบว่า มีผู้เดือดร้อนหลายราย ที่ไม่จ่าย หนีหนี้ เนื่องจากไม่มีเงินที่จะจ่าย หรือไม่สนใจ ทำให้ในปีต่อมาจึงได้ กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะได้เข้าโครงการบ้านพอเพียงจะต้อง เป็นสมาชิกของกองทุนสวัสดิการชุมชนและมีการจ่ายเงินออมแก่กองทุนไม่ต่ำกว่า 2 เดือน รวมไปถึง ให้คณะกรรมการร่วมกันประเมินความสามารถในการผ่อนส่งของผู้เดือดร้อนที่ร้องขอเข้าร่วมโครงการ เพื่อป้องกันหนี้เสียและเป็นหลักประกันว่ากองทุนบ้านพอเพียงจะสามารถหมุนเวียนไปยังผู้เดือดร้อนรายต่อไปในอนาคต
โดยโครงการเริ่มต้นในปี 2560 ซึงเป็นตำบลนำร่องโครงการบ้านพอเพียง ซึ่งในครั้งแรกหลังจากสำรวจบ้านที่เดือดร้อนทั้งหมดประมาณ 300 หลัง โดยในปีแรกได้รับงบประมาณบ้านพอเพียงทั้งหมด 42 หลัง โดยการจัดเวทีประชุมใหญ่ โดยมีคณะกรรมการ และผู้เดือดร้อนที่ขอรับการช่วยเหลือทั้งหมด โดยการให้ผู้เดือดร้อนทั้งหมด โหวตกันว่าใครเป็นผู้เดือดร้อนที่จะต้องได้รับการซ่อมแซมเร่งด่วน เพื่อที่จะได้เป็นผู้เข้าร่วมโครงการในระยะแรก ต่อมาในปี 2561 ก็ได้รับงบประมาณเพิ่มอีก 10 หลัง รวมถึงปี 2562 อีก 6 หลัง รวมทั้งสิ้นเป็น 58 หลัง โดยมี 15 หลังที่เกิดจากการต่อยอดในกองทุนโครงการบ้านพอเพียง
“ในปีแรกคณะกรรมการก็ได้คัดเลือกผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนก่อน แต่ปรากฏว่า เมื่อซ่อมเสร็จแล้ว สมาชิกบางส่วนกลับไม่ได้จ่ายเงินผ่อนรายเดือน รวมถึงหนีหนี้ ทำให้ในปีต่อมาเราจึงต้องมีข่อบังคับในการออมกับกองทุนสวัสดิการชุมชน รวมถึงให้คณะกรรมการร่วมกันประเมินความสามารถในการผ่อนส่งของผู้เดือดร้อนที่ร้องขอเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้โครงการบ้านพอเพียงสามารถดำเนินการต่อไปได้ในอนาคต”
ตัวอย่างบ้านที่ได้รับการช่วยเหลือ
นาย ชิด คงนิ้ม บ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 10 ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
บ้านของนาย ชิด คงนิ้ม ได้รับการซ่อม โดยการสร้างหลังคาใหม่และได้ลงเสาปูน
โดยนายชิดได้เล่าว่า เมื่อก่อนตรงส่วนข้างบ้านซึ่งเป็นที่เก็บของไม่มีหลังคาทำให้ในเวลาฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตจะต้องหาผ้ามาคลุมเพื่อไม่ให้ข้าวที่เก็บไว้โดนฝนและน้ำค้างรวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆด้วย ซึ่งทำให้เกิดความลำบากในการเก็บ หลังจากที่มีตัวแทนจากคณะกรรมบ้านพอเพียงเข้ามาสำรวจ จึงได้ร้องขอไป หลังจากที่ได้รับการคัดเลือกจึงได้ นำวัสดุมาสร้างโรงเก็บของติดกับตัวบ้าน ซึ่งได้อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเก็บผลผลิตและอุปกรณ์การเกษตร ต้องขอบคุณโครงการนี้มากจริงๆ ลำพังครอบครัวเองคงไม่สามารถหางบประมาณมาเพื่อต่อเติมได้ขนาดนี้ ซึ่งหลังจากนี้ก็คงจะต่อเติมขยายต่อไปเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยก็มีโครงและหลังคาแล้วก็ผ่อนปัญหาไปได้อีกหน่อย
นาย พรเทพ โยเยี่ยม บ้านเลขที่ 13/7 หมู่ที่ 10 ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
บ้านของนาย พรเทพ โยเยี่ยม ได้รับการซ่อม โดยการสร้างหลังคาใหม่และได้ลงเสาปูน
โดย นายพรเทพ เล่าว่า เดิมทีข้างบ้านจะมีโรงเก็บของซึ่งสร้างด้วยไม้และหลังคาสังกะสี แต่ต่อมาก็เริ่มผุพังตามกาลเวลา ซึ่งเมื่อหลังคามีรอยรั่วก็ทำให้น้ำฝนไหลลงมาใส่ผลผลิตและอุปกรณ์ที่เก็บไว้ในโรงเก็บของซึ่งสร้างความเสียหายต่อของเหล่านั้น ต่อมามีตัวแทนจากคณะกรรมบ้านพอเพียงเข้ามาสำรวจ จึงได้ร้องขอไป หลังจากที่ได้รับการคัดเลือกจึงได้ เรื้อโรงเรือนและนำอุปกรณ์ก่อสร้างมาสร้างเป็นโรงต่อขยายข้างบ้านแทน ทำให้หมดปัญหาน้ำฝนรั่วซึ่ม ต้องขอบคุณโครงการนี้มาก ที่ทำให้ได้ที่เก็บของใหม่ ซึ่งให้ข้าวของไม่ต้องโดนน้ำฝนทำความเสียหาย
ช่วงที่สาม ปัจจุบันโครงการบ้านพอเพียงได้ซ่อมแซมบ้านให้แก่ผู้เดือดร้อนไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังเหลือผู้เดือดร้อนที่ร้องขอมาอีกเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงปัญหาที่พบในระยะแรก คือการที่ผู้เดือดบางส่วนไม่สามารถผ่อนจ่ายเงินโครงการรายเดือนได้และการหนีหนี้ ทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมา ในระยะต่อมาจึงต้องเพิ่มความรัดกุมในข้อบังคับในการเข้าร่วมโครงการ รวมถึงให้คณะกรรมการร่วมกันประเมินความสามารถในการผ่อนจ่ายของผู้เดือดร้อนที่ร้องขอ เนื่องจากคำนึงความยั่งยืนของการดำเนินโครงการบ้านพอเพียง อีกทั้งมุ่งส่งเสริมให้คนในชุมชนเข้ามาเป็นสมาชิกของกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อสร้างการเข้าถึงในสวัสดิการของคนในชุมชนต่อไป
การเชื่อมโยง ในการก่อตั้งโครงการบ้านพอเพียงตำบลโยธะกา คณะกรรมการชาวบ้านได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง อบต. อสม. ผู้ใหญ่บ้าน นายช่างและร้านก่อสร้างในพื้นที่ มาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย โดยได้ขอช่วยให้ อบต. ส่งช่างไปประเมินวัสดุที่ต้องใช้ตามราคา ที่บ้านของผู้เดือดร้อน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่อบต. ที่ทำเอกสารให้ผู้ร่วมโครงการ ได้ขอให้ผู้ใหญ่บ้านแต่หมู่บ้านร่วมไปสำรวจบ้านผู้เดือดร้อน
เป้าหมายในระยะต่อไป กำนัลบอล ผู้เป็นประธานคณะกรรมการบ้านพอเพียงได้กล่าวว่า สิ่งที่อยากดำเนินการต่อไปหลังสามารถทำให้กองทุนบ้านพอเพียงหมุนเวียนและกระจายไปยังผู้เดือดรายใหม่แล้ว ยังอยากที่จะตั้งงบพิเศษเพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่จะเป็นงบฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนกู้ยืมเงินจากกองทุนนี้ได้ทันที โดยแบ่งเงินกองทุนเป็นสองกอง กองแรกคือ เงินกองทุนบ้านพอเพียงปกติที่จะหมนเวียนให้แก่ผู้เดือดร้อนได้กู้ยืม และกองที่สองที่เป็นเงินฉุกเฉินกรณีที่สมาชิกได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติได้ทันที อีกทั้งยังมุ่งส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนทั้งหมด เพื่อสร้างสวัสดิการพื้นฐานให้แก่คนในชุมชนโยธะกา
ปัญหา กำนัลบอล ผู้เป็นประธานคณะกรรมการบ้านพอเพียงได้เล่าว่าปัญหาที่พบในระยะแรก คือการที่ผู้เดือดบางส่วนไม่สามารถผ่อนจ่ายเงินโครงการรายเดือนได้และการหนีหนี้ ทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมา ในระยะต่อมาจึงต้องเพิ่มความรัดกุมในข้อบังคับในการเข้าร่วมโครงการ รวมถึงให้คณะกรรมการร่วมกันประเมินความสามารถในการผ่อนจ่ายของผู้เดือดร้อนที่ร้องขอ เนื่องจากคำนึงความยั่งยืนของการดำเนินโครงการบ้านพอเพียง