ตำบลบางเป้า อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่ห่างจากจังหวัดตรังประมาณ 25 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 16,517 ไร่ มี 7 หมู่บ้าน จำนวน 3,193 ครัวเรือน ประชากรทั้งสิ้น 9,811 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ประมง ค้าขาย รับราชการ เลี้ยงสัตว์ รับจ้างทั่วไป ฯลฯ
เริ่มต้นจากกลุ่มสุขภาพสมสิบสู่กองทุนสวัสดิการชุมชน
เดือนตุลาคม 2546 นางศศิธร เกลือกลิ่น และชาวบ้าน 4-5 ครัวเรือน ได้ร่วมกันจัดตั้ง “กลุ่มสุขภาพสมสิบ” (สมสิบ หมายถึงสะสมให้ครบสิบบาท) เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการออกกำลังกาย และการออมทรัพย์วันละ 10 บาท/คนละ 300 บาท/เดือน มีผู้สมัครเป็นสมาชิก 17 คน มีเงินออม 8,500 บาท มีคณะกรรมการ 5 คน
ปี 2547 จดทะเบียนกลุ่มสุขภาพสมสิบเป็น “กลุ่มวิสาหกิจออมทรัพย์ชุมชนบ้านบนไส” ต่อมาในเดือนตุลาคม 2548 จัดตั้ง “กองทุนฌาปนกิจ-วางหรีด” เพื่อระดมทุนช่วยเหลือสมาชิกเมื่อเสียชีวิต โดยให้สมาชิกสมทบ 120 บาท/คน มีคณะกรรมการ 9 คน ในปี พ.ศ. 2549 มีเงินฝากจำนวน 237,500 บาท
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้า จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 มีสมาชิกเข้าร่วม 120 คน เงินสมทบ 43,800 บาท มีคณะกรรมการ 14 คน จัดสวัสดิการ 3 เรื่อง คือ เกิด เจ็บ ตาย และจัดกิจกรรมที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดงานวันผู้สูงอายุ มอบของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จัดกิจกรรม “ออมอย่างพอเพียง ไม่เสี่ยงไม่จน”
การดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนมีการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การลงทะเบียนเข้าร่วมของสมาชิกและบุคคลทั่วไป ใช้หลักการบริหารกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาล มุ่งเน้นด้านเนื้อหามากกว่ารูปแบบ จนเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้วิธีคิด วิธีการทำงานที่เป็นระบบ เช่น การบริหารจัดการบุคลากร ระบบข้อมูล การเงิน รวมทั้งการเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย และทรัพยากรอื่นๆ ทำให้กองทุนฯเติบโตอย่างต่อเนื่อง จำนวนสมาชิกกองทุนสวัสดิการเพิ่มขึ้นทุกปี
ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้า มีสมาชิก 2,605 คน (พฤษภาคม 2562) มียอดเงินกองทุน 4,366,858 บาท ที่ผ่านมาได้รับการสมทบเงินเข้ากองทุนฯ จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รวม 4 ครั้ง เป็นเงินรวม 882,570 บาท
ส่วนการช่วยเหลือสวัสดิการสมาชิก มีผู้รับสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลมากที่สุด 2,282 ราย เป็นเงินรวม 1,358,100 บาท จากเดิมจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก 17 เรื่อง ปัจจุบันจัดสวัสดิการเพิ่มเป็น 28 เรื่อง เช่น 1.สวัสดิการเสียชีวิต ช่วยเหลือ 3,000 บาท (ต้องเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนไม่ต่ำกว่า 6 เดือน) 2.ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ช่วยเหลือ 500 บาท 3.บวช 500 บาท 4.แต่งงาน 500 บาท 5.เรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – ปริญญาตรี กู้ยืมได้ 4,000 บาท 6.จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมอบเงิน 2,000 บาท ฯลฯ
“ทำให้จริง” เรื่องการบริหารจัดการที่ดีมีธรรมาภิบาล
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้าใช้ระบบ “คณะกรรมการ” ในการบริหารจัดการ ระบบคณะกรรมการ คือ ระบบการบริหารจัดการที่ใช้ภูมิปัญญารวมหมู่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา เป็นการบริหารจัดการที่เป็นวิทยาศาสตร์เป็นรูปธรรมและก้าวหน้าที่สุด เมื่อองค์กรดำเนินระบบคณะกรรมการนี้ได้ดี ย่อมมีพลังผลักดันขับเคลื่อนให้องค์กรนั้น ๆ พัฒนาก้าวหน้าไปบนพื้นฐานของการคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นอยู่ตลอดเวลา มีหลักการดังต่อไปนี้
- มีการแบ่งบทบาทหน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการอย่างชัดเจน
- คณะกรรมการยึดหลักวิธีประชาธิปไตยในการประชุม หากมีความเห็นแตกต่างกันให้ถือมติเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
- คณะกรรมการยินดีรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม และเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ
- เวทีการประชุมของคณะกรรมการ เป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยน ปรึกษาหารือปัญหาอุปสรรคในการทำงานต่างๆ และสามารถปรึกษาหารือกับประธาน/กรรมการที่เกี่ยวข้องก่อนถึงวันประชุมได้
- คณะกรรมการต้องศึกษาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงอย่างละเอียดรอบคอบ ต่อปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของสมาชิกในชุมชนเป็นสำคัญ
- กำหนดการประชุมคณะกรรรมการเดือนละ 1 ครั้ง โดยกรรมการต้องมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำงาน และสรุปผลการดำเนินงานร่วมกัน
- คณะกรรมการต้องเป็นผู้มีจิตอาสา มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่างในเวทีการประชุมและในพื้นที่ชุมชน
- คณะกรรมการต้องแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ โดยเปรียบเหมือน “เหมือนหมอรักษาคนไข้เพื่อช่วยคน”
จากหลักคิดสู่หลักการเด่น ‘3 มี’
“มีส่วนร่วม” ประชุมคณะกรรมการอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ประชุมสมาชิกทุก 3 เดือน คณะทำงานครอบคลุมทั้งตำบลมาจากแกนนำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.อบต. เข้าร่วมประชุมด้วยทุกเดือน มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี มีแผนพัฒนาสังคมตำบลโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และได้เข้าข้อบัญญัติขององค์การบริหารส่วนตำบลเรียบร้อยแล้ว
“มีความโปร่งใส” มีการรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ให้คณะกรรมการเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดตรัง และองค์การบริหารส่วนตำบลทุกเดือนตั้งแต่สิงหาคม 2558 มีการรายงานสถานะการเงิน การคลังของกองทุนให้สมาชิกและภาคีเครือข่ายรับทราบทุก 3 เดือน มีสมุดบัญชีรับจ่ายให้สมาชิกทุกคน การเบิกจ่ายทุกครั้งมีการจดบันทึกไว้ในสมุดบัญชีของกองทุนฯ มีการรายงานการดำเนินงานต่อพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุก 6 เดือน
“มีความเป็นธรรม” มีระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกาที่ชัดเจน โดยใช้หลักการ “จากสมาชิก สู่สมาชิก” ขจัดลัทธิพรรคพวก เส้นสาย ขจัดความคิดเก่งคนเดียว มีการทำงานเป็นทีม ร่วมตัดสินใจในปัญหาที่สำคัญ กรรมการและสมาชิกมีความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติตามระเบียบ มีระบบฐานข้อมูลที่เปิดเผยเป็นปัจจุบัน มีการจัดสวัสดิการที่หลากหลายมีความเสมอภาคเท่าเทียมและทั่วถึง มีสมาชิกที่หลากหลายทุกเพศทุกวัยสมทบเงินเข้าอย่างสม่ำเสมอ คณะกรรมการและสมาชิกมีความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละอดทนขยันหมั่นเพียร ไม่มีข้อร้องเรียนใด ๆ จากสมาชิกหรือบุคคลอื่น ๆ ในพื้นที่
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้า ‘ไม่ได้ทำงานคนเดียว’
กองทุนสวัสดการชุมชนตำบลบางเป้ามีกลไกการทำงานที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสภาองค์กรชุมชนตำบลบางเป้า ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ได้มีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลบางเป้า ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมจำนวน 22 คน มีกลุ่มองค์กรจำนวน 10 กลุ่ม เช่น กลุ่มชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขตำบลบางเป้า กลุ่มเครื่องแกงทำมือ กลุ่มธนาคารหมู่บ้าน กลุ่มเลี้ยงแพะพื้นเมือง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านตลาดใหม่ ฯลฯ โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลบางเป้ามีบทบาทในการประสานกลุ่มองค์กรต่างๆ มีการพัฒนาศักยภาพสมาชิกกลุ่ม รวมถึงการพัฒนากิจกรรมของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธผล สร้างพื้นที่กลางเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานของภาคประชาชน บูรณาการงานร่วมกับสวัสดิการชุมชนบางเป้า ต่อยอดงานเดิมพัฒนาและส่งเสริม ทำให้การทำงานระหว่างสภาองค์กรชุมชนตำบลบางเป้า และกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้าเป็นเนื้อเดียวกัน เกิดเป็นนวัตกรรมการเชื่อมโยงนำไปสู่การพัฒนาของกองทุนฯ อย่างยั่งยืน
การเชื่อมโยงหน่วยงานในท้องถิ่น
ตำบลบางเป้าได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากทุกภาคส่วนท้องที่-ท้องถิ่นอย่างดี โดยเฉพาะกับองค์การบริหารส่วนตำบลบางเปา ได้มีการเชื่อมโยงในการพัฒนาการส่งเสริมด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ด้านเศรษฐกิจการส่งเสริมอาชีพให้กับคนในตำบลบางเป้า ที่สำคัญองค์การบริหารส่วนตำบลบางเป้าได้บรรจุแผนพัฒนาท้องถิ่นระยะ 3 ปี (พ.ศ.2560-2562) ในเรื่อง 1. การสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้า จำนวน 50,000 บาท และ 2. ฝึกอบรมและส่งเสริมอาชีพ จำนวน 30,000 บาท เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพให้กับประชาชนในตำบลบางเป้า
มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยง
การบริหารจัดการความเสี่ยง เป็นเรื่องที่กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้าให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้กองทุนสามารถช่วยเหลือสวัสดิการและเป็นที่พึ่งของสมาชิกได้อย่างยั่งยืน โดยใช้วิธีการ ดังนี้ 1. รีบเร่งขยายฐานสมาชิกให้ครอบคลุมทั้งตำบลเพื่อให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนอย่างสม่ำเสมอ 2.จิตอาสาเป็นหลัก การใช้จ่ายเป็นรอง 3.ประหยัด เรียบง่าย 4.ใช้กองทุนสวัสดิการเสียชีวิตแบบ ก (สสก.) เป็นตัวนำเชื่อมโยงสู่กองทุนสวัสดิการชุมชน 5.ใช้หลักการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน และ 6.เงินกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้าเพิ่มขึ้นทุกปี
ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้า มีเงินสมทบจากสมาชิกที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 300 คน + กองทุน สสก. + กลุ่มออมทรัพย์ + องค์การบริหารส่วนตำบลบางเป้า รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 219,500 บาท/ปี (ไม่รวมสมทบจากรัฐบาลและสมาชิกทั้งหมด) จึงทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้าสามารถดำเนินกิจการและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
จากกองทุนฯ สู่โครงการบ้านพอเพียงชนบท
ตำบลบางเป้าได้รับการสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการบ้านพอเพียงชนบท จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 งบประมาณจำนวน 550,000 บาท ดำเนินการซ่อมแซมบ้าน จำนวน 33 ครัวเรือน มีระบบการคืนทุน และจะหักจากเงินคืนอีก 10% โดยให้ผู้เดือดร้อนคืนเงินวันละบาทสมบทเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้า เพื่อเป็นหลักประกันชีวิตให้มีความยั่งยืน และเพื่อเป็นการต่อยอดให้กับผู้เดือดร้อนคนต่อไปได้รับโอกาส
ในปี 2561 ได้รับการสนับสนุนการซ่อมแซมบ้าน 8 ครัวเรือน ปี 2562 ได้รับการสนับสนุนอีก 5 ครัวเรือน งบประมาณจำนวน 95,000 บาท รวมสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านทั้งหมด 46 ครัวเรือน
นอกจากนี้สภาองค์กรชุมชนตำบลบางเป้าได้กำหนดแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 5 ปี (ปี 2562-2566) รวม 24 ครัวเรือน โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมให้การสนับสนุน เช่น อบต.บางเป้า, อบจ. เอกชน และกองทุนสวัสดิการชุมชน ฯลฯ ใช้กลไกการบริหารจัดการการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลบางเป้า จำนวน 18 คน มีคณะทำงานโครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลบางเป้าที่มีองค์ประกอบ 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง ฝ่ายตรวจสอบ และฝ่ายช่าง
นายสันทัด พัฒนา ผู้รับประโยชน์จากโครงการบ้านพอเพียงชนบท เล่าให้ฟังด้วยแววตาที่ตื้นตันว่า ตนเป็นครอบครัวหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนการซ่อมแซมบ้าน เพราะสภาพบ้านเดิมมีความทรุดโทรม สร้างด้วยปูน ประตูหน้าต่างกั้นด้วยสังกะสี อยู่กันอย่างแออัดและลำบาก ไม่มีห้องน้ำ ต้องนอนบนพื้นดิน เพราะนอกจากตนและภรรยาแล้ว ยังมีบุตรสาวและหลานอีก 3 คน (พิการทางสมอง 1 คน อีก 2 คนกำลังศึกษาระดับประถมศึกษา) แต่โชคดีมากที่ได้รับโอกาสจากสภาองค์กรชุมชนตำบลบางเป้าที่เห็นความลำบาก รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจาก อบต.บางเป้าให้การช่วยเหลือ ตอนนี้ครอบครัวของตนมีบ้านที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จากผลการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้าที่ผ่านมา ทำให้สมาชิกในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีกองทุนเอาไว้ช่วยเหลือจุนเจือกัน จึงทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้าได้รับการยอมรับและได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะ ‘รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนตามแนวคิด ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์’ ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ ในประเภท ‘การบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาล’ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560
“แต่กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้ายังไม่หยุดเพียงแค่นี้ สิ่งที่กองทุนฯ จะต้องทำต่อไป คือการพัฒนางานและส่งเสริมกิจกรรมในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในตำบลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของผู้ยากจนให้มีบ้านที่มั่นคง การพัฒนาด้านอาชีพให้ประชาชนมีงานและมีรายได้ เพื่อสร้างเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยจะร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลบางเป้าและหน่วยงานภาคีต่างๆ ดำเนินการตามแผนพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย 5 ปี (พ.ศ.2562-2566) ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป” นางศศิธร เกลือกลิ่น ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนกล่าวในตอนท้าย