ตำบลนาโยงเหนือ เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า แต่เดิมพื้นที่ตำบลนี้มีที่นาแปลงใหญ่ เรียกว่า นาหลวง หรือ นาสามบิ้ง ซึ่งเป็นที่นาที่โยงเข้าหากันเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของคลองนางน้อยเข้าด้วยกัน จึงเรียกกันว่า นาโยง พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของคลองนางน้อยเรียกว่า นาโยงเหนือ ส่วนฝั่งตะวันตกคลองนางน้อย เรียกว่านาโยงใต้ นั่นเอง
ตำบลนาโยงเหนือ ตั้งอยู่ในอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง อยู่ห่างจากจังหวัดตรัง ตามเส้นทางสายเพชรเกษม ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร มีเนื้อทั้งหมดประมาณ 1,218.75 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ประชากรทั้งสิ้น 5,604 คน เป็นชาย 2,639 คน หญิง 2,965 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 2,050 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ อาชีพหลักของคนที่นี่คือ ทำการเกษตร ทำนาข้าว ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ อาทิ โคพื้นบ้าน ปลา กบ เป็นต้น
ต้นทุนที่มีในตำบลด้านทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลนาโยงเหนือ มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มเป็นพื้นที่ที่มีการทำนาข้าวกันมาก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ กับทิศตะวันตก ส่วนทิศตะวันออกกับทิศใต้จะเป็นพื้นที่ทำสวนยางพาราและสวนผลไม้ และที่อยู่อาศัย และจะมีคลองนางน้อยไหลผ่านเพื่อให้ใช้ในการทำการเกษตรของตำบล
เนื่องจากตำบลนาโยงเหนือ คนส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม คือ ทำนาข้าว ก็ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งไม่มีน้ำใช้ในการอุปโภค เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรฯ โดยเฉพาะน้ำใช้ทำนาข้าว เมื่อน้ำไม่เพียงพอก็ส่งผลให้ข้าวยืนต้นตาย ทำให้เกษตรกรต้องรับภาระหนี้สิน ปัญหานี้ไม่ใช้พึ่งเกิดขึ้นแต่เป็นปัญหาที่พี่น้องชาวนา รวมถึงชาวสวนยางต้องการแก้ไข เพื่อจะให้คนสองฝั่ง สามารถอยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยกันโดยไม่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นอีกต่อไป
ไม่เพียงแค่ปัญหาไม่มีน้ำใช้เท่านั้น ช่วงฤดูฝน หรือหน้ามรสุมฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วม ส่งผลกระทบกับคนในพื้นที่ รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรก็เสียหายด้วยเช่นกัน
การก่อตัวของภาคประชาชน
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาโยงเหนือ ก่อตั้งขึ้นจากการสนับสนุนของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2554 ที่พยายามให้คนในตำบลนาโยงเหนือ ได้เข้าถึงสวัสดิการชุมชน เพื่อเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตของพี่น้องที่เข้าถึงง่ายและรวดเร็ว ปัจจุบันสมาชิกจำนวน 247 คน เงินกองทุนจำนวน 288,215 บาท ภายใต้การบริหารจัดการกองทุนของคณะกรรมการ จำนวน 106 คน ที่มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออม เพื่อสร้างฐานความมั่นคงให้กับชีวิตของตนเอง มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก จำนวน 5 ประเภท ประกอบด้วย 1) สวัสดิการผู้เสียชีวิต 2) สวัสดิการเจ็บป่วย/ค่ารักษาพยาบาล 3) สวัสดิการเด็กแรกเกิด/คลอดบุตร 4) สวัสดิการผู้สูงอายุ และ 5) สวัสดิการเพื่อการศึกษา ได้มีการสนับสนุนการจัดสวัสดิการ จำนวน 94 ราย เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 54,120 บาท ทางคณะกรรมการกองทุนมีแผนที่จะพัฒนากองทุนวัสดิการชุมชนตำบลนาโยงเหนือ ในปี 2562-2565 เรื่องของการขยายฐานสมาชิกให้ครอบคลุมทั้งตำบล การพัฒนาและเพิ่มสวัสดิการให้กับสมาชิก การพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการ การประสานเชื่อมโยงการทำงานกับกลุ่มองค์กรต่างๆในพื้นที่ และประสานควาร่วมมือกับหน่วยงานภาคีในท้องถิ่น ต่อไป
ประชาชนตำบลนาโยงเหนือ เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมีความพยายามที่จะส่งเสริมให้ประชาชนในตำบลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องรอให้หน่วยงานหรือผู้ทางเกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ แต่คนในตำบลเท่านั้นที่ต้องรู้ความต้องการของตนเองอย่างดี เป็นสิ่งที่สร้างฐานความมั่นคงด้านการดูแลคุณภาพชีวิต เริ่มตั้งแต่การออมเงิน เพื่อใช้ในยามจำเป็น ทำให้สมาชิกรู้สึกไม่เกิดความกังวนเมื่อถึงเวลาที่ต้องการ
ต่อมา ปี พ.ศ. 2559 สภาองค์กรชุมชนตำบลนาโยงใต้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 สมาชิก 28 คน กลุ่มที่เข้าร่วม 10 กลุ่ม จาก 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วย กลุ่มลูกปัด หมู่ที่ 1 กลุ่มศิลปินพื้นบ้าน หมู่ที่ 1 กลุ่มปลูกหม่อนผลสด (มัลเบอรี่) กลุ่มถักทอบ้านนาเมร กลุ่มเลี้ยงปลา เลี้ยงกบในกระชัง หมู่ที่ 6 กลุ่มออมทรัพย์ส่งเสริม หมู่ที่ 6 กลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน กลุ่มกองทุนหมู่บ้านนาเมร กลุ่ม อสม.หมู่ที่ 7 และกลุ่มสตรีหมู่ที่ 7
ผลักดันเชิงนโยบาย แก้ปัญหาน้ำ โดยสภาฯ
สภาองค์กรชุมชนตำบลนาโยงใต้ ได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน เพื่อให้คนทำงานมีความรู้ความเข้าในบทบาทหน้าที่ของตนเอง รวมถึงภารกิจตาม พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ในการที่จะส่งเสริมและพัฒนาชุมชน และประชาชนในตำบล สนองถึงความต้องการและปัญหาร่วมของประชาชน โดยเริ่มมีการหารือของสมาชิกสภาฯ อย่างต่อเนื่องทุกเดือน วาระในการหารือจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นของตำบลนาโยงเหนือ อาทิ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ กองทุนในการประกอบอาชีพ ด้านสังคมและสุขภาพ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำใช้ในการเกษตร ที่เป็นปัญหายาวนาน
ปี พ.ศ. 2561 ประชาชนมีสิทธิในการพัฒนาท้องถิ่น จากการที่มีสภาองค์กรชุมชนตำบลนาโยงเหนือ เป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะผลักดันข้อเสนอที่เป็นปัญหาของพี่น้องในตำบลนาโยงเหนือ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวให้เข้ามามีส่วนร่วมกันในการพัฒนาและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยเหตุนี้ทำให้สภาองค์กรชุมชนตำบลนาโยง เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเรื่องการจัดการน้ำ จากกระบวนการสำรวจข้อมูลผู้มีผลกระทบ เส้นทางน้ำ จัดเวทีวิเคราะห์ปัญหา พบว่าภาพรวมของปัญหาเนื่องตำบลนาโยงหนือ มีบริบทพื้นที่เป็นราบลุ่ม ซึ่งเป็นที่รับน้ำจากเทือกเขาบรรทัด ที่ไหลผ่านมากจากตำบลช่องและตำบลละมอ และจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตำบลทำให้เกิดการถมที่ดินทับทางระบายน้ำเดิม ทำให้สายทางน้ำเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งห้วย หนอง คลอง บึง ไม่มีสภาพในการระบายน้ำได้เหมือนเดิมเท่าที่ควรจะเป็น ส่งผลประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ปีละหลายๆครั้ง พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ถนนหนทางชำรุด โรคภัยตามมาจากน้ำท่วม ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนความยากลำบากในการทำมาหากินในช่วงน้ำท่วม
จากปัญหาและแนวทางแก้ไขดังกล่าว สภาองค์กรชุมชนตำบลนาโยงเหนือจัดทำแผน พร้อมยืนหนังสือต่อองค์การบริหารส่วนตำบลนาโยงเหนือ ว่าด้วย ขอเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม-น้ำแล้งของตำบลนาโยงเหนือ โดยอาศัย พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ. 2551 มาตรา 21(5) ให้สภาองค์กรชุมชนตำบลมีภารกิจเพื่อเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขหรือความต้องการของประชาชนอันเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาองค์กรชุมชนตำบลนาโยงเหนือ จึงมีข้อเสนอว่าด้วย 1) คลองเหมืองระบายน้ำ 2) ขุดลอกเหมือง คู คลองสาธารณะทุกหมู่บ้าน 3) ใส่ท่อระบายน้ำทุกเส้นทาง เพื่อระบายน้ำได้รวดเร็วขึ้น และ 4) ทำประตูเปิด-ปิดน้ำสำหรับเหมืองหรือคลองที่มีขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถใช้ในการทำเกษตรกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบกว่า 120 ราย 314 ไร่ มีน้ำใช้อุปโภคอย่างเพียงพอและทั่วถึง ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (หนังสือ ที่ 001/2561 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2561)
จากความตั้งใจ ไม่หยุด ทำให้เห็นผลสำเร็จ
องค์การบริหารส่วนตำบลนาโยงเหนือ ได้รับเรื่องและพร้อมสนับสนุนโดยให้พี่น้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกับหน่วยงาน ผลตอบรับของการแก้ไขครั้งไม่สามารถที่จะดำเนินการทันที แต่ในปี 2562 เรื่องที่พี่น้องต้องการให้แก้ไข ผ่านกลไกสภาองค์กรชุมชนตำบลนาโยง จะบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2561-2564 ) เพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลง ขององค์การบริหารส่วนตำบลนาโยงเหนือ เนื่องว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องถูกยกมาดำเนินการ เลยต้องอยู่ในส่วนของ เพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลง ภายใต้โครงการขุดเจาะบ่อบาดาล (บ่อแบบบ่อปิด) งบประมาณสนับสนุน ประจำปี พ.ศ.2562 จำนวน 176,000 บาท ซึ่งตอนนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างบ่อแบบบ่อปิดไปแล้วประมาณ 80% กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2562 นี้
สำเร็จที่ทำให้เกิดความสุขของคนนาโยงเหนือ
- กลุ่มปลูกหม่อนผลสด (มัลเบอร์รี่)
ก่อตั้งขึ้น ปี 2554 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอนาโยง ร่วมกับศูนย์หม่อนไหมจังหวัดนราธิวาส ส่งเสริมภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ปลูกในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลนาโยงเหนือ จัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนเริ่มจากหมู่ 6 จำนวน 20 คน จากนั้นก็ขยายผลต่อทุกครัวเรือน สนับสนุนต้นมัลเบอรี่ครัวเรือนละ 3 ต้น ให้ปลูกไว้บริเวณรอบบ้าน เนื่องจาก หม่อน เป็นผลไม้หนึ่งในตระกูลเบอร์รี่ ปลูกง่าย แปรรูปเป็นผลิตภัณ์เพื่อสุขภาพสร้างมูลค่าได้หลากหลาย สามารถปลูกได้กับทุกสภาพพื้นที่ มีข้อดี ข้อเสีย ต่างกัน หากปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน แดดจัด ผลจะดก โตเร็ว มีข้อเสียคือ ผลจะนิ่ม ถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นผลหม่อนจะออกไม่ดกมาก ข้อดีคือ ผลจะมีความหวาน กรอบ และมีคุณค่าทางโภชนาการ 8 เดือนผลผลิตก็จะทำการออกผลสามารถเก็บเกี่ยว สมาชิกจะนำผลิมมัลเบอรี่ที่เก็บได้ไปขายตลาดชุมชน และคนทั่วที่ต้องการ ช่วงปี 2558-2559 มัลเบอรี่จะมีราคากิโลกรัมละ 200 บาท ในหนึ่งต้นสามารถให้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อวัน (อยู่ที่การดูแลด้วย) ในหนึ่งปีต้นหม่อนสามารถออกผล 3-4 รอบทำให้ครัวเรือนที่มีการปลูกมัลเบอรี่ มีรายได้ต่อวันสามารถมีเงินเก็บจากการใช้จ่ายได้จำนวนมาก ทำให้ประชาชนในตำบลเริ่มหันมาปลูกมัลเบอรี่กันเกือบทุกครัวเรือน
รุ่งเรือนได้แค่ 2 ปี มาถึงปี 2560 มัลเบอรี่ล้นตลาด ความต้องการลดน้อยคน คนซื้อไม่เท่ากับคนขาย ทำให้ราคาลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากหลักร้อยลงเหลือหลักสิบ คนที่เคยปลูกก็ไม่สนใจ บ้างก็ปล่อยทิ้ง บ้างก็ถอนไปปลูกอย่างอื่นแทน แต่กลุ่มปลูกหม่อนผลสด ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลนาโยงเหนือ นำปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้สมาชิกสามารถอยู่กับหม่อนได้ จึงเกิดแนวคิดในการที่จะแปรรูปผลผลิตมัลเบอรี่ ที่จะส่งขายแบบสดเพียงอย่างเดียว แต่นำมาผลิตในรูปแบบอื่น ทางกลุ่มจึงเริ่มทำการศึกษา เรียนรู้จากหน่วยงาน เรื่องของการแปรรูปอาหาร 1 ปี ที่สมาชิกกลุ่มมีการลองผิดลองถูก จนได้ผลผลิตมาเป็น น้ำมัลเบอรี่ มัลเบอรี่กวน สบู่มัลเบอรี่ ข้าวเกรียบ เป็นต้น
ปัจจุบันมีแปลงปลูกหม่อน ในพื้นที่ตำบลนาโยงเหนือ ประมาณ 5 ไร่ มีสมาชิก 30 คน ทางกลุ่มได้มีการขับเคลื่อนและส่งเสริมกิจการของกลุ่มโดยสมาชิกที่ปลูกมัลเบอรี่ ถ้าเหลือกินและจำหน่ายผลสดไม่หมดทางกลุ่มจะรับซื้อมัลเบอรี่ผลสด เพื่อนำไปแปรรูปเป็นการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับสมาชิก เน้นและส่งเสริมแปลงใหญ่ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
สภาองค์กรชุมชนตำบลนาโยงเหนือ จัดเวทีประชาคมในการจัดทำแผนการพัฒนากลุ่มอาชีพ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการสำรวจข้อมูลประกอบการจัดทำแผน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาชุมชน และสำนักงานเกษตรอำเภอนาโยง ในการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ส่งเสริมการพัฒนาของกลุ่ม จำนวน 95,000 บาท ทำให้ตอนนี้สมาชิกมีรายได้ที่มั่นคง และมีความสุข
- กลุ่มเครื่องแกง หมู่ 3
สมาชิกของกลุ่มส่วนใหญ่ ทำนาข้าว สวนยางพารา และรับจ้างทั่วไปหลังจากทำสวนจะมีเวลาว่าง จนมีหน่วยงานเข้ามาส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้เสริมจากงานประจำ เกิดการร่วมตัวของกลุ่มแม่บ้านที่มีเวลา ตั้งเป็นกลุ่มทำเครื่องแกง หมู่ 3 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 20 คน โดยส่วนประกอบในการเครื่องแกง หลักๆจะเป็น พริก กระเทียม ตะไคร้ ขมิ้น และกะปิ จะผลิตเครื่องแกง 3 เครื่อง คือ เครื่องพริก , เครื่องแกงส้ม และเครื่องแกงกระทิ โดยเครื่องแกงพริก แกงกะทิ และเครื่องส้ม ขายในราคาส่งกิโลกร้มละ 130 บาท ถ้าเพิ่มกะปิ ราคากิโลกรัมละ 140 บาท และขนาดถุงขนาด 3 กรัม ราคาส่งถุงละ 4 บาท ขาย 5 บาท ทางกลุ่มจะผลิตเครื่องแกงสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หรือมีออร์เดอร์ ต้นทุนในการผลิตแต่ละครั้งประมาณ 300-400 บาท รายได้จากการทำเครื่องแกงจะมีการปันผลกำไร สมาชิก 30% เข้ากลุ่ม 20 % จะได้อยู่ที่ครั้งละประมาณ 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน ถือว่าเป็นการทำอาชีพเสริมทำให้มีรายได้เพิ่มนอกเหนือจากอาชีพหลักแล้ว ส่งผลให้สมาชิกทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
กลุ่มอาชีพต่างๆหรือกิจกรรมที่กล่าวมาเป็นการขับเคลื่อนภายใต้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล และสภาองค์กรชุมชนตำบล ที่ร่วมกันสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มต่างๆในตำบลนาโยงเหนือ ให้มีความมั่นคง ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าสิ่งที่กองทุนฯ และสภาองค์กรชุมชนขับเคลื่อนนั้นไม่ใช่ทำเพื่อคนใดคนหนึ่งแต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของประชาชนในตำบลนาโยงเหนือ
แผนงานระยะต่อไป
- ขับเคลื่อนให้เป็นแหล่งการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- เป็นศูนย์การเรียนรู้ การปลูก และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
- ส่งเสริมให้มีการขยายเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมในตำบล
นางสาวสุจิตร นวลเมือง
ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลนาโยงเหนือ