“เขาไม้แก้ว น่าอยู่ผู้คนน่ารัก” เป็นคำขวัญของคนเขาไม้แก้ว ซึ่งตั้งขึ้นมาหลังจากที่คนในตำบลได้รวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน โดยใช้เกษตรอินทรีย์เป็นแนวทางในการปกป้องพื้นที่เกษตรกรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิต มาได้สักระยะหนึ่ง เมื่อก่อนปัญหาความขัดแย้งในชุมชน เรื่องโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ทำให้คนในจังหวัดหรือหน่วยงานราชการต่างๆตราหน้าว่า “คนเขาไม้แก้วเป็นคนที่พูดไม่รู้เรื่อง”
จังหวัดปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในเป้าหมายอุตสาหกรรม วิถีสังคมเปลี่ยนไป มุ่งไปสู่สังคมในฝันทางเศรษฐกิจ ทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งกัน เรื่องวิถีการพัฒนาด้านต่างๆ จึงได้เกิดเวทีประกาศธรรมนูญตำบลที่เป็นเป้าหมายของชุมชนและเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาชุมชน เช่น อยากให้พื้นที่ในตำบลเขาไม้แก้วเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและเป็นพื้นที่ผลิตอาหารปลอดภัย มีการอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ จึงมีการประกาศธรรมนูญตำบลขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 โดยต้องชวนทุกคนเข้าร่วม แต่ทั้งนี้ในช่วงแรกไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้ประสานคนนอกเข้ามาช่วยประสานความร่วมมือในช่วงทำธรรมนูญโดยการศึกษาพยายามศึกษาจากหลายที่ที่มีการศึกษาปรากฎว่า ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการของคนเขาไม้แก้ว หารือร่วมกันว่าต้องทำอะไรในข้างหน้าเพื่อมุ่งสู่ความฝันของเรา
ในปี 2555 จึงเริ่มมีกระบวนการทำเรื่องเกษตรอินทรีย์กับโรงเรียน เรื่องการถ่ายทอดภูมิปัญญาการกินอาหารท้องถิ่น ทำเรื่องผักท้องถิ่น มีการทำผ้าป่าซื้อนาให้โรงเรียน และมีประเพณีลงแขก ดำนาและเกี่ยวข้าวของโรงเรียน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากมาย รวมไปถึงมีการทำกิจกรรมประเพณีบุญคูณลาน สืบสานภูมิปัญญาการกินและทอดผ้าป่าข้าวเปลือก เพื่อรวบรวมข้าวจากผู้มีจิตศรัทธาไปสมทบโครงการอาหารกลางวันในตำบลเขาไม้แก้ว จำนวน 6 โรงเรียน รวมถึงการสร้างเมนูประจำถิ่นของตำบลเขาไม้แก้วด้วยอาหารพื้นบ้านกว่า 30 เมนู เช่น แกงหน่อหวาย แกงไก่ใส่ต้นกล้วย ลาบเทา ลาบไก่ ฯลฯ มีตลาดสีเขียวไปขายที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี, โรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์, ร้าน ณ.บางกุ้ง ทุ่งข้าว รวมถึงการออกร้านตามงานต่างๆ เพื่อจำหน่ายผักอินทรีย์ เช่น ผักหวานบ้าน ผักติ้ว ดอกแค ก้านทูน ผักกะแยง ดอกกะเจียว ขิงแคง ผักแว่น บวบ ถัวฝักยาวฯลฯ ให้กับหมอ พยาบาล คนทั่วไป และพบว่ามีผักประเภทอื่นๆที่คนต้องการมากกว่าผักท้องถิ่น แต่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามฤดูกาล จึงได้ปรับเปลี่ยนแผนทำเรื่องการแนะนำวิธีการบริโภคผักพื้นบ้านให้กับหมอ พยาบาล ทำให้เกิด การขยายตลาดอินทรีย์ มีคนมาเรียนรู้ภูมิปัญญาการกิน โรงเรียนต้องมีเมนูท้องถิ่นเป็นอาหารกลางวัน มีหลักสูตรเกษตรอินทรีย์สอนในโรงเรียน เช่น แกงส้มดอกแค ต้มยำไก่ใส่ผักติ้ว ผัดสายบัว ฯลฯ
ต่อมามีการปรับวิธีการทำงานจึงได้มีการขยายฐานเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกผักอินทรีย์ในตำบลเขาไม้แก้ว ในช่วงปี 2557-2559 ได้มีการรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ โดยมีสมาชิกร่วมการเคลื่อน 38 คน มีการกำหนดกติการ่วมกัน โดยที่สมาชิก1 คน ต้องปลูกพืชผักที่เป็นอาหารในแปลงไม่ต่ำกว่า 15 ชนิด เช่น ข่า ตะไคร้ ผักบุ้ง บวบ พริก มะเขือเทศ แตงกวา ผักกาด ผักกวางตุ้ง ผักหวาน ฯลฯ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ตัวเกษตรกรเอง ซึ่งแต่ละบ้านก็ปลูกผักได้หลากหลายและมีจำนวนมากขึ้น จึงเกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อเรียนรู้เชิงวิชาการในด้านต่างๆ ทั้งการผลิตและการตลาด มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคีต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เข้ามาหนุนเสริมทั้งด้านความรู้และปัจจัยการผลิต เช่น การทำปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ จากเศษวัสดุเหลือใช้ในแปลง (เศษผัก ฟางข้าว ) ,สารไล่แมลงจากสมุนไพร(ตะไคร้หอม,พริก,ข่า,ใบกระเพราช้าง,สาบเสือ,ขมิ้น), สารชีวภัณฑ์ ในการกำจัดแมลง ,การออกแบบผลิตภัณฑ์รวมไปถึงการสนับสนุนในการออกร้านจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆอีกด้วย
ทางกลุ่มเกษตรอินทรีย์จึงได้มีการรวมผลผลิตไปขายในนามเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดปราจีนบุรี สัปดาห์ละ 5 วัน (อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ ศุกร์) ครั้งละประมาณ 500 กิโลกรัม พร้อมกันนั้นยังได้มีการขยายเครือข่ายไปยังตำบล และอำเภอต่างๆ ในจังหวัดปราจีนบุรี และส่งพืชผักไปยังกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นผู้รวบรวมและกระจายสินค้าของเครือข่ายไปยังบริษัท Lemon Farm,ตลาดเขียวบางกอก,บริษัท Daily Healthy ฯลฯ
นางบุญหงษ์ ศรีสำอางค์ หรือพี่หงษ์ หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ตำบลเขาไม้แก้ว เล่าว่า การปลูกพืชผักผลไม้ สมัยก่อนต่างคนต่างปลูก ผลผลิตที่ได้ก็ต่างคนต่างขายซึ่งไม่สามารถควบคุมและต่อรองราคาได้ แต่พอหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ได้มีการรวมกลุ่มรับรองแปลง สู่มาตรฐาน ก็มีการทำการตลาดล่วงหน้า ทำแผนการผลิต ผู้ผลิตยังสามารถเป็นคนกำหนดราคาสินค้าได้เองด้วย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ประสบผลสำเร็จและเป็นความภาคภูมิใจของคนที่ทำเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง แม้ว่าพี่หงษ์ จะไม่ได้ทำเกษตรเป็นอาชีพหลัก แต่ผลผลิตที่ได้ต่อเดือน ประมาณ 6,000 – 8,000 บาท ก็พอที่จะทำให้ครอบครัวสามารถอยู่ได้อย่างสบายไม่เดือดร้อน และยังทำให้สมาชิกในครัวเรือน คนในชุมชน ตลอดจนผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย
จากบทเรียนการต่อสู้ในอดีต นำไปสู่การทำธรรมนูญตำบลรวมไปถึงการเป็นเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ทำให้ชาวเขาไม้แก้วรับรู้ถึงเป้าหมายของชุมชนร่วมกัน ซึ่งในขณะนี้มีความพยายามจากทุนภายนอก เข้ามาเพื่อที่จะสร้างโรงงานกำจัดขยะจากอุตสาหกรรม คนในชุมชนรวมทั้งผู้นำทุกท่านต่างลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกันโดยมิได้นัดหมาย
ปัจจุบันศูนย์เกษตรอินทรีย์ตำบลเขาไม้แก้ว ได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ มีคนมาดูงาน มีการเชื่อมโยงกับเรื่องอนุรักษ์ป่า ถอดชุดความคิดขยายเกษตรอินทรีย์ให้กับคนทั้งตำบล สร้างพื้นที่ให้คนเข้าถึงเกษตรอินทรีย์ ยกระดับถึงระดับจังหวัดให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพัน์ 2562 ทาง เครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดปราจีนบุรี ได้เปลี่ยนสถานะเป็น สหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี จำกัด ซึ่งนับเป็นการยกระดับสถานะของเครือข่าย และยังเป็นสิ่งที่การันตีในการพัฒนาคุณภาพของเกษตรอินทรีย์มุ่งสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น โดยยังมีการใช้แนวคิดการทำอินทรีย์เพื่ออยู่กับวิถีสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และยังคงมุ่งมั่นผลิตอาหารดี มีคุณภาพ จากแปลงสู่ปากอย่างแท้จริง